จับตาบทบาทใหม่ ‘ศธจ.’ หลังคืนอำนาจบริหารบุคคลให้ ‘สพท.’

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

อํานาจ “บริหารงานบุคคล” กลับคืนสู่อ้อมกอดของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) อย่างเป็นทางการแล้ว หลัง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนามในประกาศคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เรื่องตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 183 เขต และตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 62 เขต รวม 254 เขตพื้นที่ฯ

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566

นับตั้งแต่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือการ “คืนอำนาจ” แต่งตั้งโยกย้ายให้เขตพื้นที่ฯ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย ศธ.เร่งดำเนินการเพื่อรองรับกฎหมายฉบับดังกล่าว ที่จะประกาศใช้ภายใน 90 วัน

อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนอาจจะลืมไปว่า สาเหตุหลักที่มีการออกคำสั่ง คสช.ในเวลานั้นๆ ก็เพราะต้องการแก้ปัญหาการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการทุจริต และทำลายระบบการศึกษามานานหลายสิบปี

จนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่าง “สพท.” และ “ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)” มาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี…

เมื่อการบริหารงานบุคคลจะกลับไปอยู่ที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ แล้ว ถึงเวลาที่จะต้อง “จัดบทบาท” ศธจ.ครั้งใหญ่ เพราะที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนว่า ศธจ.มัวแต่สนใจงานบริหารงานบุคคล จนละเลยงานด้านอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการศึกษาในพื้นที่อย่างมาก เพราะไม่มีการบูรณาการงานได้ดีเท่าที่ควร!!

 

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ. โต้โผหลักผู้ดูแล ศธจ.ทั้งหมด ระบุว่า เชื่อว่าต่อไป ศธจ.จะช่วยให้การศึกษาในพื้นที่ก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่ได้ทำงานด้านบริหารงานบุคคลแล้ว โดยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 คณะ ดังนี้

1. คณะทำงานไปกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบของศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และ ศธจ.ใหม่

และ 2. คณะทำงานจัดทำกลไกการศึกษาเชิงพื้นที่ใน 5 ภูมิภาค โดยให้การบ้านในแต่ละภูมิภาค ว่าแต่ละพื้นที่ควรจะแก้ไขปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้อย่างไร และจะส่งต่อผู้เรียนขั้นพื้นฐานไปสู่การมีงานทำ และมีอาชีพอย่างไร เป็นต้น

โดยคณะทำงานทั้ง 2 คณะ จะรวบรวมข้อมูลมานำเสนอภายในเดือนกุมภาพันธ์ และช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคม จะจัดประชุม ศธจ.เพื่อทำความเข้าใจขอบเขตการทำงานใหม่ต่อไป

เบื้องต้น นายอรรถพลมองบทบาทหน้าที่ใหม่ของ ศธภ.และ ศธจ.ว่า ศธภ.อาจปรับตัวเองเป็นผู้แทนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดูรายละเอียดของกฎหมายว่า สป.ศธ.จะกระจายอำนาจอะไรให้ ศธภ.ไปขับเคลื่อนได้บ้าง

ส่วน ศธจ.จะทำงานใกล้ชิดกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพิ่มมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่

“จากที่ผมรับฟังความคิดเห็นของผู้ว่าฯ หลายจังหวัด เห็นตรงกันว่าดีที่งานด้านบริหารงานบุคคลหายไปจาก ศธจ.เพราะแต่ละจังหวัดต้องการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ของตน ทำให้คนในพื้นที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ สามารถแข่งขัน และพัฒนาจีดีพีของจังหวัดตนได้ นอกจากนี้ จะให้ ศธจ.ทำงานประสานกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยนำงานวิจัยของ สกศ.ไปขับเคลื่อนในพื้นที่ด้วย” นายอรรถพลกล่าว

 

ขณะที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า ช่วงที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดูแลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พบว่า การแต่งตั้งโยกย้ายค่อนข้างที่จะโปร่งใส และเมื่ออำนาจบริหารงานบุคคลไปอยู่ที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ก็ควรจะถอดบทเรียนที่ผ่านมา ว่าทำไมเมื่ออำนาจบริหารงานบุคคลไปอยู่ที่ กศจ.จึงไม่เกิดการทุจริตขึ้น

ส่วนบทบาทหน้าที่ของ ศธจ.ควรจะเป็นแบบไหนนั้น ศ.ดร.สมพงษ์มองว่า ควรจะกำหนดบทบาทหน้าที่ของ ศธจ.ไว้ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ว่า ศธจ.มีหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลให้การบริหารงานบุคคลให้มีธรรมาภิบาล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตเหมือนที่ผ่านมา ในส่วนของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ต้องถอดบทเรียนด้วยว่า เหตุใดที่ผ่านมาถึงโยกงานบริหารงานบุคคลไปที่ กศจ.

“แม้จะดูเหมือน ศธจ.มีอำนาจหน้าที่ลดลง เพราะไม่ได้ดูงานบริหารบุคคลแล้ว แต่ ศธจ.จะต้องเพิ่มบทบาทหน้าที่ตน โดยเน้นงานวิชาการ เน้นประสานงานกับหน่วยงานให้พื้นที่ให้ชัดเจน การติดตามและประเมินผล รวบรวมข้อมูลสารสนเทศในพื้นที่เชื่อมโยงกับกระทรวงต่างๆ ได้ และทำผลงานเชิงประจักษ์ให้เห็น ซึ่งจะทำให้พื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างมาก” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

 

ปิดท้ายที่ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ศธจ.ควรจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ ศธ.ที่กำกับดูแลการศึกษาของจังหวัด ให้เป็นไปตามทิศทางที่ ศธ.กำหนด และให้เป็นไปในทิศทางที่จังหวัดนั้นๆ ต้องการ

โดยนายเอกชัยทิ้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะให้จังหวัดบริหารจัดการศึกษาเอง โดย ศธ.อาจจะเริ่มกระจายอำนาจให้กับจังหวัดบริหารจัดการศึกษาของตนเอง คือให้ ศธจ.และเขตพื้นที่ฯ ขึ้นอยู่กับจังหวัด ไม่ต้องขึ้นอยู่กับ ศธ.อีกต่อไป โดย ศธ.อาจจะมีหน้าที่วางหลักสูตร และระเบียบแกนกลาง ส่วนการเติบโตของครู ไม่ควรให้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มาพิจารณาเห็นชอบกำหนดเกณฑ์ทั้งประเทศ แต่ควรกำหนดเกณฑ์กลางขึ้นมากว้างๆ เพื่อให้พี้นที่เป็นคนกำหนดให้สอดคล้องกับบริบทของตน

“ศธ.อาจกระจายอำนาจให้กับจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน ถ้ากระจายอำนาจให้จังหวัดจัดการศึกษาของตนได้ จะทำให้แต่ละจังหวัดสามารถสร้างนักเรียนที่มีจุดเด่นตามบริบทของจังหวัด ซึ่งจะทำให้คุณภาพการศึกษาของประเทศดีขึ้นได้แน่นอน” รศ.ดร.เอกชัยกล่าว

ต้องจับตาดูต่อไปว่า หลังจาก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ได้อำนาจแต่งตั้ง โยกย้ายกลับคืนไปแล้ว ปัญหาเดิมๆ จะวนลูปกลับมาที่เดิมหรือไม่

ที่สำคัญ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ จะสร้างความมั่นใจให้สังคมได้อย่างไร ว่าการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากร จะสุจริต โปร่งใส ยุติธรรม ไม่มีปัญหาทุจริตเรียกรับเงินแบบที่ผ่านมา…

บทบาทใหม่ของ ศธจ.หลังจากที่คืนอำนาจบริหารงานบุคคลไปให้ สพท.แล้ว จะเป็นอย่างไร…

สามารถบูรณาการ และพัฒนาการศึกษา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ได้หรือไม่?? •

 

 

| การศึกษา