‘คนดี’ ขายไม่ได้อีกแล้ว ใน ‘ตลาดการเมืองไทย’ | ปราปต์ บุนปาน

จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญประการหนึ่งที่ปรากฏชัดเจนในบรรยากาศซึ่งปูทางไปสู่การเลือกตั้งปี 2566 ก็คือ ดูเหมือน “ความเป็นคนดี” จะมิใช่ “จุดขายหลัก” ที่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันหรือใช้ช่วงชิงคะแนนนิยมได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ในสนามการเมืองไทยร่วมสมัยอีกแล้ว

เผลอๆ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อาจเป็นผู้นำประเทศคนสุดท้าย ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการสนับสนุนจากผู้คนบางส่วนด้วยจุดขายเรื่องการเป็น “คนดี”

แล้วการได้ “คนดี” มาปกครองบ้านเมืองในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ก็ต้องแลกด้วยบรรยากาศอันน่าอึดอัด ระบอบประชาธิปไตยจำแลงที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรมมากมาย ระบบต่างๆ ที่ชำรุดผุพัง ไม่มีอะไรได้รับการปฏิรูปอย่างจริงจัง และกิจการ “สีเทาๆ” เต็มบ้านเต็มเมือง

แม้แต่คนรอบข้างผู้นำเองก็ถูกตั้งข้อครหาว่าอาจมิใช่ “คนดี” เช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น ยิ่งใกล้เลือกตั้ง การเกิดสงครามชิงดีชิงเด่นภายในขั้วการเมืองเดียวกัน โดยเฉพาะขั้วที่เป็นรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็ส่งผลให้นักการเมืองบางรายจากพรรคการเมืองบางพรรค ถูกเล่นงานด้วยคดีการเมือง-คดีทุจริตใหญ่ๆ

อันยิ่งเป็นการตอกย้ำชัดเจนว่า แม้แต่ฝ่ายผู้ถือครองอำนาจเอง ก็ไม่ได้เป็นแหล่งรวม “คนดี” แบบร้อยเปอร์เซ็นต์

คําถาม คือ แล้วภาพลักษณ์แบบไหนที่กลายเป็น “จุดขายใหม่” ในตลาดการเมืองไทยปัจจุบัน

จุดขายยอดฮิตข้อแรกที่มองเห็นกันได้อย่างเกลื่อนกล่น ก็ได้แก่ การพยายามโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าตนเองเป็นคน “ทำงานได้” หรือ “ทำงานจริง”

ดังที่ปรากฏอยู่บนแผ่นป้ายหาเสียงของหลายพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายคน

คำถามที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ก็คือ ในขณะที่พรรคการเมืองและนักการเมืองคิดว่าตนเอง “ทำงาน” ต่างๆ ได้ประสบความสำเร็จนั้น ประชาชนได้ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของ “การทำงานดังกล่าว” ว่าอย่างไรบ้าง?

คำถามถัดมา คือ ตกลงพรรคการเมืองใดกันแน่ที่เป็นคนลงมือ “ทำงาน” บางอย่างจนประสบผลสำเร็จ เพราะหลายครั้ง หลายพรรคการเมืองก็ออกมากล่าวอ้างพร้อมๆ กัน ว่าตนเองมีส่วนร่วมกับความสำเร็จนั้นๆ

ปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามอีกประการมีอยู่ว่า การวัดความสำเร็จของพรรค/นักการเมืองจาก “การทำงาน” ดูจะผูกติดอยู่กับสถานภาพการได้เป็นรัฐบาล ได้บริหารกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยอัตโนมัติ

พูดอีกอย่างได้ว่า คุณต้องได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น จึงจะสามารถลงมือทำอะไรที่สำเร็จเป็นรูปธรรม

ถ้าอย่างนั้นแล้ว พรรคการเมืองฝ่ายค้านหรือพรรคที่ไม่เคยเป็นรัฐบาลมาก่อนเลย ก็จะมีสถานะเป็น “คนไม่ทำงาน” หรือ “คนทำงานไม่เป็น” กระนั้นหรือ?

แล้วการอภิปราย การโยนคำถามสู่สังคม การทำให้ประชาชนบางส่วนเปลี่ยนแปลงความคิด แม้จะยังไม่มีผลลัพธ์ใดๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จะถูกนับเป็น “การทำงานการเมือง” ด้วยหรือไม่?

 

คุณสมบัติอีกข้อที่น่าจะกลายเป็นจุดขายของพรรคการเมืองต่างๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ก็คือ พวกคุณมีศักยภาพในการ “เปลี่ยนแปลงประเทศ” มากน้อยแค่ไหน?

นี่เป็นคำถามสำคัญ ในบริบทที่ประเทศนี้หยุดนิ่งจมปลักมาเกือบทศวรรษ (หรือเอาเข้าจริงแล้ว ถูกบอนไซมาตั้งแต่ปี 2549)

แต่จะ “เปลี่ยนประเทศไทย” อย่างไร? นั่นก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญ

เช่น จะเปลี่ยนจากเรื่องเล็กๆ ไปสู่เรื่องใหญ่ เปลี่ยนจากเรื่องใกล้ตัว ไปสู่เรื่องโครงสร้างสำคัญๆ

หรือจริงๆ แล้ว บ้านเมืองของเรากำลังป่วยหนักจนถึงขั้นต้องเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างกันก่อน

หรือแม้จะตั้งต้นกันที่การเปลี่ยนแปลงในระดับจุลภาค นักการเมืองแต่ละคนก็อาจมองเห็นภาพดังกล่าวผิดแผกกัน เช่น “เศรษฐา ทวีสิน” ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งมองว่างานท้าทายที่ผู้นำคนต่อไปต้องเผชิญ ไม่ได้มีเพียงแค่ปัญหาปากท้องเท่านั้น

แต่ยังมีประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่รอคอยผู้นำคนใหม่อยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะนิยาม “การทำงานการเมือง” ว่าอย่างไร เราจะนิยาม “การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” ไว้เข้มข้นแค่ไหน

สิ่งที่แทบทุกคนประจักษ์ตรงกัน ก็คือ “คนดีแบบเดิมๆ” นั้นมิได้มีที่ทางหรือบทบาทใดๆ อยู่ในสมการการเมืองข้างต้น •