คุยกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ : ปราบส่วยด้วยเทคโนโลยี | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ 8 เดือน พอได้นั่งสนทนากันเมื่อเร็วๆ นี้ในอุทยานเบญจสิริก็ได้ฟังแนวทางวิเคราะห์ว่าสิ่งที่คาดคิดไว้กับสิ่งที่ได้เจอนั้นมีความต่างกันอยู่ไม่น้อย

ประเด็นที่เคยคาดว่าจะต้องเจอแน่คือคอร์รัปชั่น

นอกจากเรื่องสินบนของการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรแล้วก็ยังมีเรื่องส่วย

“เรื่องส่วยเรื่องทุจริตเป็นเรื่องที่ต้องแก้ แต่คงไม่ได้แก้ภายใน 6 เดือน ต้องเริ่มจากใหญ่ลงมาเล็ก…”

ผมอยากรู้ว่าจะมีวิธีไหนที่ปราบปรามเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบที่จะเห็นผลมากกว่าที่ผ่านมา

“เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่ง ยกตัวอย่างเรื่องการออกใบอนุญาตก่อสร้าง…คนพูดกันเยอะเลยว่าการขอใบอนุญาตแต่ละครั้งต้องมีการจ่ายใต้โต๊ะ วิธีแก้คือเอาเทคโนโลยีเข้าไปจับ…”

กติกาใหม่คือการขออนุญาตสร้างบ้านที่น้อยกว่า 300 ตารางเมตรสามารถยื่นออนไลน์ได้ ไม่ต้องเจอคน ไม่ต้องเดินโต๊ะ ขาดเอกสารอะไรก็ขอเพิ่มทางออนไลน์ โดยมีกำหนดว่าจะต้องเป็นกี่วัน

“คล้ายๆ เรายื่นภาษีก็ทำออนไลน์ได้…และเราบอกว่าการขอเอกสารเพิ่มได้ครั้งเดียว ไม่ใช่ขอแล้วขออีก เราเริ่มเปิดออนไลน์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คนยังไม่ค่อยชิน …”

พอใช้เทคโนโลยีลงมาจับก็ใช้ดุลพินิจ (judgment) น้อยลง และมีการทำเช็กลิสต์ว่าต้องตรวจอะไรบ้างให้ชัดเจน

ลดการใช้ดุลพินิจส่วนบุคคล

ก้าวต่อไปก็ต้องแก้, ลดหรือเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น

“ก็ต้องใช้วิธีตัดด้วย guillotine กฎหมายต่างๆ ซึ่งตอนนี้ TDRI ก็กำลังศึกษาและจะจัดสัมมนาเรื่อง guillotine กฎหมายต่างๆ เพราะส่วนหนึ่งก็ล้าสมัยมากๆ”

แต่คุณชัชชาติก็ยอมรับว่าที่ส่วยที่ปราบยากกว่าคือ “ส่วยที่สมยอมกัน”

“มันแสดงว่าคนที่ยอมให้นั้นทำผิดกฎหมายอะไรบางอย่าง หรือไม่ก็ได้เวลาเร็วขึ้น แต่ถ้าเรากำหนดไว้ในกฎหมายว่าเรื่องไหนต้องใช้เวลาภายในกี่วันก็จะทำให้ลดเรื่องนี้ได้”

ส่วนเรื่องทำผิดกฎหมายนั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติเชื่อว่าสามารถตรวจสอบได้โดยมีเช็กลิสต์ที่ชัดเจนว่าทำถูกต้องทุกรายการหรือไม่

ถ้าอนุญาตโดยผิดกฎหมายก็ต้องเล่นงานให้หนัก

เรื่องน้ำท่วมแล้ว เรื่องส่วยแล้ว เรื่องจราจรไปถึงไหน

“เรื่องจราจรเป็นเรื่องซับซ้อนพอสมควร เพราะเราไม่ได้มีอำนาจคนเดียว ถ้าอยู่บนฟุตปาธคือของผม แต่พอก้าวลงถนนเป็นของจราจร

ไฟเขียวไฟแดงจราจรคุมหมด

“เราก็คุยกันตลอดกับรอง ผบช.น. ดูแลเรื่องจราจร เรากำหนดจุดฝืดมาประมาณ 120 แห่ง เพราะปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งมาจากจุดฝืด

จุดฝืดคือจุดที่มีรถจอด มีคนบนทางเท้า พอฝืดปุ๊บรถก็จะติดยาว

เช่น แถวบ่อนไก่ก่อนขึ้นทางด่วนพระราม 4 ก็มีจุดฝืดแบบนี้

กทม.ก็เข้าไปร่วมมือกับจราจรกำจัดจุดฝืดเพื่อให้รถขยับให้เร็วขึ้น

“ก้าวต่อที่จะทำก็คือระบบบริหารข้อมูลการจราจรอย่างฉลาดหรือ Intelligent Traffic Management Systems (ITMS) เพราะที่เราเห็นอาจจะเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาเท่านั้น แต่ที่อยู่ใต้น้ำนั้นมีมหาศาลที่ต้องปรับปรุงให้มันเข้มแข็งขึ้น…”

 

ผ่านมา 8 เดือนสุขภาพของผู้ว่าฯ กทม.คนนี้ก็ยังดีอยู่ใช่ไหม

“สุขภาพกายดี สุขภาพใจก็ดูแลตัวเองอยู่ คุยกับลูกก็สบายใจขึ้น การคุยกับคนที่เรารักจริงๆ ก็สบายใจ”

พอมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักๆ “ถ้าเป็นเรื่องจริงเราก็ไปปรับปรุงแก้ไข ถ้าเรื่องไม่จริงก็ช่างมัน”

ถามว่าเครียดจริง แต่เครียดในระดับที่ยังควบคุมได้ “สบายๆ”

คุณชัชชาติบอกว่านอนวันละประมาณ 5 ชั่วโมง บางวันก็แอบงีบกลางวันในรถบ้าง

“แต่ก่อนนี้ผมมีน้ำหนักกว่านี้เยอะ ตอนนี้ลดไป 10 กิโลกรัม ด้วยการอดอาหารเป็นระยะๆ แบบ IF (Intermittent Fasting) ตามลูกชาย

“การอดอาหารเป็นพักๆ นี่เหมือนพระเลย พระพุทธเจ้าท่านทำคิดไว้อย่างดี คือกิน 6 ชั่วโมง หยุด 18 ชั่วโมง อย่างพระท่านก็ฉันอาหารก่อนเที่ยง หลังเที่ยงก็ไม่ฉัน ของเราก็ 8 โมงถึงบ่าย 2…”

มื้อเช้ารับประทานอาหารนิดหน่อย วิ่งเสร็จก็กินผลไม้ นม คอร์นเฟลก ตอนเที่ยงก็กินก๋วยเตี๋ยวไปตามเรื่อง มื้อเย็นพยายามไม่กินเลย

“ที่ดีคือพอเราไม่ต้องคิดเรื่องกิน เราก็สบาย…เรามีโฟกัส (สมาธิ) ขึ้น เลือดไม่ต้องไปเลี้ยงท้องเยอะ มาเลี้ยงสมองแทน”

 

ในฐานะผู้ว่าฯ ก็ให้ความสำคัญกับนโยบายสุขภาพของชาว กทม.ด้วย

“ใช่ครับ เรื่องนี้สำคัญเลย คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยนึกว่าถึงเรื่องสุขภาพและการศึกษาซึ่งสำคัญมาก คนส่วนใหญ่จะคิดถึงเรื่องน้ำท่วมกับรถติดเท่านั้น…”

สุขภาพกับการศึกษาเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ

“เราเคยพูดถึงคำว่าโง่, จน, เจ็บ เพราะคุณภาพการศึกษาไม่ดี ไม่มีความรู้พอ ทำงานไม่ได้ พอป่วยก็ไม่มีเงินรักษา คราวนี้เจ๊งเลย…”

กลายเป็นคนกลุ่มหนึ่งอยู่ในวงจรที่หลุดออกมาไม่ได้

คุณชัชชาติจึงบอกว่า กทม.ต้องทำสองเรื่องนี้ให้มากขึ้น

กทม.ดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชนอย่างไร?

“กทม.ไม่ใช่เจ้าของโรงพยาบาลใหญ่ กทม.มีเตียงโรงพยาบาลแค่ 10-12% เท่านั้น ที่เหลือจะเป็นของโรงพยาบาลเอกชน, ของรัฐ, ของกระทรวงสาธารณสุข…”

ดังนั้น หัวใจของเรื่องสุขภาพในความรับผิดชอบของ กทม. คือ ปฐมภูมิ เป็น “ด่านหน้าที่ปะทะ”

เช่น ศูนย์สาธารณสุขซึ่งเรามี 69 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนเลย และมีโรงพยาบาล

แต่ที่ผ่านมาคนไม่ค่อยเชื่อถือศูนย์สาธารณสุขอาจจะเป็นเพราะคุณภาพและการให้บริการ

“คนก็แห่กันเข้าโรงพยาบาลหมด ไปแถวโรงพยาบาลวชิระ คนเต็มกันตั้งแต่ตี 4 ตี 5”

นั่นเป็นเพราะด่านหน้าที่รับการปะทะนั้นไม่เข้มแข็งพอ

“ดังนั้น หัวใจคือต้องไปลุยที่ด่านหน้า กทม. ต้องทำเรื่องปฐมภูมิให้เข้มแข็งขึ้น เรามีโรงพยาบาลเป็นยานแม่ และมีศูนย์สาธารณสุขเป็นยานลูก และยังมีคลินิกในชุมชนต่างๆ ที่กระจายลงไปอีก…”

 

ก้าวต่อไปคือการใช้ Telemedicine หรือการปรึกษาแพทย์พยาบาลทางมือถือ และเอาติดสำหรับคนป่วนติดเตียงเป็นส่วนหนึ่งของระบบ เพราะผู้ป่วยติดเตียงไม่ต้องมาอยู่โรงพยาบาล เราอาจส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแล และมี caretaker กับ care-giver ให้เขา

หลักการคือการกระจายบริการสาธารณสุขไปสู่ชุมชน และใช้การแพทย์แบบป้องกันหรือ preventive medicine ให้มากขึ้น

ต่างจังหวัดมี อสม. กทม. ก็มี อสส. แต่จำนวนยังน้อย มีเพียงหมื่นกว่าคน

แต่ อสส. ยังไม่มีอาวุธ ขาดอุปกรณ์ จึงมีโครงการอีกโครงการหนึ่งคือ อสท. คืออาสาสมัครเทคโนโลยี

ที่ผ่านมา อสส. ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ จึงเกิด อสท. อาสาสมัครเทคโนโลยีสำหรับคนรุ่นใหม่ประจำชุมชนหนึ่งคนที่รู้เทคโนโลยี รู้การใช้แอพพ์ เก็บข้อมูลและไปช่วยคนในชุมชนให้ใช้เทคโนโลยีให้เป็น

“เราให้เพียงเป็นค่าแรงขั้นต่ำ มาทำงานอาทิตย์ละวัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กในชุมชนนั่นแหละ สอนให้ชาวบ้านใช้เทคโนโลยีง่ายๆ เพื่อสื่อสาร เก็บและอัพเดตข้อมูลของชุมชน ส่งให้โรงพยาบาล”

มี 2 พันกว่าชุมชน ตอนนี้รับสมัครได้ 400 กว่าคนเพราะต้องมีการสอบคัดเลือกเข้ามาด้วย

“แต่เชื่อไหมว่ามีคนอายุ 73 เข้ามาเป็น อาสาสมัครเทคโนโลยีด้วย เราไม่ได้เรียกเป็นวัยรุ่น เราเรียกเป็นคนทันสมัย…”

เริ่มด้วยการทำ sandbox บริการสาธารณสุขก่อนเพื่อให้เป็นแม่แบบก่อนที่จะกระจายไปในภาพรวมอีกทีหนึ่ง

วันนี้มีคนใช้ระบบ telemedicine กว่า 6 หมื่นคน

สรุปว่าทำงานมา 8 เดือนยังต้องมีอะไรทำอีกเยอะ…ยังห่างไกลจากเป้าหมายหลายเรื่อง

แต่งานท้าทายใหญ่ๆ ยังรอพิสูจน์ฝีมือกันอยู่เพียงเช่นกัน!