ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 เมษายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ฝนไม่ถึงดิน |
ผู้เขียน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี |
เผยแพร่ |
นโยบายรัฐสวัสดิการ VS. นโยบายอภิสิทธิ์ชน (2)
รัฐสวัสดิการในฐานะสิทธิ์
และนโยบายอภิสิทธิ์ชนสวัสดิการแบบเงื่อนไขซับซ้อน
เมื่อเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้ง นโยบายว่าด้วยสวัสดิการ ถูกนำเสนออย่างแพร่หลาย
ในบทความนี้เราจะพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง ว่าด้วยลักษณะของสวัสดิการที่ถูกนำเสนอ แม้ว่าจะฟังดูคล้ายกันแต่ก็มีสิ่งที่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยจะทำการพิจารณาผ่านแนวคิดที่มองว่าสวัสดิการเป็นสิทธิพื้นฐาน ประชาชนทุกคนไม่ว่าฐานะอาชีพใด ก็พึงมีคุณภาพชีวิตที่ดี
กับอีกแนวนโยบายหนึ่ง คือเป็นแนวนโยบายที่หวาดเกรงว่าประชาชนจะมีชีวิตที่ดีไม่เชื่อใจประชาชน
แนวคิดนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในลักษณะของนโยบายสวัสดิการแบบอภิสิทธิ์ชน
คือการทำให้ลักษณะสวัสดิการมีความสลับซับซ้อนไม่ให้ประชาชนสามารถเอาใช้สวัสดิการได้โดยง่าย
แม้ทั้งสองนโยบายจะเป็นสวัสดิการที่ให้เงื่อนไขมุ่งช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ เช่นเดียวกัน แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกันอย่างมาก
ฐานความคิดสำคัญที่นโยบายสวัสดิการแบบอภิสิทธิ์ชนออกแบบนโยบายสวัสดิการให้มีความซับซ้อน หน่ออ่อนมาจากแนวความคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ประกันภัยที่เรียกว่า Moral Hazard
โดยเชื่อว่า หากประชาชนหรือว่าคนทั่วไป ได้รับสวัสดิการที่ดี จะมีพฤติกรรมที่เสี่ยงภัยเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์นั้น
ในลักษณะที่ว่าเหมือนกับเราซื้อประกันรถยนต์แล้วเราก็จะขับรถยนต์แบบไม่ระวัง เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการที่เราได้รับการคุ้มครองด้านการประกันไว้แล้ว
คำอธิบายนี้ สามารถใช้ได้กับพฤติกรรมบางประเภท แต่ดูจะเป็นคำอธิบายที่เกินเลยเกินไปมากเมื่อนำมาอธิบายผ่านมุมมองด้านสวัสดิการด้านต่างๆ
เราจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่า เราจะมี สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลแบบถ้วนหน้า ก็ไม่มีใครที่ปรารถนาอยากจะเข้าโรงพยาบาล
หรือหากเรามีสวัสดิการการเรียนฟรี ในระดับต่างๆ ในทางปฏิบัติ เราก็จะพบว่าก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมองว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ
หรือถ้าจะพูดให้ถึงที่สุด เราก็จะพบว่าถึงแม้ว่า วัดจะทำการสวดศพให้ฟรี จัดฌาปนกิจให้ฟรีก็ยังไม่มีใครอยากตาย เพื่อให้ได้ใช้สวัสดิการนั้น
แต่เหตุใด เมื่อหลักฐานในทางพฤติกรรมก็ไม่ได้มีการพิสูจน์ยืนยันว่าคนจะใช้สวัสดิการอย่างไม่ระวัง เมื่อมีสวัสดิการที่ดี เหตุใดนโยบายส่วนมากของชนชั้นอภิสิทธิ์ชน จึงพยายามวางเงื่อนไขให้สวัสดิการมีความสลับซับซ้อน และคนเข้าถึงยาก
สามารถสรุปได้ว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพ หรือผลประโยชน์ส่วนรวมแต่อย่างใด มันเป็นหลักการทางด้านความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และวาทกรรมว่าด้วยความไม่เท่ากันในสังคมมากกว่า
ตัวอย่างสำคัญของฐานความคิดนโยบายแบบอภิสิทธิ์ชน เช่น การร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นในอัตราเท่าใด ก็มีฐานความคิดที่ว่าพยายามป้องกัน ไม่ให้คนมาใช้สวัสดิการมากเกินไป หรือเชื่อว่าคนจะดูแลสุขภาพตัวเองดีขึ้นถ้าต้องมีการจ่าย เข้ามาเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลบ้าง
อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศ ก็ได้ทำการยืนยันว่า การร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาพยาบาลดีขึ้นแต่อย่างใด
นั่นคืองบประมาณหรือเงินที่ได้ ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
ไม่สามารถป้องกันคนเจ็บป่วยที่ไม่มีความจำเป็น ให้มารักษาพยาบาลได้
การแก้ไขปัญหาการมาพบแพทย์ด้วยเหตุผลที่ไม่จำเป็น ไม่ได้แก้ไขโดยการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล แต่แก้ไขได้ด้วยการใช้ระบบบริหารจัดการ
นอกจากนี้ ยังสร้างปัญหาที่ทำให้กลุ่มคนมีรายได้น้อยไม่สามารถมารักษาพยาบาลได้เพราะความเกรงกลัวต่อการที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล บ่อยครั้งจึงทำให้สุขภาพของกลุ่มคนมีรายได้น้อยแย่ลงไปด้วย
ในเงื่อนไขนี้จึงพิสูจน์ให้เห็นว่า การรักษาพยาบาลฟรีแบบถ้วนหน้า มีประสิทธิภาพมากกว่าการร่วมจ่าย ดูแลสุขภาพคนได้ดีกว่าและทำให้กลุ่มคนมีรายได้น้อยได้รับประโยชน์มากกว่า โดยไม่ได้ใช้งบประมาณเยอะกว่าแบบนี้นัยยะสำคัญแต่อย่างใด
การโต้แย้งระหว่างระบบสวัสดิการถ้วนหน้า กับแบบร่วมจ่ายหรือให้สวัสดิการเฉพาะคนจนที่มีความซับซ้อนนั้น จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักการการรักษาพยาบาลแต่อย่างใด
แต่เป็นเพียงการพยายามวางเงื่อนไขที่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มอำนาจของผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายเท่านั้น
อีกแนวนโยบายหนึ่งซึ่งจะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนนั่นคือนโยบายด้านการศึกษา
พวกเราต่างทราบว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญ สำคัญทั้งในระดับปัจเจกชนในการยกระดับฐานะการเพิ่มรายได้ การเพิ่มอำนาจการออม รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการปฏิสัมพันธ์กับสังคมอย่างหลากหลาย
การศึกษายังเป็นประโยชน์สำคัญต่อการพัฒนาสังคม การสร้างอาชีพ ที่มีความหลากหลาย เพิ่มมูลค่าของงานในลักษณะต่างๆ
แต่ในข้อความเป็นจริง ก็จะพบว่า เมื่อพูดถึงการศึกษาฟรี ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ในระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ก็จะถูกนำเสนอในฐานะคำใหญ่ๆ ที่ทุกคนตระหนักดีว่ามันดี
แต่ในทางปฏิบัติทุกคนก็จะปิดตาข้างเดียวและบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าจะมีกฎหมายรองรับตั้งแต่ในระดับรัฐธรรมนูญจนกระทั่งถึงในระดับกฎกระทรวง
ทุกคนจะบอกว่า การศึกษาฟรีเป็นเพียงแค่เรื่องอุดมคติ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงได้
ไม่ต้องพูดถึงการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ทุกคนต่างตระหนักว่าการศึกษามันควรจะฟรี
แต่เมื่อถึงเวลา รัฐบาลก็ออกแบบให้ผู้คนต้องเสียเงินปริมาณมหาศาล ในสิ่งที่ทุกคนคิดว่ามันดีและมันควรจะฟรีสำหรับทุกคน กลับเป็นเรื่องที่น่าตลกอย่างยิ่ง
พวกเขาจึงออกแบบนโยบายด้านการศึกษาอย่างซับซ้อน เต็มไปด้วยเงื่อนไข ตั้งแต่การพิสูจน์ความจน สู่การพิสูจน์ความเก่ง หรือพร้อมๆ ไปกับพิสูจน์ความดี
บางครั้งเป็นทุนการศึกษา บ่อยครั้งเป็นระบบคูปอง เพื่อให้ได้รับสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรได้ตั้งแต่แรกผ่านระบบคูปองหรือการสงเคราะห์ เช่นเดียวกันกับเรื่องรักษาพยาบาล
แม้ประเด็นการศึกษาจะมีความหลากหลายและซับซ้อนกว่า แต่ก็มีการวิจัยยืนยันเช่นเดียวกันว่า การแข่งขัน หรือการพิสูจน์สิทธิเพื่อให้ได้รับโอกาสการศึกษา ไม่ได้มีผลดีต่อใครทั้งในระดับปัจเจกชน และระบบสังคมโดยรวมก็ไม่ได้ประโยชน์
เพราะเป็นการจำกัดโอกาสที่คนมีความสามารถหรือความสนใจที่แตกต่างกันจะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีกว่าแค่คนที่มีเงินหรือเกิดมาในครอบครัวที่มีทุนทรัพย์ที่ไม่ว่าการแข่งขันแบบใดพวกเขาก็จะมีโอกาสมากกว่า
ทั้งหมดนี้คือลักษณะเบื้องต้นที่แตกต่างกันระหว่างนโยบายสวัสดิการในฐานะสิทธิพื้นฐาน และนโยบายสวัสดิการแบบอภิสิทธิ์ชนที่วางเงื่อนไขให้เกิดความซับซ้อน
ความแตกต่างสำคัญคือการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม หรือการเพิ่มอำนาจให้ชนชั้นนำวินิจฉัยสวัสดิการของคนส่วนใหญ่
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022