ทำเพื่อใคร

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ตอนสัมภาษณ์ “เฮียตึ๋ง” คุณอนันต์ อัศวโภคิน ของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

คุยเรื่องหลักคิดในการบริหารคน

เพราะผู้บริหารระดับสูงที่เป็น “ลูกหม้อ” ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นคุณนพร สุนทรจิตต์เจริญ ซีอีโอของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ คุณคุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล ซีอีโอของโฮมโปร หรือรุ่นบุกเบิกอีกหลายคน

แต่ละคนถือหุ้นคิดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท

บางคนเกือบพันล้าน

คำถามแรกก็คือ คนที่มีทรัพย์สินขนาดนี้แล้วน่าจะไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือใช้ชีวิตสบายๆ

แต่ทำไมคนที่มีเงินระดับนั้นจึงยังทำงานให้คุณอนันต์

มันต้องมีอะไรที่ดึงดูดให้คนกลุ่มนี้อยู่ที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และโฮมโปร

คุณอนันต์มีหลักการบริหารอย่างไร

“เฮียตึ๋ง” ไม่ยอมตอบคำถามนี้ตรงๆ ใช้การพูดเล่น และพยายามเลี่ยงไปคุยเรื่องอื่น

เพราะถ้าตอบก็เหมือนกับชมตัวเอง

แต่ถ้าใครเคยฟังคุณอนันต์บรรยายถึงหลักการบริหารบริษัทแล้วคงพอเข้าใจ

คุณอนันต์ให้ “อำนาจ” การตัดสินใจกับลูกน้องสูงมาก

คนที่เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทมีอำนาจอนุมัติเงินเต็มที่

เป็น “พนักงาน” รับเงินเดือนประจำแต่มีอำนาจเหมือนเป็น “เจ้าของ”

เพราะคุณอนันต์ถือหลักว่า ถ้าแต่งตั้งใครก็ต้องเชื่อมั่นในตัวเขา

ถ้าไม่เชื่อ ก็อย่าตั้ง

ผมนึกถึงคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ของซีพี เขาเคยบอกว่าเวลา “คนเก่ง” จริงๆ มาสมัครงาน

เขาจะถามเรื่อง “อำนาจการตัดสินใจ” ก่อนเรื่อง “เงินเดือน”

เพราะ “คนเก่ง” ต้องการแสดงความสามารถ

เมื่อคุณอนันต์ให้ความรู้สึกเหมือนเป็น “เจ้าของ” กับ “มืออาชีพ” ที่เป็นเศรษฐี

คนกลุ่มนี้จึงไม่จำเป็นต้องไปทำธุรกิจของตัวเอง

เพราะการทำธุรกิจของตัวเองเพื่อจะเป็น “เจ้าของ”

แต่อยู่ที่เดิม ก็มีอำนาจเหมือนเป็น “เจ้าของ”

แล้วจะลาออกไปทำไม

 

อีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ทำไมคุณอนันต์ถึงให้ ESOP หรือจัดสรรหุ้นให้กับผู้บริหารสูงขนาดนี้

คงไม่มีผู้บริหารบริษัทไหนมีหุ้นของบริษัทเป็นหลักร้อยล้าน

ผมไม่ได้ถามเรื่องนี้ตรงๆ

แต่อยู่ดีๆ คุณอนันต์ก็ถามคนฟังว่า “ถ้าคุณรวยเป็น 1,000 ล้าน คุณคิดว่าควรแบ่งให้พนักงานที่บุกเบิกมาด้วยกันเท่าไร”

คุณคิดว่าเท่าไร

“อย่างต่ำ 100 ล้าน” คุณอนันต์บอก

เพราะที่เงิน 1,000 ล้าน ไม่ได้มาจากฝีมือเราคนเดียว

แต่มาจาก “พนักงาน” ด้วย

โดยเฉพาะคนที่มีส่วนร่วมบุกเบิกมากับเราตั้งแต่ต้น คนนั้นก็ควรได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรที่คุ้มค่า

หลักคิดแบบนี้เป็นหลักคิดที่ลูกน้องทุกคนอยากได้จากเจ้าของ

ผมไม่แปลกใจที่ “มืออาชีพ” ที่มีทรัพย์สินเป็น 100 ล้าน จะยอมเป็น “ลูกน้อง” คุณอนันต์ต่อไป

เพราะนอกจากผลตอบแทนที่คุ้มค่าแล้ว

ทุกคนต้องการสิ่งหนึ่งจากคนที่เป็น “หัวหน้า”

นั่นคือ ความยุติธรรม

รู้จัก “กินแบ่ง”

ไม่ใช่ “กินรวบ”

 

“คาซุโอะ อินาโมริ” ก็มีวิธีคิดคล้ายกับคุณอนันต์

“อินาโมริ” เป็นเจ้าของบริษัทเคียวเซร่า

และเป็นคนที่รัฐบาลญี่ปุ่นขอให้เข้ามาช่วยกอบกู้เจแปน แอร์ไลน์ให้พ้นจากการล้มละลาย

ผลงานเรื่องนี้ทำให้ “อินาโมริ” เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ในหนังสือ “หัวใจ พลังที่เป็นความหมายของชีวิต” เขาเล่าถึงช่วงแรกของการก่อตั้ง “เคียวเซร่า”

เป้าหมายที่เขาตั้งไว้ คือ การเผยแพร่เทคโนโลยีของตัวเองสู่สังคม

“อินาโมริ” เป็นนักประดิษฐ์ที่เก่งมาก

เป็นคนคิดค้นการสังเคราะห์เซรามิกเนื้อละเอียดได้สำเร็จเป็นคนแรกของญี่ปุ่น

และมีผลงานอีกมากมาย

“เคียวเซร่าก่อตั้งขึ้นจากแรงจูงใจที่ผมอยากทำความฝันในฐานะวิศวกรให้เป็นจริง”

แต่หลังจากก่อตั้งบริษัทได้ 3 ปีก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ “อินาโมริ” เปลี่ยนความคิดใหม่

เมื่อพนักงานจำนวน 10 กว่าคนประท้วง ยืนอออยู่หน้าโต๊ะทำงานของเขาและยื่นข้อเรียกร้องให้ปรับปรุงสวัสดิการของบริษัท

ขอเพิ่มโบนัส และมีหลักประกันสำหรับอนาคต

ถ้า “อินาโมริ” ไม่ยอมรับข้อเรียกร้อง

ทุกคนจะลาออก

“อินาโมริ” บอกว่าบริษัทที่เพิ่งตั้งมาไม่นาน ไม่มีกำลังมากพอที่จะทำตามข้อเรียกร้องของเขาได้ทั้งหมด

“และผมคิดว่าการสัญญาในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ถือเป็นเรื่องที่ไม่จริงใจ”

วิธีการที่ “อินาโมริ” ใช้ในการทำความเข้าใจกับพนักงานกลุ่มนี้ ก็คือ พาพนักงานไปที่บ้านของเขา

เป็นบ้านที่คับแคบมาก

เหมือนจะบอกให้รู้ว่าตัวเขาเองก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร

ใช้ชีวิตไม่ได้แตกต่างจากพนักงานแบบฟ้ากับดิน

หลังจากพูดโน้มน้าวอยู่นาน ทุกคนก็เข้าใจ

แต่คืนนั้น “อินาโมริ” นอนไม่หลับ

เขาเริ่มรู้สึกหนักใจว่าการบริหารบริษัทมันยากขนาดนี้เชียวหรือ

“ทำไมถึงหาเรื่องทำให้ตัวเองลำบาก”

ช่วงนั้น “อินาโมริ” ต้องส่งเงินให้พ่อแม่ และดูแลครอบครัวของตัวเองที่เพิ่งเริ่มต้น

“ถ้ารู้อย่างนี้ไม่น่าเปิดบริษัทเลย”

เพราะลำพังแค่ดูแลตัวเองก็ลำบากแล้ว แต่ยังต้องดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกันอีก

“รู้งี้” เป็น “ลูกจ้าง” ในบริษัทเหมือนเดิมดีกว่า

แต่เมื่อทบทวนอย่างละเอียด “อินาโมริ” ได้ค้นพบแนวคิดใหม่ที่กลายเป็น “เข็มทิศ” ของบริษัท

เขารู้แล้วว่าการตั้งบริษัทขึ้นมาจะต้องไม่ดำรงอยู่เพียงเพื่อทำความคิดของตัวเองให้เป็นจริง

แต่บริษัทต้องเกิดขึ้นมาเพื่อคุ้มครองความเป็นอยู่ของพนักงาน

และทำให้ชีวิตของเขามีความสุข

“สิ่งนี้ต่างหาก คือ พันธกิจของบริษัทและวิสัยทัศน์ในการบริหาร”

เพียงแค่เปลี่ยนมุมคิดใหม่

รู้ว่า “ทำเพื่อใคร”

“เมื่อตัดสินใจเช่นนั้นแล้ว ผมก็รู้สึกเบิกบานคล้ายกับเมฆหมอกในใจสลายไป”

จากนั้นเป็นต้นมา “อินาโมริ” จึงกำหนดพันธกิจของบริษัทใหม่

เป็นการทำให้พนักงานมีความสุขทั้งกายและใจ

เมื่อมีใจให้กับพนักงาน พนักงานก็จะมีใจให้กับเรา

และนั่นคือที่มาความสำเร็จของ “เคียวเซร่า” •