ขายของ (แบบไม่เข้าพกเข้าห่อ)

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

ขายของ

(แบบไม่เข้าพกเข้าห่อ)

 

เคยสังเกตไหมครับว่า ตอนเราเป็นเด็กนั้น วันเวลาผ่านไปแต่ละวันแต่ละเดือนช้าเหลือเกิน

และที่ช้ามากที่สุดคือช่วงเวลาที่นั่งอยู่ในห้องเรียน กว่าคุณครูหรืออาจารย์ที่ยืนสอนหนังสืออยู่หน้าชั้นสอนครบชั่วโมง นักเรียนเกือบขาดใจไปตามๆ กัน

เวลาโรงเรียนปิดเทอมใหญ่แต่ละครั้ง เวลาสองเดือนครึ่งก็นานมากกว่าที่โรงเรียนจะเปิดเทอมอีกครั้งกลางเดือนพฤษภาคม คิดถึงเพื่อนเต็มทีแล้ว นาฬิกาช่างเดินช้าเหลือเกิน

แต่สถานการณ์กลับตรงกันข้ามเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ เวลาก็เดินเร็วมากขึ้นเท่านั้น

ไม่ต้องดูอื่นไกล ตัวผมเองเวลานี้มีความรู้สึกว่าหนึ่งสัปดาห์ซึ่งมีเจ็ดวันผ่านไปเพียงชั่วกะพริบตา ถึงวันนี้ ทั้งๆ ที่เพิ่งฉลองวันขึ้นปีใหม่ไปหยกๆ นี่เอง ทำไมถึงมาอยู่กลางเดือนเมษายนได้โดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว เผลออีกนิดเดียวก็คงจะปลายปีเสียแล้วกระมัง

ด้วยความรู้สึกอย่างนี้ การพบกันสัปดาห์ละหนึ่งครั้งกับท่านผู้อ่านในช่องทาง “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” นี้ก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วเหมือนกัน แทบไม่น่าเชื่อนะครับว่าผมเขียนหนังสือสัปดาห์ละหนึ่งครั้งติดต่อกันมาสี่ปีกว่าแล้ว เพราะผมเริ่มเขียนหนังสือคอลัมน์นี้เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2561

ตอนนั้นพรรคพลังประชารัฐเพิ่งจะตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน ยังไม่ได้ลงสนามเลือกตั้งเลยครับ

วันนี้ในฐานะผู้เขียนคอลัมน์นี้จะขออนุญาตทบทวนเหตุการณ์กับตัวเองเสียหน่อยหนึ่งว่าทำไมผมจึงมานั่งเขียนอะไรอยู่ตรงนี้ได้

“หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” โดย ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เปิดสั่งจองหนังสือชุด “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” โดย ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ (รวมบทความ “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” ระหว่างปี 2564-2565) หนังสือ 1 ชุดนี้ มี 2 เล่ม บรรจุในกล่องกระดาษแข็งอย่างงดงาม ควรค่าแก่การเก็บรักษา ***หนังสือจะถูกเริ่มจัดส่งให้กับทุกท่านที่สั่งจองได้ ประมาณต้นเดือนเมษายน 2566***

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เป็นเด็ก และบอกกันอย่างหน้าชื่นตาบานเลยครับว่านักเขียนที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษ คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือที่คนทั้งหลายเรียกขานกันโดยทั่วไปว่าคุณชายคึกฤทธิ์ หนังสือเล่มแรกของคุณชายที่ผมอ่านคือเรื่องสี่แผ่นดิน ซึ่งพ่อและแม่ซื้อให้อ่านเมื่ออยู่ในราวชั้นประถมปีที่เจ็ด จากนั้นก็ติดตามอ่านผลงานของคุณชายเรื่องโน้นเรื่องนี้มาเรื่อยๆ

ในเวลาเมื่อผมขึ้นมาเรียนชั้นมัธยม หนังสือพิมพ์สยามรัฐกำลังเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงและมีคนติดตามอ่านมาก และยังไม่มีมติชนเกิดขึ้นในบรรณพิภพ ฮา!

คอลัมน์หนึ่งที่ผู้อ่านติดอกติดใจมากคือคอลัมน์ของคุณชายที่เขียนในหนังสือสยามรัฐ เป็นคอลัมน์ที่ประหลาดแท้ครับ เพราะไม่มีชื่อคอลัมน์ เพียงแต่ว่าข้อเขียนนี้จองพื้นที่ในหน้า 5 ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐไว้เป็นประจำ คนจึงเรียกกันโดยทั่วไปว่าเป็นคอลัมน์ “สยามรัฐหน้า 5”

บนพื้นที่ของคอลัมน์ดังกล่าว คุณชายคึกฤทธิ์เขียนเรื่องอะไรต่อมิอะไรได้หลากหลายสารพัด ตั้งแต่วิจารณ์การเมือง เล่าเรื่องความคิดความเห็นของคุณชายต่อเรื่องราวใหญ่น้อยที่เกิดขึ้นรอบตัว บางครั้งก็เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่หาอ่านได้ยากในที่อื่น หมุนเวียนกันไปแล้วแต่ใจของท่านผู้เขียนว่านึกอยากจะพูดเรื่องอะไรในแต่ละวัน

ผมยอมรับครับว่าสำนวนหนังสือของคุณชายคึกฤทธิ์มีอิทธิพลต่อสำนวนหนังสือของผมไม่ใช่น้อย จะเรียกว่าท่านเป็นครูพักลักจำคนหนึ่งของผมก็เห็นจะได้ ในขณะที่ผมก็มีครูที่เป็นครูแบบจับมือผมเขียนหนังสืออีกสองสามท่าน

 

นอกจากรู้จักคุณชายคึกฤทธิ์ผ่านตัวหนังสือแล้วหน้ากระดาษแล้ว ในชีวิตจริงผมได้เคยพบคุณชายและได้พูดคุยสนทนากับท่านแบบเป็นจริงเป็นจังสองคราว ครั้งแรก น่าจะเป็นเมื่อราวพุทธศักราช 2525 ครั้งนั้นผมทำงานถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพระที่นั่งวิมานเมฆและชีวิตฝ่ายในทั้งที่วังหลวงและพระราชวังดุสิต

จำได้แม่นยำว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญลายพระหัตถ์ไปพระราชทานคุณชายเพื่อแถลงความตามพระราชประสงค์

ผมเชิญลายพระหัตถ์นั้นไว้บนพานไปพบคุณชายที่บ้านสวนพลู เมื่อเวลาจะรับพระราชทานลายพระหัตถ์นั้นคุณชายทำตามธรรมเนียมโบราณ คือหันหน้าไปทางทิศที่ตั้งของพระตำหนักจิตรลดารโหฐานแล้วยกมือขึ้นถวายบังคม จากนั้นจึงหันมารับพระราชทานลายพระหัตถ์ที่ผมเชิญไว้บนพานไปเปิดอ่าน แล้วผมก็นั่งสนทนากับท่านต่อไป

เป็นประสบการณ์ที่จับใจมาจนถึงทุกวันนี้

อีกครั้งหนึ่ง ในราวพุทธศักราช 2530 ผมเดินทางไปสัมภาษณ์คุณชายที่บ้านริมปิง เพื่อทำรายการพิเศษมาออกอากาศทางโทรทัศน์ช่องเก้าของ อสมท เป็นการพูดคุยกันถึงเรื่องประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เรื่องนี้ก็จับใจเหมือนกัน

ว่าโดยรวมแล้วผมจึงเป็นแฟนคลับของคุณชายคึกฤทธิ์มาช้านาน และแน่นอนว่าผมย่อมมีความฝันที่จะมีโอกาสเขียนหนังสืออย่างคุณชายบ้าง

แต่ผมรู้ตัวดีนะครับว่าฝีมือผมห่างไกลกับท่านมากนัก จึงทำความตกลงกับตัวเองว่า จะขยันเขียนหนังสือตามรอยท่าน แต่เขียนได้แค่ไหนก็แค่นั้นตามความถนัดของตัวเอง

คุณชายก็คือคุณชาย ผมก็คือผม เป็นคนละคนกันอย่างแน่นอน

 

ผมจึงไม่เคยคิดที่จะเขียนนิยายอะไรแม้เรื่องเดียว เพราะรู้ตัวดีว่าเป็นเรื่องที่ตัวเองไม่สันทัด

แต่การมีคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์นี้เป็นความฝันที่ติดอยู่ในใจมาตั้งแต่เป็นเด็กเชียวล่ะครับ แต่โอกาสก็ยังไม่อำนวยเสียที จนกระทั่งเกษียณอายุแล้วสองสามปีแล้วยังผัดวันประกันพรุ่งอยู่นั่นเอง

จนกระทั่งวันหนึ่ง จำได้แน่นอนว่าเป็นต้นเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2561 ผมเดินทางไปที่ตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อไปต้อนรับและร่วมสนทนากับ “สองกุมาร” คือพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ และพี่ขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งไปบันทึกเทปรายการที่นั่น

หลังจากถ่ายทำรายการเสร็จแล้ว ผมนั่งคุยกับพี่ขรรค์ชัยหรือพี่ช้างต่อ อยู่ดีๆ ผมก็ปรารภขึ้นมาว่า ผมมีความฝันอยากจะเขียนคอลัมน์ในหนังสือมติชนบ้าง แต่ถ้าเป็นคอลัมน์รายวันเห็นจะไม่ไหว จะเป็นไปได้ก็แต่เพียงในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์เท่านั้น

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่แน่ใจตัวเองว่า จะสามารถจัดสรรเวลาให้เขียนหนังสือเป็นประจำทุกสัปดาห์ได้จริงแท้หรือไม่

ผมเรียนพี่ช้างว่า อีกสักพักใหญ่ ถ้าผมผ่อนเพลาการงานต่างๆ ลงแล้ว จะมาสมัครเป็นคนเขียนหนังสือในมติชนสุดสัปดาห์บ้าง โอกาสนั้นหวังว่าจะรับความกรุณา

คำตอบจากพี่ช้างมีอยู่ว่า ถ้าขืนรอเวลานั้นอาจารย์ก็จะไม่ได้เขียนสักที อาจารย์เขียนมาวันนี้เลย อาจารย์รู้หรือไม่ว่าการเขียนหนังสือเป็นยารักษาโรคได้หลายอย่าง อย่างหนึ่งคือทำให้เราทบทวนความทรงจำและใช้สมองอยู่เสมอ สมองก็จะไม่เสื่อม ขณะเดียวกันใจก็ปลอดโปร่งโล่งสบายด้วย มีอะไรในใจก็เขียนไปพูดไป ไม่เครียด

เมื่อโอกาสและคำแนะนำมาถึงตัวเข้าเช่นนั้น ผมก็กระโดดเข้ารับความเมตตานั้นเลยทีเดียว ไม่ต้องลังเลอะไรอีกแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ผมกับท่านผู้อ่านจึงพบกันในพื้นที่นี้มาเป็นเวลาสี่ปีกว่าแล้ว

 

ผมบอกกับตัวเองว่าคอลัมน์นี้เทียบกับคอลัมน์สยามรัฐหน้า 5 ไม่ได้แน่ เพราะผู้เขียนเป็นคนละคนกัน ต่างประสบการณ์ ต่างวัย ต่างการศึกษาอบรม ต่างความคิด

ผู้อ่านก็เป็นคนต่างยุคสมัย ต่างบริบท

ผมหวังแต่เพียงว่า “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” จะเป็นพื้นที่จับเข่าพูดคุยกันระหว่างผมกับท่านผู้อ่าน เพื่อบันทึกข้อมูลอารมณ์และความรู้สึกที่เรามีต่อเหตุการณ์รอบตัวเรา มีทั้งเรื่องในอดีตปัจจุบันและแม้ในอนาคต บันทึกอย่างนี้ผมมีความฝันว่าจะเป็นร่องรอยของวันเวลาที่เรากำลังก้าวเดินผ่านไปด้วยกันเพื่อให้คนในวันข้างหน้าได้ย้อนมาดูได้ว่าคนในสมัยนี้คิดอะไร เขียนอะไรไว้บ้าง และมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไร

ต่อไปนี้เป็นรายการขายของนะครับ

 

เพื่อให้ “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” สามารถเก็บรักษาเอาไว้ย้อนหลังได้ง่าย ผมจึงได้บังอาจรวมคอลัมน์ที่เขียนมาทยอยพิมพ์เป็นเล่ม กำหนดเวลาว่าสองปีพิมพ์ครั้งหนึ่ง ตอนนี้บทความที่พิมพ์เผยแพร่ในพุทธศักราช 2564 และ 2565 พิมพ์เสร็จเป็นเล่มเรียบร้อยแล้วครับ มีขายอยู่ในระบบออนไลน์ ที่ http://bit.ly/AShS2565

ลิงก์นี้ปลอดภัยข้อมูลไม่รั่วไหลและไม่มีมิจฉาชีพมาเกี่ยวข้องแน่นอนครับ

หนังสือสองเล่มเป็นหนึ่งชุดราคาเพียงแค่ 200 บาท แต่ละเล่มหนา 240 หน้า บรรจุในกล่องสวยงาม บวกค่าจัดส่งอีก 50 บาท รวมเป็น 250 บาทก็ส่งถึงหัวบันไดบ้านเลยครับ

ผมออกทุนพิมพ์เองทั้งหมด รายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายก็จะมอบให้คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อบำรุงการศึกษา

เผื่อว่า บุญกุศลจะอำนวยให้การใช้กฎหมายในบ้านเรายุติธรรมขึ้นบ้าง

ว้าวววว!

เพราะเป็นการขายหนังสือแบบไม่เข้าพกเข้าห่ออย่างนี้ผมจึงกล้ามาส่งข่าวครับ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควรด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง