วิธีสังเกต ลูกใครเป็น ‘เด็ก Gifted’ | จักรกฤษณ์ สิริริน

ศาสตราจารย์ ดร. Mary Ruth Coleman นักวิชาการด้านการจัดการเรียนรู้สำหรับเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษแห่ง National Research Center on the Gifted and Talented

ได้กำหนดคุณลักษณะ 12 ประการของเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ หรือ “เด็ก Gifted” (Gifted Child : เด็กปัญญาเลิศ) ไว้ดังต่อไปนี้

คุณลักษณะที่ 1 : แรงจูงใจ (Motivation) มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ หรือมีความพยายามในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนบรรลุวัตถุประสงค์ของงาน แสวงหาความรู้หรือมุ่งหวังที่จะเป็นบุคคลในอาชีพหรืองานที่ตนเองสนใจ

คุณลักษณะที่ 2 : ความสนใจ (Interests) มีความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างจริงจัง

คุณลักษณะที่ 3 : ทักษะในการสื่อสาร (Communication Skills) มีวิธีการสื่อสารที่ดีกว่าคนทั่วไป ทั้งในด้านการใช้ภาษา ไม่ใช้ภาษา และสัญลักษณ์ต่างๆ

คุณลักษณะที่ 4 : ความสามารถในการแก้ปัญหา (Problem-Solving Ability) มีระบบในการแก้ปัญหา หากเกิดอุปสรรคก็สามารถคิดหาแนวทางใหม่เพื่อแก้ปัญหานั้นๆ ได้อย่างสร้างสรรค์

คุณลักษณะที่ 5 : ความจำ (Memory) มีความรู้ความจำเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน สามารถจดจำเรื่องราวหรือรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ

คุณลักษณะที่ 6 : ความอยากรู้อยากเห็นและเสาะแสวงหา (Inquiry/Curiosity) ตั้งคำถามที่ซับซ้อนเหนือกว่าเด็กในวัยเดียวกัน มีความสามารถในการสืบค้นหรือสำรวจข้อมูลต่างๆ

คุณลักษณะที่ 7 : ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (Insight) เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ หรือบูรณาการความคิดและระเบียบต่างๆ ได้ดี

คุณลักษณะที่ 8 : ความมีเหตุผล (Reasoning) สามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณ มองเหตุการณ์ต่างๆ อย่างทะลุปรุโปร่ง ให้คำตอบได้อย่างสมเหตุผลและนุ่มนวล

คุณลักษณะที่ 9 : จินตนาการ/ความคิดสร้างสรรค์ (Imagination/Creativity) มีความคิดแปลกใหม่ ช่างประดิษฐ์ เจ้าความคิด มีความคิดที่ยืดหยุ่นในการแก้ปัญหา หรือเลือกใช้สิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

คุณลักษณะที่ 10 : อารมณ์ขัน (Humor) อารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี เป็นคนตลก

คุณลักษณะที่ 11 : เอาจริงเอาจัง (Intensity) มีพลังอย่างแรงกล้า มุ่งมั่นที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ

คุณลักษณะที่ 12 : ไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น (Sensitivity) มีความเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ยุติธรรม (เสารรัตน์ ภัทรฐิตินันท์, 2552)

สอดคล้องกับ “ทฤษฎีการเรียนรู้ Constructivism” ภายใต้รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ Jean Piaget ที่ได้ทำการเชื่อมโยงกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎี Constructivism กับ “เด็ก Gifted”

 

ที่กล่าวว่า ตามสถิติแล้ว ทั่วโลกมี “เด็ก Gifted” ประมาณร้อยละ 5 ของเด็กนักเรียนทั้งหมด

ซึ่ง “เด็ก Gifted” มีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเด็กปกติทั่วไปที่อยู่ในวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด

โดยลักษณะพฤติกรรมโดยทั่วไปของเด็กปัญญาเลิศตามแนวคิดของศาสตราจารย์ Jean Piaget มีดังต่อไปนี้

1. สามารถเรียนรู้ที่จะอ่านได้ตั้งแต่อายุยังน้อย มีความเข้าใจในเรื่องภาษาได้ดีกว่าเด็กวัยเดียวกัน

2. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถที่จะคิดสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง และมีความคิดที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ

3. สามารถคิดหาทางออกหรือทางแก้ปัญหาที่แตกต่างไปจากคนอื่น

4. สามารถคิดเชื่อมโยงสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันให้สามารถเกี่ยวข้องกันได้

5. มีความสุขที่จะเรียนรู้การแก้ปัญหา

6. เป็นเด็กช่างสงสัย ชอบถามโน่นถามนี่อยู่ตลอดเวลา คำถามมักเป็นคำถามในลักษณะที่ต้องการคำอธิบายว่า ทำไม อย่างไร

7. มีความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ เริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเอง ไม่ตามแบบอย่างคนอื่น

8. ค่อนข้างไวต่อความรู้สึกของคนอื่น สามารถอ่านคนอื่นออก โดยไม่ต้องใช้ภาษาพูด

9. ชอบแสดงความคิดเห็น

10. สามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงได้

11. อาจมีความสามารถพิเศษบางอย่าง เช่น ด้านดนตรี หรือด้านกีฬา เป็นต้น

 

เช่นเดียวกับรองศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ที่ได้กล่าวว่า โดยเฉลี่ยแล้ว “เด็ก Gifted” ในประเทศไทย มีอยู่ราวร้อยละ 3 ซึ่งมีแววที่จะเป็น “เด็กอัจฉริยะ” ในแต่ละสาขา แต่ไม่ได้ถูกค้นพบ

เพราะ “เด็ก Gifted” จะอยู่รวมกับเด็กปกติ กระจายอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ หมายความว่า ทุกโรงเรียนจะมี “เด็ก Gifted” มากบ้างน้อยบ้าง

การค้นหาที่ทำได้ยาก ทำให้กว่าจะค้นพบได้ก็สายเกินไปเสมอ

ตามหลักการทดสอบเพื่อค้นหาอัจฉริยภาพของ “เด็ก Gifted” ว่ามีแววด้านใดนั้น ประกอบด้วย “10 แวว” ได้แก่

1. แววนักคิด

2. แววนักวิชาการ

3. แววนักวิทยาศาสตร์

4. แววนักคณิตศาสตร์

5. แววนักภาษา

6. แววผู้นำ

7. แววสร้างสรรค์

8. แววนักกีฬา

9. แววนักดนตรี

10. แววศิลปิน

ซึ่งแต่ละ “แวว” นั้น “เด็ก Gifted” จะมีคุณลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน เช่น “แววนักวิทยาศาสตร์” จะเป็นเด็กที่กระหายใคร่รู้ในสิ่งต่างๆ

ว่าอะไรเป็นมาอย่างไร ทำได้อย่างไร ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ ชอบเฝ้าดู จับต้อง ดม มองเห็นความเชื่อมโยงของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ชอบทำงานที่ต้องลงมือปฏิบัติ ทดลอง ชอบวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ อย่างมีเหตุผล

หรือ “แววศิลปิน” จะเป็นเด็กสนใจศิลปะ ใช้เวลาว่างวาดภาพ ขีดเขียน มีสมาธินานกับศิลปะ มีความสุขกับงานศิลปะ

อยากมีอาชีพทางศิลปะ มีประสาทสัมผัส มือ ตา ดี มีทักษะสามารถใช้กิริยาท่าทางสื่ออารมณ์ได้ดี เป็นต้น

 

การจัดการศึกษาสำหรับ “เด็ก Gifted” นั้น ครูผู้สอนต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก

ต้องจัดหลักสูตร และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่จูงใจ และส่งเสริมความเป็นอัจฉริยะอย่างเหมาะสม

โดยอาจมีเนื้อหาที่ยาก และท้าทายกว่าหลักสูตรสำหรับเด็กทั่วไป ที่สำคัญต้องมีการเชื่อมโยง และบูรณาการหลากหลายวิชาเข้าด้วยกัน

การจัดกระบวนการเรียนรู้ ต้องมีความสลับซับซ้อน และลึกซึ้งกว่าหลักสูตรปกติ ควรมีจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ และฝึกให้เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบในการแสวงหาความรู้ เน้นการพัฒนาสมองทุกส่วน

เนื่องจาก “เด็ก Gifted” ต้องการหลักสูตรเฉพาะ ต้องการบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่วยุ ท้าทายความสามารถ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ เพื่อให้ “เด็ก Gifted” สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานการทางศึกษา เพื่อให้มีการค้นหา และพัฒนาความสามารถพิเศษตั้งแต่เยาว์วัย และเชื่อมโยงต่อเนื่องไปจนถึงระดับการศึกษาที่สูงขึ้น

โดยให้มีการคัดแยกด้วยวิธีการที่หลากหลาย และเหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่ม

ต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ ปรับปรุงหลักสูตร สื่อการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผลการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ที่จะช่วยให้ “เด็ก Gifted” ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพสูงสุดของแต่ละคน และที่สำคัญต้องมีเวทีให้เด็กได้แสดงออกถึงความรู้ความสามารถด้วย

 

การออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับ “เด็ก Gifted” แต่ละคนมีความสำคัญมาก เนื่องจาก “เด็ก Gifted” แต่ละคนมีความแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เสมอ

ข้อคิดสำคัญก็คือ ไม่ควรปรับเปลี่ยนให้ “เด็ก Gifted” พอดีกับหลักสูตร แต่ควรปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้พอดี “เด็ก Gifted”

“เด็ก Gifted” บางคนอาจต้องการโปรแกรมพิเศษเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง

“เด็ก Gifted” ทุกคนควรได้รับการบริการที่ดีที่สุดด้วยโปรแกรมเสริมสมรรถนะ อาจจะเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบกลุ่มหรือเดี่ยวก็ได้ และจะจัดภายในหรือภายนอกห้องเรียนก็ได้

แน่นอนว่า การศึกษาจัดการศึกษาให้ “เด็ก Gifted” มีความแตกต่างจากการจัดการศึกษาแบบปกติค่อนข้างมาก

แต่ตราบใดที่เราใส่ใจกับความต้องการที่แตกต่างกันของ “เด็ก Gifted” แต่ละคน

การทำความเข้าใจพรสวรรค์ที่แตกต่างของ “เด็ก Gifted” จะทำให้ทุกฝ่าย ทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคม ประสบความสำเร็จไปพร้อมกันนั่นเอง