อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : กัมพูชาเปิดประเทศหรือ

AFP PHOTO / TANG CHHIN SOTHY

หนังสือพิมพ์ Khmer Time วันที่ 20 สิงหาคม 2559 รายงานว่า ท่าน Thong Khon รัฐมนตรีการท่องเที่ยวราชอาณาจักรกัมพูชาจะดำเนินการให้วีซ่า 3 ปีกับชาวต่างชาติ ทั้งนี้ นับเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของรัฐบาลกัมพูชาเพื่อดึงดูดชาวต่างประเทศให้มาประเทศกัมพูชามากขึ้น

ตามแผนงานใหม่นี้ รัฐบาลกัมพูชาต้องการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 7 ล้านคนต่อปีมาท่องเที่ยวในกัมพูชาในปี 2020 ทั้งนี้ การให้วีซ่าแก่นักท่องเที่ยวอยู่และเข้าออกกัมพูชาหลายครั้งภายใน 3 ปีจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 กันยายนที่จะถึงนี้

เป้าหมายการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา ยังรวมไปถึงนักลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย แต่ในข้อมูลทั่วไปจากทางการกัมพูชา มีนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวน 2 ล้านคน และจากญี่ปุ่นอีก 300,000 คนเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในกัมพูชา

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า รัฐบาลกัมพูชาจะเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศถือหุ้นได้ 100% ในกิจการที่เขาเข้ามาลงทุน ดูเหมือนว่า กัมพูชาเปิดประเทศอย่างสุดๆ ทั้งด้านการท่องเที่ยว ด้านการลงทุน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรย้อนดูข้อมูลพื้นฐานและพัฒนาการต่างๆ ที่น่าสนใจ

AFP PHOTO / TANG CHHIN SOTHY
AFP PHOTO / TANG CHHIN SOTHY

กัมพูชา เศรษฐกิจการเมืองกับชาติมหาอำนาจ

กัมพูชาเคยถูกปกครองโดยฝรั่งเศสเพิ่งได้เอกราชเมื่อปี 1953 กัมพูชามีสงครามกลางเมือง มีการต่อสู้กันเองระหว่างกัมพูชาฝ่ายขวากัมพูชาฝ่ายที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนและกัมพูชาฝ่ายที่จีนให้การสนับสนุนนั่นคือเขมรแดง

แต่อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เมื่อ ท่านสมเด็จฮุน เซน ขึ้นครองอำนาจ จีนมีความสัมพันธ์กับกัมพูชาอย่างลึกซึ้ง นับตั้งแต่ปี 2004 จีนเป็นนักลงทุนอันดับต้นๆ ของกัมพูชา การทำธุรกิจจีนดำเนินไปพร้อมกับบทบาทของลูกจีน และชุมชนชาวจีนในกัมพูชา

จีนมีบทบาททั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองในกัมพูชา ภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศที่มีผู้เรียนกว่า 30,000 คนกระจายทั่วประเทศ ในปี 2000

ประธานาธิบดี เจียง เจ๋อ หมิง เป็นประธานาธิบดีที่เดินทางเยือนกัมพูชาเป็นคนแรก ต่อจากนั้น สมเด็จฮุน เซน เดินทางเยือนจีนหลายครั้ง และทุกครั้งจะได้สัญญาพร้อมความช่วยเหลือใหม่จากรัฐบาลจีน

จีนมีการส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่า 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับกัมพูชาในปี 1997 โดยยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่อยู่กับกองกำลังที่ภักดีต่อสมเด็จฮุน เซน¹ จีนยังมีบทบาทในด้านการให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรในกองทัพกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง ให้เงินช่วยเหลือปรับปรุงสนามบินทหารในกัมปงชาน ให้เงินกู้เพื่อซื้อเรือลาดตระเวน 6 ลำ แก่กองทัพเรือกัมพูชา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ

จีนได้ประโยชน์มากมายในด้านเศรษฐกิจและการเมืองจากการสนับสนุนรัฐบาล ฮุน เซน บริษัทจีนได้ใช้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำกัมพูชาขอสัมปทานที่ดินในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการในจังหวัดกระแจ เกาะกง มณฑลคิรี และจังหวัดอื่นๆ จีนยังได้ประโยชน์จากกัมพูชาโดยใช้สถานะสิทธิพิเศษทางการค้า (MFN) ในการส่งออกสิ่งทอของนักลงทุนจีนไปสหรัฐอเมริกา ประชาคมยุโรป และตลาดโลก

ยิ่งไปกว่านั้น กัมพูชามีแหล่งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุและพื้นที่ทางการเกษตรอีกมาก

บริษัทจีนยังได้รับสัมปทานที่ดินและใบอนุญาตลงทุนเหมืองแร่ ไฟฟ้าพลังน้ำและอุตสาหกรรมทางการเกษตร

ในทางการเมือง กัมพูชาเป็นผู้สนับสนุนนโยบายจีนเดียว (One China Policy) ที่เข้มแข็งที่สุดในอาเซียน

จีนยังใช้กัมพูชาเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในลุ่มแม่น้ำโขง การสร้างสนามบินแห่งใหม่บนเกาะกงและการสนับสนุนฐานทัพเรือรีม ทางตอนใต้ และท่าเรือขนส่งสินค้าที่ท่าเรือสีหนุ วิลล์ เพื่อเป็นฐานทัพแห่งใหม่สำหรับเรือรบและเรือสินค้าจีน


กัมพูชาเปิดประเทศหรือ

จากแผนงานการดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศให้เข้าไปท่องเที่ยวและลงทุนในกัมพูชามากขึ้นด้วยการใช้ระบบการให้วีซ่าแก่ชาวต่างประเทศนาน 3 ปี จึงเป็นเพียงข้ออ้างเรื่องเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ของทางการกัมพูชามากกว่า

ถึงแม้กัมพูชาจะมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม เช่น นครวัด นครธมในเมืองเสียมเรียบ แต่ก็ใช่ว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เข้ามาตามที่ประกาศไว้

ความจริงแล้ว นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งบริษัทเอกชนจีนในกลุ่มทัวร์ได้ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมของนักธุรกิจจีนเช่นเดียวกัน

การส่งเสริมการลงทุนด้วยการให้วีซ่าเข้าประเทศกัมพูชาหลายๆ ครั้งในช่วงเวลายาวนาน 3 ปี ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่ง ที่จะเข้ามาช่วยเสริม การลงทุน การค้าและการท่องเที่ยวที่นักธุรกิจจีน ชุมชนจีนและโรงเรียนภาษาจีนดำเนินการอยู่ก่อนแล้วมากกว่านักลงทุนจากชาติอื่นๆ จีนนั้นลงทุนทั้งในธุรกิจด้านการก่อสร้าง พลังงาน วัตถุดิบและอาหารอยู่ก่อนแล้ว ที่ดินแปลงใหญ่เพื่อทำการเกษตรซึ่งเป็นของคนจีนเสียเป็นส่วนใหญ่

กัมพูชาซึ่งเป็นประเทศสำคัญในลุ่มแม่น้ำโขง มีความสำคัญทางด้านการลงทุนและทรัพยากรทางธรรมชาติ จึงเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์การเมืองและการทหารอยู่ในตัวอยู่ก่อนแล้ว

กัมพูชาจึงเผชิญกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส จักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกา เป็นพื้นที่การแข่งขันของมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ทั้งสหภาพโซเวียตและจีน กัมพูชาซึ่งไม่เคยพ้นเงื้อมมือมหาอำนาจภายนอก จึงยังคงไม่พ้มเงื้อมมือของมหาอำนาจจีน กัมพูชาเป็นเสียงสำคัญของอาเซียนที่สนับสนุนจีนตราบจนถึงปัจจุบัน

การให้วีซ่าและการส่งเสริมการลงทุนเป็นเพียงเทคนิคเล็กๆ ในบริบทของมหาอำนาจนั่นเอง


¹กัมพูชา : จากขะแมร์รูคสู่พันธมิตรจีน ยศ สันตสมบัติ มังกรหลากสี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2014 : 321