ตีตั๋วนั่งรถไฟฟ้าสารพัดสี จ่าย 20-40 บาทตลอดสาย ทำได้จริงหรือแค่ฝันลมๆ แล้งๆ

บทความเศรษฐกิจ

 

ตีตั๋วนั่งรถไฟฟ้าสารพัดสี

จ่าย 20-40 บาทตลอดสาย

ทำได้จริงหรือแค่ฝันลมๆ แล้งๆ

 

น่าสนใจไม่น้อย นโยบายหาเสียง ว่าด้วยเรื่อง “ค่าโดยสาร” รถไฟฟ้าสารพัดสีสารพัดสาย ที่แต่ละพรรคการเมืองกำลังเดินสายขายนโยบาย

ไฮไลต์อยู่ที่ 2 พรรคใหญ่ที่เกทับบลั๊ฟฟ์แหลก ระหว่างมุมแดง “เพื่อไทย” กับมุมน้ำเงิน “ภูมิใจไทย” ต่างอัดฉีดนโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า หลังมีเสียงบ่นแพงหูฉี่ สวนทางรายได้ในกระเป๋า ค่าครองชีพดาหน้าขยับยกแผง

งานนี้ “เพื่อไทย” ชูโรงจัดระเบียบรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลใหม่ เพื่อใช้ระบบตั๋วร่วม 20 บาทตลอดสายได้ก่อนปี 2570 ซึ่ง “ราคา 20 บาทตลอดสาย” เคยจุดพลุสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแล้ว แต่ยังทำไม่ได้ ครั้งนี้จึงหยิบขึ้นมาเขย่าใหม่ หวังโกยคะแนนเสียงอีกครั้ง

ด้าน “ภูมิใจไทย” มี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เป็นเลขาธิการพรรค และนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมานานถึง 4 ปี รู้ลึกรู้จริงโครงสร้างราคารถไฟฟ้าแต่ละสี เลยจัดให้เริ่มต้น 15 บาท ตลอดสายไม่เกิน 40 บาท

แถมใจดีจัดตั๋ว One Day Pass สำหรับค่าโดยสารสาธารณะ รถ เรือ เริ่มต้น 15 บาท ตลอดวันไม่เกิน 50 บาทให้อีกต่างหาก

 

ในเมื่อเรื่องปากท้องเป็นเรื่องด่วนจี๋ที่ไม่คอยท่า จึงทำให้บรรดาพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคเล็ก พรรคใหญ่ หยิบฉวยมาเป็นกิมมิก สร้างสีสันประโคมหาเสียงเรียกคะแนนในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ทั้งนี้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าพรรคไหนพูดแล้วทำได้จริง ไม่ใช่เรื่องขายฝันซ้ำซาก เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

เมื่อพลิกดูค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบัน เริ่มจาก “สายสีเขียว” รถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย เริ่มสร้างเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว จนมีระยะทางรวม 67.45 กิโลเมตร จำนวน 59 สถานี วิ่งทะลุ 3 จังหวัด ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ

ปัจจุบันค่าโดยสารแบ่งเป็น 3 ส่วน สายหลักเป็นสัมปทานสายสุขุมวิทช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสายสีลมช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ค่าโดยสารอยู่ที่ 17-47 บาท

ส่วนต่อขยายที่ 1 สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง ค่าโดยสารอยู่ที่ 15 บาทตลอดสาย และส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะเก็บค่าโดยสาร 15-45 บาท แต่ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังเปิดให้นั่งฟรีไม่มีกำหนด

“สายสีน้ำเงิน” ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ค่าโดยสารอยู่ที่ 17-43 บาท

“สายสีม่วง” ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ค่าโดยสาร อยู่ที่ 14-42 บาท หากผู้โดยสารเปลี่ยนระบบระหว่างสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วงจะยกเว้นค่าแรกเข้า

“สายสีแดง” ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิหรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท

“สายสีทอง” ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน ค่าโดยสาร 16 บาทตลอดสาย หากเข้าระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีกรุงธนบุรี จะเสียค่าแรกเข้าอีก 16 บาท

“สายสีแดง” ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ค่าโดยสารอยู่ที่ 12-42 บาท หากเปลี่ยนระบบระหว่างสายสีแดงกับสีม่วงและสีน้ำเงิน จะยกเว้นค่าแรกเข้า

ส่วนอีก 2 สาย 2 สี มีกำหนดจะเปิดบริการในปี 2566 คือ “สายสีชมพู” ช่วงแคราย-มีนบุรี ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท และ “สายสีเหลือง” ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท

“สายสีส้ม” ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มีคิวจะเปิดบริการในปี 2568 ค่าโดยสาร 15-45 บาท สุดท้าย “สายสีม่วง” ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จะเปิดบริการในปี 2570 คาดว่าค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท

หากนั่งต่างระบบ ต่างสัมปทาน และหลายต่อ ก็ต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายค่าแรกเข้าหลายครั้ง

อย่างเช่น ถ้านั่งตระกูลสายสีเขียวด้วยกันจะไม่มีค่าแรกเข้า แต่หากเข้าไปใช้ในระบบสายสีอื่นๆ อย่างเช่น สายสีชมพู สีเหลือง สีน้ำเงิน ต้องจ่ายค่าแรกเข้าต่อที่สอง

จากปมปัญหานี้ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามอย่างยิ่งยวดหาช่องลดภาระประชาชน ไม่ว่าจะเป็น “ระบบตั๋วร่วม” ใช้บัตรใบเดียวนั่งได้ทุกสาย จ่ายค่าโดยสารราคาถูก

แต่สุดท้ายก็เป็นได้แค่ “ตั๋วต่อ” ระบบรถไฟฟ้าไปตามระเบียบ เพราะไม่ว่าจะออกแรงเข็นสักแค่ไหน ก็ยังไปไม่ถึงฝั่งฝันดันให้สำเร็จสักทีตลอด 16 ปีที่ผ่านมา นับจากยุครัฐบาล คมช.

 

ว่ากันว่าการที่ “ระบบตั๋วร่วมไทยแลนด์” สะดุดตอ ยังไม่ได้ฤกษ์แจ้งเกิด เป็นเพราะยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศและเป็นเรื่องใหญ่ที่จะเข้าไปแตะสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าเดิมที่ยังไม่สิ้นสุด

หากจะเดินหน้าต่อ ก็ต้องเจรจาเอกชนแก้สัญญาสัมปทานและรัฐบาลก็ต้องเข้าไปอุดหนุนรายได้ที่เป็นส่วนต่างให้เอกชนด้วย ซึ่งเมื่อดีดลูกคิดแล้วคาดว่าน่าจะใช้งบประมาณอุดหนุนปีละหลาย 1,000 ล้านบาท จึงไม่ง่ายอย่างที่คิด

ขนาด “ระบบตั๋วร่วม” ที่ผลักดันมาหลายรัฐบาล ยังแจ้งเกิดไม่สำเร็จ แล้วนโยบายหาเสียงนั่งรถไฟฟ้า 20 บาท 40 บาทตลอดสายจะทำได้จริงไหม ในเมื่อแต่ละสายจุดเริ่มต้นนั้น ต่างกรรม ต่างวาระ มีที่มาของการลงทุนที่แตกต่างกัน ฤๅสุดท้ายจะเป็นได้แค่ความหวัง ลมๆ แล้งๆ

ประเด็นนี้ “สุเมธ องกิตติกุล” ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ สะท้อนว่า นโยบายหาเสียงรถไฟฟ้า 20 บาท และ 40 บาทตลอดสายของพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ยังไม่เห็นไส้ในว่าจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร ที่จะสามารถผลักดันให้เป็นจริงได้

ซึ่งนโยบาย 20 บาทตลอดสายเคยมีมาแล้วสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ยังไม่สามารถผลักดันออกมาได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม แทนที่พรรคการเมืองจะออกนโยบายใหม่ในลักษณะนี้ น่าจะชูเรื่องการแก้ปัญหาเดิมที่ค้างคา อย่างเช่น ผลักดันระบบตั๋วร่วมให้ใช้ได้จริง รวมถึงทำโครงข่ายเดิมให้ครบตามแผนแม่บท และประชาชนเข้าถึงได้ง่าย มากกว่าจะไปขายของใหม่

เนื่องจากรถไฟฟ้ามีสัญญาเดิมอยู่ และเป็นการพัฒนาโครงการคนละห้วงเวลาและภายใต้เงื่อนไขคนละรูปแบบ ซึ่งบางสายเอกชนลงทุนเองทั้งหมด บางสายรัฐบาลลงทุนงานโยธาให้ เอกชนลงทุนงานระบบ หรือบางสายรัฐลงทุนเองและจ้างเอกชนเดินรถ จึงทำให้รถไฟฟ้าต้องจ่ายค่าโดยสารหลายต่อและแพงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การจะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง ทางรัฐบาลต้องเข้าไปควบคุมโครงสร้างราคา แก้สัญญาสัมปทาน จัดรูปแบบการลงทุนใหม่ และต้องอุดหนุนงบประมาณบางส่วนด้วย

รวมถึงต้องหาจุดลงตัวที่วิน-วินทุกฝ่าย

ในเมื่อคนที่คิดนโยบายไม่ได้จ่าย คนที่จ่ายคือคนไม่คิด คงไม่ง่ายที่รัฐบาลจะนำเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเก็บจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ มาอุดหนุนให้คนที่ใช้รถไฟฟ้ามีอยู่กว่า 1 ล้านคน!!