เสียงเตือนจาก ‘สุรนันทน์-ไพศาล’ อย่าประมาท ‘ก้าวไกล’

เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

เสียงเตือนจาก ‘สุรนันทน์-ไพศาล’

อย่าประมาท ‘ก้าวไกล’

 

ต้นเดือนมกราคม 2566 ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี ไปสนทนากับ “สุรนันทน์ เวชชาชีวะ” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรียุค “รัฐบาลทักษิณ” และอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีใน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” และอดีตแม่ทัพ กทม. (หมาดๆ) ของพรรคสร้างอนาคตไทย

ถึงสภาพการแข่งขันของสนามเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครในปี 2566

คราวนั้น สุรนันทน์จับตามองไปที่สามพรรคการเมือง คือ ภูมิใจไทย ที่อาจเป็นทางเลือกใหม่ของฝ่ายอนุรักษนิยม ทั้งยังมีทีมงานและผู้สมัครที่เข้มแข็งพอสมควร, เพื่อไทยที่ได้ ส.ส.กทม. มาอย่างต่อเนื่อง และก้าวไกล ซึ่งถูกมองว่าเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ในเขตเมือง

อย่างไรก็ดี อดีตนักการเมืองผู้นี้ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่น่าสนใจ ซึ่งเขาได้พบเจอระหว่างการลงพื้นที่ในนามพรรคสร้างอนาคตไทย

“ที่ผมอยากเล่าอีกเรื่องหนึ่ง มีบ้านมีรั้วบ้านหนึ่งผมเข้าไปคุย บอกคราวที่แล้วฉันเลือกประยุทธ์ (ผม) บอกคราวนี้ล่ะครับ? (เขาตอบ) ไม่เอามันแล้ว โทษนะครับ ขอเลือกก้าวไกลเลย เออ ข้ามไปเลย เอาไอเดียใหม่ๆ เลย

“เพราะฉะนั้น คนกรุงเทพฯ นี่ ถึงบอกไง อันนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่มีใครรู้หรอก แคมเปญในกรุงเทพฯ จะต้องเนื้อๆ แน่นๆ แล้วก็คนที่ทำชุมชนก็สู้กันไป แต่ชุมชนก็มีประเด็น เช่น จะต้องพัฒนาชุมชนให้เจริญ ให้ดี แต่ว่ากระแสข้างบน ต้องสู้ให้แน่นๆ เลยว่า คุณจะกลับมาทำอะไรใหม่ให้ประเทศได้

“ถ้าอนุทินกับคุณเนวินอธิบายได้ ภูมิใจไทยจะมา ถ้าคุณแพทองธาร คุณชลน่าน ทีมกรุงเทพฯ เพื่อไทย อธิบายได้ ก็อาจจะได้ส่วนหนึ่ง ผมว่าน่าจะแบ่งกันคล้ายๆ คราวที่แล้ว (เลือกตั้งปี 2562)

“แต่ผมมีความรู้สึก ณ วันนี้นะ (ต้นเดือนมกราคม 2566) ถ้าใครจะแลนด์สไลด์ในกรุงเทพฯ ก้าวไกลมีโอกาสแลนด์สไลด์มากที่สุด”

เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เราไปชวน “ไพศาล พืชมงคล” อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ให้วิเคราะห์สนามเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

สภาพการณ์ข้อแรกที่ไพศาลเน้นย้ำคือจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นของ “นิวโหวตเตอร์” และพลังที่อ่อนล้าลงของฝ่ายขวารุ่นเก่า

“กลุ่มขวาเนี่ยอย่างที่ผมเรียน เป็นกลุ่มที่เรียกว่าเต่าล้านปี พวกล้าหลัง จึงไม่มีใครกล้าประกาศตัว (เป็นขวา) เราสังเกตดูตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เห็นไหมครับ ฝั่งขวานี่แพ้ยับเยิน นั่นเพราะอะไร เพราะโลกมันพัฒนาไป เยาวชนคนรุ่นใหม่มากขึ้นทุกวัน

“รู้ไหมว่าเลือกตั้งคราวนี้อะไรเกิดขึ้น เยาวชนคนรุ่นใหม่มีสิทธิ์เลือกตั้งเพิ่มขึ้น 6 ล้านเสียง หมายความว่า ถ้าคิดเป็น ส.ส. ทั้งปาร์ตี้ลิสต์และเขต (ก็จะได้ประมาณ) 30 คน

“นั่นหมายความว่า พวกที่มีทัศนะก้าวหน้า ทัศนะแบบใหม่ ที่เพิ่มขึ้น จะมีเสียง ส.ส.เป็นจำนวนถึง 30 คน และในขณะเดียวกัน พวกที่เคยกาคะแนนเสียงโหวตให้กับพวกเก่า หรือปัจจุบันเขาเรียกว่าพวกบ้านใหญ่ ก็หายไป 6-7 ล้านคนเช่นเดียวกัน แล้วพวกนี้ก็แตกแยก”

น่าแปลกที่ไพศาลก็ให้ความสำคัญกับพรรคก้าวไกลเช่นเดียวกัน โดยมิได้พิจารณาถึงการแข่งขันในสนามกรุงเทพฯ แต่เขาพยายามมองพรรคการเมืองนี้ในฐานะ “พลังคนรุ่นใหม่” ที่จะไปท้าทายอำนาจของบรรดา “บ้านใหญ่” ทั่วประเทศ

“คอยดูสิ เลือกตั้งครั้งนี้ ผมคิดว่าจะมีสิ่งที่คนคาดคิดไม่ถึงเกิดขึ้น อย่าไปดูถูกก้าวไกล ผมว่าดีไม่ดี พรรคกลางๆ น็อกไปหลายรายก็แล้วกัน โดยเฉพาะพวกบ้านใหญ่ เพราะอะไร เพราะเสียงคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้น 6 ล้านเสียง แล้วถ้ามันลากครอบครัวให้เปลี่ยนใจด้วยนะ จาก 30 คน เป็น 40-50 คน แล้วไปไหน พวกนี้ไม่ไปก้าวไกลก็ไปเพื่อไทย แต่น่าจะไปก้าวไกลมากกว่า

“แต่ขณะเดียวกัน พวกที่เคยโหวตให้บ้านใหญ่หายไป แล้วก็อาจจะถูกดึงไป เพราะพวกบ้านใหญ่วันนี้แตกฉานซ่านเซ็น ลัทธิบ้านใหญ่แต่ไหนแต่ไรมา เลือกตั้งทุกครั้งพวกเก่าจะหายไป 35 เปอร์เซ็นต์ บ้านใหญ่ 100 คน จะหายไป 35 คน เป็นธรรมชาติ

“มันเป็นธรรมชาติที่คนในพื้นที่เองก็ตื่นตัว เพราะลัทธิบ้านใหญ่ ตอนนี้เขาเรียกกันว่าลัทธิอะไรรู้ไหม ลัทธิ mini monarchy คือการสืบทอดสันตติวงศ์การเมืองขึ้นในท้องถิ่น

“เห็นไหม จังหวัดนี้บ้านใหญ่เป็นตระกูลนี้ อย่างนี้เท่ากับคุณตั้งตัวเป็น monarchy หนึ่งในกลุ่มเล็กใช่ไหม ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาถึงวันนี้แล้ว กลับมีการตั้งแบบนี้ขึ้น ข้าราชการก็กลายเป็นลูกน้องบ้านใหญ่ ผู้ว่าฯ ก็กลายเป็นบ้านใหญ่ขอไปนั่ง กรมกองต่างๆ ในจังหวัดก็พวกบ้านใหญ่ขอไป ตำรวจก็บ้านใหญ่ขอไป แล้วประชาชนเขาจะอยู่กันอย่างไร

“ฉะนั้น สาเหตุของปัญหามากมายที่เกิดขึ้น ถ้าบ้านใหญ่ดีก็ดีไป ถ้าบ้านใหญ่เป็นคนที่ไม่ดีหรือเป็นพวกที่สีเทา ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร ข้าราชการก็จะเดือดร้อนแค่ไหน แทนที่จะเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กลายเป็นข้าราชการของบ้านใหญ่ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น นี่คือสาเหตุปัญหาการเมืองไทยที่ดำรงกันมาช้านานแล้ว”

 

อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรีวิเคราะห์ว่า สาเหตุสำคัญที่จะทำให้คนจำนวนไม่น้อยหันไปเลือกพรรคก้าวไกล นั้นเป็นเพราะผลงานโดดเด่นในสภาผู้แทนราษฎรตลอดสี่ปีที่ผ่านมา

“ก้าวไกลครั้งที่แล้วลงเลือกตั้งครั้งแรกจำได้ไหม มาเป็นที่สาม เงินก็ใช้น้อย ประสบการณ์ก็น้อย แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว คนรู้จักมากขึ้น และผลงานในสภานี่ต้องแฟร์ๆ นะ ว่าในบรรดาพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด ไม่มีพรรคไหนที่มีผลงานในสภาเท่าก้าวไกล

“โอเค ผลงานบางอย่างเราอาจจะไม่ถูกใจ บางอย่างเราไม่ชอบ อย่างผมนี่บางเรื่องผมก็ไม่ชอบ แต่ความจริงนี่เขาทำจริงๆ แล้วไปดู คนรุ่นใหม่เอาหมดนะ แล้วมันกำลังเกิดอะไรขึ้น (ผู้มีอำนาจ) ได้คิดแก้ไขหรือเปล่า สิ่งที่เขาเสนอ หลายอย่างถูกต้อง แต่พอ (เป็น) ก้าวไกลเสนอ ต้องปฏิเสธหมด มันใช่ที่ไหนล่ะ

“ไอ้ที่ผิดผมก็โต้เขา อย่างเช่นเรื่องมาตรา 112 นี่ผมโต้ คุณมั่ว ผิด แต่ที่ (คน) เขาเห็นด้วย (กับก้าวไกล) เยอะแยะเหมือนกัน เพราะฉะนั้น อย่าไปดูแคลน และพรรคก้าวไกลนี่แหละ คะแนนของเขาจะไปชนกับพวกบ้านใหญ่ กระเทือนเลื่อนลั่นก็แล้วกัน”

คงต้องจับตาดูว่า พรรคก้าวไกลจะสร้างผลงานเซอร์ไพรส์ในสนามเลือกตั้ง ได้เหมือนกับที่ “สุรนันทน์ เวชชาชีวะ” และ “ไพศาล พืชมงคล” ทำนายเอาไว้หรือไม่