คุยกับทูตนิวซีแลนด์ ถึงเหตุผลที่ต้องกลับมาประจำการเมืองไทยรอบสอง(แม้เกษียณอายุ)แล้ว

คุยกับทูต ปีเตอร์ ไรเดอร์ จากแดนกีวี สานสัมพันธ์ทางการทูตรอบสอง (1)

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สถานทูตนิวซีแลนด์ที่กรุงเทพฯ ได้จัดงานเลี้ยงรับรองอำลาท่านทูตเบน คิง (Ambassador Ben King) ซึ่งพ้นวาระในวันที่ 1 กันยายน และต้อนรับท่านทูตปีเตอร์ ไรเดอร์ (Ambassador Peter Howard Rider) ในโอกาสมารับตำแหน่งอุปทูต (Charg? d”Affaires a.i.) รักษาการแทนเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย

นับเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดแต่เป็นที่ยินดียิ่ง เพราะถือได้ว่าการมาเมืองไทยของท่านทูตปีเตอร์ ไรเดอร์ ในครั้งนี้ เป็นการกลับมาประจำการครั้งที่สองของนักการทูตระดับซีเนียร์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม (แม้จะเป็นเพียงชั่วคราว) ภายหลังที่จากไปถึง 11 ปี

“ผมเป็นเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย เขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา เมื่อปี ค.ศ.2003-2006 ต่อมา เป็นเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศเยอรมนี มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศเพื่อนบ้านระหว่างปี ค.ศ.2010-2014 อันเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะพ้นหน้าที่เกษียณอายุราชการจากกระทรวงต่างประเทศนิวซีแลนด์ ผมได้ทำหน้าที่ส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์อันดีในหลากหลายมิติ ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีระหว่างประเทศให้มีความแน่นแฟ้น และเป็นผลรูปธรรม”

ด้วยเหตุที่เราคุ้นเคยกันมาก่อนตั้งแต่ครั้งท่านทูตอยู่เมืองไทยสมัยแรก ท่านทูตปีเตอร์ พร้อมด้วยภริยา มิสซิส แมรี่ หลุยส์ ไรเดอร์ (Mary Louise Rider) จึงให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์อันสงบร่มรื่นในซอยต้นสน ถนนเพลินจิต

เราแลกเปลี่ยนการสนทนากัน เริ่มต้นถึงการได้กลับมาประจำประเทศไทยอีกวาระหนึ่งแม้จะเกษียณอายุไปแล้วก็ตาม

“ทั้งนี้เพราะท่านทูตคนก่อนคือ นายเบน คิง ได้รับการแต่งตั้งให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศและการค้าด้านทวีปอเมริกาและเอเชีย ณ ประเทศนิวซีแลนด์ ขณะนี้กระทรวงต่างประเทศนิวซีแลนด์ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมมาทำหน้าที่แทนในประเทศไทย กระทรวงได้แจ้งให้ผมทราบไม่นานนัก โดยถามถึงความสนใจของผมหากต้องมาทำหน้าที่ในประเทศไทยประมาณ 6 เดือนถึงหนึ่งปี เพื่อเติมช่องว่างจนกว่ากระทรวงจะแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยเป็นการถาวรต่อไป”

“ผมจึงกลับมารับหน้าที่เป็นอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย อันเป็นเหตุผลของกระทรวงที่ต้องการความรวดเร็ว โดยผมสามารถเริ่มต้นปฏิบัติงานได้ทันที และแน่นอนที่สุด เป็นเรื่องที่ผมไม่เคยคาดฝันมาก่อนว่าจะได้กลับมาประจำทำงานที่นี่อีกเพราะผมเกษียณอายุแล้ว นอกเสียจากจะเป็นการมาเพื่อเที่ยวพักผ่อน”

ทูตนิวซีแลนด์กับมาดามหลุยส์

“ก่อนมา ผมมีเวลาเตรียมตัวเพียง 4-5 สัปดาห์ ต้องอ่านหนังสือมากมายเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย และยังต้องจัดการหาบุคคลอื่นเข้ามาทำงานแทนผมตามสัญญาของงานที่ผมทำเมื่อหลังเกษียณ”

ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยที่จากไป 11 ปี

“ทุกคนถามผมเกี่ยวกับเรื่องนี้และผมก็จะตอบเหมือนคนไทยที่มักชอบพูดกันว่า เหมือนกัน แต่แตกต่างกัน (same same but different) ที่ว่าเหมือนกันเพราะกรุงเทพฯ ไม่ค่อยแตกต่างมากนัก เพียงแต่มีรถไฟฟ้ามากสายขึ้น มีอาคารใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่สถานทูตได้โยกย้ายไปอยู่ ณ ที่ใหม่หลายแห่ง”

“อันที่จริง ผมก็ยังไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกไปเที่ยวกรุงเทพฯ มากนัก เพราะเพิ่งมาอยู่ได้ไม่กี่วัน แต่ผมชอบบ้านที่ผมอยู่นี้ เพราะมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย แถมอยู่ใจกลางเมืองสามารถเดินไปทำงานที่สถานทูต และศูนย์การค้าต่างๆ ได้ภายใน 5 นาที นับว่าสะดวกสบายมาก”

ภารกิจที่สำคัญของการมาประจำประเทศไทยครั้งนี้

“นั่นคือ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.2017 เป็นสาเหตุที่ทางการนิวซีแลนด์ต้องรีบส่งนักการทูตระดับซีเนียร์มาประจำสถานทูตที่นี่โดยเร็วเพื่อความเรียบร้อย ในโอกาสที่จะมีบุคคลสำคัญจากนิวซีแลนด์เข้าร่วมงานพระราชพิธีด้วย”

และในที่สุด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา นายเจมส์ เบรนดัน โบลเจอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ (The Right Honourable James Brendan Bolger ONZ) เดินทางมาถึงประเทศไทยเพื่อร่วมพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9

“กลับมาครั้งนี้ ผมเดินไปท้องสนามหลวง เห็นผู้คนจำนวนมากมายมหาศาล มีทหาร ตำรวจประจำการที่นั่นทั้งวันทั้งคืน ทุกคนมีความอดทนกันมาก เป็นที่ประทับใจยิ่ง”

ไทยกับนิวซีแลนด์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ.1956 โดยมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันในหลากหลายสาขา มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงและการหารือทวิภาคีระดับผู้นำในโอกาสต่างๆ และความร่วมมือในมิติต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ คือเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ ซึ่งมีสมญานามว่า Windy City เพราะมีกระแสลมแรงจากช่องแคบพัดผ่าน และเป็นเมืองท่าที่เชื่อมระหว่างเกาะเหนือและเกาะใต้

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนนิวซีแลนด์

เมื่อ 55 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนนิวซีแลนด์ในวันที่ 18-26 สิงหาคม ค.ศ.1962 ได้ทอดพระเนตรสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างของนิวซีแลนด์ทั้งเกาะเหนือและเกาะใต้ อันได้ชื่อว่าเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งนิวซีแลนด์ได้จัดงานรับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนนิวซีแลนด์ในวันที่ 18-26 สิงหาคม ค.ศ.1962

การเสด็จฯ เยือนนิวซีแลนด์ของทั้งสองพระองค์ เป็นการเยือนของสมาชิกพระราชวงศ์ต่างประเทศเป็นครั้งแรกสำหรับนิวซีแลนด์ มีประชาชนเดินทางมาจากหลายๆ เมืองทั่วนิวซีแลนด์มาคอยเฝ้าฯ รับเสด็จเต็มทั้งสองข้างทางถนนเพื่อเฝ้าชมพระบารมี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนนิวซีแลนด์และแอนตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้) อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17-24 พฤศจิกายน ค.ศ.1993 โดยประทับ ณ สกอตต์เบส (Scott Base) สถานีวิจัยของนิวซีแลนด์ในแอนตาร์กติกา

และต่อมาเสด็จฯ เยือนนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการ ในระหว่างวันที่ 21-24 มีนาคม ค.ศ.2006

ในความเป็นจริง นิวซีแลนด์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยในโลกที่ถูกค้นพบเป็นที่สุดท้าย เชื่อกันว่าชนพื้นเมืองคือชาวเมารี (Maori) อาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์กว่า 2,000 ปีมาแล้ว เป็นชนเชื้อสายโพลีนีเชียนที่อพยพมาจากทวีปเอเชีย แม้จากบทเพลงที่ร้องสืบทอดกันมาจะกล่าวถึงการอพยพครั้งยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 14 แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ค้นพบวัตถุเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีอายุเก่าแก่นับพันปี

เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ปีเตอร์ ไรเดอร์.

ในปี ค.ศ.1642 นักสำรวจชาวดัตช์ชื่อ อาเบล ทาสมาน (Abel Janszoon Tasman) แล่นเรือสำรวจรอบทวีปออสเตรเลีย และได้แวะนิวซีแลนด์ แต่ต้องพบกับชาวเมารีที่ดุและไม่เป็นมิตร ซึ่งได้สังหารลูกเรือของทาสมานไปหลายคน ทำให้ดินแดนส่วนนี้ถูกจารึกถึงการค้นพบ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากนักสำรวจอื่นๆ

จนกระทั่งในปี ค.ศ.1769 กัปตันเจมส์ คุก (James Cook) ชาวอังกฤษ ได้นำเรือมาจอดทอดสมอที่นิวซีแลนด์พร้อมด้วยหัวหน้าเรือชาวตาฮิติที่พอจะส่งภาษากับชาวเมารีรู้เรื่อง ทำให้คณะของกัปตันคุกได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง

กัปตันคุกพบว่า ชาวเมารีเป็นชนพื้นเมืองที่มีจิตใจเป็นนักรบและกล้าหาญ การจะเข้าถือครองดินแดนเช่นเดียวกับที่ชนผิวขาวได้ทำกับชาวพื้นเมืองในที่อื่นๆ นั้น มิอาจทำได้โดยง่าย

ดินแดนริมฝั่งทะเลที่ชาวเมารีเคยถือครองจึงถูกซื้อโดยแลกเปลี่ยนกับอาวุธ และสิ่งของเครื่องใช้จากยุโรป

เมื่อชาวเมารีมีอาวุธที่ทันสมัยไว้ในครอบครอง ด้วยความเป็น “นักรบ” โดยชาติพันธุ์ ทำให้ชาวเมารีต่างเผ่าหันมาทำสงครามกันเองอย่างต่อเนื่อง จนประชากรเมารีมีจำนวนน้อยลงอย่างน่าใจหาย

มิหนำซ้ำเชื้อโรคจากตะวันตกที่ชาวเมารีไม่เคยพบ โดยเฉพาะหวัดและกามโรค ยังได้คร่าชีวิตชาวเมารีทั้งชายและหญิงไปเป็นจำนวนมาก

หลังจากปักธงแห่งจักรภพอังกฤษ ณ ดินแดนแห่งนี้แล้ว ในปี ค.ศ.1840 อังกฤษได้ส่งกัปตันวิลเลียม ฮอบสัน (William Hobson) เข้ามาดูแลนิวซีแลนด์

กัปตันฮอบสันได้เจรจาเกลี้ยกล่อมให้หัวหน้าเผ่าเมารี 45 คนมาทำสัญญาสงบศึกทันทีที่ไวตังกิ (Waitangi) ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1840 ซึ่งถือเป็นวันชาติของนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน

สนธิสัญญาไวตังกิ (Treaty of Waitangi) นี้ นอกจากจะเป็นการสงบศึกระหว่างชาวเมารีต่างเผ่าแล้ว ยังเป็นการพยายามขจัดข้อขัดแย้งระหว่างชาวเมารีกับคนขาวที่เกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งความขัดแย้งนี้ยังคงมีอยู่จนถึงปี ค.ศ.1865 และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของชาวเมารีซึ่งมีกำลังคนและกำลังอาวุธน้อยกว่า

ชาวยุโรปที่อพยพเข้าสู่นิวซีแลนด์ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ล้วนเป็นผู้คนที่รักสงบ และด้วยสภาพธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้อาชีพหลักของคนผิวขาวที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในนิวซีแลนด์ คือ เกษตรกรรม แม้จะมียุคตื่นทองเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ ในปี ค.ศ.1860 แต่จำนวนทองที่มีไม่มากพอ ทำให้ผู้คนไม่หลั่งไหลเข้ามาในนิวซีแลนด์มากจนเกินไป

จนกระทั่งมีการประดิษฐ์ตู้แช่เย็นในปี ค.ศ.1882 ทำให้ส่งเนื้อสัตว์ไปสู่ยุโรปได้ สร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรชาวนิวซีแลนด์ในเวลาต่อมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนั้น ชีวิตใหม่ทางซีกโลกภาคใต้ยังล้ำหน้าไปกว่าชีวิตในยุโรป เพราะในปี ค.ศ.1893 ผู้หญิงได้รับสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเร็วกว่าอังกฤษประเทศแม่ และสหรัฐอเมริกาถึง 25 ปี

รวมทั้งสวัสดิการสังคมต่างๆ ก็ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างพรั่งพร้อม

ขณะที่ชีวิตของชนผิวขาวเริ่มเข้าที่เข้าทาง ชนพื้นเมืองเมารีดั้งเดิมก็ได้รับการยอมรับนับถือเฉกเช่นผู้คนที่ทัดเทียมกัน

ชาวเมารีได้รับสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งในปี ค.ศ.1867 แต่ประชากรเมารีในขณะนั้นลดน้อยลงเหลือเพียง 42,000 คนเท่านั้น

จนถึงศตวรรษนี้ ความขัดแย้งระหว่างเมารีกับเมารีด้วยกันค่อยๆ จางหาย ขณะเดียวกัน การแต่งงานระหว่างคนขาวกับเมารีก็เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับประชากรเมารีที่เพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนกว่า 400,000 คนในปัจจุบัน

ทุกวันนี้นิวซีแลนด์มีสถานะเป็นประเทศเอกราชแต่ยังคงอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ มีองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งอังกฤษเป็นประมุขในการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารประเทศ

มาวันนี้ นิวซีแลนด์เกาะกระแสโลกได้คนรุ่นใหม่เป็นนายกฯ คือ นางสาวเจซินดา อาร์เดิร์น (Ms. Jacinda Ardern) สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไวคาโท (University of Waikato) ในนิวซีแลนด์ ทางวิชาการศึกษาสื่อมวลชน วิชาเอกการเมืองและการประชาสัมพันธ์

เป็นคนรักแมวและเลี้ยงแมวไว้ตัวหนึ่ง

เป็นนักการเมืองดาวรุ่งหญิงที่มีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้าพรรคเลเบอร์ ซ้ำยังสร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกฯ อายุน้อยที่สุดของนิวซีแลนด์ในรอบ 161 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1856 หลังนำพรรคชนะเลือกตั้ง

บ่งชี้กระแสผู้นำอายุน้อยกำลังมาแรง เหมือน นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา วัย 45 ปี และ นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส อายุ 39 ปี

และเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา นางสาวเจซินดา อาร์เดิร์น ได้เข้าพิธีสาบานตนต่อ แพ็ตซี่ เรดดี้ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Governor-General, Dame Patsy Reddy) ณ กรุงเวลลิงตัน นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของนิวซีแลนด์ที่เป็นสตรี

ปัจจุบัน ประชากรนิวซีแลนด์มีประมาณ 4.8 ล้านคน แต่จำนวนแกะมีมากกว่าคนถึง 10 เท่า และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแกะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับประเทศนิวซีแลนด์อย่างมาก

ส่วนนกกีวีนั้น เป็นสัตว์พื้นเมืองของนิวซีแลนด์ ซึ่งมีอยู่เพียงแห่งเดียวในโลกและใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว นกกีวีจึงเป็นสัญลักษณ์ของนิวซีแลนด์

ทูตนิวซีแลนด์ เข้าเยี่ยมพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากจะเป็นดินแดนของนกกีวี นิวซีแลนด์ยังเป็นดินแดนที่ปลูกผลกีวี เรียกว่า kiwifruit มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

“นิวซีแลนด์ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ มีภาษาเมารีเป็นภาษาราชการตามกฎหมาย แต่คนใช้ภาษาเมารีมีเพียงส่วนน้อย ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น” ท่านทูตปีเตอร์เล่า

2. งานเลี้ยงรับรองอำลาท่านทูตเบน คิง และต้อนรับท่านทูตปีเตอร์ ไรเดอร์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์

“เมื่อกลับมาเมืองไทยไม่นาน ผมมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับบุคคลสำคัญทางการเมืองไทยที่ผมรู้จักหลายคน อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะนิวซีแลนด์ให้ความสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์กับทุกพรรคการเมือง”