เมนูข้อมูล : “อำนาจ” กับการยอมรับ

แม้กลุ่มผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะคล้ายมีความเชื่อมั่นสูงว่าสามารถจัดการอะไรก็ได้ ด้วยธรรมชาติของอำนาจที่มาจากรัฐประหาร ไม่ต้องประนีประนอมกับความรู้สึกของใครเหมือนกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความจำเป็นต้องประเมินอารมณ์ร่วมของประชาชนในทุกเรื่องราว

แต่ถึงที่สุดแล้วคงต้องมีการประเมินกันเป็นระยะว่า “อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่เคยมีเคยใช้” นั้น ยังคงจีรังยั่งยืนไม่เปลี่ยนแปลงจริงหรือไม่

ความเชื่อมั่นที่สูงยิ่งนั้นอาจจะทำให้กลุ่มผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีความคิดว่าแม้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะประกาศไปแล้วว่าจะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ก็สามารถเอากลับมาพิจารณาเพื่อกำหนดใหม่ได้ ดังนั้น กำหนดเวลาต่างๆ ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่บังคับให้พรรคการเมืองต้องทำกิจกรรม จึงเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามที่ประกาศ

แต่ความเชื่อมั่นก็คือความเชื่อมั่น ที่จะเกิดขึ้นจริงเป็นไปตามความเชื่อมั่นนั้นหรือไม่ ล้วนแล้วเป็นเรื่องที่ต้องจับตาติดตาม

ขณะที่ผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติเชื่อมั่นอย่างสูงยิ่งว่ายังทำอะไรก็ได้กับอำนาจที่มีอยู่ เสียงเรียกร้องของพรรคการเมืองที่ให้ปลดล็อกเพื่อให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ไม่มีความสำคัญ จะให้เมื่อไรขึ้นอยู่ที่ผู้มีอำนาจเห็นสมควรเท่านั้น

และในเรื่องนี้ซูเปอร์โพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน และผลออกมาดังนี้ ประชาชนร้อยละ 66.0 เห็นว่าควรปลดล็อก อนุญาตให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวได้ เพราะพรรคการเมืองและนักการเมืองจะช่วยทำประโยชน์ให้ประชาชนได้ดีกว่าตามวิถีประชาธิปไตย นักการเมืองและพรรคการเมืองมีเวลาปรับตัวเข้าถึง แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ดี รองรับการเลือกตั้งปีหน้า

ขณะที่ร้อยละ 34.0 ระบุว่า ไม่ควรปลดล็อกเพราะเกรงว่าความวุ่นวาย ความขัดแย้งบานปลายจะกลับมาอีก

ในเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 71.0 บอกว่าควรปรับเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ร้อยละ 28.6 ตอบว่าไม่ควรปรับ

และเมื่อถามถึงยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่หรือไม่ โดยเอาผลสำรวจนี้ไปเทียบกับการสำรวจในคำถามเดียวกับครั้งก่อ ผลที่ปรากฏออกมาคือ

ผู้สนับสนุนมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีร้อยละ 78.4 มาถึงเดือนพฤศจิกายนมีร้อยละ 52.0 สำหรับผู้ไม่สนับสนุนเดือนกรกฎาคมร้อยละ 21.6 มาเดือนพฤศจิกายนเพิ่มมาเป็นร้อยละ 48.0

เหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงในความรู้สึกของประชาชน

ขณะที่ความรู้สึกเชื่อมั่นในอำนาจของผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังไม่เปลี่ยนแปลง

ปรากฏการณ์ที่ย้อนแย้งกันเช่นนี้จึงน่าสนใจยิ่ง

ความคิดความเห็นของประชาชนที่เปลี่ยนไป หากกระทบกับความไม่รู้สึกว่าจะต้องเปลี่ยนไปตามของผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะทำให้เกิดอะไรขึ้น

และสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นจะก่อให้เกิดอะไรต่อเนื่องไป หากผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องการที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปหลังเลือกตั้ง