เพื่อไทยบนเส้นทางสู่การไล่ระบอบประยุทธ์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

เพื่อไทยบนเส้นทางสู่การไล่ระบอบประยุทธ์

 

ในที่สุดคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยอมประกาศว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 และถึงแม้การหาเสียงเลือกตั้งอย่างเต็มที่ของทุกพรรคจะยังไม่เกิดขึ้น

แต่ “กระแส” และ “โพล” สำรวจความเห็นประชาชนทุกค่ายก็ให้ผลตรงกันว่าเพื่อไทยคะแนนนิยมรุนแรงระดับทะลุเพดาน

แน่นอนว่าชัยชนะของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะนับตั้งแต่คุณทักษิณ ชินวัตร ตั้งพรรคไทยรักไทยเพื่อลงเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2544 ผลเลือกตั้งทุกครั้งก็จบด้วยชัยชนะของฝ่ายนี้มาโดยตลอด ต่อจะให้มีรัฐประหาร, การยุบพรรค และมีการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสกัดพรรคมาตลอด 22 ปีก็ตาม

เมื่อเทียบกับกระแสของเพื่อไทยที่มาแรงในปี 2562 จนพรรคชนะเลือกตั้งและได้ ส.ส.เขตทั้งหมด 137 คน

“กระแส” ของเพื่อไทยในปี 2566 รุนแรงจนพรรคต้องได้ ส.ส.เขตมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วแน่ๆ

ไม่ต้องพูดถึงกติกาการเลือกตั้งที่จะทำให้พรรคได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากขึ้นอย่างแน่นอน

ขณะที่เพื่อไทยลงเลือกตั้งปี 2562 โดยแทบไม่ได้พูดเรื่อง “เลือกยกจังหวัด” พรรคเพื่อไทยกลับลงเลือกตั้งปี 2566 โดยพูดเรื่อง “เลือกยกจังหวัด” เยอะมาก

ยิ่งกว่านั้นคือหลายพื้นที่มีโอกาสที่เพื่อไทยจะได้ ส.ส.ยกจังหวัดจริงด้วย โดยเฉพาะภาคอีสานที่กระแสเพื่อไทยแรงกว่าเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ผู้สมัครเพื่อไทย จ.ร้อยเอ็ดคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่าหาเสียงปีนี้ง่ายกว่าหาเสียงในปี 2562 หลายเท่าตัว และเมื่อคำนึงว่าร้อยเอ็ดคือหนึ่งในจังหวัดที่เพื่อไทยประกาศชื่อผู้สมัครช้ากว่าที่อื่น ความง่ายในการหาเสียงย่อมสะท้อนว่ากระแสพรรคแรงจนผู้สมัครที่พรรคเพิ่งเปิดตัวก็มีลุ้นชนะเลือกตั้งเข้าสภา

นอกเหนือจากประเด็น “เลือกยกจังหวัด” ที่มาแรง เพื่อไทยในการเลือกตั้ง 2566 ก็มี “กระแส” แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

เพราะผลสำรวจความเห็นของ “นิด้าโพล” พบว่าคนนครศรีธรรมราชรอเลือกเพื่อไทยเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อสูงสุด

ส่วนคนชลบุรีรอเลือกแพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยสูงสุดด้วยเช่นกัน

หากคำนึงว่านครศรีธรรมราชคือหนึ่งในหลายจังหวัดภาคใต้ที่ไม่เคยเลือก ส.ส.ไทยรักไทย, พลังประชาชน และเพื่อไทย กระแสเพื่อไทยที่ลามถึงนครฯ ยิ่งตอกย้ำว่าเพื่อไทยปีนี้แรงมาก เช่นเดียวกับชลบุรีซึ่งเป็นที่มั่นหลักของพรรคคุณประยุทธ์ ต่อให้จะมี ส.ส.อนาคตใหม่ชนะเลือกตั้ง 2 คนก็ตาม

 

ปัญหาของเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2566 ไม่ได้อยู่ที่จะชนะเลือกตั้งหรือไม่ แต่อยู่ที่เพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งมากขนาดไหน และเมื่อชนะแล้วทำอย่างไรที่พรรคเพื่อไทยจะได้จัดตั้งรัฐบาลที่เพื่อไทยเป็นแกนนำ รวมทั้งมีแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล

ด้วยความกังวลว่าเพื่อไทยอาจชนะเลือกตั้งขั้นมี ส.ส.มากที่สุด แต่ ส.ส.และ ส.ว.ไม่โหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยถึง 375 จนพรรคต้องเป็นฝ่ายค้านแบบการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยจึงชูยุทธศาสตร์เลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” ซึ่งก็ประสบความสำเร็จจนไม่มีใครไม่เข้าใจคำนี้อีกต่อไป

หมอชลน่าน ศรีแก้ว เคยบอกว่าเป้าหมายของเพื่อไทยแลนด์สไลด์คือ ส.ส. 251 เสียงขึ้นไป แต่ต่อให้พรรคทำตามเป้าหมายนี้ได้จริง ก็ยังขาดเสียง ส.ส.และ ส.ว.ในการหนุนแคนดิเดตนายกฯ อีกถึง 125

ซึ่งหากถือว่า ส.ว.จะไม่มีวันหนุนเพื่อไทย ก็เท่ากับพรรคต้องได้ ส.ส.จากพรรคอื่นสนับสนุนอีก 125 ราย

โดยทั่วไปแล้วคนอยากให้พรรคฝ่ายค้านชุดนี้ตั้งรัฐบาลร่วมกัน แต่ถ้าพรรคฝ่ายค้านอื่นได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 2566 เท่ากับตอนนี้ที่พรรคก้าวไกล, เสรีรวมไทย, เพื่อชาติ, ประชาชาติ และพลังปวงชนไทยมี ส.ส.อยู่ 77 ราย ก็เท่ากับแคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทยยังขาดเสียงสนับสนุนอีกถึง 48 ราย

แน่นอนว่าฝ่ายค้านทุกพรรคกระแสแรงและมีผลงานเป็นที่รู้จักของประชาชนมากกว่าปี 2562 แต่เมื่อคำนึงว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ของฝ่ายค้านเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อซึ่งการเลือกตั้งปี 2566 จะเหลือแค่ 100 จากปี 2562 ซึ่งมี 150 คะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นจึงอยู่ในกรอบตัวเลข ส.ส.ที่ลดลงกว่าเดิมถึง 50 คน

ถ้าไม่มี ส.ว.แหกคอกมาเลือกฝ่ายประชาธิปไตย ทางเดียวที่เพื่อไทยจะได้ตั้งรัฐบาลคือต้องดึงพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างภูมิใจไทย, พลังประชารัฐ หรือประชาธิปัตย์ให้ย้ายค่ายให้ได้

แต่ปัญหาคือเพื่อไทยไม่มีทางดึงประชาธิปัตย์แน่ๆ ทางเลือกจึงเหลือแต่ไม่พลังประชารัฐก็ภูมิใจไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนคิดถึงการจับมือกันตั้งรัฐบาลของเพื่อไทย-พลังประชารัฐ หรือเพื่อไทย-ภูมิใจไทย

แต่การเมืองไทยหลังปี 2557 คือการเมืองมวลชนที่ขับเคลื่อนผ่านอุดมการณ์ประชาธิปไตยซึ่งสืบเนื่องตั้งแต่ปี 2549-2553 จนการจับมือแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่มวลชนยอมรับได้ง่ายๆ อย่างแน่นอน

 

เมื่อเทียบกับพลังประชารัฐและภูมิใจไทยที่ล้วนต้องการเป็นนายกฯ ด้วยเสียงสนับสนุนของ 250 ส.ว. และ ส.ว.ก็พร้อมโหวตคนกลุ่มนี้ตั้งรัฐบาล

เส้นทางในการเป็นนายกฯ ของคนกลุ่มนี้ง่ายกว่าเพื่อไทยหลายเท่า ต่อให้ทั้งสองพรรคจะได้ ส.ส.แค่พรรคละ 50 หรือรวมกันแค่ 100 ก็ตาม

ถ้าประเมินให้พลังประชารัฐมี ส.ส.ลดลงหนึ่งเท่าจาก 100 เป็น 50 และภูมิใจไทยได้ ส.ส.แค่ 50 จากปัจจุบันที่มี ส.ส.เกือบ 90 สองพรรคนี้จะมี ส.ส.รวมกันราว 100 ซึ่งเมื่อรวมกับ 250 ส.ว.และ ส.ส.จากประชาธิปัตย์, ชาติไทยพัฒนา และพรรครัฐบาลอื่นๆ ก็เกิน 375 ซึ่งมากพอจะตั้งนายกฯ ได้ทันที

จริงอยู่ว่าสูตรตั้งรัฐบาลแบบนี้เสี่ยงเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในกรณีเพื่อไทยได้ ส.ส.มากกว่า 251

แต่สำหรับคนแบบคุณประยุทธ์, คุณประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ตำแหน่งนายกฯ หมายถึงอำนาจต่อรองในการจัดสรรงบประมาณและเก้าอี้รัฐมนตรีให้ ส.ส.และพรรคอื่นๆ จนสามารถต่ออายุรัฐบาลได้ต่อไป

เพื่อไทยมีเหตุผลที่จะยกระดับเป้าหมายแลนด์สไลด์จาก 250 เป็น 310 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวโดยไม่ร่วมมือกับใครเลย

แต่ปัญหาคือพรรคเพื่อไทยจะช่วงชิง ส.ส.เพิ่มขึ้นอีก 60 คน หรือ 24% จากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยหรือพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล

 

ถ้าเป้าหมายของเพื่อไทยในการได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นอีก 60 มาจากชัยชนะเหนือพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกไล่ไปเป็นฝ่ายค้านหมด ผลก็คือจำนวน ส.ส.ของเพื่อไทยสูงสุดจะอยู่ที่ 310 ซึ่งก็ยังไม่ถึง 375 ในการเลือกนายกฯ และนั่นเท่ากับว่าเพื่อไทยก็ต้องดึง ส.ว. หรือ ส.ส.พรรคอื่นให้ได้อีกไม่ต่ำกว่า 65 ราย

ทางเลือกที่ดีที่สุดของเพื่อไทยในการบรรลุเป้าหมายแลนด์สไลด์ 310 ที่นั่งคือเอาชนะพลังประชารัฐและภูมิใจไทย เพราะมีแต่วิธีนี้ที่จะทำให้ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญจน 250 ส.ว.ไม่กล้าโหวตให้รัฐบาลปัจจุบัน

นั่นเท่ากับว่าการดันทุรังตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแทบไม่มีทางเกิดได้เลย

ในแง่นี้ โอกาสของเพื่อไทยในการชิงตำแหน่งนายกฯ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแย่งชิงคะแนนจาก “ฝ่ายประชาธิปไตย” โดยกวาดล้างพรรคฝ่ายค้านอื่นให้หมดไป

แต่คือการแย่งคะแนนจากฐานเสียงพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ เพื่อขยายขอบเขตผู้สนับสนุนให้มากกว่าการรวมศูนย์คะแนนจากฝ่ายเดียวกัน

จุดเด่นของรัฐธรรมนูญ 2560 คือการทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นคนละเรื่องกับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ เป็นคนละเรื่องกัน

พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้แน่ๆ เหลือแค่ตัวเลขแลนด์สไลด์ว่าจะปิดตามที่คนของพรรคพูดถึง 251 หรือ 310 หรือ 375 เท่านั้นเอง

แลนด์สไลด์ที่ตัวเลขพุ่งไม่หยุดทำให้เพื่อไทยมีโอกาสรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ได้มากกว่าทุกพรรคการเมือง

ปัญหาคือการเลือกนายกฯ ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา เพื่อไทยจึงไม่ได้มีโจทย์แค่ชัยชนะระดับสภาผู้แทนฯ

แต่ยังต้องทำให้พรรครัฐบาลแพ้จนรวมเสียง ส.ว.ไม่ได้เลย

รัฐบาลพรรคเดียวเป็นเป้าหมายสูงสุดของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่นายกฯ คือหัวหน้ารัฐบาล และรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้หัวหน้ารัฐบาลมีที่มาจาก ส.ว.ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเลย เป้าหมายแลนด์สไลด์ที่ 310 ยังไม่พอต่อการเลือกนายกฯ และอาจตั้งรัฐบาลพรรคเดียวไม่ได้เลย

คุณทักษิณและคุณหมอชลน่านพูดถูกว่า “พรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตย” คือทางออกของประเทศจากระบอบประยุทธ์

การช่วงชิงคะแนนเสียงจากพลังประชารัฐและภูมิใจไทยให้มากที่สุดจึงเป็นบันไดขั้นสุดท้ายสู่นายกฯ จากการเลือกตั้งซึ่งต้องการฐานสนับสนุนมากกว่าการตั้งรัฐบาลพรรคเดียว