AI ในแบบฉบับของ IBM

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

AI ในแบบฉบับของ IBM

 

หลายเดือนที่ผ่านมา AI อย่าง ChatGPT ของ OpenAI ครองหน้าสื่อไปจนเกือบหมด

คนทั้งในและนอกวงการเทคโนโลยีต่างก็กระตือรือร้นที่จะทดลองใช้งานและพูดคุยถกเถียงกันว่าศักยภาพของมันจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง

ล่าสุดบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่าง Microsoft ก็ได้นำความสามารถของ ChatGPT เข้าไปใส่โปรแกรมของตัวเองเพื่อเพิ่มฟีเจอร์ให้เก่งกาจมากขึ้น

อย่างเช่น ความสามารถในการช่วยจัดทำเอกสาร ถอดคำพูดจากการประชุมออนไลน์ หรือทำลายน้ำลงบันทึกการประชุมได้

ทำให้เราเริ่มได้เห็นประโยชน์ใช้สอยของ ChatGPT ชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ตาม ChatGPT ไม่ใช่ AI เดียวที่มีอยู่ในตอนนี้ ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่ามีการใช้งาน AI แทรกซึมอยู่ตามที่ต่างๆ

โดยที่บางอย่างเราอาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีเทคโนโลยี AI อยู่เบื้องหลัง

ฉันมีโอกาสได้เดินทางไปบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐ เพื่อไปเยี่ยมชมห้องแล็บที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบัน MIT และบริษัทเทคโนโลยี IBM

ซึ่งสำหรับคนที่ติดตามข่าวสารมาโดยตลอดก็อาจจะรู้อยู่แล้วว่า IBM พัฒนา AI มาอย่างต่อเนื่องยาวนานและถือเป็นผู้เล่นอันดับต้นๆ ในแวดวง AI ทุกวันนี้

ในปี 1997 Deep Blue ของ IBM ชนะการแข่งขันหมากรุกกับแชมป์โลกอย่าง Garry Kasparov ได้สำเร็จ

และในปี 2011 Watson ของ IBM ก็เข้าร่วมแข่งขันในเกมโชว์ Jeopardy! และเอาชนะแชมป์เปี้ยนที่เป็นมนุษย์จนคว้ารางวัลมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์มาครอง

MIT-IBM Watson AI Lab เป็นการจับมือร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาและบริษัทเทคโนโลยีในการที่จะทำการทดลองด้านปัญญาประดิษฐ์ร่วมกัน

พร้อมๆ กับนำเทคโนโลยีที่พัฒนาได้มาช่วยภาคธุรกิจและภาคสังคม

หนึ่งในตัวอย่างการใช้งาน AI ของ IBM ในภูมิภาคเอเชียก็อย่างเช่นศูนย์การแพทย์ในเกาหลีใต้ ใช้ระบบอัตโนมัติซึ่งมีเทคโนโลยี AI ของ IBM อยู่เบื้องหลังในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโฟลว์การทำงานทำให้สามารถจัดการเตียงผู้ป่วยได้

โดยระบบจะสามารถมอบหมายเตียงให้ผู้ป่วยได้เร็วกว่าแบบเดิมถึง 20 นาที

และช่วยลดการทำงานของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลไปได้ถึงสามชั่วโมงต่อวัน

นอกจากเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพให้การทำงานแล้ว AI ก็ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เราใช้จัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้

สิ่งที่ MIT และ IBM ทำร่วมกันก็คือการคิดค้นคอนกรีตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

คอนกรีตเป็นวัสดุก่อสร้างที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก แต่กระบวนการทำคอนกรีตนอกจากจะใช้พลังงานสูงแล้วก็ยังทิ้งรอยเท้าทางคาร์บอนไว้มากมายด้วย

นักวิจัยจากสถาบัน MIT-IBM จึงใช้ AI เข้ามาช่วยออกแบบสร้างสูตรผสมคอนกรีตแบบใหม่ที่ลดต้นทุนลงและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตน้อยกว่าเดิม แต่เพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นและนำวัสดุเดิมมารียูสเพื่อใช้ได้

จากความเข้าใจของฉันก็คือนักวิจัยได้ใช้เทคนิคด้าน AI ในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ และใช้โมเดลที่จะสามารถทำนายผลลัพธ์ได้ว่าสูตรผสมคอนกรีตแต่ละสูตรจะทำให้ได้คอนกรีตที่ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร ต้นทุนสูงหรือต่ำ หรือปล่อยคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน

ท้ายที่สุดก็จะได้สูตรผสมคอนกรีตออกมาหนึ่งหรือสองสูตรที่จะตรงตามโจทย์ที่ต้องการแล้วส่งต่อให้ผู้ผลิตหรือภาครัฐขานรับและนำไปใช้จริงในที่สุด

นอกจากจะช่วยให้เราคิดค้นวัสดุใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้นแล้ว AI ก็ยังสามารถช่วยให้เราเข้าใจโลกของเราได้ดีขึ้นด้วยนะคะ

 

ช่วงเวลาที่ฉันเดินทางไปเยือนแล็บที่บอสตัน IBM ก็ประกาศความร่วมมือกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA โดย IBM จะใช้โมเดล AI ที่ตัวเองมีเพื่อช่วยประมวลผลข้อมูลมหาศาลที่ NASA เก็บรวบรวมเอาไว้เกี่ยวกับโลกของเรา อย่างเช่น ภาพถ่ายจากอวกาศ

การมี AI มาช่วยประมวลผลก็จะทำให้เราสามารถดึงข้อมูลที่สำคัญออกมาวิเคราะห์ได้อย่างตรงจุด อาจจะทำให้มนุษย์เราได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ ที่หากเราใช้สมองและสองตาของเราในการหาเองก็อาจจะไม่มีทางหาเจอได้

AI ของ IBM จะใช้ข้อมูลของ NASA ในการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก อย่างเช่นภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เพื่อช่วยให้นักวิจัยได้เข้าใจระบบของโลกใบนี้ได้ดีกว่าเก่าด้วย

ฉันมีโอกาสได้พูดคุยสัมภาษณ์กับคุณ David Cox ผู้อำนวยการ IBM ประจำแล็บแห่งนี้และได้ถามว่าตั้งแต่มีการใช้คำว่า AI ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในยุคห้าศูนย์ ตัวเขาเองรู้สึกว่า AI พัฒนามาในจุดที่น่าพอใจไหม หรือรู้สึกว่าตอนนี้คนเห่อ AI กันมากเกินจริง

คุณ David ตอบว่าเทคโนโลยี AI เองก็ได้ดำเนินไปตามวัฏจักรของมัน มีบางช่วงที่น่าตื่นเต้น ในขณะที่บางช่วงก็น่าผิดหวังซึ่งบางคนเรียกช่วงนี้ว่า AI Winter หรือฤดูหนาวของ AI

ฤดูหนาวที่ว่านี้ได้เกิดขึ้นไปแล้วสักพักหนึ่ง แต่ตอนนี้เขาเชื่อว่ามันจบลงแล้วและการพัฒนาของ AI ก็เป็นไปอย่างรวดเร็วชนิดที่คนที่คลุกคลีอยู่ในวงการมาอย่างยาวนานอย่างเขาก็ยังรู้สึกตกใจ

ตัวเขาเองไม่คิดว่าฤดูหนาวแบบนี้จะกลับมาอีกเพราะตอนนี้ทุกคนก็เห็นคุณค่าของเทคโนโลยี AI แล้ว และมันก็แทรกซึมอยู่ในทุกๆ แง่มุมของชีวิต แฝงตัวอยู่ในดีไวซ์และเครื่องมือที่เราใช้กันเป็นประจำ

 

การได้พูดคุยกับคนของ IBM และได้ฟังผู้เชี่ยวชาญด้าน AI หลายคนมาบรรยายในหัวข้อต่างๆ ก็ทำให้ฉันได้เข้าใจว่า IBM ให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI ที่จะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องเท่านั้น AI จะต้องเชื่อใจได้และจะต้องเป็นกลางกับทุกคน ไม่ลำเอียงไปทางใดทางหนึ่ง

ฉันถามคุณ David ว่ามนุษย์เราเองที่เป็นผู้สร้าง AI ก็ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำผิดพลาดได้ตลอดเวลา หลายๆ ครั้งเราก็ตอบคำถามผิด หลายๆ ครั้งเราก็ลำเอียง แล้วทำไมเราถึงจะคาดหวังว่า AI จะต้องสมบูรณ์แบบด้วยเล่า

คุณ David บอกว่าจริงอยู่ที่เราคาดหวังให้ AI มีมาตรฐานที่สูงกว่ามนุษย์แต่นั่นถือเป็นสิ่งที่ดี เขาอ้างถึงคำกล่าวของคุณ Thomas J. Watson ผู้ก่อตั้ง IBM ที่บอกว่า ‘อย่าให้คอมพิวเตอร์มาตัดสินใจด้านธุรกิจให้’ เขาบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องให้มนุษย์เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเสมอ

นี่เป็นระบบที่สร้างโดยมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ใช้ ดังนั้น มนุษย์ต้องเข้ามาร่วมรับรู้ด้วยเสมอ อย่าให้ AI มาฟอกการกระทำของเราหรือทำให้เราหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้