‘บาเดาะ ซูมู’ | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

‘บาเดาะ ซูมู’

 

หลังจากผมเลือกทำงานอยู่ในป่าผืนเดียวเป็นเวลานานหลายปี สิ่งนี้มันทำให้ดูคล้ายกับว่า งานที่ได้เป็นเพียงแค่ผลพลอยได้

การอยู่ที่เดิม รับบทเรียนที่ป่าพยายามสอน เฝ้าดูความเป็นไป เรียนรู้มากขึ้น รู้และเข้าใจสัตว์ป่า รวมทั้งคน

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงไร หลายบทเรียน หลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในป่านั้นๆ ดูเหมือนจะฝังแน่นอยู่ในใจ

อีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับคือ ภาษาถิ่น หากนับเอาเมืองหลวงคือ กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง และถือเอาว่า ภาษาที่คนกรุงเทพฯ ใช้ คือภาษาราชการ

ห่างออกไปจากเมืองนี้ไม่กี่ร้อยกิโลเมตร ไม่ว่าจะเป็นทิศไหน มีภาษา หรือสำเนียงอีกมากมายที่คนใช้สื่อสารกัน

ต่างภาษา แต่ไม่ได้หมายความว่าต่างประเทศ ถึงแม้ว่าในระยะแรกๆ ที่ผมอยู่ร่วมกับพวกเขา จะรู้สึกราวกับอยู่ต่างประเทศ

 

ครั้งที่ผมไปอยู่ที่เชิงทิวเขาบูโด เพื่อตามหาสมเสร็จ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมซึ่งอยู่ในสถานภาพหายาก นั่นผ่านมานานพอสมควร แต่ภาษาถิ่นหลายคำผมยังจำได้ และบางครั้งก็ใช้สื่อสารกับคนอื่นๆ ใช้ แล้วก็ต้องแปลให้คนฟังเข้าใจ

อย่างเช่น “อาปอ คอบา” เป็นคำทักทาย ที่หมายความว่า “เป็นอย่างไรบ้าง”

คนฟังมักตอบว่า “คอบา ไบก” คือสบายดี

ถึงวันนี้ “เหตุร้าย” ที่นั่นดูจะเบาบาง แต่ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวร้าย เหตุการณ์ต่างๆ ล้วนเป็นภาพซึ่งผมหลับตา “เห็น” ชัดเจน

เพื่อนๆ บางคนติดต่อกันเสมอๆ เขาถามบ่อยๆ ว่าเมื่อไหร่จะลงมาทำงานอีก ผมอธิบายให้ฟังว่า ทำอะไรอยู่และป่าที่ผมอยู่ตอนนี้มีสภาพอย่างไร

“ลืมพวกเราแล้ว” บางคนมีสำเนียงพูดเล่น

ผมได้แต่หัวเราะ จะลืมได้อย่างไร

 

“มาแกนาซิ” นี่เป็นประโยคแรกๆ ที่ใช้ ความหมายคือ “กินข้าว”

เช่นเดียวกับคำว่า “ออมี่” ซึ่งเพื่อนๆ ชาวกะเหรี่ยงใช้ในหมู่บ้าน เมื่อขึ้นบ้านเพื่อนๆ การกินข้าวร่วมกับเจ้าของบ้านสำคัญ อีกทั้งหลายครั้งผมพบว่า ก่อนจะลากลับ เขาจะยกสำรับข้าวมาให้กินอีก ผมนั่งกินคนเดียว เจ้าของบ้านนั่งดู

ส่วนที่หมู่บ้านตาเปาะทิวเขาบูโด ผมเคยไปร่วมกินเหนียว ในพิธีทำสุหนัต เปาซี ลูกชายของโซเล ดารี

โต็ะมูเด็ง ผู้ทำพิธี อนุญาตให้ผมอยู่ในวงเสื่อได้ ในวงนี้ห้ามคนนอก และผู้หญิง

ว่าตามจริง นี่จะเป็นภาพที่ดีๆ แต่ผมไม่มีความคิดจะยกกล้องขึ้นกดชัตเตอร์ ไม่บันทึกภาพ เพราะผมอยู่ในวงเสื่อ ในฐานะ “ญาติ” ไม่ใช่ช่างภาพ

 

“ตามตัวอะไรอยู่” อาแซ ที่ผมถือว่าเขาคือ บาบอ หรือครูที่ผมนับถือ เขาโทร.มาทักทายถามข่าวคราว

“บาเดาะ ซูมู” ผมตอบ บาเดาะ ซูมู หมายถึง สมเสร็จ

“บ้านเราก็เยอะแยะ ทำไมไม่มาตามที่นี่”

ป่าดิบฝนอย่างทิวเขาบูโดและแถบใกล้เคียง เป็นถิ่นอาศัยของสมเสร็จ หนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย

แต่ผมพบร่องรอยของมันไม่มาก

เป็นไปได้ว่า ถิ่นอาศัยอันถูกบุกรุกต่อเนื่อง ทำให้พบเห็นตัวยากกว่าในพื้นที่ป่าด้านตะวันตก

สมเสร็จ – มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสมเสร็จมากมาย คนล่าสัตว์หลายคนเชื่อกันว่า มันเป็นตัวนำโชคร้าย เพราะมีรูปร่างคล้ายสัตว์หลายอย่างรวมกัน

เพื่อนๆ หลายคนเปลี่ยนงาน ไม่ขึ้นเขาอีก บางคนมีลูกๆ มาทำงานแทน พวกเขาร่วมกับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก (ส่วนภาคใต้) ช่วยกันดูแลนกเงือก เปลี่ยนวิถี จากที่เคยปีนต้นไม้เพื่อล้วงลูกนกเงือกไปขาย มาเป็นคนดูแล ปกป้องให้ลูกนกเงือกในโพรงมีโอกาสออกมาโบยบิน

“เราไม่ขึ้นเขาแล้ว มาร่วมกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ต้องเข้าเวรตอนกลางคืน” บาบอบอก

ผมไม่รู้หรอกว่าเหตุการณ์ “ความไม่สงบ” ดำเนินไปเช่นไร เมื่อไหร่จะยุติ ไม่มีข่าวคราวมากนัก

แต่ทุกครั้งที่มีข่าวร้าย ดูคล้ายกับว่า มันจะรุนแรง

รุนแรงมากขึ้น เมื่อรับรู้จากที่ไกลๆ

 

อยู่กับเพื่อน และ “คู่หู” ชาวกะเหรี่ยง ทุกๆ วันผมต้องใช้อีกภาษาหนึ่งสำหรับการสื่อสาร

ในหมู่บ้าน ผมไม่ใช่คนแปลกหน้า

ใช้ภาษาใหม่ ทั้งที่ภาษาถิ่นยาวี ได้เพียงงูๆ ปลาๆ

กับคู่หู บางครั้งผมถามเขาว่า “อาปอ คอบา”

ภาษา เป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสาร ส่วนจะ “เข้าใจ” หรือไม่ ดูเหมือนจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ในผืนป่าด้านตะวันตก ร่องรอยสมเสร็จมาก มีร่องรอยมันอยู่ในทุกสภาพป่า ในหุบ บนสันเขา ในป่าเต็งรัง ป่าดิบ

ตั้งแต่เริ่มแรก ผมไม่พบเจอสมเสร็จในที่ไปตามหา วันหนึ่งผมพบมันในป่าซึ่งไม่คิดว่าจะได้พบ สมเสร็จตัวหนึ่งเดินผ่านแคมป์ที่ผมอยู่

พวกมันปรากฏตัวในกล้องดักถ่ายเสมอๆ อาจเพราะความเป็นสัตว์ที่ไม่มีอาณาเขตแน่นอน เดินทางไปทั่ว ตามแหล่งอาหาร ตามฤดูกาล

ในแง่หนึ่ง การเดินไปทั่วของพวกมัน ย่อมเป็นผู้ทำหน้าที่แพร่กระจายพันธุ์พืชได้อย่างกว้างขวาง

ผมยังคงเรียก สมเสร็จ ว่า บาเดาะ ซูมู

ไม่ใช่เพียงเพราะว่าระลึกถึงช่วงเวลาที่ทิวเขาบูโด

แต่เพื่อระลึกถึงบทเรียนที่สมเสร็จสอน

“บาเดาะ ซูมู” บอกให้ผมรู้ว่า บางสิ่งบางอย่างก็ไม่ได้อยู่ในที่ซึ่งเราไปตามหา ไม่ว่าจะเดินทางไปไกลแสนไกลเพียงไร… •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ