คุยกับทูต นิวซีแลนด์ : อยากให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้งโดยเร็ว

คุยกับทูต ปีเตอร์ ไรเดอร์ จากแดนกีวี สานสัมพันธ์ทางการทูตรอบสอง (2)

ย้อนอ่านตอน คลิก (1)

“ต้องยอมรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ยังไม่ได้ดำเนินไปตามปกติ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2014 จะเห็นได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่มีบุคคลในระดับรัฐมนตรีหรือตำแหน่งอื่นในรัฐบาลนิวซีแลนด์มาเยือนไทย ความสัมพันธ์จึงไม่ได้เป็นไปอย่างใกล้ชิดเหมือนที่เคยเป็น”

นายปีเตอร์ ไรเดอร์ อดีตเอกอัครราชทูต (Ret.) ซึ่งปัจจุบันกลับมารับหน้าที่อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย (ชั่วคราว) กล่าว

“ผมพูดเสมอเพราะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นความลับใดๆ แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการพัฒนาที่ดีขึ้น ซึ่งควรจะเป็นการกลับไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยนิวซีแลนด์ยินดีที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ จึงมีรัฐมนตรีจากนิวซีแลนด์มาเยือนไทยเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นับจากสามปีของการรัฐประหาร อันเป็นโอกาสที่เราจะได้พบปะเจรจากันมากขึ้น หากประเทศไทยกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในปีนี้หรือปีหน้า”

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า นายทอดด์ แม็กเคลย์ (Honorable Todd McClay) ในฐานะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลนิวซีแลนด์ และเป็นผู้แทนระดับรัฐมนตรีคนแรกของรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่มาเยือนประเทศไทยตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยเข้ามาบริหารประเทศ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายทอดด์ แมกเคลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของนิวซีแลนด์

เพื่อมาร่วมลงนามพร้อมกับ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในพิธีสารเพื่อแก้ไขภาคผนวก 3 ของความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ อันเป็นการช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วย

นิวซีแลนด์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 32 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของนิวซีแลนด์ในปี ค.ศ.2016 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 2,007.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 0.49 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย)

Bay of Islands ที่เกาะเหนือ
ลูพิน (Lupins)ดอกไม้ใน เมือง Wanakaนิวซีแลนด์

โดยไทยส่งออกไปนิวซีแลนด์ 1,415.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 330.92

และไทยนำเข้าจากนิวซีแลนด์ 591.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 148

ซึ่งไทยได้ดุลการค้ามูลค่า 824.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

ไทยและนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่สามารถเสริมทางเศรษฐกิจซึ่งกันและกัน ไทยส่งออกสินค้าที่ผลิตด้วยเครื่องจักรเป็นหลักไปยังนิวซีแลนด์

วนอุทยานแห่งชาติที่เกาะใต้ (Fiordland National Park and Milford Sound)

ส่วนนิวซีแลนด์เน้นการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม พึ่งพาภาคการผลิตขั้นต้น (Primary Sector) อาทิ การเกษตร การเหมืองแร่ วัตถุดิบ ทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยในฐานะฐานการผลิตของหลากหลายประเภทสินค้าอุตสาหกรรมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ ยางรถยนต์ ยานยนต์ในอุตสาหกรรม เม็ดพลาสติกและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ จึงได้รับประโยชน์จากความต้องการดังกล่าว

ความร่วมมือทางการค้าระดับทวิภาคีระหว่างสองประเทศได้มีการพัฒนาจนกระทั่งมีการลงนามความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.2005

นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือในระดับพหุภาคีที่ทําให้การค้าของสองประเทศมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น

ด้านความสัมพันธ์นิวซีแลนด์กับอาเซียน (ASEAN) อาเซียนซึ่งมีการร่วมมือทางเศรษฐกิจกับภายนอกกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายการเชื่อมโยงกับประเทศหรือกลุ่มประเทศนอกอาเซียน

เช่น ความร่วมมืออาเซียน+3 (ASEAN plus three) อันเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับอีก 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ส่วนความร่วมมืออาเซียน+6 (เพิ่มอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ซึ่งจะส่งผลให้มีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ใหญ่เป็น 1 ใน 4 ของโลก และมีจำนวนประชากรมากเป็นครึ่งหนึ่งของโลก

ท่านทูตไรเดอร์กล่าวว่า

“อาเซียนมีความสำคัญต่อนิวซีแลนด์มาก เป็นคู่ค้าทั้งในด้านการส่งออก-นำเข้า และเป็นภูมิภาคที่สนิทสนมที่สุดของนิวซีแลนด์ ครอบคลุมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาระหว่างอาเซียนและนิวซีแลนด์”

เมื่อปี ค.ศ.2013 อาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสี่ของนิวซีแลนด์โดยมีการค้าทวิภาคีมูลค่า 12.6 พันล้านเหรียญนิวซีแลนด์ รองจากจีน ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป ซึ่งมีมูลค่า 12.8 พันล้านเหรียญนิวซีแลนด์

นิวซีแลนด์นับเป็นประเทศแรกที่มีข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) กับจีน ฮ่องกงและไต้หวัน

รวมทั้งมีส่วนร่วมในการเป็นพันธมิตรของข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) กับสหรัฐ

และความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบครอบคลุมภูมิภาค (RCEP) ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ด้านการเมืองการปกครองของอาเซียน สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพในเรื่องของรูปแบบการเมืองการปกครองเพราะยังคงมีความแตกต่างกันอยู่

ซึ่งความร่วมมือในเสาหลักการเมืองและความมั่นคง อาเซียนจะไม่ได้มองในประเด็นความแตกต่างนี้เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ยังคงต้องยึดถือในหลักการของการไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน

“อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยเสมอ ถ้ามองไปที่ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย เมื่อเกิดรัฐประหาร ต่อมาก็จะกลับมาเป็นประชาธิปไตย แล้วรัฐประหารก็เกิดขึ้นอีก แต่ประชาธิปไตยก็จะกลับมาในที่สุด เพียงแต่จะใช้เวลาเนิ่นนานต่างกัน แม้ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยในวันนี้ ปีนี้ ก็อาจจะเป็นประชาธิปไตยในปีหน้า หรือปีต่อไป อะไรที่เกิดขึ้นในอดีต ก็มักจะหวนกลับมาเสมอ ผมจึงหวังว่า ประเทศไทยจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกไม่นานนี้”

ท่านทูตปีเตอร์ ไรเดอร์ กล่าวยืนยันว่า

“โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกผิดหวังที่ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย และผมก็คิดด้วยว่าประชาชนส่วนใหญ่ในเมืองไทยอยากเห็นการกลับมาของประชาธิปไตย ดังนั้น เราจึงหวังว่าในปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง และนิวซีแลนด์จะให้การสนับสนุนทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้ นี่คือเหตุผลที่เราออกไปพบปะกับทุกฝ่ายเพื่อแสดงความสนับสนุนของเราในช่วงเวลาของเดือนต่อๆ ไป”

นอกจากเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ส่งออกเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม เนย และพืชพันธุ์ธัญญาหารออกสู่ตลาดโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป อเมริกา และเอเชียแล้ว นิวซีแลนด์มีบทบาทและจุดยืนที่มั่นคงในการรักษาสภาพแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติ

และถึงแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่นิวซีแลนด์ก็ยืนยันอย่างเหนียวแน่นในการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์และการทดลองนิวเคลียร์ในแปซิฟิกตอนใต้ของประเทศมหาอำนาจ ทั้งโดยรัฐและองค์กรเอกชน