โลหะปราสาทกับความรู้สึกที่เพิ่งสร้าง : จากคัมภีร์มหาวงษ์ วัดต้องสาป

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

โลหะปราสาทกับความรู้สึกที่เพิ่งสร้าง

: จากคัมภีร์มหาวงษ์ วัดต้องสาป

 

และความหมายใหม่หลังรื้อเฉลิมไทย (4)

มีสามเหตุผลที่ทำให้ “ความรู้สึก” อยากมองเห็นโลหะปราสาทอันสวยงามเมื่อยามเดินหรือขับรถข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศเข้ามาในเขตพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ เกิดขึ้นในสังคมไทย

หนึ่ง คือความรู้สึกที่เริ่มมองว่าพื้นที่ถนนราชดำเนินกลางในบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศคือ “ประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์”

สอง ความรู้สึกไม่ชอบ “คณะราษฎร” ในกลุ่มชนชั้นนำไทยที่เพิ่มสูงขึ้นหลังการรัฐประหาร 2490

และสาม ทัศนะในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ของคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ที่เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการราวต้นทศวรรษ 2520

ในหนังสือ “ราชนัดดามหาเจษฎานุสรณ์” โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2555 อันเนื่องอยู่ในโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชนัดดาราม ได้ระบุวัตถุประสงค์ของโครงการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2555 เอาไว้ตอนหนึ่งว่า

“…เพื่อให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เสริมความสง่าและงดงามโดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็น ‘ประตู’ เข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์…”

แต่จากที่ผมเขียนประเด็นนี้มาหลายตอน เราจะเห็นว่า นับตั้งแต่แรกสร้างโลหะปราสาท จนมาถึงยุคคณะราษฎร พื้นที่บริเวณนี้ไม่เคยถูกอธิบายในความหมายของการเป็น “ประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์” มาก่อนเลย

คำถามคือ ความหมายนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ภาพขณะตอนรื้อศาลาเฉลิมไทยเพื่อเปิดมุมมองสู่โลหะปราสาท วัดราชนัดดา
ที่มาภาพ : เอนก นาวิกมูล จากเฟซบุ๊ก Anake Nawigamune

จากการศึกษาข้อมูลเท่าที่มี ผมมีความเห็นว่า ความหมายนี้เริ่มขึ้นเมื่อมีการเลือกพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ให้เป็นสถานที่ประกอบ “พิธีมอบกุญแจเมือง” ให้แก่ประมุขต่างประเทศที่มาเยือนกรุงเทพฯ ซึ่งพิธีกรรมนี้คือเหตุผลหลักที่ค่อยๆ ทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีความหมายของการเป็น “ประตู” ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม พิธีมอบกุญแจเมืองเป็นพิธีใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก พ.ศ.2504 เมื่อคราวที่ประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดนีเซียเดินทางมาเยือนประเทศไทย

ที่สำคัญคือ ในครั้งนั้น พิธีถูกจัดขึ้น ณ สถานีรถไฟจิตรลดา ไม่ใช่สะพานผ่านฟ้าฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยในปี พ.ศ.2504 การมองพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าในฐานะ “ประตู” ยังมิได้เกิดขึ้น

แต่ในเวลาต่อมา ด้วยเหตุผลบางประการ พิธีมอบกุญแจเมืองได้ถูกย้ายมาจัด ณ ปะรำพิธีชั่วคราวของเทศบาลนครกรุงเทพฯ ณ บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าฯ อย่างเป็นกิจจะลักษณะและเป็นประจำ

ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อพิธีกรรมนี้ถูกจัดซ้ำๆ ณ พื้นที่เดิมก็ได้ส่งผลให้ความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อพื้นที่นี้เปลี่ยนไปจนเกิดเป็นความหมายใหม่ในฐานะ “ประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์”

เมื่อพื้นที่นี้มีความหมายของการเป็นภาพปรากฏแรกของการก้าวเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ความรู้สึกคาดหวังในแง่ของความสวยงามที่ต้องทำหน้าที่เป็นภาพตัวแทนของกรุงรัตนโกสินทร์จึงเริ่มเกิดขึ้น

แน่นอนว่า ความสวยงามอันเป็นภาพแทนกรุงรัตนโกสินทร์ จะเป็นภาพอื่นใดไม่ได้นอกเสียจากภาพของสถาปัตยกรรมแบบประเพณีไทยอันยิ่งใหญ่อลังการประเภทวัด วัง ป้อม กำแพงเมือง

แต่ความคาดหวังนั้น ตรงข้ามกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง เพราะทัศนียภาพหลักในพื้นที่ดังกล่าว คือโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย อันเป็นสถาปัตยกรรมคณะราษฎร

ซึ่งในทัศนะกระแสหลักของสังคมไทยคืออาคารที่มีหน้าตาน่าเกลียดและไม่มีความเป็นไทยเลยแม้แต่น้อย (ประเด็นนี้ไม่ขอลงรายละเอียด เพราะผมเขียนถึงบ่อยมากแล้วในที่ต่างๆ สามารถอ่านเพิ่มได้จากหนังสือ ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎรฯ)

น่าสนใจว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน (ราวกลางทศวรรษ 2500) ความรู้สึกภาคภูมิใจที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามของโลกที่มีการสร้างโลหะปราสาทก็เริ่มปรากฏแพร่หลายมากขึ้นในสังคม

จนนำมาสู่แนวคิดในการสานต่อพระราชดำริของรัชกาลที่ 3 ในการสร้างโลหะปราสาทให้แล้วเสร็จ

 

พ.ศ.2506 ได้มีการระดมเงินทุนมากถึง 6 ล้านบาทมาทำการก่อสร้างโลหะปราสาท โดยมีกรมโยธาเทศบาลเป็นผู้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้าง

มีการเสริมโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กลงไปในตัวอาคาร พร้อมทั้งทำยอดปราสาททั้งหมดจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่มิได้ทำการหุ้มยอดปราสาทด้วยโลหะ เป็นแต่เพียงการฉาบปูนและทาสีขาวเท่านั้น

แม้ความเป็นโลหะปราสาทจะยังไม่สมบูรณ์ (ยอดปราสาทมิได้หุ้มด้วยโลหะ) แต่สภาพโดยรวมของอาคารก็ถือว่าได้รับการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ มิได้มีสภาพของอาคารก่ออิฐที่เปลือยเปล่า ยอดสร้างทิ้งค้าง และต้นไม้ขึ้นปกคลุม อีกต่อไป

ดังนั้น โลหะปราสาทจึงค่อยๆ ก้าวขึ้นมามีความสำคัญอีกครั้ง (หลังจากที่ต้องอาภัพไปยาวนานมากกว่า 100 ปี) ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์และรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีอันงดงาม

 

เมื่อโลหะปราสาทสวยงามและสมบูรณ์ (ในช่วงราว พ.ศ.2510) ความรู้สึกว่าโลหะปราสาท “ถูกบดบัง” จากศาลาเฉลิมไทยก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเช่นเดียวกัน

ว่ากันตามข้อเท็จจริง ความรู้สึกถูกบดบังไม่น่าที่จะต้องเกิดขึ้นเลย เพราะหากพิจารณาแผนผังของวัดราชนัดดาให้ดีเราจะเห็นว่า มุมมองหลักในการมองเข้าสู่วัดและโลหะปราสาท ตามที่ช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 ออกแบบไว้นั้น คือมุมมองด้านหน้าวัดที่อยู่ติดกับถนนมหาไชย ไม่ใช่มุมมองที่มองมาจากสะพานผ่านฟ้าฯ แต่อย่างใด

แต่สังคมไทยราวทศวรรษ 2510 กลับไม่สนใจมุมมองหลักที่เป็นจริงของวัด โดยเกิดความรู้สึกอยากเห็นโลหะปราสาทจากสะพานผ่านฟ้าฯ มากกว่า

นั่นก็เป็นเพราะ พื้นที่สะพานผ่านฟ้าฯ ได้ถูกสร้างความหมายของการเป็น “ประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์” อย่างสมบูรณ์แล้วผ่านพิธีกรรมมอบกุญแจเมือง ทำให้เกิดความคาดหวังในเชิงทัศนียภาพของเมืองอย่างใหม่เกิดขึ้น นั่นก็คือ ทัศนียภาพที่มองมาจากถนนราชดำเนินกลาง บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ หันหน้าเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ตามที่กล่าวไป

เมื่อแนวการมองใหม่เกิดขึ้น แต่จุดหมายตากลับกลายเป็นศาลาเฉลิมไทยอันน่าเกลียดและไม่ไทย โดย ถัดเข้าไปด้านหลังของศาลาเฉลิมไทย คือ โลหะปราสาทที่เพิ่งสร้างเสร็จอย่างสวยงามหมาด ๆ

ทั้งหมดได้ร่วมกันประกอบสร้างความรู้สึกร่วมทางสังคม (โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำไทย) ว่าด้วย โลหะปราสาทกำลังถูก “บดบัง” จากศาลาเฉลิมไทย (ของพวกคณะราษฎรที่เลวร้าย)

และพัฒนาขึ้นจนเกิดเป็นความรู้สึกใหม่ที่อยากให้เกิดการมองเห็นโลหะปราสาทจากมุมมองนี้ เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์ โดยละเลยมุมมองที่แท้จริงที่รัชกาลที่ 3 อยากให้มองโลหะปราสาท ไปจนหมดสิ้น

 

ความรู้สึกใหม่นี้ถูกตอกย้ำและผลิตซ้ำให้แพร่หลายยิ่งขึ้นจาก “คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์” ที่ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในราวต้นทศวรรษ 2520

แนวทางหลักของคณะกรรมการฯ กล่าวโดยสังเขปคือ ลดความแออัดของเมืองโดยการย้ายหน่วยราชการออกนอกพื้นที่ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เปิดมุมมองต่อโบราณสถานที่สำคัญของชาติ (วัด วัง ป้อม กำแพงเมือง คูเมือง) ซึ่งพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ และวัดราชนัดดา คือหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายนำร่องของคณะกรรมการฯ

คณะกรรมการฯ มีความรู้สึกว่า ศาลาเฉลิมไทยได้เข้ามาบดบังมุมมองโบราณสถานที่สำคัญมาก ๆ ของชาติ นั่นก็คือ โลหะปราสาท

เมื่อผนวกกับความต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่เมือง คณะกรรมการฯ จึงตัดสินใจว่า ควรให้มีการรื้อศาลาเฉลิมไทยออก โดยปรับพื้นที่ศาลาเฉลิมไทยเดิมให้เป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ พร้อมทั้งสร้างพลับพลาขึ้นหนึ่งหลังในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีมอบกุญแจเมืองอย่างถาวร

คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่รัฐบาลในเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง และมีกรรมการที่ประกอบไปด้วยหัวหน้าหน่วยราชการที่สำคัญทั้งหมดในพื้นที่ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองและสถาปัตยกรรมอีกหลายคน ซึ่งทำให้ความเห็นของคณะกรรมการฯ มีพลังมากในการกำหนดนโยบายในพื้นที่

แม้ว่าจะมีนักวิชาการและประชาชนไม่น้อยออกมาต่อต้านการรื้อศาลาเฉลิมไทย แต่สุดท้ายก็ต้านไว้ไม่สำเร็จ จนในที่สุดศาลาเฉลิมไทยก็ถูกรื้อลงในปี พ.ศ.2532

 

นับตั้งแต่นั้น โลหะปราสาทที่ไม่เคยมีใครสนใจมาตลอดมากกว่า 100 ปีก็ได้ถือกำเนิดขึ้นใหม่ (ในเชิงความหมาย) ในปี พ.ศ.2532

โดยในด้านหนึ่งเป็นการสานต่อความหมายเดิมของโลหะปราสาทตามคัมภีร์มหาวงษ์ ที่รัชกาลที่ 3 ได้ตั้งใจไว้จนสำเร็จ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เป็นการถือกำเนิดขึ้นในฐานะ landmark ใหม่ของเมือง

เป็นสัญลักษณ์ทางความหมายของ “ประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์”