ไอศกรีมแห่งการแบ่งปัน | ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

ท้อฟฟี่ แบรดชอว์https://www.facebook.com/toffybradshawwriter

1

วันนี้ผมเอาไอเดียธุรกิจที่ดีต่อใจมาฝากแบบที่อ่านไปแล้วจะทั้งหวาน ทั้งเย็น และอุ่นหัวใจมากๆ เลยล่ะครับ

ที่เมือง Hanamaki จังหวัด Iwate ประเทศญี่ปุ่น มีร้านขายไอศกรีมแบบ Soft Serve อยู่ที่ชั้น 6 ศูนย์อาหารตึก Marukan Department Store ที่กลายเป็นไอศกรีมขวัญใจชาวเมืองที่นั่นตลอด 40 กว่าปี และรู้จักกันในชื่อ “Marukan Soft Cream”

ประหลาดไหมล่ะครับที่ไอศกรีมในศูนย์อาหารกลายเป็นไอศกรีมที่ขายดีเป็นที่รักขนาดที่คนจะตั้งใจออกจากบ้านเพื่อไปกินไอศกรีมที่ฟู้ดคอร์ตได้

แต่ความพิเศษของไอศกรีมที่นี่คือ เป็น Soft Serve ขนาด 10 ชั้น ความสูง 25 เซนติเมตร—ใหญ่มาก!

ใหญ่ขนาดนี้กินคนเดียวจะหมดเหรอ?

ถ้าเป็นคนกินเก่งอย่างผมอาจจะหมดแบบจุกๆ แต่ความพิเศษมันอยู่ที่การกินคนเดียวไม่หมดนี่แหละครับ

ดังนั้น จึงต้องแบ่งกันกิน

ใช่ครับ…นี่คือไอศกรีมแห่งการแบ่งปัน

 

2

Fujikawa Yuki เจ้าของร้านมีความตั้งใจว่า อยากทำไอศกรีมที่คนแบ่งกันรับประทานได้

อาหารจะอร่อยขึ้นเมื่อเรามีคนรับประทานด้วย

พอแบ่งไอศกรีมกันทาน ก็มีช่วงเวลาดีๆ ร่วมกัน ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้น รักกันมากขึ้น

เหมือนได้กินไอศกรีมร่วมสาบาน

จำได้ไหมว่าเราเคยกินไอศกรีมด้วยกันในวันนั้น

มีความสุขมากเลยนะ

 

3

พอได้เป้าหมายว่าจะทำไอศกรีมแห่งการแบ่งปันแล้ว เจ้าของร้านก็เลยตั้งใจพิถีพิถันทุกรายละเอียด

เพื่อที่จะทำ Soft Serve 10 ชั้นได้ ต้องคิดตั้งแต่วิธีการผสมสัดส่วนครีมและนมที่พอเหมาะ ผ่านเครื่องทำไอศกรีมที่ให้ได้เนื้อ Soft Serve ที่เนียน แน่น จนสามารถตั้งเป็น 10 ชั้นได้

ที่สำคัญ ต้องอร่อยมาก เพราะนึกถึงว่าเวลาเราไปเจออาหารที่อร่อยๆ เราก็คงอยากให้คนที่เรารักได้รับประทานด้วยกัน

การจะตั้งชั้นให้ได้ 10 ชั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พนักงานต้องผ่านการฝึกฝนเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้ได้ Soft Serve ที่ตรงเป๊ะ 10 ชั้น ความสูง 25 เซนติเมตร ถ้าไม่ตรง Soft Serve ก็จะล้ม ถ้าเอนก็ไม่สวยอีก

ที่ต้องฝึกหนักขนาดนี้ เพราะเจ้าของร้านมองว่า Soft serve ก็เหมือนงานศิลปะ

พนักงานกำลังเสิร์ฟงานศิลปะให้คนรับประทาน เมื่อเป็นงานศิลปะทุกคนจึงต้องประณีต ต้องตั้งใจทำ ลูกค้าได้รับไอศกรีมแล้วจะได้ประทับใจ คุ้มค่าที่ตั้งใจมา

ถ้าเราทำให้ไอศกรีมเป็นงานศิลปะที่มีค่า คนก็จะอยากแบ่งปันสิ่งที่มีค่าให้คนที่เขารัก

ไม่ใช่แค่ทำไอศกรีมเฉยๆ แต่เรากำลังทำสิ่งที่มีค่าที่ลูกค้ากำลังจะไปมอบให้คนที่เขารัก

4

เจ้าของคิดไปถึงว่าแล้วลูกค้าจะแบ่งปันไอศกรีมกันได้อย่างไร

ความน่ารักแบบญี่ปุ่นๆ ก็คือ เขาก็เลยให้คนใช้ตะเกียบไม้คีบ Soft Serve ครับ

ไม่ต้องผลัดกันเลียแล้วนะครับ ไม่ต้องคิดไปไกล ฮ่าๆ

และความหมายที่ซ่อนอยู่ของตะเกียบคืออะไร ลองนึกต่อดูนะครับ

ตะเกียบมาเป็น “คู่” ไงล่ะครับ

ลึกซึ้ง…

 

5

เนื้อไอศกรีมต้องเนียน แน่น ข้นพอที่จะเอาตะเกียบคีบได้เป็นคำคำ

และไอศกรีมก็ต้องไม่ละลายเหลวเป๋วและพังครืนในเวลาที่รวดเร็ว ต้องคงสภาพอยู่ได้นานประมาณหนึ่ง

ให้ลูกค้าค่อยๆ ได้ละเลียด ไม่ต้องรีบร้อน จะได้มีเวลาอยู่ด้วยกันนานๆ

พอไอศกรีมสูงใหญ่เป็น 10 ชั้น จะให้ลูกค้าถือคงเมื่อยแน่นอน เจ้าของร้านเลยมีฐานตั้งไอศกรีมให้ จะได้ไม่ต้องถือ

มือหนึ่งถือตะเกียบ อีกมือจะได้กุมมือคนที่รักได้

เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นเป้าหมายที่มีคุณค่า วิธีการทำงานจึงละเอียดตามไปด้วย

6

Soft Serve ของร้านนี้ขายได้วันละมากกว่า 1,000 โคน

ถ้าเอาความสูงของไอศกรีมมาคูณ เท่ากับว่าในแต่ละวัน ร้านนี้ทำไอศกรีมสูงมากกว่า 250 เมตรต่อวัน หรือประมาณตึก 83 ชั้น

ความสูงก็เรื่องหนึ่ง แต่ลองคิดอีกที สิ่งที่น่ามหัศจรรย์คือ ในแต่ละวัน ร้านนี้ได้ทำให้คนแบ่งปันช่วงเวลาดีๆ ให้กันมากแค่ไหน

ถ้าคิดว่าตื่นมาขายไอศกรีมชั้นสูงๆ ก็อาจจะตื่นมาด้วยความรู้สึกหนึ่ง

แต่ถ้าคิดว่าตื่นมาขายไอศกรีมที่ทำให้คนได้แบ่งปันช่วงเวลาดีๆ ร่วมกัน

เจ้าของร้านจึงตั้งใจคิดสูตร Soft Serve ที่ทำให้เนื้อไอศกรีมตั้งชั้นได้ 10 ชั้นและไม่ละลายเร็วเกินไปให้ได้ เพราะลูกค้าจะได้แบ่งกันกินอย่างมีความสุข

พนักงานจึงตั้งใจฝึกฝนเป็นเวลา 3 เดือน และตั้งใจทำ Soft Serve ทุกโคนให้ตั้งตรงสวย เพราะลูกค้าที่ได้รับจะได้มีความสุข และมีช่วงเวลาดีๆ ร่วมกับคนที่รัก

เจ้าของร้านจึงคิดฐานตั้งไอศกรีมขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องถือ ไม่ต้องพะวงกับไอศกรีม แต่ให้มีเวลาไปโฟกัสกับคนตรงหน้าที่มีความหมายที่สุด

วัฒนธรรมการทำงานของร้านจึงปลูกฝังกันว่า เราไม่ได้แค่ทำไอศกรีมเฉยๆ แต่เรากำลังสร้างงานศิลปะที่จะไปอยู่ในช่วงเวลาแห่งความสุขของลูกค้า เรากำลังทำสิ่งที่มีค่าที่ลูกค้ากำลังจะได้ใช้เวลาร่วมกันกับคนที่รัก

ถ้ารู้สึกมีแรงบันดาลใจอยากทำงานให้ได้แบบนี้ ต้องเริ่มที่การมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ให้กับงานที่ทำอยู่ครับ •