ศึกเลือกตั้ง 2566

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ | จรัญ พงษ์จีน

 

ศึกเลือกตั้ง 2566

 

“ศึกเลือกตั้ง 2566” ลั่นกลองรบกันเต็มรูปแบบแล้ว เป็นการเปิดศึกชิงที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คน จากระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 ที่นั่ง แบบบัญชีรายชื่อ หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” 100 ที่นั่ง

เขตเลือกตั้ง 400 ที่นั่ง มาจาก “ภาคเหนือ” 37 คน “ภาคอีสาน” หรือ “ตะวันออกเฉียงเหนือ” 133 คน “ภาคกลาง” รวมสนาม กทม. 122 คน “ภาคตะวันออก” 20 คน “ภาคตะวันตก” 19 คน และโซน “ภาคใต้” จำนวน ส.ส. 60 คน

ซึ่ง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ “กกต.” เปิดรับสมัครไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วทั้ง 2 ระบบ “แบ่งเขต” เมื่อวันที่ 3 เมษายน กับ “บัญชีรายชื่อ” พร้อมแนบรายชื่อผู้ที่พรรคการเมืองจะเสนอชื่อขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ “แคนดิเดตนายกฯ” วันที่ 4 เมษายน ทั้ง 2 ภาคส่วน หมดเขตวันเดียวกันคือ 7 เมษายน

ปรากฏว่า ทั้ง 2 วันที่เปิดกระทำการ ตลาดการเมืองคึกคักตั้งแต่ไก่โห่ ทั้งวันเปิดรับสมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ โดยเฉพาะวันจับเบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ มีพรรคการเมืองขนาดย่อย ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ถือว่าสุดขีดมาก มีมหกรรมร่วมแจม เข้าประกวดมากถึง 53 พรรค แต่ “กกต.” เคาะให้ผ่านเกณฑ์เพียง 49 พรรคการเมือง เพราะบางส่วนเอกสารไม่พร้อม

ศึกเลือกตั้งที่จะระเบิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 นับว่าอาถรรพ์มากพอประมาณ หมายเลขยอดนิยม เลขตัวเดียว 1-9 พรรคขนาดจิ๋ว มือเฮง คว้าไปได้หมด ไม่ว่าจะ “1-2-3-4-5-6-8-9”

พรรคใหญ่ ดวงสมพงศ์กับเลขตัวเดียว มีแต่ “ภูมิใจไทย” ที่ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” หยิบชิ้นปลามันได้ “เบอร์ 7” เพียงรายเดียวเท่านั้น นอกนั้น เลข 2 ตัวกันกราวรูด

อาทิ “พรรคเพื่อไทย” เต็งแชมป์ได้หมายเลข 29 “รวมไทยสร้างชาติ” เบอร์ 22 “เสรีรวมไทย” 25 “ประชาธิปัตย์” 26 “ก้าวไกล” 31 “ไทยสร้างไทย” 32 “ชาติไทยพัฒนา” 18 “พลังประชารัฐ” หมายเลข 37 โดย “รักษ์ผืนป่าประเทศไทย” บ๊วยสุดลำดับที่ 49

ต้องยอมรับว่า “เลือกตั้ง 2566” ทุกพรรคการเมือง เล็กใหญ่ สูงคล้ำ ดำเตี้ย ต่างมุ่งหวังชัยชนะ เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ขอเป็นพรรคร่วมอยู่ซีกรัฐบาล จึงทุ่มทุนสร้างกันเต็มอัตราศึก มีการคาดหมายกันว่า วงเงินจะสะพัดทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท

แต่ประหลาดแท้ “กกต.” กลับกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายการเลือกตั้ง ให้กับผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามกรอบรัฐธรรมนูญมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไว้น้อยมาก

เพราะส่งศึกเลือกตั้งครั้งนี้ลงเอยตามเงื่อนไข “ยุบสภา” ส.ส.แบบแบ่งเขต มีค่าใช้ค่ายเพียงคนละ 1.9 ล้านบาท “บัญชีรายชื่อ” พรรคละ 44 ล้านบาท ในทางปฏิบัติ เป็นไปไม่ได้เลย เป็นกฎข้อบังคับที่ทำให้นักเลือกตั้ง ทำบัญชีค่าใช้จ่าย โกหก หลอกลวง “โกง” ตั้งแต่ออกจากจุดสตาร์ต

แค่ช่วงโหมโรงก่อน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ชิงยุบสภา พรรคการเมืองต่างพากันสัญจรไพรไปตั้งเวทีกันในหลายจังหวัด ปรากฏว่า ค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว เวทีละ 7 ล้านบาท

ค่าบริการมวลชน พาหนะ เก้าอี้ ฉาก ไม่คิดรวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่พักของผู้บริหารพรรค อีกบานเบอะ จึงมีข่าวว่า หลังจากนี้เป็นต้นไป พรรคการเมืองน้อยใหญ่ จะงดจ้อตั้งเวทีปราศรัยใหญ่ เพราะค่าใช้จ่ายมากมายมหาศาล จะใช้กลยุทธ์เคาะประตูบ้าน ปราศรัยเวทีย่อย เป็นการเซฟงบประมาณ

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ที่กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบแยกการตัดสินใจระหว่าง ส.ส.แบบแบ่งเขต กับปาร์ตี้ลิสต์ ไม่นำคะแนนนับรวมกันเหมือนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562

ให้นำคะแนนที่ทุกพรรคได้จากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ แล้วนำมาหารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้คือจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ต่างกับครั้งที่แล้วที่ใช้สูตรหาร 500 คิดจากฐานคะแนนมหาชนหรือป๊อปปูลาร์โหวต ซึ่ง ส.ส. 1 คน จากคะแนนเพียง 7.1 หมื่นคะแนนเท่านั้น

“แต่คาบใหม่ กับสูตรหาร 100 ฐานคะแนนต้อง 3.5 แสนจึงจะได้ ส.ส. 1 คน”

เลือกตั้งเมื่อปี 2562 “พรรคเพื่อไทย” ตกที่นั่งเสือลำบาก เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่เก้าอี้เดียว เนื่องจากได้ที่นั่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเต็มตุ่มเกินกว่าจำนวน ส.ส. “พึงมี”

ขณะที่พรรคน้องใหม่แห่งยุทธจักรในขณะนั้นคือ “อนาคตใหม่” หรือ “ก้าวไกล” ในปัจจุบัน ได้รับเลือก ส.ส.เขตเลือกตั้งเข้ามาน้อย แต่ได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตเข้ามามากที่สุด กวาดที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อไปถึง 50 ที่นั่ง โดยทิ้งห่างประชาธิปัตย์ที่ได้ 19 ที่นั่งลำดับที่ 2 ไปหลายช่วงตัว

แต่เลือกตั้ง 2566 มีการเปลี่ยนกติกา ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กับสูตรหาร 100 ไม่มีคะแนนเต็มตุ่ม “พรรคเพื่อไทย “แชมป์เขตเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ 134 ที่นั่ง แต่ไม่ได้ที่นั่งจากบัญชีรายชื่อ งวดนี้ ดังที่ทราบ ไม่มีการแตกแบงก์ “เล่นท่ายาก” ใช้บริการเพื่อไทยพรรคเดียว

และตั้งความหวังไว้สูงมากว่าจะโกยคะแนนจากเขตเลือกตั้งมาได้เกิน 200 ที่นั่งทั่วประเทศ ขณะที่ “บัญชีรายชื่อ” มั่นใจว่าจะเกิดแลนด์สไลด์ เหมือนศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2548 ที่คะแนนมหาชนมากสุดถึง 18 ล้านเสียง หรือต้องระดับการเลือกตั้งปี 2554 ได้ 17.5 ล้านเสียง

“สามารถยึดหัวหาดจ่าฝูง ปาร์ตี้ลิสต์กลับคืนมาได้ 50 ที่นั่งเป็นอย่างน้อย บวกกับเขตเลือกตั้งเพื่อไทย จะเข้าป้ายที่ 260 เสียงเป็นอย่างต่ำ”

เลือกตั้งใหญ่ เมื่อปี 2562 “เพื่อไทย” ได้ 7.8 ล้านเสียง เขตเลือกตั้ง 134 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 0 “พลังประชารัฐ” 8.4 ล้านเสียง แบ่งเขต 97 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 19 “อนาคตใหม่” เขตเลือกตั้ง 31 บัญชีรายชื่อ 50 “ประชาธิปัตย์” 3.9 ล้านเสียง เขตเลือกตั้ง 33 บัญชีรายชื่อ 19 “ภูมิใจไทย” 3.7 ล้านเสียง เขตเลือกตั้ง 39 บัญชีรายชื่อ 12

เลือกตั้ง 2566 หากเพื่อไทยแลนด์สไลด์ โกยไป 17.5 ล้านคะแนนได้จริง เท่ากับหยิบชิ้นปลามันไป 50 ที่นั่ง ที่เหลือ กรณีที่ “ก้าวไกล” ตามมาลำดับที่ 2 “เซฟโซน” ปาร์ตี้ลิสต์พรรคอื่นๆ ระดับ 10 ที่นั่ง จะได้ไม่กี่พรรค