The End of The Beginning ปิดฉากสภาสีเทา

ไม่อยากจะเชื่อว่ากรณีอื้อฉาวทุนจีนสีเทาจะลุกลามบานปลายได้ขนาดนี้

จากการจับกุมธุรกิจสีเทาเล็กๆ ลุกลามกระทั่งเปิดให้เห็นความฉ้อฉลของกลไกระบบราชการตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับบนแบบละเอียดยิบ หลักฐานครบครัน ขยายมาจนถึงการเมืองระดับชาติ กระทั่งล่าสุดเรื่องราวถูกนำไปพูดในสภา เปิดข้อมูลไปยันที่ทำการพรรค กลายเป็นวิวาทะเดือดฟ้องร้องกันหลักร้อยล้าน

โยงไปกระทั่งการตั้งคำถามกับความรับผิดชอบของตัวนายกรัฐมนตรี ว่าปล่อยให้โครงสร้างทุนจีนสีเทารุกล้ำเข้ามาสูบผลประโยชน์ในประเทศไทยขนาดนี้ได้อย่างไร

แต่ก็คงไม่สามารถคาดหวังการแก้ปัญหาจากฝ่ายบริหารชุดนี้ได้มากนัก เพราะสัปดาห์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพิ่งจะกดปุ่มนับถอยหลังยุบสภาภายในเดือนมีนาคม ว่ากันว่า วันยุบสภาจะเป็นวันที่ 15 มีนาคม ตามฤกษ์ดี วันกาบัตรจะตรงกับวันที่ 7 พฤษภาคม

เป็นไปดั่งที่ประธานชวน หลีกภัย เคยคาดการณ์ไว้เมื่อช่วงปลายปี ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยุบสภาช่วงท้ายๆ ก่อนหมดวาระนั่นแหละ ไม่ใช่มกราคม หรือกุมภาพันธ์ แบบที่ใครวิเคราะห์กันช่วงนั้น

 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบไม่ลงมติ หรือที่เข้าใจกันคือการอภิปรายตาม ม.152 ไม่ต้องยกมือโหวต จบลงไปแล้ว นับเป็นการซักฟอก อภิปรายรัฐบาลครั้งสุดท้ายในสมัยนี้

เป็นไปตามที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ไว้ว่าจะเห็น พล.อ.ประยุทธ์ถูกโดดเดี่ยว ไม่มีภาพขององครักษ์พิทักษ์นายกฯ แบบที่เห็นกันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากสภาพการแยกกันไปลงถนนเลือกตั้งของพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องหาหนทางคว้าเก้าอี้ ส.ส.ให้ได้มากที่สุดและต้องแข่งขันกันเอง

นับเป็นการปิดฉากส่งท้ายฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐบาลสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันมาจนล่วงเข้าสู่ปีที่ 9 ที่ใช้ต้นทุนมหาศาล แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่ไม่น่าประทับใจ

การโฆษณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แทบทุกพรรคพูดๆ กันบนเวทีหาเสียงช่วงก่อนเลือกตั้ง 2562 จนถึงปี 2566 ก็ไม่สามารถดำเนินการได้

หลักใหญ่ใจความของรัฐธรรมนูญยังคงเหมือนเดิม ผู้มีอำนาจยอมให้แก้ไขได้แค่เรื่องระบบเลือกตั้งเล็กน้อย

ตลอดเกือบ 4 ปี ต้องสูญเสียหยาดเหงื่อ การต่อสู้ แม้กระทั่งสูญเสียเลือดเนื้อในการออกมาชุมนุมประท้วง ร้องขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นอันล้มเหลวไม่เป็นท่า แม้ความคิดของผู้คนจะก้าวหน้าแทบจะเห็นตรงกันทั้งสังคม

โดยเฉพาะสภาบนที่เป็นส่วนสำคัญในการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างการทำประชามติถามพ่วงลงไปในบัตรเลือกตั้งกลางปี 2566 ที่จะถึงนี้ ว่า คนอยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักการง่ายๆ แบบสากลโลกเขาทำกัน กลับถูกสภาบนคว่ำลงอย่างถล่มทลาย ด้วยคะแนน 157 ต่อ 12 อ้างได้อย่างไรกันว่าการทำประชามติดังกล่าวจะก่อให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่

จริงๆ ไม่ใช่อะไร แค่อยากดำรงสืบทอดรักษามรดกจากระบอบ คสช.ไว้ ก็เท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรเละเทะในเชิงหลักการไปกว่านี้อีกแล้ว

 

หากย้อนกลับไปดูผลงานสภาล่าง หรือสภาผู้แทนฯ จากการเลือกตั้งตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่าใช้ต้นทุนไปมหาศาล อันเป็นต้นทุนในระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องสูญเสีย

อะไรที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นอีกแล้วอย่างสภากล้วย กลายเป็นสิ่งที่ได้เห็นกันแบบชัดเจนไม่ต้องมีอาการเขินอาย จำนนด้วยหลักฐานการสนทนา แชร์กันว่อน แต่ก็มิได้นำพา

ปรากฏการณ์งูเห่า การอพยพย้ายพรรค จากซีกฝ่ายค้านไปรัฐบาล การแจกกล้วยแลกกับการยกมือให้ในการผ่านกฎหมาย หรือการโหวตไม่ไว้วางใจ กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นในหน้าข่าวประจำวัน ไม่อายประชาชนในพื้นที่ที่เลือกมา ราวกับว่าประชาชนผู้กาบัตรให้ ไม่มีหัวใจ ไม่มีเจตจำนงทางการเมือง

ต่อมาคือปัญหาสถิติการล่มบ่อย มากที่สุดในสถิติสภาไทย ผลสืบเนื่องมาจากปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญ พรรคที่ชนะเลือกตั้งอันดับ 1 และอันดับ 3 ไม่ได้ตั้งรัฐบาล แต่เป็นพรรคที่มีที่นั่ง ส.ส.อันดับที่ 2 ไปรวมกับพรรคคะแนนอันดับ 4 และอันดับ 5 ตั้งรัฐบาล จึงก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพเรื่ององค์ประชุม หลายครั้ง ส.ส.ฝั่งรัฐบาลเข้ามาประชุมน้อยจนไม่สามารถรักษาองค์ประชุมตามหลักเสียงข้างมากไว้ได้

และด้วยพรรคร่วมรัฐบาลมีจำนวนมากกว่าสิบพรรค จึงมีประเด็นเรื่องการเจรจาต่อรองกันสูง โดยเฉพาะในประเด็นกฎหมายต่างๆ แม้จะเป็นกฎหมายของทางซีกพรรคร่วมรัฐบาลเอง สุดท้ายก็ทำสภาล่มในหลายครั้ง แม้บางคนจะพยายามโทษฝ่ายค้านที่ไม่ร่วมรักษาองค์ประชุม แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น ซีกรัฐบาลในฐานะผู้รับผิดชอบหลักที่ต้องรักษาองค์ประชุมไว้ให้ได้

หลังๆ ช่วงใกล้เลือกตั้ง ลามมาถึงกฎหมายสำคัญต่างๆ ได้รับผลกระทบ เพราะ ส.ส.ไม่อยู่ ไปลงพื้นที่ แถมยังแห่กันลาออกในช่วงปลายปี จนทำสถิติเป็นสภาผู้แทนฯ ที่มี ส.ส.ลาออกมากที่สุดไปครอง

 

นี่คือตัวอย่างต้นทุนของระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องเสียไปในช่วงสมัยเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาของสภาชุดนี้ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ขนาดรองประธานสภายังเคยทิ้งบอมบ์กลางสภา ส่งเสียงร้องขอ พล.อ.ประยุทธ์ให้รีบๆ ยุบสภาเสีย ส.ส.ไม่ค่อยมาประชุม ตัวเองจะได้ไปลงพื้นที่พบปะประชาชนหาเสียงบ้าง

แน่นอน พล.อ.ประยุทธ์ยื้อการยุบสภาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้จะด้วยข้ออ้างถึงความไม่พร้อมของ กกต. แต่ใครก็รู้ว่าลึกๆ แล้วเป็นเรื่องของการยังไม่พร้อมของพรรคการเมืองใหม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะไปนั่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ ต่างหาก

ถือเป็นรัฐบาลที่อยู่ไม่ครบ 4 ปีตามหลักการ แค่อยู่เกือบจะครบแล้วรีบชิงยุบสภา เพื่ออาศัยกลไกกฎหมายที่จะได้นั่งรักษาการต่อไปอีก ไม่ต้องให้ปลัดกระทรวงมาทำหน้าที่ ได้ใช้ทรัพยากรของรัฐต่ออีกนิด เป็นการอยู่เกือบ 4 ปี ที่ไม่ค่อยน่าภาคภูมิใจนัก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ

การเมืองสภาไทยรอบเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 จึงสะท้อนออกมาผ่านฉายาที่สื่อรัฐสภามอบให้ฝั่งสภาล่าง ที่ได้รับฉายา สภาอับปาง หรือ 3 วันหนี 4 วันล่ม

 

ส่วนฝั่งสภาบนซึ่งทำหน้าที่ได้ดีในการดำรงรักษาไว้ซึ่งมรดก คสช. ไม่ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ จากสภาล่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ให้มีการกระจายอำนาจ

หรือแม้แต่จะถามประชาชนว่าจะเอาการแก้รัฐธรรมนูญไหม ก็ยังไม่ยอม ยกเว้นจะเห็นแล้วว่าเป็นสิ่งที่ผู้ให้กำเนิดได้ประโยชน์จึงจะยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง กว่าจะหมดวาระก็คือ 11 พฤษภาคม 2567 ยังคงมีภารกิจสำคัญคือการกำหนดตัวนายกฯ คนที่ 30 ว่าจะเป็นใคร

ดังนั้น ส.ว.จึงยังมีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย เป็น “สภาผูกขาด” ที่ไม่ได้มาจากการแข่งขันในหลักการระบอบประชาธิปไตย แต่กลับมีอำนาจล้นฟ้า มีอิทธิพลในการกำหนดตัวผู้นำฝ่ายบริหารได้

ในแง่นี้ ฉายาของสื่อรัฐสภาที่ให้กับ ส.ว. คือ “ผู้เฒ่าเฝ้ามรดก (คสช.)” และ “สภาตรา ป.” ยังเบาไปหน่อย

 

4 ปีที่ผ่านมา รัฐสภาไทยจึงมีลักษณะสภาล่างเป็นสภา “เทา” มิใช่แค่เรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างโจ๋งครึ่ม

แต่ยังเป็นความ “เทา” ในหลักการประชาธิปไตย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิติรัฐ นิติธรรม ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนในสถาบันการเมืองจากเลือกตั้ง

แต่ก็ยังไม่น่ากลัวเท่าสภาบน ที่เป็นลักษณะ “สภาผูกขาด” ใช้หลักความดี และศีลธรรมตามนิยามที่ตัวเองชื่นชอบ โจมตีสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะนักการเมือง-พรรคการเมือง โดยไม่ได้ดูที่มาของตัวเองว่าสมเหตุสมผลในหลักการประชาธิปไตยเพียงใด ยึดโยงกับผู้คน-รับผิดชอบต่อหลักการการเมืองสมัยใหม่เพียงใด แถมยังพอใจการผูดขาดอย่างหน้าชื่นตาบาน

ไม่น่าเชื่อว่าพัฒนาการประชาธิปไตยไทยมาถึงจุดที่ไม่สนใจเรื่องหลักความชอบธรรมทางการเมืองได้มากขนาดนี้

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา การเมืองรัฐสภาไทยถูกลดทอนให้เหลือความสำคัญแค่คณิตศาสตร์การเมือง การเมืองบนฐานคิดของผลประโยชน์ที่คับแคบลงเรื่อยๆ หลักการสำคัญต่างๆ ถูกตัดสินอยู่บนหลัก “ใครพวกใคร” ใครจะมีศักยภาพในทางใต้ดินมากกว่ากัน

 

แม้วันนี้ถนนทุกสายจะมุ่งไปที่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นราวเดือนพฤษภาคม แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระสำคัญที่ยังเปิดให้มีการแทรกเข้ามาของอำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอยู่ รวมถึงเป็นการเลือกตั้งภายใต้สถาบันการเมืองที่ถูกแต่งตั้งมาจากมรดกระบอบ คสช.

ท่ามกลางเสียงแลนด์สไลด์ไปเรียบร้อยแล้วของ ส.ว. 250 เสียงที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ฝ่ายค้านทำได้ดีที่สุดตอนนี้เพียงการรณรงค์ขอให้ประชาชนมาลงคะแนนเลือกให้ได้มากที่สุดเพื่อหวังล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ให้กลับเข้ามาในการเมืองไทยอีก

อนาคตการเมืองไทยของเราวันนี้จึงยังอยู่ในภาวะตกระกำลำบาก ล้มแล้วยังไม่ลุก คลุกคลานอยู่เช่นเดิม ในส่วนสังคมและเศรษฐกิจยิ่งดิ่งเลวร้ายลงหนักกว่าเดิม มองไปทางไหนช่างมืดมน

ด้วยโครงสร้างการเมืองแบบนี้ วิธีคิดของวุฒิสภาแบบนี้ ไม่รู้ว่าการเมืองไทย 4 ปีข้างหน้าหลังเลือกตั้ง จะเป็นอย่างไร หากเป็นไปตามที่นักวิชาการบางท่านคาดการณ์ ว่าจะเป็นการชิงตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้วใช้วิธีการเดิมคือแจกกล้วย ซื้องูเห่า เสี่ยงเหลือเกินจากสภาที่เทาๆ อยู่และปิดฉากไป จะกลายเป็นสภาสีดำ

ระวังแล้วกัน เมื่อใดที่กลไกสภาซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญมากในฐานะพื้นที่แสดงความต้องการทางการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่ถูกบิดเบือน ใช้งานไม่ได้ มีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชนคนส่วนใหญ่

คนก็จะไม่พึ่งสภา แล้วใช้พื้นที่อื่นเช่นท้องถนนในการแสดงออกทางการเมือง