โลหะปราสาทกับความรู้สึกที่เพิ่งสร้าง : จากคัมภีร์มหาวงษ์ วัดต้องสาป

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

โลหะปราสาทกับความรู้สึกที่เพิ่งสร้าง

: จากคัมภีร์มหาวงษ์ วัดต้องสาป

และความหมายใหม่หลังรื้อเฉลิมไทย (3)

 

“…ทูลหม่อมได้รับสั่งเล่าให้ฉันฟังต่อพระโอฐเอง…ว่าวัดเดิมนั้นสมเดจพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี กราบทูลขอให้ทรงทำวัดราชนัดดา ซึ่งพระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง ในพระนามของท่าน แต่ทูลหม่อมทรงรังเกียจด้วยพระกระแส ซึ่งพระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ควรที่จะเอามาเล่าคุ้ยเขี่ยขึ้นในเวลานี้อีก…วัดนั้นเปนวัดต้องสาปไม่เสดจพระราชดำเนินตลอดมาจนแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อไม่ต้องด้วยพระราชอัธยาศัยดังนี้จึงรับสั่งว่าจะสร้างให้ใหม่วัดหนึ่ง…”

เนื้อความข้างต้นคือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 เมื่อคราวที่ทรงอธิบายถึงประวัติการสร้างวัดพระนามบัญญัติ (วัดมกุฏกษัตริยาราม) ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ภาคปกิณกะ” ต้นฉบับของพระธรรมนิเทศทวยหาญ (อยู่ อุดมศิลป์)

ข้อความอธิบายให้เราเห็นว่า รัชกาลที่ 4 ไม่พอพระทัยคำพูดบางอย่างของรัชกาลที่ 3 ที่พระนางเจ้าโสมนัสฯ นำมากราบทูลเกี่ยวกับการก่อสร้างวัดราชนัดดา จนเป็นเหตุให้รัชกาลที่ 4 ทรงปล่อยทิ้งการก่อสร้าง และโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างวัดใหม่ให้แก่พระนางเจ้าโสมนัสฯ แทน (วัดโสมนัสฯ)

ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นด้วยว่า วัดราชนัดดา กลายเป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 ไม่เคยเสด็จไปเลยตลอดรัชกาล และเมื่อล่วงมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ก็ยังเป็นเช่นเดียวกัน

จนทำให้วัดมีสถานะ “วัดต้องสาป”

โลหะปราสาทภายหลังการตัดถนนราชดำเนินกลาง มองเห็นโลหะปราสาทในสภาพก่ออิฐที่ยังไม่แล้วเสร็จ

ข้อความอะไรที่พระนางเจ้าโสมนัสฯ กราบทูล จนเป็นสาเหตุที่ทำให้รัชกาลที่ 4 ไม่พอพระทัย ดูจะเป็นปริศนาที่มีผู้คนอยากรู้เป็นจำนวนมาก ตามที่พระธรรมนิเทศทวยหาญ ได้เขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้ในตอนท้ายพระราชนิพนธ์ว่าเป็น “ข้อที่คันใจ”

พระธรรมนิเทศทวยหาญ อ้างคำบอกเล่าจากหม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ ที่ได้เล่าให้ตนเองฟังเกี่ยวกับเหตุผลเบื้องหลังการเป็นวัดต้องสาปเอาไว้น่าสนใจว่า

“…ถึงรัชกาลที่ 4 ตอนที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ กราบทูลให้ทรงทำวัดราชนัดดาต่อไปนั้น นัยว่าท่านเป็นคนซื่อ ได้กราบทูลตลอดไป ถึงความที่รัชกาลที่ 3 มีพระราชประสงค์จะไม่ให้ต้องใช้เงินแผ่นดินใหม่ ได้พระราชทานเงินบูรณะไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากแล้ว รับสั่งว่า พระนั่งเกล้าท่านทรงรังเกียจฉัน ท่านจะไม่ให้ฉันเข้าไปเกี่ยวข้องกับวัดวาอารามของลูกหลานท่าน ท่านจึงได้พระราชทานเงินกันไว้เสียเอง เถอะฉันจะไม่เกี่ยวข้องกับวัดนี้เป็นอันขาด กฐินก็จะไม่ไปทอด ลูกของเธอฉันก็จะไม่ให้ไปที่วัดนี้ จึงได้ทรงรับสั่งว่าจะสร้างให้ใหม่วัดหนึ่งต่างหาก…”

พระธรรมนิเทศทวยหาญ อธิบายต่อมาว่า

“…ก็ความทรงพาซื่อของสมเด็จพระนางเจ้าพระองค์นั้น เป็นเหตุให้วัดหนึ่งตกอับไป แต่เป็นปัจจัยให้วัดหนึ่งได้เกิดขึ้น จึงได้มีวัดเฉลิมพระนามถึงสองวัดโดยไม่ซ้ำตำแหน่งกัน คือวัดหนึ่งในฐานะหลานหลวงเอกรัชกาลที่ ๓ วัดหนึ่งในฐานะพระอัครมเหษีรัชกาลที่ ๔ ส่วนที่น่าเสียดายก็คือโลหปราสาทตกอับไป เราจึงไม่ได้ชมที่งดงามตามมุ่งหมายเดิม…”

จากคำบอกเล่าข้างต้นทำให้เราเข้าใจเหตุผลที่ทำให้วัดราชนัดดา ที่แม้จะเป็นวัดหลวงขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ได้รับการก่อสร้างต่อมาอีกเลย

ส่วนโลหะปราสาทก็ถูกปล่อยทิ้งเอาไว้เช่นกัน โดยสภาพของอาคารทำการก่อสร้างไปได้เพียงแค่ก่ออิฐ โดยยอดปราสาททั้งหมด 37 ยอดก็มีเพียงบางยอดที่ได้ก่ออิฐขึ้นไว้บ้าง แต่กระนั้นก็ยังไม่มียอดใดดำเนินการไปจนถึงขั้นฉาบปูนเลย

และเพียงไม่นาน ต้นไม้เถาวัลย์ก็ขึ้นปกคลุมทึบไปจนเกือบทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงราวปลายรัชกาลที่ 5 ในสมัยที่มีพระประสิทธิสุตคุณ (แดง) มาเป็นเจ้าอาวาสวัด ได้มีความเอาใจใส่ยิ่งในการพยายามที่จะก่อสร้างอาคารทั้งหลายที่อยู่ภายในวัดให้แล้วเสร็จสมบูรณ์

จากเอกสารหอจดหมายเหตุในช่วงราว พ.ศ.2444-2452 แสดงให้เห็นความพยายามของพระประสิทธิสุตคุณ ในการระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาเพื่อมาทำการก่อสร้างต่อ หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ดูจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก

มีตัวอย่างฎีกาฉบับหนึ่งน่าสนใจ ที่เขียนระดมทุนสร้างพระอุโบสถ ความตอนหนึ่งว่า

“…วัดราชนัดดานี้เปนพระอารามหลวงในพระนคร ที่ชำรุดซุดโทรมมากกว่าพระอารามทั้งปวง…ดูเปนที่น่าเสียดายยิ่งนัก…แต่การที่จะปฏิสังขรณ์นั้นเหลือกำลังชนสามัญจะมีใจเลื่อมใสทำได้ ต้องอาไศรยสาธารณประโยชน์พึงกำลังทรัพย์พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการพ่อค้าชนสามัญ ทรงช่วยแลช่วยอุดหนุนแล้วก็คงจะสำเร็จประโยชน์ได้…ทรัพย์ที่จะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ เปนเงิน ๘๔,๐๐๐ บาทถ้วน…”

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ดูเสมือนว่าจะไม่ได้รับเสียงตอบรับเท่าที่ควร โดยระดมทุนได้เพียงแค่ 6,070 บาทเท่านั้น และก็ต้องทำการซ่อมสร้างไปตามสภาพด้วยเงินจำนวนเท่านั้น

หรืออีกกรณีที่ท่านพยายามซ่อมโลหะปราสาท ก็ทำได้แบบตามมีตามเกิด เพียงบูรณะให้มีการฉาบปูนแบบเกลี้ยงๆ ง่ายๆ ไล่ไปทีละยอด ซึ่งก็ทำได้เพียงแค่ยอดกลางและยอดอื่นๆ อีกบางยอดเท่านั้น

พอสร้างซุ้มไหนเสร็จท่านก็เปิดให้คนนำเงินมาบริจาค แลกกับการให้พื้นที่ในการบรรจุอัฐิเอาไว้ภายในได้ เพื่อระดมทุนนำไปสร้างยอดอื่นๆ ต่อไป

 

ความยากลำบากในการระดมทุน สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเจ้านาย ที่มีสถานะเป็นผู้อุปถัมภ์หลักของการสร้างวัดต่างๆ ในพระนคร ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรเลยกับ “โลหะปราสาทหลังที่ 3 ของโลก”

ที่สำคัญคือ แม้จะมีการตัดถนนราชดำเนินขึ้นในปี พ.ศ.2442 ซึ่งแนวถนนราชดำเนินกลางได้ตัดผ่านด้านข้างของโลหะปราสาท ซึ่งด้วยตำแหน่งที่ตั้ง สามารถยกระดับโลหะปราสาทให้กลายเป็นแลนด์มาร์กของพื้นที่ได้ โดยเฉพาะในมุมมองที่มองมาจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

แต่สุดท้ายชนชั้นนำไทยก็ไม่สนใจที่จะสร้างโลหะปราสาทให้เสร็จ ไม่สนใจมุมมองที่มองมาจากสะพานผ่านฟ้าฯ ซึ่งผมกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่า จากการสำรวจตรวจดูภาพถ่ายบริเวณนี้ภายหลังตัดถนนราชดำเนิน แทบไม่ปรากฏให้เราเห็นถึงมุมมองที่มองข้ามมาจากสะพานผ่านฟ้าฯ เข้ามาหาโลหะปราสาทเลย

ล่วงมาจนถึงรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 โลหะปราสาทก็ยังไม่ได้รับความสนใจเช่นเดิม

แม้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของโลหะปราสาทตามความเชื่อทางพุทธศาสนาจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีสมัยใหม่ แต่ความรู้สึกภาคภูมิใจที่สังคมไทยคือประเทศที่มีการก่อสร้างโลหะปราสาทเป็นแห่งที่ 3 ของโลก ก็ดูจะยังไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น จึงไม่ควรแปลกใจที่เมื่อภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์พัฒนาถนนราชดำเนินกลางโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและอาคารสองข้างทางเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงศาลาเฉลิมไทยด้วยนั้น จึงไม่ใครสนใจว่าจะเป็นการบดบังโลหะปราสาท

เพราะนับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาก็ดูจะไม่มีใครสนใจที่จะมองโลหะปราสาทอยู่แล้ว มิฉะนั้นคงไม่ปล่อยทิ้งไว้เป็นกองอิฐขนาดใหญ่ริมถนนราชดำเนินกลางอย่างแน่นอน

 

ในเมื่อไม่เคยมีใครสนใจมอง (โดยเฉพาะในมุมที่มองมาจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ) เพราะไม่เคยมีใครรู้สึกว่ามีคุณค่ามากขนาดนั้น การก่อสร้างศาลาเฉลิมไทยจึงมิได้เป็นการบดบังทัศนียภาพใดๆ ของโลหะปราสาท เพราะทัศนียภาพอันสวยงามดังกล่าว ไม่เคยถูกรู้สึก และ ไม่เคยปรากฏมีมาก่อนแต่อย่างใด

ข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ ในด้านหนึ่งตอกย้ำให้เราเข้าใจคำว่า “วัดต้องสาป” ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และอีกด้านยังช่วยให้เข้าใจว่า ความรู้สึกในการอยากมองเห็นโลหะปราสาทอันสวยงามเมื่อยามเดินหรือขับรถข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศเข้ามาในเขตพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์นั้น เป็นเพียง “ความรู้สึกที่เพิ่งสร้าง”

คำถามสำคัญคือ ความรู้สึกที่เพิ่งสร้างนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อไรและเพราะอะไร