“ทรู” ผู้คุมเกม มีพันธมิตรใหญ่ระดับโลกข้างกาย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

แผนการควบควบกิจการสื่อสารไทยครั้งใหญ่ เดินหน้าไปได้ในที่สุด

แม้เป็นเวลายืดเยื้อกว่าที่คาดไว้แต่แรกเกือบๆ ครึ่งปี ด้วยจังหวะและแรงเหวี่ยงอย่างระทึก ภายใต้แรงกดดันอันเป็นปกติซึ่งซีพีเผชิญเสมอมา ตามจังหวะพัฒนาการก้าวกระโดด

นั่นคือแผนการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ TRUE กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC

จากจุดเริ่มต้นช่วงปีกว่าๆ เมื่อกิจการทั้งสอง “มีมติเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการควบบริษัทกัน” (22 พฤศจิกายน 2564) แผนการเป็นจริงเป็นจังอย่างกระชั้น เมื่อ TRUE และ DTAC “นําส่งรายงานการรวมธุรกิจต่อ กสทช. เมื่อ 25 มกราคม 2565” และ “ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท TRUE และ DTAC มีมติอนุมัติการควบบริษัท” (18 กุมภาพันธ์ 2565)

ภาพบริษัทใหม่เป็นรูปเป็นร่าง ข้อมูลต่างๆ เปิดเผยวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ใหม่ ปรากฏชัดว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี (หรือจะเรียกว่า ผู้ถือหุ้นฝ่าย TRUE) เป็นผู้ถือหุ้นด้วยจำนวนมากที่สุดในสัดส่วน 28.98 เมื่อรวมกับพันธมิตรเดิม (China Mobile) อีก 10.43% ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วนถึงประมาณ 39%

ข้างฝ่าย DTAC มี Telenor Group แห่งนอร์เวย์ ถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับสองของบริษัทใหม่ในสัดส่วน 19.28% ส่วนพันธมิตร-บริษัทไทยเทลโคโฮลดิงส์ (ของตระกูลเบญจรงคกุล) อีก 8.06% รวมกันแล้วมีสัดส่วนประมาณ 27%

ทั้งนี้ ได้ระบุแผนการและไทม์ไลน์ในขั้นตอนสุดท้ายไว้ “บริษัทใหม่จะยื่นคําขอต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน” ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565

 

ทว่าจังหวะต่อมาซึ่งสำคัญมาก อยู่ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใช้เวลานานกว่าที่คาด ท่ามกลางแรงกดดันรอบด้านที่เพิ่มขึ้นๆ จนล่วงเลยช่วงเวลาในไทม์ไลน์ไปด้วย อย่างไรก็ตาม ว่ากันในวงใน ผู้เกี่ยวข้องกับดีล คงเชื่อมั่นจะผ่านด่านสำคัญไปได้

สะท้อนผ่านความเคลื่อนไหว Telenor ในสิงคโปร์ “Telenor Asia Expands Presence in Singapore to Capture Regional Opportunities” (13 ตุลาคม 2565) สำนักงานใหญ่ Telenor Asia ที่สิงคโปร์ ระบุว่าจะมีบทบาทมากขึ้น เพื่อดูแลและรับผิดชอบเครือข่ายธุรกิจในเอเชีย 4 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ปากีสถาน มาเลเซียและไทย ทั้งนี้ ได้กล่าวเจาะเกี่ยวกับดีลควบรวมกิจการในมาเลเซียและไทย “เป็นดีลควบรวมที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หากประสบความสำเร็จ Telenor จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจในตลาดเอเชียถึง 3 แห่งซึ่งมีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน”

เพียงไม่กี่วัน ในที่สุด กสทช.ลงมติสำคัญเพื่อเปิดไฟเขียว โดยใช้คำว่า “รับทราบ” ควบรวมกิจการ มีเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะอ้างว่า “เพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภค การแข่งขัน และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม”

แม้ว่าแรงกดดันยังมีต่อเนื่อง เมื่อองค์กรผู้บริโภค แสดงบทบาทคัดค้าน กสทช.อย่างเต็มที่ ยื่นต่อศาล โดยเฉพาะขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อยับยั้งแผนการใหญ่มิให้เดินหน้า แต่เป็นอีกครั้ง แรงต้านไม่มีพลังเพียงพอ

หลายๆ คน หลายๆ ฝ่าย เชื่อว่า เป็นภาพสะท้อน อิทธิพลธุรกิจใหญ่ในสังคมไทย มีมากขึ้นๆ ในทุกมิติ

และแล้ว ดีลสำคัญได้เดินหน้าสู่ปลายทาง ทั้ง TRUE และ DTAC ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (12 มกราคม 2566) บริษัทใหม่หลังควบรวมกิจการ จะใช้ชื่อ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ชื่อย่อหลักทรัพย์ TRUE (อีกไม่กี่วันต่อมา ขอแก้ไขเล็กน้อยเป็น TRUEE)

ทุนจดทะเบียนบริษัทใหม่ระบุไว้สูงมากทีเดียว 138,208,403,204 บาท ซึ่งเท่ากับทุนชําระแล้ว ของ TRUE กับ DTAC รวมกัน โดยแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ จํานวน 34,552,100,801 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 4 บาท ทั้งนี้ ได้เสนอชื่อคณะกรรมการชุดใหม่ไว้ด้วย ด้วยฝ่าย TRUE มีที่นั่งมากกว่า เป็นไปตามสัดส่วนการถือหุ้น

จากนั้นเป็นขั้นตอนสุดท้ายทางเทคนิค เพื่อขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญ (23 กุมภาพันธ์ 2566) ตามด้วยกระบวนการที่จำเป็นด้วยกฎเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างที่ว่าไว้ “DTAC และ TRUE ได้ขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ (SP) ของบริษัททั้ง 2 แห่งเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 2 มีนาคม 2566 รวมเป็นระยะเวลา 9 วันทำการ เพื่อเตรียมการจัดสรรหุ้นสามัญของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ DTAC และ TRUE และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำหุ้นสามัญของบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ”

ภาพโฟกัสดีลใหญ่เป็นไปอย่างที่คาดหมาย ปรากฏในโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่นำเสนอไว้ตั้งแต่ต้น จนถึงชื่อบริษัทใหม่ ล้วนเป็นไปตามเจตจำนง เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี

TRUE ในนามธุรกิจสื่อสารของซีพี หนึ่งในสามธุรกิจหลัก เดินตามแบบแผนเฉกเช่นเดียวธุรกิจหลักอื่นๆ เพื่อก้าวเป็นผู้นำ ครอบงำตลาดในระดับที่น่าพอใจ ไม่ว่า CPF (ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร) กับ CPALL (ธุรกิจค้าปลีก) ทั้งนี้ TRUE ดูจะใช้เวลาและความพยายามมากกว่า จากการก่อตั้งมากว่า 3 ทศวรรษ ด้วยเผชิญแรงเสียดทาน และความผันแปร หลายช่วงหลายตอน จนกลายเป็นธุรกิจที่มีพัฒนาการอย่างแตกต่าง เฉพาะตัว

ขอตัดตอนจากช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญจำต้องปรับตัว จากธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน สู่ธุรกิจสื่อสารไร้สายธุรกิจใหม่ในสังคมไทยในเวลานั้น กำลังมาแรงและทรงอิทธิพลมากขึ้นๆ เปิดฉากใหม่ในปีราว 2 ทศวรรษที่แล้ว

ว่าเฉพาะพันธมิตรธุรกิจระดับโลก ตามแบบแผนแล้ว ซีพีจะมีรายใหญ่รายเดียวในธุรกิจหนึ่งๆ เริ่มต้นด้วยความร่วมมือกับเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งโลกตะวันตก Orange Plc. UK ในช่วงไม่ดีนัก เนื่องด้วย Orange อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ถือหุ้นใหญ่ จาก Hutchison Whampoa แห่งฮ่องกงไปยัง Mannesmann AG แห่งเยอรมนี และ Vodafone แห่งสหราชอาณาจักร กว่าจะลงตัวมาอยู่เครือข่าย France T?l?com แห่งฝรั่งเศส (ปี 2543) เพียง 5 ปี Orange ได้ถอนตัวไป (2549)

มาอีกกระแสคลื่นสู่โลกตะวันออก ร่วมมือ (2557) กับ China Mobile กิจการภายใต้อาณัติรัฐบาลจีน ก่อตั้งในช่วงวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” ตามแผนการระดมทุนจากตลาดหุ้นทั้งที่ฮ่องกงและนิวยอร์ก กิจการเติบโตอย่างอย่างน่าทึ่ง กลายเป็นผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายที่มีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก

จนมาเป็นโมเดลใหม่ในวันนี้ TRUE มีพันธมิตรใหญ่ระดับโลก 2 รายอยู่ด้วยกัน ว่าไปแล้วในบางภูมิภาคเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจกันด้วย

ฉากตอนใหม่ที่ตื่นเต้นกว่าเดิม เริ่มต้นขึ้น •