แท่งซีเซียมปริศนา

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

แท่งซีเซียมปริศนา

 

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่า แท่งซีเซียม-137 มีกัมมันตรังสีปนเปื้อนหลุดออกมานอกโรงไฟฟ้าของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (เอ็นพีเอส) ได้อย่างไร อะไรคือหลักฐานยืนยันฝุ่นเหล็กที่เจอในโรงงานหลอมเหล็กมาจากการหลอมแท่งซีเซียมของเอ็นพีเอส และทำไมโรงไฟฟ้าจึงไม่แจ้งความในทันทีที่แท่งอันตรายนี้สูญหาย?

ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่สังคมยังค้างคาใจ ต้องการคำตอบชัดเจนจากภาครัฐและเอกชนเพื่อความกระจ่างในการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย

เพราะทันทีที่มีข่าวแท่งซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าเอ็นพีเอส ผู้คนเพิ่งรู้ว่า โรงไฟฟ้าใช้ซีเซียมตรวจวัดปริมาณขี้เถ้าในไซโลของโรงไฟฟ้า

ซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตรังสีอันตราย มีลักษณะเป็นของแข็งคล้ายผงเกลือ ถ้าปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมจะเกิดผลร้ายกับสุขภาพผู้คน ระยะยาวเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง

 

เคยมีข่าวคล้ายๆ กันเกิดขึ้นเมื่อปี 2543 ซาเล้งเก็บของเก่าไปเจอแท่งโคบอลต์-60 ของเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ที่เสื่อมสภาพทิ้งไว้แถวๆ ลานจอดรถ เอาไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่าแถวๆ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

ทางร้านก็ไม่รู้ว่าแท่งโคบอลต์มีอันตรายแค่ไหน รู้เพียงว่าถ้าแยกโลหะออกมาน่าจะขายได้ราคา ปรากฏว่าระหว่างคนงานแยกชิ้นส่วนอยู่นั้นกัมมันตรังสีฟุ้งกระจาย มีผู้ป่วยนับ 10 คน ในจำนวนนี้มี 3 รายได้รับกัมมันตรังสีในปริมาณสูงและเสียชีวิตหลังเกิดเหตุ 3 เดือน

ประชาชนที่อยู่รอบๆ ร้านของเก่าราว 1,600 คน ต้องตรวจสุขภาพทุกๆ 6 เดือน ในด้านกฎหมายกว่าจะเอาผิดกับบริษัทที่ทิ้งแท่งโคบอลต์ได้ต้องใช้เวลานานกว่า 15 ปี

 

ข่าวซาเล้งเก็บแท่งโคบอลต์-60 สะท้อนถึงความไม่รู้ของผู้คนในสังคมว่าสารกัมมันตรังสีอันตรายแค่ไหน เมื่อหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมต้องจัดการกันอย่างไร

ที่น่างงๆ ไปกว่านั้น หลังเกิดเหตุแล้ว มีการย้อนกลับไปตรวจสอบการทำหน้าที่ของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือ พปส. พบว่าทำงานบกพร่องหละหลวม

ปกติแล้ว บริษัทที่นำเข้าอุปกรณ์เครื่องมือที่มีสารกัมมันตรังสี จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ พปส.รับรู้ทุกๆ 60 วัน แต่หลังเกิดเหตุโคบอลต์-60 พปส.ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีผู้ใช้สารรังสีอันตรายมากกว่า 600 รายทั่วประเทศมีวิธีจัดการเก็บรักษาเครื่องมือหรืออุปกรณ์เหล่านี้อย่างไรบ้าง และไม่มีข้อมูลว่า กากรังสีถูกนำไปทิ้งที่ไหน ควบคุมและป้องกันไม่ให้รังสีรั่วกระจายอย่างไร

นี่เป็นช่องโหว่ของการบังคับใช้กฎหมายและความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์

หาก พปส.ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดตามหลักมาตรฐานสากล เหตุการณ์ “แท่งซีเซียม-137” จะไม่เกิดซ้ำรอย “แท่งโคบอลต์-60” อย่างเด็ดขาด

โรงไฟฟ้าเอ็นพีเอสนำแท่งซีเซียม-137 มาใช้ตรวจวัดระดับของขี้เถ้าในไซโลตั้งแต่ปี 2538 เมื่อเสื่อมสภาพแล้วไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ พปส.ให้รับรู้ ขณะเดียวกันก็ทิ้งไว้และไม่รู้ว่ามีคนลักลอบขนออกไปเมื่อไหร่ด้วยวิธีไหน

โรงไฟฟ้าเอ็นพีเอส เป็นโรงไฟฟ้าไอน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใน ต.ท่ามะตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี มีทุนจดทะเบียนกว่า 6,200 ล้านบาท

ตามข้อมูลปรากฏในเว็บไซต์ของเอ็นพีเอส อ้างว่าเป็น 1 ในผู้นำธุรกิจพลังงานและพลังงานหมุนเวียน มีประสบการณ์การผลิตไฟฟ้ามานานกว่า 30 ปี ทำธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักบรรษัทภิบาลที่ดี ให้ความสำคัญกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

เอ็นพีเอสนำเทคโนโลยีการผลิตทันสมัย ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชน เลือกใช้เทคโนโลยีสะอาด

ปัจจุบันเอ็นพีเอสมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมด 11 โรง และมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 1 เครื่อง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 770.70 เมกะวัตต์ มีรายได้รวมมากกว่า 10,000 ล้านบาท มีกำไรต่อเนื่องมาโดยตลอด

 

มองภาพลักษณ์ผ่านเว็บไซต์ของ “เอ็นพีเอส” ดูดีมาก

แต่คำถามที่ตามหลังเกิดเหตุแท่งซีเซียมหายปริศนาถ้าเอ็นพีเอสเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลให้ความสำคัญกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ทำไมจึงปกปิดข้อมูลแท่งซีเซียม-137 ปนเปื้อนกัมมันตรังสีเสื่อมสภาพ

ตามข่าวระบุว่า แท่งซีเซียมหายตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ แต่เอ็นพีเอสไม่แจ้งให้ตำรวจและ พปส.รับทราบในทันที มิหนำซ้ำยังยื้อเวลาเอาไว้กว่าจะบอกเจ้าหน้าที่ว่าแท่งซีเซียมหายก็ปาเข้าไปเป็นวันที่ 10 มีนาคม

นี่เป็นปริศนาที่ พปส.จะต้องหาความจริงและนำมาเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้

ที่ให้ประหลาดใจไปกว่านั้น เมื่อเกิดเหตุอื้อฉาวแล้ว ตำรวจ เจ้าหน้าที่ พปส.เข้าไปดูพื้นที่ ปรากฏว่าบริษัทปิด แม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ก็ยังไม่สามารถเข้าไปดูจุดเกิดเหตุ

ตามหลักการของการเป็นบริษัทมีธรรมาภิบาลที่ดีจะต้องจัดการบริหารงานอย่างโปร่งใส เปิดกว้าง ซื่อสัตย์สุจริต น่าเชื่อถือ

 

ประเด็นสุดท้ายที่รัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่มีกัมมันตรังสี ต้องสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนถึงประโยชน์และอันตรายของกัมมันตรังสีอย่างต่อเนื่องเป็นระบบกว่านี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้เจ้าหน้าที่รัฐออกมายืนยันพบมีการนำแท่งซีเซียมไปหลอมในโรงงานหลอมเหล็กซึ่งเป็นระบบปิด ตรวจคนงานที่อยู่ในโรงหลอมเหล็กก็ไม่พบระดับกัมมันตรังสีที่เป็นอันตราย

แต่ประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบยังคงตื่นตระหนก หวั่นเกรงจะมีผลต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว บรรดาเกษตรกรพลอยได้รับผลกระทบไปด้วยเพราะพ่อค้าไม่กล้ารับซื้อพืชผักเกรงมีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อน เช่นเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยว ที่พักโรงแรมรีสอร์ตเจอหางเลข นักท่องเที่ยวยกเลิกการจอง

หลายฝ่ายเสนอให้รัฐบังคับโรงงาน อาคารที่ใช้อุปกรณ์กัมมันตรังสีแสดงสัญลักษณ์ให้ชัดเจน รวมถึงการทำป้ายข้อมูลบนอุปกรณ์กัมมันตรังสีที่ประชาชนรู้ได้ทันทีว่า อุปกรณ์นี้เสี่ยงต่อความปลอดภัย และเพื่อป้องกันการลักลอบนำอุปกรณ์นี้ไปขายให้ร้านค้าของเก่า

ข้อเสนอนี้น่าจะทำได้เลย •

 

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]