ยุทธศาสตร์เพื่อ…ล้มอำนาจเผด็จการ กระแสการเมืองดีแต่ยังเสียเปรียบ

มุกดา สุวรรณชาติ

ถ้าดูจากกระแสสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง 2566 ที่จะมีขึ้นในอีก 2 เดือนกว่า ภาพที่เห็นบนเวทีดูแล้วก็สดใสดี มีอนาคต

แต่ใต้เวทีการเลือกตั้ง ยังมีปัญหาอีกมากมาย

และต่อให้ได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยังไม่แน่ว่าจะได้เป็นรัฐบาล

ถึงได้เป็นรัฐบาลก็จะมีอำนาจเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะอำนาจฝ่ายเผด็จการที่ฝังรากลึก ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และยิ่งมากขึ้น หลังรัฐประหาร 2557

มีการคุมยุทธศาสตร์ทุกด้านของโครงสร้างอำนาจโดยกลุ่มอำนาจเก่าที่สนับสนุนการรัฐประหาร

1. เริ่มตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญให้ได้เปรียบโดยมี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนเป็นกำลังหลัก และมีพรรคการเมืองบางพรรคหนุน ดังนั้น จึงสามารถกุมอำนาจทางนิติบัญญัติได้ และใช้การซื้อ ส.ส.เพิ่มเข้ามา

2. จากนั้นก็เข้าไปเป็นนายกฯ ตั้งรัฐบาลเพื่อคุมอำนาจบริหาร ตลอดช่วงเวลา 8 ปีกว่าที่ทำการบริหารก็ยังสามารถขยายอิทธิพลเข้าไป ระบบราชการ ทหาร และพลเรือน

3. ใช้ ส.ว.และอำนาจที่มี สมัยเป็น คสช.สร้างอิทธิพลในกระบวนการยุติธรรม ในการแต่งตั้งตุลาการ องค์กรอิสระ อัยการ และตำรวจ

4. มีการใช้งบประมาณ 28 ล้านล้านตลอด 8 ปีกว่า จึงสามารถหาผลประโยชน์ และแบ่งปันไปให้กลุ่มทุนใหญ่และทุนท้องถิ่น เพื่อดึงเข้ามาสนับสนุน

ดังนั้น ถ้าใช้การเลือกตั้งอย่างเดียวจะไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจจริงในประเทศไทยได้ ต้องมีการเคลื่อนไหวทางสังคมควบคู่อย่างต่อเนื่อง แต่การต่อสู้ผ่านหีบบัตรเลือกตั้ง เป็นขั้นตอนแรกๆ ที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูป และถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอื่นๆ ต่อไป การจะได้ชัยชนะจากสนามนี้จึงต้องคิดแผนอย่างละเอียด จึงจะเป็นจริง

 

ฝ่ายเผด็จการ ไม่ยอมแพ้
จะหาวิธีเอาเปรียบทุกทาง

ในท่ามกลางกระแสที่ฝ่ายประชาธิปไตยดูแล้วมีคะแนนเสียงดีกว่า ฝ่ายตรงข้ามย่อมรู้อยู่แล้ว และเมื่อรู้ว่าจะแพ้ตรงจุดไหนพวกเขาก็จะต้องหาวิธีแก้

ที่น่ากลัวก็คือการโกงการเลือกตั้ง และที่น่ากลัวกว่าก็คือการตัดสินของกรรมการ

ซึ่งทุกฝ่ายมุ่งหวังจะให้กรรมการตัดสินยุติธรรมที่สุดในขณะแข่งขัน จนถึงหลังการแข่งขันเสร็จสิ้น

ที่หวั่นเกรงก็คืออำนาจการยุบพรรคซึ่งก็คงจะมีแต่ประเทศไทยที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ให้คนเพียงไม่กี่คนมีอำนาจยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิทางการเมืองได้ง่ายๆ

เราต้องไม่ลืมว่าประวัติศาสตร์ระยะสั้นเมื่อไม่นานมานี้ฝ่ายเผด็จการใช้ทั้งกำลังทหารรัฐประหารและปราบประชาชน เข่นฆ่ากลางเมือง จากนั้นใช้ตุลาการภิวัฒน์ หลายครั้งใช้ม็อบมากดดัน เพื่อล้มรัฐบาลชิงอำนาจเปลี่ยนขั้วรัฐบาล คนพวกนี้ทำได้ทุกอย่าง

บทเรียนการยุบพรรคไทยรักไทยจนถึงการยุบพรรคอนาคตใหม่ ยืนยันให้ฝ่ายประชาธิปไตยต้องระมัดระวังอย่างเต็มที่

ทุกพรรคจะต้องเข้มงวดในการคัดตัวผู้สมัคร ทั้งคุณสมบัติ และวิธีการคัดเลือกให้เป็นไปตามกฎหมายการเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง เพราะถ้าพลาดถูกจับแพ้ขณะแข่ง ไม่ให้มีโอกาสแก้ตัว

 

การกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคงต้องใช้เวลานาน และพัฒนาไปเรื่อยๆ

การเลือกตั้งไม่ได้มีครั้งนี้ครั้งเดียว จำเป็นที่จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ของการสร้างระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงโดยมีเป้าหมายที่การเปลี่ยนโครงสร้าง และควรเริ่มชี้ให้คนส่วนใหญ่เห็นเป้าหมายและเข้าร่วมตั้งแต่การหาเสียง ว่า นอกจากจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาปากท้อง หนี้สิน ยังต้องทำอะไรบ้าง?

1. ต้องเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่เลือกโดยประชาชน และกำหนดหลักการใหญ่ๆ ที่ประชาชนต้องเป็นผู้เลือกฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมดโดยตรง มีการเลือกฝ่ายบริหารจากประชาชนโดยตรง มีการเลือกสภายุติธรรมจากประชาชนเพื่อจะใช้สร้างระบบตรวจสอบดูแลกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นจนเสร็จสิ้นกระบวนการ

ถ้ายังวนเวียนอยู่ตามโครงสร้างเก่า ประเทศก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ก้าวหน้า เพราะจะได้ระบบบริหารแบบไร้ประสิทธิภาพ มีระบบอุปถัมภ์ครอบระบบราชการ การคอร์รัปชั่นก็จะดำรงอยู่อย่างนี้

ต้องกำหนดยุทธศาสตร์การเปลี่ยนโครงสร้างนี้ให้เป็นกระแสในการเลือกตั้งให้คนได้ศึกษาและยอมรับการจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

2. การตั้งพรรคไม่ว่าพรรคเล็กพรรคใหญ่ควรจะต้องมีฐานมวลชนที่สนับสนุนตัวเองอย่างเข้มแข็งจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่หาแต่คะแนนเสียงตอนเลือกตั้ง ถ้ามีแต่ฐานคะแนนเลือกตั้ง เวลาเกิดปัญหาอื่นๆ ทางการเมืองก็จะไม่มีแรงสนับสนุนที่เป็นจริง การมีเสียงในการเลือกตั้ง 10 ล้านเสียง อาจใช้ได้เฉพาะเวลาลงคะแนนเท่านั้น

สภาพทางการเมืองในวันนี้มีแรงกดดัน ที่นอกเหนือรัฐธรรมนูญมีการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งการจะต่อสู้ฝ่าฟันไปได้นั้นจะต้องใช้กำลังทางการเมืองขนาดใหญ่ออกมาต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ

 

ถ้าอยากชนะในการเลือกตั้ง 2566
และเปลี่ยนโครงสร้าง
ต้องเปิดแนวร่วมให้กว้างที่สุด

แม้พรรคการเมืองต่างๆ จะต้องแข่งขันกันในระบบการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่มีด้านที่ร่วมมือกันก็จะพ่ายแพ้ในเกมนี้ได้

เพราะการเมืองบ้านเราไม่ใช่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่แข่งอย่างยุติธรรม แข่งขันเสร็จมีคนได้เหรียญแล้วต่างคนก็แยกย้ายกันไป 4 ปีหน้ามาแข่งกันใหม่

แต่นี่เป็นชีวิตและความลำบากของประชาชนใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย

ในการเปิดงานแนวร่วม ความเห็นของแกนนำพรรค สมาชิกพรรค และมวลชนอาจคิดไม่ตรงกัน ในการกำหนดว่าใครเป็นมิตร เป็นศัตรูทางการเมือง บางคนมองหามิตรแท้และศัตรูถาวร

แต่บางคนมองว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรทางการเมือง แล้วแต่สถานการณ์ เพราะแม้แต่คนร่วมพรรคการเมืองเดียวกันหรือเคยต่อสู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันมา เวลาผ่านไปก็กลับต้องแตกแยกกันไปอยู่คนละกลุ่มคนละพวกต่อสู้กัน ดังนั้น นับประสาอะไรกับคนที่อยู่ต่างพรรคซึ่งต้องแข่งขันต่อสู้กัน อาจจะต้องมาร่วมกันในบางครั้ง

ต้องเรียนรู้ว่าอำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตยสามารถกระจายและแบ่งสรรกันบริหารได้ และในโครงสร้างระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายแพ้ก็ยังสามารถทำหน้าที่ในรัฐสภาได้

แต่สิ่งที่ทุกพรรคจะต้องร่วมกันจริงๆ ก็คือทำอย่างไรจึงจะร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นรากฐานระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ซึ่งจะเกิดความยุติธรรมแก่ทุกพรรค ที่จะทำตามเสียงประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งและทำตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ฝ่ายประชาธิปไตยประเมินจากการเลือกตั้งครั้งนี้แม้มีโอกาสได้เสียงเกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎร แต่การจัดตั้งรัฐบาลจะต้องมีเสียงเกินครึ่งของ 2 สภา คือ 375 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย

การกำหนดยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งครั้งนี้

ถือเป็นบันไดขั้นแรกจึงควรจะเปิดกว้างไว้ให้พรรคต่างๆ ได้เข้ามาร่วมมือกัน และแม้แต่ ส.ว.บางคน บางกลุ่มที่อาจจะหันมาสนับสนุน 50 หรือ 100 คนก็ได้ เพราะเมื่อได้เข้าไปครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา ในรัฐสภา และได้มีอำนาจบริหาร ก็จะสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้

อยากให้เลือก ส.ส.ร. สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้

 

อนาคตแต่ละพรรคต่างกัน
มีหลายพรรคที่อาจจบลงแค่ครั้งนี้

ในการเลือกตั้งเมื่อยังไม่รู้ผลก็ไม่ควรกีดกันใครหรือพรรคไหน ที่เห็นด้วยกับแนวทางแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ออกไปจากการเป็นแนวร่วม เพราะหลังเลือกตั้งแล้วรวม ส.ส.ที่ได้หลายพรรคก็ยังอาจไม่ถึง 375 คน

การกำหนดเป้าหมายของแต่ละพรรคในการเลือกตั้ง 2566 ต่างกัน

บางพรรคที่เคยใหญ่ ครั้งนี้อาจจบลงที่ต้องสลายพรรคทิ้งไป เพราะเป็นพรรคที่เข้ามาชิงอำนาจชั่วคราว

บางพรรคต้องการเวลาในการสะสมกำลังให้แข็งแรงขึ้นไปอีก

บางพรรคขอเพียงได้ร่วมรัฐบาล

บางพรรคอยากฟื้นตัวกลับไปสู่ยุครุ่งเรือง

บางพรรคอยากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

สถานการณ์จริงครั้งนี้ ไม่มีพรรคใดสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

ดังนั้น ใครที่เป็นแกนนำก็จำเป็นต้องหาแนวร่วมที่เป็นพวกเดียวกัน

เช่น เป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันมาตั้งรัฐบาล ถ้าทำได้ก็ไม่จำเป็นต้องไปหาแนวร่วมนอกกลุ่ม

แต่ถ้ารวมกันแล้วยังทำไม่ได้อีกก็จำเป็นต้องไปดึงแนวร่วมนอกกลุ่มเพื่อให้ได้คะแนนเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ 2560

ซึ่งพรรคที่ร่วมกันทั้งหมดนี้จะต้องมีปฏิญาณร่วมกันทางการเมืองว่าจะร่วมกันทำการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จโดยเร็ว โดยให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ทำประชามติจนร่างเสร็จนั้นน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ก็สามารถจะนำรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้ได้

การเลือกตั้งครั้งนี้ จำเป็นต้องมีองค์กรฝ่ายประชาชนขึ้นมาดูแล ตรวจตราการเลือกตั้ง การใช้อำนาจและทำหน้าที่ของกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างกระแสต่อต้านการซื้อเสียง และการใช้อำนาจที่ไม่ยุติธรรม