‘ฝุ่นพิษ’ มาตรฐานโลก VS ไทย

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ฝุ่น “พีเอ็ม 2.5” วันนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของทั่วโลก มีผู้คน 6,000 เมือง ใน 117ประเทศ พากันสูดฝุ่นพิษขนาดเล็กยิ่งกว่าเส้นผมเจาะไชเข้าไปถึงปอด สมอง เกิดอาการเจ็บป่วยทั้งเฉียบพลันเรื้อรัง ผลประเมินล่าสุดเมื่อปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตจากการสูดฝุ่นควันพิษราว 7 ล้านคน องค์การอนามัยโลกจึงต้องออกมาเรียกร้องให้ทุกประเทศปรับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศให้เข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่

เวลานี้ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ของเมืองใหญ่ทั่วโลกที่เป็นแหล่งรวมโรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่ที่มีปัญหาการจราจรติดขัดหรือเป็นแหล่งเกษตรกรรมเผาพืชไร่เป็นประจำ พบว่าอยู่ในขั้นเลวร้ายถึง 6 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554

หากปล่อยให้คุณภาพอากาศเลวร้ายมากไปกว่านี้ ชาวโลกจะเผชิญกับวิกฤตการณ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม คนป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคปอด โรคหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างหนักหนาสาหัส และถ้ามีโรคระบาดอย่างเช่น โควิด-19 มาซ้ำเติม ชาวโลกจะเสียชีวิต เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลคิวยาวเต็มเหยียด

เดือนเมษายน 2565 องค์การอนามัยโลกจึงประกาศค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศใหม่ กำหนดให้ฝุ่นขนาดพีเอ็ม 2.5 มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 25 µg/m3

ค่ามาตรฐานฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 5  µg/m3

องค์การอนามัยโลกยังเสนอแนวทางปรับปรุงคุณภาพอากาศและสุขภาพของชาวโลกอย่างเร่งด่วนนอกเหนือจากการยกระดับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ อาทิ ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน ทางเท้าและทางจักรยานให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายสะดวกเพื่อใช้ทดแทนรถยนต์ส่วนตัว รณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาทำลายเศษพืชไร่ และปรับปรุงโรงงานอุตสาหกรรมให้มีระบบกำจัดควันพิษก่อนพ่นสู่อากาศ

 

ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ขององค์การอนามัยโลก เมื่อนำเทียบกับค่ามาตรฐานของประเทศไทยมีความแตกต่างกันมากถึง 3-5 เท่า ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 50 µg/m3 ค่าเฉลี่ยฝุ่นพีเอ็ม 2.5 รายปีอยู่ที่ 25 µg/m3

องค์กรพัฒนาเอกชน หลายองค์กร อาทิ กลุ่มกรีนพีซ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับ AQI ใหม่เพื่อยกระดับการเตือนภัยให้ประชาชนรับรู้และให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนยกระดับนโยบาย เช่น เลิกใช้ถ่านหิน ตรวจจับค่ามลพิษที่ปลายปล่องโรงงาน ลดการเผาในที่โล่ง ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนเพื่อลดปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5

แต่รัฐบาลไทยเมินเสียงเรียกร้องการปรับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ แถมยังหน่วงเหนี่ยว “ร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด” ที่ภาคประชาชนนำเสนอ ไม่เร่งผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

การยื้อยุดฉุดกระชากมาตรฐานคุณภาพอากาศให้ต่ำต้อยเช่นนี้ ประชาชนจะเผชิญสภาพอากาศแย่ๆ มากขึ้นทุกวัน เจ็บป่วยมากขึ้น

ส่วนบรรดาโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทรถยนต์ บริษัทขนส่งก่อสร้างได้ประโยชน์เพราะไม่มีกฎหมายอากาศสะอาดซึ่งบังคับให้ปรับปรุงคุณภาพเครื่องยนต์ คุณภาพเครื่องจักรโรงงานหรือควบคุมกระบวนการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพสูงลดการปล่อยฝุ่นควันพิษ

เช่นเดียวกันกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ก็ยังคงเผาไร่ซากพืชผลตามใจฉันไม่สนว่าควันพิษจะทำลายสิ่งแวดล้อมชุมชนแค่ไหน เนื่องจากไม่มีกฎหมายควบคุมเข้มงวดเช่นกัน

 

วันนี้ขอนำข้อมูลประเทศต่างๆ ที่ใส่ใจกับสุขภาพของพลเมืองและสิ่งแวดล้อม เร่งปรับมาตรฐานคุณภาพอากาศให้สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก

ที่สหรัฐ เมื่อต้นเดือนมกราคมปีนี้ หน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐเร่งรัดให้รัฐบาลนายโจ ไบเดน ปรับมาตรฐานว่าด้วยฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จากเดิมอยู่ที่ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยปรับเป็นค่าเฉลี่ยใหม่อยู่ที่ 9-10 µg/m3

สำนักงานสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ หรืออีพีเอ (Environment Protection Agency) บอกว่า ถ้าปรับค่ามาตรฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 9 µg/m3 จะช่วยป้องกันอัตราการการเสียชีวิตจากฝุ่นพิษก่อนวัยอันควรราว 4,200 คนต่อปี ลดค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยและเข้ารักษาพยาบาลจนถึงปี 2575 มากถึง 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 1,430,000 ล้านบาท

อีพีเอระบุว่า ชาวอเมริกันต้องได้รับอากาศสะอาด และอีพีเอจะสร้างความมั่นใจว่าชุมชนทุกแห่งต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองไม่ให้มลพิษมากล้ำกรายทำลายสุขภาพ

 

ที่จีน รัฐบาลได้ออกนโยบายเข้มงวดในการปล่อยก๊าซพิษและปรับปรุงคุณภาพอากาศอย่างเข้มงวดมากว่า 6 ปี ปรากฏว่า ปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ เป็นผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนานไกร่วมกับมหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮมของอังกฤษ

ในผลการศึกษาระบุว่า รัฐบาลจีนออกนโยบายรณรงค์ให้ประชาชนเลิกใช้ฟืนถ่านหิน สนับสนุนทุนจัดซื้อเตาแก๊สและไฟฟ้าทำความร้อนแทนตั้งแต่ปี 2558 ปริมาณฝุ่นพิษในกรุงปักกิ่งและเมืองต่างๆ 27 แห่ง มีปริมาณฝุ่นลดลงเหลือแค่ 12.9 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมก่อนการรณรงค์ปริมาณฝุ่นสูงถึง 41.3%

รัฐบาลจีนออกกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดและแผนปฏิบัติการควบคุมมลพิษในอากาศ เมื่อปี 2556 หลังจากนั้นบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งในครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม จนประสบความสำเร็จสามารถลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้มากถึง 23,000 คน

 

ส่วนสหภาพยุโรปหรืออียูนั้น ประเมินว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากถึง 3 แสนคน และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคปอด โรคหัวใจที่มีส่วนสัมพันธ์กับฝุ่นพิษ ตกราว 853,000 ล้านยูโรต่อปี จึงมีความพยายามปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพอากาศใหม่ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก

แผนปรับปรุงคุณภาพอากาศใหม่นี้ จะจำกัดปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ไม่เกิน 10 µg/m3

ถ้าหากอียูทำตามแผนใหม่นี้ คาดว่าภายในปี 2573 อัตราการเสียชีวิตเพราะมลพิษทางอากาศลดลงมากกว่า 55% หรือเท่ากับช่วยปกป้องชาวอียูได้ราว 150,000 คน

อีกทั้งอียูจะได้ผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจกลับคืนมาอย่างน้อย 7 เท่า หรือตกราวๆ 42,000 ล้านยูโร

 

ปิดท้ายด้วยผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งวิกตอเรีย ประเทศแคนาดา พบว่า การสูดดมมลพิษทางอากาศมีผลต่อระบบสมอง ลดความสามารถในการจดจำ ความคิดและประสิทธิภาพในการทำงาน

การศึกษาดังกล่าว ใช้กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นเด็กวัยรุ่นสุขภาพดี ให้เข้าไปในห้องทดลองซึ่งมีอากาศเป็นพิษ ส่วนอีกกลุ่มอยู่ในห้องที่มีอากาศสะอาด

ทั้งสองกลุ่มได้รับการสแกนสมองก่อนและหลังการทดลอง เมื่อนำมาเปรียบเทียบผลการทำงานของสมองพบว่า กลุ่มที่สูดมลพิษในอากาศ ระบบการทำงานของสมองที่เรียกว่า Default Mode Network (DMN) ซึ่งเกี่ยวพันกับความจำ ความสามารถในการคิดประมวลผลลดลง

แต่เมื่อคนเหล่านี้ได้สูดอากาศสะอาดเข้าไปอีกครั้งจนเต็มปอดทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ระบบสมองกลับมาทำงานเป็นปกติ

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาของเด็กจีนสูดอากาศพิษเข้าไป พบมีผลต่อสมอง เด็กเรียนช้า จดจำไม่แม่น ผลการเรียนต่ำลงโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ

การสูดอากาศพิษมากๆ ตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จึงมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์อีกด้วย

กลับมาดูบ้านเราอีกครั้ง ปรากฏการณ์ “ฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5” ยังวนเวียนกลับมาทำลายสุขภาพ สิ่งแวดล้อมรุนแรง ตราบใดที่ยังมีรัฐบาลไร้มาตรฐานและไม่ใส่ใจกับคุณภาพชีวิตของประชาชน •