อุษาวิถี (18) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (18)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

นอกจากชนชั้นหลักทั้งสามแล้ว ชนชั้นทาสยังเป็นอีกชนชั้นหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาตั้งแต่ก่อนราชวงศ์โจวแล้ว แต่กระนั้นก็ไม่อาจหาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับชนชั้นนี้ได้

โดยเฉพาะกับฐานะทางสังคมที่ทราบแต่เพียงว่า ทาสมีฐานะไม่ต่างกับสิ่งของเครื่องใช้ที่สุดแต่นายทาสจะเลือกใช้ มีฐานะที่ไม่ต่างกับคนรับใช้ภายในบ้าน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ปรากฏชัดเจนว่า ทาสเป็นกำลังในการผลิตหรือไม่

การที่ทาสมีฐานะเช่นที่ว่าก็เพราะภูมิหลังของทาสเอง ที่โดยมากแล้วมักจะเป็นเชลยที่ถูกจับได้ในยามสงคราม โดยจำนวนไม่น้อยและมีอยู่บ่อยครั้งที่เชลยเหล่านี้ก็คือ ชนชาติที่มิใช่จีน (non-Han peoples) หลายชนชาติที่เป็นภัยคุกคามจีนมาทุกยุคทุกสมัย

กล่าวสำหรับเชลยศึกที่เป็นชนชาติฮั่น (จีน) ย่อมมีทางเลือกที่จะสวามิภักดิ์ผู้ปกครองคนใหม่ แต่หากเป็นชนชาติอื่นทางเลือกจะมีน้อย เพราะมีฐานะเป็น “คนป่าเถื่อน” ในสายตาของชนชาติฮั่นมาค้ำอยู่

ฉะนั้น เมื่อเชลยศึกคนใด (ไม่ว่าจะเป็นชนชาติฮั่นหรือชนชาติอื่นก็ตาม) ต้องกลายเป็นทาสไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ฐานะทาสนั้นก็จะถูกจำกัดให้มีบทบาทหรือหน้าที่เฉพาะบางประการ ที่อยู่นอกเหนือหน้าที่ของชนชั้นหลักทั้งสาม

และทาสผู้มีหน้าที่นั้นๆ จะถูกกีดกันไม่ให้ก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองได้อย่างปกติ

 

ควรกล่าวด้วยว่า ความคิดที่ห้ามบุคคลบางประเภทขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองนั้น เป็นเพียงระยะเริ่มต้นเท่านั้น และจะปรากฏชัดเจนเป็นลำดับเมื่อจีนเข้าสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้ว และพอถึงเวลานั้น เกณฑ์ในการกำหนดก็ชวนให้พิศวงไม่น้อย

กล่าวคือ เมื่อกาลล่วงเลยเข้าสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้ว หน้าที่เหล่านี้ก็มีความชัดเจนจนสามารถแบ่งในเชิงอาชีพได้ 5 ประเภทด้วยกันคือ

คนตีเครื่องเหล็กต่างๆ คนหากินในทางขับร้อง คนเป็นไส้หู้โกนผม (ไส้หู้ เป็นคำในเสียงจีนแต้จิ๋ว เสียงจีนกลางคือ ซือฟู่ หมายถึง คนรับจ้างหรือช่างที่ทำงานระดับล่างของสังคม) คนทำยาพิษขาย และคนหามเกี้ยว

โดยคนทั้งห้าประเภทนี้ถึงแม้จะร่ำรวยสักปานใดก็ตาม ก็ห้ามยกขึ้นมาเป็นใหญ่ และห้ามแม้แต่มิให้สอบคัดเลือกเป็นข้าราชการหรือขุนนาง

จะเห็นได้ว่า หน้าที่ที่พิจารณาผ่านอาชีพทั้งห้านี้ หากมิใช่อาชีพที่อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ปกครองเอง (เช่น ตีเครื่องเหล็กเพื่อทำอาวุธหรืออื่นๆ และทำยาพิษ) แล้ว ก็จะเป็นอาชีพที่ไม่ต้องใช้ความรู้สูง (เช่น ไส้หู้โกนผมที่เร่ร่อนไปเรื่อยๆ คนหากินในทางขับร้อง และคนหามเกี้ยว)

อย่างไรก็ตาม ผู้มีอาชีพดังกล่าวนี้ไม่ได้หมายความว่าจะถูกตั้งข้อรังเกียจในการคบหาจากสังคมไปด้วย

 

ผู้ที่ถูกตั้งข้อรังเกียจจริงๆ ก็คือ กลุ่มชนที่ถูกประทับตราว่าเป็น “คนทราม” หรือ “เสี่ยวเหญิน” (mean people) อันหมายถึง ผู้มีพฤติกรรมหรืออาชีพอันเป็นที่รังเกียจของสังคม ซึ่งนอกจากจะหมายถึงผู้มีพฤติกรรมที่ชั่วร้ายแล้ว ยังรวมถึงหญิงโสเภณีที่มิได้ให้บริการทางเพศอีกด้วย

หญิงโสเภณีที่มิได้ให้บริการทางเพศนี้หมายถึง หญิงที่ให้ความบันเทิงแก่บุรุษในด้านอื่นที่มิใช่ความสัมพันธ์ทางเพศ เช่น ด้นกลอน แต่งกวี เขียนภาพ ร่ายรำ ร้องเพลง เล่นดนตรี ฯลฯ

หญิงที่สามารถทำเช่นนี้ได้ย่อมต้องมีความรู้อยู่ไม่น้อย

แต่กระนั้น ก็ถูกจัดให้เป็น “คนทราม” ที่มิอาจขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองได้ไม่ว่าจะในกรณีใดๆ และถูกปฏิเสธการเข้ากลุ่มกับสังคมอื่น นอกจากคบหาอยู่แต่เฉพาะกลุ่มของตัว

กล่าวสำหรับคนนอกกลุ่มแล้วถึงกับมีบทลงโทษสำหรับผู้มีความรู้สูงกว่าระดับบัณฑิตหรือซิ่วไฉขึ้นไปที่ลงไปเกลือกกลั้วกับ “คนทราม” อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ชนชั้นหลักทั้งสามชนชั้นดังกล่าวที่เริ่มเป็นระบบมากขึ้นในสมัยราชวงศ์โจวนี้ ได้เป็นที่ยอมรับและอยู่สืบกันมาอย่างมีเสถียรภาพนานนับหลายร้อยปี เหตุผลสำคัญที่ทำให้มีเสถียรภาพยาวนานมาจากความคิดทางการเมืองของชนชั้นกษัตริย์ และชนชั้นผู้ดีในบางสมัย ที่ได้ค่อยๆ พัฒนาเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

จนแม้เมื่อราชวงศ์นี้สูญเสียเสถียรภาพไปแล้ว ข้อดีจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังได้กลายเป็นมาตรฐานของสังคมอุดมคติที่นักปราชญ์สมัยหลังใช้อ้างอิงอยู่เสมอ

 

อย่างไรก็ตาม สาระหลักของการเปลี่ยนแปลงที่พอสรุปได้ในเบื้องต้นสำหรับยุคสมัยนี้ก็คือ ความคิดเกี่ยวกับ “จักรวรรดิ” หรือความเป็นอาณาจักรได้ปรากฏรูปรอยที่ชัดเจนขึ้นมาบ้างแล้วในสังคมจีนขณะนั้น

ความคิดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการมีกษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจเพียงหนึ่งเดียว แต่อยู่ภายใต้การยอมรับของผู้ปกครองนครรัฐต่างๆ ที่ควบคุมการขับเคลื่อนพลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสังคม

ภายใต้สัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างกษัตริย์ ผู้ดี และชาวนาดังกล่าว สิ่งที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งก็คือ พิธีกรรม ซึ่งในยุคที่ราชวงศ์โจวกำลังรุ่งเรืองนั้น พิธีกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่มีเหตุผล และมีการรองรับด้วยมโนธรรมสำนึกมากขึ้น

เช่น จากเดิมที่การเซ่นสังเวยที่จะต้องฆ่าสัตว์เป็นจำนวนนับร้อยนับพัน ก็เปลี่ยนมาเหลือเพียง 3-4 ตัว หรือจากเดิมที่เคยฆ่าคนฝังไปพร้อมกับศพของกษัตริย์เพื่อให้เป็นบริวารรับใช้ต่อไปที่สรวงสวรรค์เป็นจำนวนนับร้อยนับพัน ก็กลายมาเป็นการฝังหุ่นมนุษย์แทน เป็นต้น

 

สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับพิธีกรรมก็คือ การยังคงฐานะที่เป็นเสมือนสื่อกลางของระบบสัมพันธภาพดังกล่าว ที่ช่วยเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นทั้งสามให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ต่อไปได้ และการเป็นพื้นฐานความเชื่อที่ทำให้พิธีกรรมสามารถสืบสานต่อมาได้อีกนานนับพันปี

แต่ก็เช่นเดียวกับสองราชวงศ์ก่อนหน้านี้ ที่ในบั้นปลายของราชวงศ์โจวต้องถึงกาลเสื่อมถอยลง ความเสื่อมถอยเริ่มในราวรัชกาลที่ 10 ที่กลายเป็นกษัตริย์ทรราช หลังจากนั้นแม้ถูกคั่นด้วยผู้สำเร็จราชการของขุนนางผู้ดี แต่ก็ไม่นานนัก

และนับจากรัชกาลที่ 13 เรื่อยมา ราชวงศ์โจวก็เสื่อมถอยลงจนยากที่ฟื้นฟูให้กลับสู่วันคืนเก่าๆ ได้อีก ในรัชกาลที่ 13 นี้ได้มีการย้ายเมืองหลวงจากเฟิงเฮ่าที่อยู่ทางตะวันตกไปยังเมืองลั่วอี้ที่อยู่ทางตะวันออก

ด้วยเหตุนี้ ราชวงศ์โจวจึงถูกแบ่งเป็น 2 ยุคตามทิศทางที่ตั้งของเมืองหลวง คือ โจวตะวันตก (1122-771 ปีก่อน ค.ศ.) และโจวตะวันออก (771-221 ปีก่อน ค.ศ.)