“ภูมิใจไทย” สะดุด ศึกเลือกตั้งใหญ่ | จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

“จงทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย” เด่นเกินไป ดีเกินหน้าเกินตาคนอื่น มักจะนำความเดือดร้อนย้อนกลับมา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการโดนนินทา โดนแขวะ โดนแซะหน้าแซะหลัง ยังกะขนมเบื้อง เพราะเพื่อนฝูง คู่แข่งหมั่นไส้ อิจฉา

และแล้ว “พรรคภูมิใจไทย” ของครูใหญ่ “เนวิน ชิดชอบ” ที่มี “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นหัวหน้าพรรค ก็โดนปัญหา “พุ่งชน” แทบจะล้มทั้งยืน เมื่อ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ประชุมปรึกษาคดี กรณีที่ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ส่งคำร้องให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า

“ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่”

ประเด็นดังกล่าวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า “นายศักดิ์สยาม” ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วน และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น และยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน

กลุ่ม ส.ส.ดังกล่าวเห็นว่า เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4(1)

“ศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม จึงมี มติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีให้ ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสองแล้วเห็นว่า

“ผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคมนี้ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยแจ้งให้คู่กรณีและรัฐมนตรีทราบ”

“ห้องเครื่อง” ของเรื่องนี้ มาจากการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ผู้ทำหน้าที่อภิปรายคือ “นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “พรรคฝ่ายค้านร่วม” นำโดย “นายชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ เข้ายื่นคำร้องถึง “นายชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ “นายศักดิ์สยาม” ว่าสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170(5) หรือไม่

 

โฟกัสกลับไปที่ “ภูมิใจไทย” ต้องยอมรับว่า เป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ที่เวิร์กเร็วมากๆ ศึกเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 ที่พรรคเพื่อไทยชนะได้ ส.ส.มา 2 ระบบ 265 ที่นั่ง “ภูมิใจไทย” ได้เพียง 34 เสียง จากแบ่งเขต 29 กับบัญชีรายชื่อ 5 ที่นั่ง ทั้งๆ ที่ตั้งเป้าไว้มากถึง 50-60 ที่นั่ง

ขณะที่เลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้ที่นั่งมา 51 เสียง จากเขตเลือกตั้ง 39 คน และบัญชีรายชื่อ 12 คน แต่เนื่องจากยืนถูกที่ถูกทาง โควต้ารัฐมนตรีที่คนของพรรคได้รับอานิสงส์ไปประจำการ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เมกะโปรเจ็กต์ทั้งดุ้น เข้ากับยุคสมัย “ประชานิยม”

นักเลงเลือกตั้ง ต่างพากันไหลมาเทมา สู่ร่มไม้ชายคา “ภูมิใจไทย” จากตัวเลขประมาณการในขณะนี้ ประกอบด้วย “พลังประชารัฐ” 14 คน “เพื่อไทย” 10 คน “ก้าวไกล” 5 คน “เศรษฐกิจไทย” 3 คน “ประชาธิปัตย์” 1 คน “เพื่อชาติ” 1 คน “ประชาภิวัฒน์” 1 คน “ชาติพัฒนา” 1 คน “รวมพลัง” 1 คน

อาการดูดแบบติดเทอร์โบ ไม่บันยะบันยังของ “พรรคหมอหนู” ผลดีก็มีมาก คือได้ที่นั่ง ส.ส.งอกขึ้นมาพึ่บพั่บในชั่วพริบตาเดียว กระโดดค้ำถ่อจากอันดับ 5 มาอยู่อันดับ 3 เกือบ 80 ที่นั่ง เสียงทำท่าจะดังกว่าพรรคแกนนำคือ “พลังประชารัฐ”

“ผลเสีย” ก็เยอะมากตามมา ประการแรก ส.ส.ที่แห่นาคมาร่วมชายคา มีหลายประเภท ทั้งเกรดเอ-บี ซุปสตาร์-ไม้ประดับ เหนือสิ่งอื่นใด คือการเพาะชำศัตรูเต็มไปหมด “มิตรกลายเป็นศัตรู ศัตรูยังเป็นศัตรู”

มีศัตรูอยู่ก่อนแล้วร้อยคน มิตรกลายเป็นศัตรูอีกร้อยคน เท่ากับ “ภูมิใจไทย” ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้านได้เด็ดดวงมาก

จริงอยู่ ชนวนที่เป็นปฐมเหตุให้ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีคมนาคม มาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝีมือของ “พรรคฝ่ายค้านร่วม” ก็จริง แต่มีบางออปชั่น ขี้เถ้าและเขม่าฟุ้งมาจาก “คนกันเอง” จุดไฟสุมสร้างสถานการณ์ขึ้นมา

“ศักดิ์สยาม” ไม่เพียงแต่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่อย่างเดียว แต่ยังมีหมวกอีกใบคือ “เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย” ที่กำลังเติบโตสุดขีด มีผู้แทนฯ ต่างพรรค แห่เข้าไปสังกัดอย่างท่วมท้น

ศึกเลือกตั้งใหญ่ในไม่กี่เดือนข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 7 หรือ 14 พฤษภาคม 2566 ทำท่าจะแปรสภาพเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เบอร์ต้นๆ วางธงไว้มากถึง 120 ที่นั่ง

“อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคแคนดิเดตนายกฯ ก็ประกาศผางๆ พร้อมจะก้าวขึ้นทำเนียบนามหยิบชิ้นปลามัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ และไม่ใช่ความหวังลมๆ แล้งๆ

คู่แข่ง ตัวชิง มิใช่ว่าจะมีแต่พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล แต่ยังต้องห้ำหั่นกับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แชมป์เก่าจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” จากพลังประชารัฐ

“เด่นเกินไป ภัยจึงมา” และถูกที่ถูกเวลาอย่างยิ่ง การที่พรรคภูมิใจไทยกำลังจะก้าวย่างอย่างงดงามพระรามหก กับศึกเลือกตั้งใหญ่ที่จะระเบิดเถิดเทิงขึ้นในเดือนพฤษภาคม กลับมาสะดุดปัญหาในคาบช่วงเวลาสำคัญ สถานการณ์เข้าด้ายเข้าเข็มเอาในตอนนี้ ทุกอย่างจึงพังครืนดุจ “ภูเขาถล่ม”

โอกาสที่จะไต่เพดานบินได้ ส.ส.ตามเป้าเกิน 100 ที่นั่ง ก็ยากถึงยากมากขึ้น

“เสี่ยหนู อนุทิน” จะหยิบชิ้นปลามันในตำแหน่งนายกฯ ลำบากมากขึ้น

สรุปสาเหตุที่ “พรรคภูมิใจไทย” ถูกรุมกินโต๊ะคาบนี้ เพราะ “การเมืองไม่มีมิตรถาวร” ไว้ใจใครอะไรไม่ได้เลย