ความสับสนเรื่องชื่อเรียกและน้ำหนัก ของ ‘พระเจ้าเก้าตื้อ-เจ็ดตื้อ-ห้าตื้อ’

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เมื่อ 9 ปีก่อน ดิฉันได้สัมภาษณ์ “อาจารย์เยี่ยม กาวิละเวส” มัคนายกวัดสวนดอก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 ช่วงที่ดิฉันเก็บข้อมูลตามรอยวัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไปสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ทั่วล้านนา ซึ่งวัดสวนดอก พระอารามหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของท่านครูบาฯ

ดิฉันยังอัดคลิปเสียงของอาจารย์เยี่ยมไว้ เกี่ยวกับกรณีที่ท่านอธิบายถึงเรื่องความหมายที่แท้จริงของคำว่า “พระเจ้าเก้าตื้อ” ให้ดิฉันรับทราบด้วยความตื่นเต้นยิ่งนักว่า

“คนทั่วไปเข้าใจกันมาผิดๆ ตลอดว่าพระเจ้าเก้าตื้อ ต้องมีน้ำหนัก 9 โกฏิตำลึง (1 โกฏิตำลึง หรือ 1 ตื้อ เท่ากับ 1,200 กิโลกรัม/บ้างว่า 1,000 กิโลกรัม) ในความเป็นจริงนั้น น้ำหนักของพระเจ้าเก้าตื้อ หนักเพียง 1 โกฏิตำลึง หรือ 1 ตื้อ แต่การที่มีชื่อเรียกว่า ‘เก้าตื้อ’ ก็ด้วยหล่อแยกชิ้นส่วนออกเป็น 9 ชิ้น”

ดิฉันนำประเด็นนี้มาเขียนอธิบายไว้ในคอลัมน์ปริศนาโบราณคดี ตอนที่ชื่อว่า “พระเจ้าเก้าตื้อ พระพุทธชินราชแห่งล้านนา” โดยเชื่อมั่นว่า หลังจากที่ได้เผยแพร่ข้อมูลนี้ไปแล้ว คนทั่วไปก็น่าจะกระจ่างชัดถึงคำว่า “เก้าตื้อ” ไปในทิศทางเดียวกัน ว่าพระพุทธรูปองค์นี้ไม่ได้มีน้ำหนักมหาศาลถึง 1,200 กิโลกรัม x 9 แต่อย่างใดเลย

 

กระทั่งราว 2-3 ปีที่ผ่านมา อาจารย์เสรินทร์ จิรคุปต์ ปราชญ์ล้านนาคนสำคัญ บ้านท่านอยู่แถววัวลาย วัดศรีสุพรรณ ได้สอบถามดิฉันว่า

“ทำไมพระเจ้าห้าตื้อ วัดชัยพระเกียรติ จึงองค์ใหญ่กว่าพระเจ้าเจ็ดตื้อ วัดศรีสุพรรณ?”

ดิฉันถึงกับต้องขยี้หูซ้ำ “หา! มีด้วยหรือ พระเจ้าห้าตื้อ พระเจ้าเจ็ดตื้อ พ่อครูเสรินทร์เอาข้อมูลมาจากไหน?”

ท่านตอบว่า “ได้มาจากวัดศรีสุพรรณ ทางวัดอธิบายว่า พระประธานในอุโบสถเงินมีชื่อว่า พระเจ้าเจ็ดตื้อ สร้างขึ้นรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระเจ้าห้าตื้อที่วัดไชยพระเกียรติ เมื่อสร้างพระเจ้าห้าตื้อ กับพระเจ้าเจ็ดตื้อเสร็จ ก็พร้อมที่จะหล่อพระเจ้าเก้าตื้อองค์ใหญ่สุด ทั้งสามองค์สร้างสมัยพระเมืองแก้วเหมือนกัน”

คำอธิบายของพ่อครูเสรินทร์ทำให้ดิฉันมึนไปชั่วครู่ เกิดอะไรขึ้นล่ะนี่ “องค์ความรู้ที่เราทราบมาจากอาจารย์เยี่ยมแห่งวัดสวนดอกนั้น ผิดล่ะหรือ ไปๆ มาๆ ตัวเลขที่นำหน้าตื้อ คือสิ่งบ่งบอกจำนวนน้ำหนักดอกหรือ ก็ไหนอาจารย์เยี่ยมบอกว่า พระเจ้าเก้าตื้อหนักแค่ตื้อเดียว ส่วน 9 นั้นคือจำนวนชิ้นที่หล่อแยกส่วน แล้วค่อยนำมาเชื่อมกันนี่นา?”

หากนำทฤษฎีนี้ไปใช้อธิบายการเรียก “พระเจ้าห้าตื้อ-พระเจ้าเจ็ดตื้อ” พระเจ้าห้าตื้อก็ต้องหนัก 1 ตื้อ แต่หล่อแยกชิ้นเป็น 5 ท่อนใช่หรือไม่ ส่วนพระเจ้าเจ็ดตื้อ ก็ต้องหนัก 1 ตื้อเท่ากัน เพียงแต่หล่อแยกส่วนออกเป็น 7 ชิ้น?

ถ้าใช้ทฤษฎีนี้ ก็ย่อมหมายความว่า ไม่ว่าพระพุทธรูปจะมีชื่อเรียกอย่างไร คือกี่ตื้อก็ตาม พระเจ้าห้าตื้อ พระเจ้าเจ็ดตื้อ หรือพระเจ้าเก้าตื้อ ก็จะต้องมีขนาดใกล้เคียงกัน (เพราะน้ำหนัก 1 ตื้อเท่ากัน) แม้นขนาดไม่เท่ากันเป๊ะเสียทีเดียว (เป็นเพราะบางองค์หล่อกลวง บางองค์หล่อตัน ไม่เหมือนกัน) ทว่าอย่างน้อยที่สุด เมื่อเอาไปชั่งน้ำหนักแล้วต้องได้ 1,200 กิโลกรัมเท่ากัน ใช่หรือไม่?

แสดงว่าทฤษฎีนี้ ย่อมมีความแตกต่างเพียงแค่ชิ้นส่วนที่นำมาเชื่อมกัน ไม่ว่าจะเป็น 5, 7 หรือ 9 ชิ้น?

ทางวัดศรีสุพรรณอธิบายดิฉันว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ห้าตื้อคือใช้ทอง (ทองสำริด หมายถึงทองเหลืองปนทองแดง) จำนวน 1 x 5 ตื้อ (1,200 กิโลกรัม x 5) ส่วนเจ็ดตื้อ เก้าตื้อ ก็ใช้วิธีคำนวณเดียวกัน คือเอา 7 และ 9 ไปคูณกับ 1,200 กิโลกรัม ก็จะได้น้ำหนักของพระแต่ละองค์

ถ้าเป็นตามนี้ พระเจ้าห้าตื้อต้องใช้ทองสำริดหนัก 6,000 กิโลกรัม (หรือ 5,000 กิโลกรัม หากยึดว่า 1 ตื้อ = 1,000 กิโลกรัม) พระเจ้าเจ็ดตื้อใช้ทองสำริด 8,400 กิโลกรัม ส่วนพระเจ้าเก้าตื้อใช้ทองสำริดหนักถึง 10,800 กิโลกรัม

มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร อยากเชิญชวนผู้มีประสบการณ์ในการหล่อพระมาแลกเปลี่ยนข้อมูล

พระประธานในอุโบสถเงิน วัดศรีสุพรรณ ย่านวัวลาย เชียงใหม่ ทางวัดตั้งชื่อว่า “พระพุทธปาฏิหาริย์” ต่อมาได้สืบค้นมาว่าชื่อเดิมคือ “พระเจ้าเจ็ดตื้อ” สร้างสมัยพระเมืองแก้ว

กระนั้นก็ตาม ได้มีการตั้งคำถามว่า จะให้พระพุทธรูปทั้งสามองค์หล่อขึ้นพร้อมกันได้อย่างไรเล่า ก็ในเมื่อพระเมืองรายเจ้า วัดชัยพระเกียรติ สร้างในสมัยนางพญาวิสุทธิเทวี ยุคที่ล้านนาถูกปกครองโดยพม่าแล้ว จึงไม่ควรเอาพระพุทธรูปประธานในวิหารวัดชัยพระเกียรติเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะไม่ได้สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว ผิดกับพระพุทธรูปอีกสององค์ ที่มีจารึกระบุว่าพระองค์โปรดให้สร้าง

เว้นเสียแต่ว่า พระเจ้าห้าตื้อของวัดชัยพระเกียรติจักหมายถึงพระพุทธรูปสำริดองค์อื่นที่มีขนาดย่อมกว่า อาจมีบางองค์ที่สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว เช่น พระประธานในอุโบสถ ไม่ใช่องค์ประดิษฐานในพระวิหาร?

แต่กลายเป็นว่า ในความเข้าใจของคนทั่วไปพอกล่าวถึง พระเจ้าห้าตื้อ ทุกคนก็นึกถึงแต่องค์ในพระวิหาร (พระเมืองรายเจ้า)

 

ปริศนาทั้งหมดทั้งมวล ทำให้ดิฉันต้องเข้าไปเสวนากับท่านพระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณอยู่นานสองนาน โดยที่ท่านอธิบายว่า

“เรื่องชื่อพระเจ้าเจ็ดตื้อนี้ เดิมทางวัดเราก็ไม่เคยเรียกกันมาก่อน พระประธานมีอีกชื่อหนึ่งว่า พระพุทธปาฏิหาริย์ มิ่งขวัญพระเมืองแก้วนพบุรีศรีนครเชียงใหม่ เนื่องจากมีตำนานเล่าขานกันว่า พระประธานในอุโบสถมักลงสรงน้ำในสระด้านข้างอยู่เสมอ และประทานความสำเร็จสมปรารถนาให้กับผู้มาสักการะอยู่บ่อยครั้ง ราวปาฏิหาริย์

กระทั่งปี 2550 ได้มีผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้มากราบพระพุทธปาฏิหาริย์ในอุโบสถเงินหลังนี้ แล้วตั้งข้อสังเกตว่า พุทธลักษณะของพระประธานมีความละม้ายคล้ายคลึงกันกับพระเจ้าเก้าตื้อวัดสวนดอกอย่างมาก น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกันหรือไม่

ทางวัดจึงได้มอบหมายให้นายโชคนิธิไท ฐิตนิธิไท ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณสล่าสิบหมู่ล้านนา วัดศรีสุพรรณ ทำการสืบค้นข้อมูล ทราบจากคำบอกเล่าของครูบาจันทรังษี (พระครูประภัศร์ธรรมรังษี) เจ้าอาวาสวัดกู่เต้า และครูบาปัญญาวชิโร วัดแสนเมืองมาหลวง (หัวข่วง) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 ว่านามเดิมของพระประธานคือ “พระเจ้าเจ็ดตื้อ” โดยพระเมืองแก้วกษัตริย์ล้านนาได้สร้างพระเจ้าเจ็ดตื้อขึ้นต่อเนื่องจากพระเจ้าห้าตื้อ (องค์เล็กสุด) ก่อนที่จะสร้างพระเจ้าเก้าตื้อ (องค์ใหญ่สุด) หลังสุด ทางวัดก็อยากดึงคำโบราณภาษาถิ่นว่า พระเจ้าเจ็ดตื้อ กลับมาใช้คู่ขนานไปกับนามพระพุทธปาฏิหาริย์

แต่ก็ให้นึกสงสัย เพราะมีคนมาสอบถามอยู่มากเหมือนกันว่า ทำไมพระเจ้าเจ็ดตื้อของวัดเรา จึงองค์เล็กกว่าพระเจ้าห้าตื้อวัดชัยพระเกียรติ?

ถ้าโยม ดร.เพ็ญคิดว่าข้อมูลที่ทางวัดเล่ามานี้ยังไม่ถูกต้อง มีอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อน คงต้องขอแรงโยมช่วยกันศึกษาค้นคว้าข้อเท็จจริงให้กระจ่างกันหน่อยนะ อาตมาเองก็ต้องการทราบที่มาที่ไปของคำว่าพระเจ้าเจ็ดตื้อเหมือนกัน ว่าเป็นมาอย่างไรกันแน่?”

หลักฐานยืนยันคำอธิบายเรื่องพระเจ้าเก้าตื้อของอาจารย์เยี่ยม กาวิละเวส มัคนายกวัดสวนดอก เป็นเอกสารยุคพิมพ์ดีดด้วยมือที่วัดสวนดอกเก็บไว้ บรรทัดที่สองระบุว่า ทองมีน้ำหนักเพียง 1 ตื้อ (1,200 กิโลกรัม) และบรรทัดที่สามระบุว่า หล่อแยกส่วน 9 ชิ้น

ดิฉันรับปากกับพระคุณเจ้าวัดศรีสุพรรณแล้ว ว่าจะช่วยสืบค้นข้อมูลเรื่องนี้ให้ ขอเวลาสักหน่อยจะเดินทางไปสัมภาษณ์เจ้าอาวาสทั้งวัดกู่เต้า วัดแสนเมืองมาหลวง และวัดชัยพระเกียรติอีกครั้ง

โดยเฉพาะที่วัดชัยพระเกียรตินั้น ลึกๆ แล้วดิฉันสงสัยว่า “ตกลงแล้วพระเจ้าห้าตื้อคือองค์ไหนกันแน่?” ในวัดชัยพระเกียรติน่าจะมีพระพุทธรูปสำริดอีกองค์หรือไม่ที่หล่อในสมัยพระเมืองแก้ว หล่อพร้อมกันสามองค์กับพระเจ้าเจ็ดตื้อ วัดศรีสุพรรณ และพระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอก โดยมีขนาดและน้ำหนักลดหลั่น

อ้าว! ถ้าเป็นตามนี้ ก็เท่ากับว่าทฤษฎีของอาจารย์เยี่ยมไม่ถูกต้องล่ะหรือ?

หันมาพินิจพระประธานองค์ใหญ่ในวิหารวัดชัยพระเกียรติอีกที ซึ่งสร้างสมัยบุเรงนองปกครองล้านนาแล้ว ไม่ได้สร้างสมัยพระเมืองแก้ว มีจารึกที่ฐานเขียนว่า “ผู้หล่อได้รวบรวมบรรดาพระพุทธรูปที่แตกหัก นำมาหล่อรูปพระพุทธสัพพัญญู เป็นทองสำริดมีน้ำหนัก 5,000 วิส”

ดร.ฮันส์ เพนธ์ ผู้ปริวรรตจารึกที่ฐานพระพุทธเมืองรายเจ้าอธิบายว่า หน่วย “วิส” นี้เป็นภาษามอญ คำนวณแล้วพบว่า 5,000 วิส มีน้ำหนัก 50 โกฏิ หรือ = 5 ตื้อ น้ำหนักของพระพุทธรูองค์นี้ประมาณ 5,000 กิโลกรัม (หากเทียบว่า 1 ตื้อเท่ากับ 1,000 กิโลกรัม) หรือ 6,000 กิโลกรัม (หากเทียบว่า 1 ตื้อเท่ากับ 1,200 กิโลกรัม)

ถ้าพระพุทธเมืองรายเจ้าหนักถึง 5,000 กิโลกรัม (5,000 วิส) แล้วถูกเรียก “พระเจ้าห้าตื้อ” โดยยึดตามหน่วยชั่งของน้ำหนักทอง เหตุไฉนทฤษฎีพระเจ้าเก้าตื้อวัดสวนดอก กลับยืนยันว่าหนักแค่ 1 ตื้อเท่านั้น ส่วนเลข 9 คือการหล่อแยกชิ้น

ปัญหาคือ เคยมีใครสามารถชั่งน้ำหนักทองสำริดของพระพุทธรูปแต่ละองค์บ้างหรือไม่ ว่าหนักเท่าไหร่กันแน่ คำตอบคือ ไม่มี (การเรียกพระเจ้าห้าตื้อ ก็ตีความว่า วิส ของมอญเท่ากับกิโลกรัมของไทย)

ตราบที่เราไม่รู้ว่าพระพุทธรูปองค์ไหนมีน้ำหนักเท่าไหร่ ก็คงเถียงกันแบบวนไปเวียนมาชนิดไม่รู้จบแน่ๆ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาอิง

เรื่องนี้ดิฉันอยากให้มีการชำระสะสางความถูกต้อง ถึงความเป็นมาของพระพุทธรูปทั้งสามองค์ รวมทั้งคำอธิบายของชื่อ พระเจ้าห้าตื้อ พระเจ้าเจ็ดตื้อ และพระเจ้าเก้าตื้อ นั้นว่าตกลงแล้ว ใช้สูตรวิธีการเรียกและการคำนวณน้ำหนักทฤษฎีเดียวกันหรือไม่? •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ