จีนเปิดประเทศ… welcome to Thailand เอกชนสะท้อนภาพ…อย่าเพิ่งดีใจ ระวัง! ทุนจีนเขมือบธุรกิจไทย

บทความเศรษฐกิจ

 

จีนเปิดประเทศ…

welcome to Thailand

เอกชนสะท้อนภาพ…อย่าเพิ่งดีใจ

ระวัง! ทุนจีนเขมือบธุรกิจไทย

 

ภายหลังจีนเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบพร้อมกำลังพลและเครื่องยนต์ที่ใส่เกียร์เดินหน้าไม่หยุด หวังปลุกเศรษฐกิจกลับมายิ่งใหญ่ที่ไม่เพียงแต่ดันเรื่องในประเทศ แต่ได้เบนเข็มถึงนอกประเทศ

ซึ่งหมุดหมายที่ปักธงในใจคือ ‘ไทยแลนด์’

แม้เรื่องดีคือคนจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่หนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นคืนชีพ กลับกันคนจีนในคราบนายทุนหวังตะครุบยึดครองธุรกิจไทย โดยที่มีคนในบ้านเปิดประตูรับ

สุดท้ายผลพวงหนักอาจกระทบถึง ‘ประชาชนคนไทย’ ที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย!

“มติชนสุดสัปดาห์” ได้สำรวจความเห็นภาคธุรกิจถึง “ทุนจีน” เป็นเสียงสะท้อนถึงปัญหาในอีกแง่มุมนี่สนใจไม่น้อยทีเดียว

 

หวั่นทุนจีนกินรวบ

เริ่มที่ภาคเอกชนไทยอย่าง “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สะท้อนว่าภายหลังจีนเปิดเมืองการเข้ามาของทุนจีนเข้าไทยมาทุกรูปแบบนอกเหนือจากเข้ามาเป็นนักท่องเที่ยว แต่เข้ามาทำธุรกิจ

เดิมคาดหวังนักลงทุนจีนลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ แต่วันนี้ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะทุนจีนมาทุกระดับ ถึงระดับที่เป็นกลุ่มค้าปลีกค้าส่งและภาคบริการ

ซึ่งส่วนใหญ่จีนจะมีนโยบายการใช้สินค้า หรือรับการบริการของกลุ่มประเทศตัวเอง

เห็นได้ชัดจากท่องเที่ยวจะมีการทำธุรกิจครบวงจร เช่น บริษัททัวร์ ร้านขายของโดยเฉพาะ ซึ่งเงินแทบจะไม่กระเด็นตกมาสู่เศรษฐกิจไทย

ปัญหาตอนนี้ทุนจีนเริ่มลงมาในกลุ่มค้าปลีก รวมถึงรูปแบบการขายลักษณะออนไลน์ที่ไทยยังสู้จีนไม่ได้

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ตลาดออนไซต์การเปิดร้านในเขตที่เป็นแหล่งตลาดหลักไทยกลับกลายเป็นว่าคนไทยขายร้านให้กับคนจีน โดยเฉพาะในเขตเยาวราช สำเพ็ง ห้วยขวาง เป็นต้น

ร้านค้าส่วนใหญ่จากเดิมเจ้าของเป็นไทย ขณะนี้เปลี่ยนมือเป็นคนจีน โดยที่มีลูกจ้างเป็นชาวต่างด้าวทั้งหมด

ซึ่งกลุ่มคนจีนจะนำสินค้านำเข้าจากจีนที่มีราคาถูกมาเปิดขายทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ เรียกว่ากินตลาดตั้งแต่ล่างขึ้นบน และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย

หากปล่อยไว้ทุกพื้นที่ของไทยอาจเป็นของจีน เมื่อเครือข่ายจีนยิ่งใหญ่ขึ้น โอกาสที่ไทยจะได้รับส่วนแบ่งแทบไม่มี

 

เอสเอ็มอีเดือดร้อน

ด้าน “แสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ระบุว่าสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยมีข้อกังวลกับกรณีปัญหากลุ่มทุนจีนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยที่มีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

เพราะมีตั้งแต่ภาคการท่องเที่ยว การเกษตร การค้า อุตสาหกรรม ที่แทรกซึมอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศ และเป็นเรื่องที่เอสเอ็มอีประสบปัญหาการแข่งขันทางด้านราคา ต้นทุน และคุณภาพที่ต้องเร่งแก้ปัญหา สร้างความเข้มแข็ง ยกระดับขีดความสามารถทั้งระบบการค้า ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ และมีมาตรการสนับสนุนทั้งระบบการค้าออนไลน์และออนไซต์

ทั้งนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมกันทบทวน และมีนโยบายการค้า การลงทุน การดำเนินมาตรการสร้างการรับรู้ แก้ไข ป้องกัน ปราบปรามอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

เพราะสิ่งที่ธุรกิจไทยไปทำในประเทศจีนไม่ได้ก็ไม่ควรให้มาทำได้ในประเทศไทย

ถ้าทำและไม่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในเชิงบวกกับเศรษฐกิจฐานราก และโดยรวมของประเทศก็ควรทำ ซึ่งการค้าเสรีต้องไม่ละเมิดผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติที่พึงมี และต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการในประเทศนั้นด้วย

 

ไตรมาส 3-4 จีนกลับบ้านเก่า

เรื่องนี้ “อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แจงว่าช่วงก่อนเกิดโควิดเห็นทุนจีนชัดเจนที่สุดในภาคบริการ เช่น โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคารร้านอาหาร การค้าส่งค้าปลีก บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดหาบ้าน จัดหาคอนโดฯ

ส่วนช่วงหลังเกิดโควิด หรือขณะนี้จะเห็นธุรกิจที่เข้ามาลงทุนดังกล่าวปิดไปบางส่วน แต่มีพวกร้านอาหารที่เป็นอาหารจีนที่ช่วงที่ผ่านมาจะไม่มีคนจีนเข้า แต่ร้านอาหารดังกล่าวเปิดขายให้คนไทยเข้ามาใช้บริการ สะท้อนว่าทุนจีนยังคงเหลืออยู่กับการลงทุนธุรกิจในไทย

ดังนั้น เมื่อจีนเปิดเมืองเต็มที่ช่วงแรกยังมีอุปสรรค แต่จะเห็นทุนจีนได้ชัดช่วงไตรมาส 3-4/2566 ในธุรกิจภาคบริการเกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวจะกลับมาตามเศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้น

ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจไทยต้องเตรียมรับมือให้ดี

 

ทุนไทยขาดแหล่งเงิน/จี้ขันน็อต ขรก.

ฝั่งผู้ประกอบธุรกิจ “วมินทร์ ประกอบสุข” ผู้บริการร้านท่าช้าง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนธุรกิจในไทยมีมานานแล้ว แต่ตามกฎหมายแล้วจะให้คนไทยเป็นผู้ถือหุ้นในธุรกิจมากกว่าชาวต่างชาติ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้การร่วมทุนเกิดขึ้น มองว่าผู้ประกอบการคนไทยอาจติดปัญหาเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เพราะต้นทุนด้านการเงิน ด้านดอกเบี้ยสูงขึ้น รวมถึงธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ไม่ได้ทุกคน เพราะกังวลปัญหาการชำระหนี้

ดังนั้น การร่วมทุนกับชาวต่างชาติที่มีกำลังด้านการเงิน และช่วยลดปัญหาด้านดอกเบี้ยได้จึงเป็นทางออกของการทำธุรกิจที่สามารถเกิดขึ้นได้

ประเด็นสำคัญคือจุดประสงค์ในการทำธุรกิจ หากทำธุรกิจภายใต้กรอบกฎหมายจะไม่เกิดปัญหา และเชื่อว่าทุกคนที่ทำธุรกิจพร้อมทำตามกฎหมาย แต่เมื่อมีการร่วมกันทำธุรกิจผิดกฎหมายแล้วเป็นเรื่องปกติที่ต้องถูกตรวจสอบว่าการทำธุรกิจนี้ดำเนินการได้อย่างไร ดังนั้น สิ่งที่เชื่อมโยงตามกันมาคือต้นต่อของระบบการทำงานของผู้ดูแล นั่นคือรัฐไทยที่อาจเอื้ออำนวยให้กลุ่มคนเหล่านี้กระทำการได้โดยผ่านการกระบวนการอื่นที่ไม่ประสงค์ดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

“การที่ทุนจีนเลือกเข้าไทยมาก ไม่ใช่เรื่องผิดกติกา แต่สิ่งที่ต้องเป็นข้อกำหนดในเรื่องการทำธุรกิจให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายคือผู้ดูแลกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องเข้มงวด และดูแลผลประโยชน์ให้เกิดกับประชาชนคนไทย มากกว่าดูเรื่องผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง” นายวมินทร์กล่าวทิ้งท้าย

จากเสียงสะท้อนยังคงมองถึงการกำกับดูแลของรัฐไทย ดังนั้น คงถึงเวลาที่รัฐต้องเรียกความเชื่อมั่น พร้อมปรับลุคสร้างระบบข้าราชการไทยให้อยู่ในกรอบกฎหมายมากกว่าที่เป็น!…

ไม่เช่นนั้นอาจได้เห็นภาพตำรวจเร่งสะสาง “ทุนจีนสีเทา” อย่างที่เห็นในปัจจุบัน