อำนาจของภาษาไทย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ภาษาไทยมีอํานาจบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วยเหตุ ดังนี้

(1.) เมื่อเป็นภาษาราชการของรัฐอยุธยา (แทนภาษาเขมร ซึ่งเป็นภาษาราชการมาก่อน) (2.) ต่อมามีอักษรไทย ด้วยเหตุผลทางการค้าและศาสนา-การเมือง

นับแต่นั้นจึงสร้างสรรค์วรรณกรรมอย่างต่อเนื่องหลายร้อยปีด้วยภาษาไทยและอักษรไทย

รัฐอยุธยามีกําเนิดระหว่าง พ.ศ.1893-1894 โดยรัฐเครือญาติร่วมกันสถาปนา ได้แก่ รัฐละโว้ (ลพบุรี) กับรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี)

สมัยแรก รัฐอยุธยาพูดภาษาเขมร ใช้อักษรเขมร เป็นขอม (สืบเนื่องจากรัฐละโว้) มีภาษาเขมรเป็นภาษาราชการ แต่เจ้านายขุนนางข้าราชการบางส่วนพูดภาษาไทยจากรัฐสุพรรณภูมิ โดยใช้อักษรเขมรเขียนภาษาไทย

ความเป็นเขมรของอยุธยาสมัยแรกมีเหตุจากกษัตริย์อยุธยาสืบบรรพชนจากวงศ์กษัตริย์กัมพูชาแห่งเมืองพระนครหลวง (กรุงศรียโศธร) หรือที่รู้จักทั่วไปในชื่อ “นครธม” พบหลักฐานเอกสารราชการเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งสมมุติเรียกตอนนี้ว่า “คู่มือทูตอยุธยาไปยุโรป” ทําขึ้นโดยนักปราชญ์ราชบัณฑิตแผ่นดินพระนารายณ์ เพื่อให้ทูตอยุธยาที่จะไปยุโรปได้อ่านแล้วจําไปตอบเมื่อถูกถามจากราชสํานักยุโรป

สมัยหลัง รัฐอยุธยาเป็นสยามพูดภาษาไทย มีภาษาไทยเป็นภาษาราชการ โดยใช้อักษรเขมรเขียนภาษาไทย (เพราะยังไม่มีอักษรไทย) แล้วยกย่องภาษาเขมรเป็นภาษาเทวราช (ปัจจุบันเรียกราชาศัพท์) เมื่อนานไปได้มีพัฒนาการดัดแปลงอักษรเขมรเป็นอักษรไทย

เจ้านายขุนนางข้าราชการบางส่วนสืบเชื้อสายจากรัฐละโว้ พูดภาษาเขมร เขียนอักษรเขมร เป็นขอม

ภาษาไทยมีอํานาจในอยุธยาเริ่มตั้งแต่แผ่นดินเจ้านครอินทร์ จากนั้นจึงเกิดพลังกระตุ้นให้เรียกผู้พูดภาษาไทยว่า “คนไทย” และเรียกอยุธยาว่า “เมืองไทย”

เจ้านครอินทร์เป็นกษัตริย์อยุธยา ลําดับที่ 7 พระนาม “พระนครินทราธิราช” (ระหว่าง พ.ศ.1952-1967) มีความเป็นมาอย่างสั้นๆ ดังนี้ (1.) เป็นโอรสขุนหลวงพะงั่ว (2.) เป็นกษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิ (เมื่อขุนหลวงพะงั่วสิ้นพระชนม์) (3.) มีโอรส 3 องค์ เจ้าอ้าย, เจ้ายี่, เจ้าสาม ต่อมาเจ้าอ้าย-เจ้ายี่ชนช้างชิงราชสมบัติสิ้นชีวิตทั้งคู่ ดังนั้น เจ้าสามพระยาได้ราชสมบัติเป็นกษัตริย์อยุธยา ลําดับที่ 8 (4.) เป็น “ปู่” ของพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์อยุธยา ลําดับที่ 9

ภาษาไทย มีต้นตอรากเหง้ามาจากตระกูลไท-ไต (บริเวณโซเมีย ทางตอนใต้ของจีน) เป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน เคลื่อนไหวตามเส้นทางการค้าจากตอนใต้ของจีนถึงลุ่มน้ำโขง แล้วลงภาคกลางไปทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (คือบริเวณแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง) ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับดินแดนคาบสมุทรตั้งแต่รัฐสุพรรณภูมิ, รัฐเพชรบุรี, รัฐนครศรีธรรมราช

ต่อมาเจ้านครอินทร์จากเมืองสุพรรณเสวยราชย์เป็นกษัตรย์อยุธยา (โดยการสนับสนุนของจีน) ทําให้ภาษาไทยจากฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาถูกใช้ในราชสํานักอยุธยา นับเป็น “ภาษาราชการ” จากนั้นแผ่อํานาจไปนอกราชสํานักถึงบ้านเมืองน้อยใหญ่ทั่วรัฐอยุธยา

คนไทย คือคนหลายชาติพันธุ์หรือหลายชาติภาษา “ร้อยพ่อพันแม่” ที่ผสมกลมกลืนอยู่ด้วยกัน โดยแรกๆ พูดภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้า ครั้นนานไปพูดภาษาไทยในชีวิตประจําวัน แล้วกลายตนเป็นคนไทย และถูกเรียกว่าคนไทย

อยุธยาเป็นรัฐประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ ดังนั้น เป็นเรื่องปกติที่บางสมัยชาติภาษานี้เป็นชนชั้นปกครอง แต่บางสมัยได้ชาติภาษานั้นเป็นชนชั้นปกครอง

ประวัติศาสตร์อยุธยาเป็นประวัติศาสตร์ที่คนทุกชาติพันธุ์เป็นเจ้าของ ทั้งเคยมีหุ้นส่วนในดินแดนนี้และในสังคมมาแต่โบราณ ทั้งยังมีต่อไปในอนาคต ชีวิตในสังคมอยู่รวมกันเป็นรัฐด้วยเศรษฐกิจ-การเมือง และสังคม-วัฒนธรรม มิใช่ด้วยเชื้อชาติ เพราะเชื้อชาติไม่มีจริงในโลก แต่ถูกสร้างใหม่แล้วถูกใช้เป็นเครื่องมือล่าอาณานิคม

 

ภาษาและวัฒนธรรม
ตามเส้นทางการค้า

อํานาจของภาษาและวัฒนธรรมไท-ไตแผ่ไปกว้างขวางตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป หนุนด้วยพลังการค้านานาชาติที่เข้ามาทางอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ในที่สุดภาษาไท-ไตเติบโตเป็นภาษาไทยแล้วเป็นภาษากลางของรัฐ และท้ายที่สุดเป็นภาษาราชการของอาณาจักร

เผ่าพันธุ์กับภาษาในทางสากลไม่จําเป็นต้องผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป เพราะภาษาแพร่กระจายไปอย่างมีประสิทธิภาพตามพลังผลักดันทางสังคมและเศรษฐกิจ-การเมืองของประวัติศาสตร์ โดยไม่ต้องถูกทําให้ย้ายถิ่นในฉับพลันอย่างทารุณโหดร้ายตาม “การอพยพถอนรากถอนโคน” ของคนพูดภาษานั้นๆ ซึ่งพบในประวัติศาสตร์แห่งชาติ “เพิ่งสร้าง” ของไทย

ภาษาไทยเคลื่อนไหวแผ่กระจายได้ทุกทิศทางโดยคนพูดภาษาไทยไม่จําเป็นต้องเคลื่อนย้ายไปด้วย แต่ถ้าจะมีคนบางกลุ่มหรือหลายกลุ่มที่พูดภาษาไทยโยกย้ายไปๆ มาๆ (ไม่ไปทิศทางเดียว) เป็นปกติด้วยก็ได้ เพราะไม่มีข้อห้าม หรือไม่มีกําหนดกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว ซึ่งพบร่องรอยเหล่านี้ได้ในตํานานนิทานหลายเรื่อง

เช่น นิทานขุนบรม ที่สะท้อนความเคลื่อนไหวโยกย้ายของตระกูลภาษาไท-ไต จากจ้วง-ผู้ไท บริเวณโซเมียทางมณฑลกวางสี (ภาคใต้ของจีน) กับภาคเหนือของเวียดนาม สู่ลุ่มน้ำโขง กระจายถึงบริเวณโยนก แล้วต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำสาละวิน ตลอดจนลงถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

เส้นทางขุนบรม ผู้ไท หรือไทดํา มีส่วนเกี่ยวข้องสําคัญมากในความเคลื่อนไหวโยกย้ายไปมาของภาษาและวัฒนธรรมไท-ไตจากเมืองแถน (ในเวียดนาม) ถึงเมืองไทย (รัฐอยุธยา) ตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป (ทางบก) พบหลักฐานเป็นร่องรอยอยู่ในความทรงจําคําบอกเล่ารูปตํานานนิทานเรื่องขุนบรม

เส้นทาง (ในความทรงจําเรื่องขุนบรม) เหล่านั้นไม่ระบุตายตัวเรื่องยุคสมัย แท้จริงแล้วคือเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีปตั้งแต่สมัยดั้งเดิมเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้วสืบเนื่องถึงสมัยหลังๆ โดยเฉพาะสมัยการค้าสําเภากับจีนราวหลัง พ.ศ.1500 พบหลักฐานการเคลื่อนไหวโยกย้ายของภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต ตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในลงลุ่มน้ำท่าจีน ทางฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เนื้อหาเรื่องขุนบรมและลูกชายทั้ง 7 คนล้วนสมมุติขึ้นทั้งหมด แต่ตําแหน่งบ้านเมืองและชื่อบ้านนามเมืองอาจใกล้เคียงความจริงตามภูมิประเทศที่เป็นจริงบริเวณ “โซเมีย” ตั้งแต่มณฑลกวางสี-จ้วง ทางตอนใต้ของจีน ต่อเนื่องพื้นที่เดียวกันกับวัฒนธรรมดงเซิน-ซาหวิ่น ทางตอนเหนือของเวียดนาม แล้วเคลื่อนไหวโยกย้ายไปตามเส้นทางบกถึงลุ่มน้ำโขงลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าดินแดนภายใน เชื่อมโยงทางใต้ของจีนกับดินแดนคาบสมุทรระหว่างทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือเมื่อเรือน พ.ศ.1

หลักฐานสนับสนุนเท่าที่พบมีหลายอย่าง แต่อย่างสําคัญมีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งในไทยและในเวียดนาม (รวมภาคใต้ของจีน) ได้แก่ พูดตระกูลภาษาไท-ไต, นับถือแถน, ความเชื่อเรื่องขวัญ, ทํานาทดน้ำ, ประเพณีทําศพครั้งที่ 2, เทคโนโลยีโลหะสําริด เป็นต้น

อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย

“ขุนบรม” เป็นคําเรียกอย่างไทย แต่ลาวเรียก ขุนบูลม, ขุนบูฮม ได้รับยกย่องเป็น “วีรบุรุษในตํานาน” ของคนลุ่มน้ำโขงกับลุ่มน้ำแดง-ดํา ขุนบรมเป็นทายาทแถน มีศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์อยู่เมืองแถน (ปัจจุบันมีชื่อภาษาเวียดนามว่า “เดียนเบียนฟู”) ลุ่มน้ำแดง-ดํา อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ติดพรมแดนลาวทางแขวงหลวงพระบาง-แขวงพงสาลี-แขวงซําเหนือ

เมืองแถน เป็นเมืองลาวเก่า มีบอกในตํานานหรือนิทานเรื่องขุนบรมตอนหนึ่งมีความว่า “—–พระยาผีแถน จักให้ท้าวขุนบรมลงมาเกิดในเมืองลาวเก่า—–” เท่ากับเป็นหลักฐานว่าลาวล้านช้าง (หลวงพระบาง) และลาวล้านนา (ในโยนก) มีบรรพชนอยู่เมืองแถน เดิมเรียกนาน้อยอ้อยหนู [เมืองแถน บางแห่งว่าเมืองแถง ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเสียง ง กับเสียง น เลื่อนสลับกันได้]

แถน (ผู้รู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน อธิบายว่ามีรากจากคําจีนว่า เทียน แปลว่า ฟ้า) หมายถึง อํานาจเหนือธรรมชาติซึ่งถือเป็นบรรพชนของผู้ไทและคนในตระกูลไท-ไตทั้งหลาย บางทีเรียกผีฟ้า, เจ้าฟ้า เพราะเชื่อว่าสิงอยู่บนฟ้า เป็นเจ้าใหญ่ของท้องฟ้า แล้วเชื่ออีกว่าเป็นผู้ควบคุมน้ำที่มีบนฟ้าซึ่งปล่อยให้ตกลงมาเป็นฝน จึงมีนิทานจุดบั้งไฟขอฝนบนฟ้าจากแถน

ดินแดนภายในภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวแผ่กระจายของภาษาไทยหลายพันปีมาแล้ว มีขอบเขตเหนือสุดอยู่บริเวณโซเมียลุ่มน้ำแยงซีทางภาคใต้ของจีน ส่วนทางใต้สุดอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทางภาคกลางของไทย

คนหลายเผ่าพันธุ์ต่างมีภาษาแม่เป็นภาษาพูดของตนเอง แต่เมื่อต้องพูดจาค้าขายกับคนกลุ่มอื่นจึงต้องใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง แล้วค่อยๆ เติบโตขยับขยายแผ่กว้างไป ครั้นนานไปก็คุ้นชินในชีวิตประจําวันทําให้ภาษาไทยมีอํานาจและมีอักษรไทย ดึงดูดให้คนหลายเผ่าพันธุ์เหล่านั้นกลายตนแล้วเรียกตนเองว่าไทยหรือคนไทย

อํานาจของภาษาไทยบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความเป็นมายาวนานมากกว่า 1,500 ปีมาแล้ว แต่หลักฐานคลุมเครือ ต่อมาจึงพบหลักฐานชัดขึ้นราว 1,000 ปีมาแล้ว

[บางตอนจากหนังสือ อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย ของสุจิตต์ วงษ์เทศ จะพิมพ์เสร็จในมีนาคม-เมษายน 2566] •