เดินหน้าเต็มสูบ สู่การเลือกตั้ง

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

เดินหน้าเต็มสูบ สู่การเลือกตั้ง

 

ทันทีที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2566 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2566 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2566 เป็นต้นไป

เท่ากับกติกาการเลือกตั้งที่จำเป็นต้องมีหลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ และเปลี่ยนสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็น 400 : 100 และการผ่อนคลายกติกาเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้สะดวกขึ้นนั้นเป็นที่เรียบร้อย

การเดินหน้าเต็มสูบสู่การเลือกตั้งนั้นไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ ในเชิงกฎหมาย รอแต่การดำเนินการในกิจกรรมที่จำเป็นตามขั้นตอนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และเชื่อได้ว่าอย่างไรก็ตาม ช้าสุดภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2566 นี้ ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ในเวลาต่อจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้สมัคร พรรคการเมือง และประชาชน ต่างมีหน้าที่ที่ต้องช่วยกันเตรียมการและมีส่วนร่วมในการให้การเลือกตั้งเกิดความราบรื่น สุจริต เที่ยงธรรม เป็นธรรมเพื่อการยอมรับของทุกฝ่ายในผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

การแบ่งเขตที่โปร่งใส เป็นธรรม

การเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.เขตเลือกตั้ง จากจำนวน 350 คนเป็น 400 คน จึงต้องมีการเปลี่ยนสัดส่วนจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง โดยใช้จำนวนราษฎรในปีสุดท้ายก่อนปีที่จะมีการเลือกตั้งหารด้วยจำนวน 400

ดังนั้น เมื่อสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ 2565 ว่ามีจำนวนราษฎรที่มีสัญชาติไทย 65,106,481 คน เมื่อหารด้วย 400 จึงได้จำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อผู้แทนหนึ่งคน คือ 162,766 คน เพื่อนำไปคิดจำนวน ส.ส.เขตที่มีของแต่ละจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร มี ส.ส.ได้ 33 คน นครราชสีมา 16 คน เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี มี 11 คน ไปจนถึงจังหวัดเล็กๆ เช่น สมุทรสงคราม สิงห์บุรี ตราด ระนอง มี ส.ส.ได้ 1 คน เป็นต้น

การแบ่งพื้นที่ในแต่ละจังหวัดให้มีเขตเลือกตั้งเท่ากับจำนวน ส.ส. จึงต้องมีการดำเนินการต่อเนื่องตามมาตรา 27 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ซึ่งยึดหลัก 3 ประการคือ

หนึ่ง ให้รวมอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงพื้นที่ติดต่อใกล้ชิดกัน มีความสะดวกในการคมนาคมและเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน

หากต้องแยกบางส่วนของอำเภอก็สามารถแบ่งบางตำบลในอำเภอได้ แต่จะแบ่งย่อยต่ำกว่าตำบล เช่น เอาไปเพียงบางหมู่บ้านไม่ได้

สอง ต้องคำนึงถึงความใกล้เคียงของจำนวนราษฎรในแต่ละเขต ซึ่งแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้กำหนดเพดานความแตกต่างว่าควรเป็นเท่าไร แต่โดยธรรมเนียมการปฏิบัติที่ผ่านมา ในจังหวัดเดียวกัน จำนวนราษฎรในแต่ละเขตไม่ควรมีความแตกต่างกันมากเกินกว่าร้อยละ 10 หรือ +/- ร้อยละ 5 จากค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในเขตเลือกตั้งของจังหวัดนั้นๆ

สาม ต้องให้ประชาชนและพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการเสนอแนะความคิดเห็น โดยสำนักงาน กกต.ของแต่ละจังหวัด ต้องจัดทำแผนที่การแบ่งเขตจำนวนอย่างน้อย 3 รูปแบบต่อหนึ่งเขตเลือกตั้ง พร้อมคำอธิบายเหตุผล ติดประกาศไว้ที่สำนักงาน กกต.จังหวัด ศาลากลาง ที่ทำการอำเภอ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นเวลา 10 วัน

เพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและพรรคการเมืองในฐานะผู้มีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้ง ก่อนเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสินเลือกในขั้นสุดท้าย

 

การกำหนดค่าใช้จ่าย

ในการหาเสียงที่เหมาะสม

บทบาทอีกประการหนึ่งของ กกต. คือ การกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครและพรรคการเมือง ซึ่งจะมีทั้งสองกรณี คือ กรณีสภาผู้แทนราษฎรอยู่ครบอายุ 4 ปี และกรณียุบสภา โดยเป็นข้อกำหนดตามมาตรา 62, 63 และ 64 ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561

สิ่งเหล่านี้ กกต.ควรดำเนินการและประกาศให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองทราบก่อนถึงช่วงการหาเสียง เพื่อให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองได้ทราบถึงเพดานค่าใช้จ่ายของตนที่สามารถดำเนินการได้

แต่ปัจจุบัน แม้ว่าจะเลยเขต 180 วันก่อนครบอายุสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วถึง 4 เดือน กกต.กลับยังไม่มีการกำหนดค่าใช้จ่ายใดๆ ประกาศให้ทราบ

 

การมีส่วนร่วมของสมาชิก

ในการคัดเลือกผู้สมัคร

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ที่ประกาศออกมาใหม่ ทำให้การขยายฐานสมาชิกพรรคการเมืองทำได้ง่ายขึ้น โดยให้มีอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองที่เรียกเก็บจากสมาชิกรายปี ลดลงจากเดิมไม่น้อยกว่า 200 บาท เหลือเพียง 20 บาท และตลอดชีพ จากเดิมไม่น้อยกว่า 2,000 บาท เหลือเพียงไม่น้อยกว่า 200 บาท

แต่การเรียกเก็บในอัตราใหม่นี้ พรรคการเมืองต้องมีการแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมในข้อบังคับของพรรค ซึ่งต้องมาจากการประชุมใหญ่พรรคการเมืองด้วย

นอกจากนี้ กระบวนการในการสรรหาคัดเลือกผู้สมัครของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครแบบเขตหรือบัญชีรายชื่อ ก็มีการผ่อนคลายการดำเนินการลง จากการที่ทำให้ทุกเขตเคยมีกระบวนการเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารีโหวต (Primary vote) ที่ยุ่งยากซับซ้อน ยืดยาว สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย มาเป็นกระบวนการที่ง่ายขึ้น โดยเหลือขั้นตอนพอสรุปได้ดังนี้ คือ

หนึ่ง พรรคการเมืองที่ประสงค์จะส่งผู้สมัครในระดับเขตของจังหวัดใด อย่างน้อยต้องมีการจัดตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 1 คน และมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 100 คน ในจังหวัดนั้นๆ

สอง พรรคการเมืองต้องมีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยมีการลงมติเป็นการลับ หลังจากนั้น คณะกรรมการสรรหาต้องกำหนดวัน เวลา สถานที่ในการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคและประกาศให้สมาชิกทราบเป็นการทั่วไป

สาม เมื่อได้รายชื่อผู้ประสงค์จะสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง กระบวนการทำไพรมารีโหวตจะเริ่มขึ้นโดยตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดจัดประชุมสมาชิกไม่น้อยกว่า 50 คน เพื่อลงมติเลือกเป็นผู้สมัครเรียงตามลำดับ ส่งคณะกรรมการสรรหา ก่อนส่งต่อให้คณะกรรมการบริหารของพรรคเห็นชอบตัวบุคคลดังกล่าว

โดยในขั้นตอนสุดท้ายนี้ ตัดกระบวนการวีโต้ (Veto) หรือต้องทำซ้ำใหม่หากมีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างประชาชนในพื้นที่ กับคณะกรรมการสรรหา หรือกับคณะกรรมการบริหารพรรคออกไป โดยให้อำนาจการตัดสินของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นที่สุด

กระบวนการไพรมารีโหวตหรือการเลือกตั้งขั้นต้นที่ออกแบบใหม่ จึงค่อนข้างสะดวกแก่พรรคการเมืองและดูเหมือนเป็นเพียงพิธีกรรมที่ต้องทำให้เสร็จโดยไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมทางการเมืองเท่าใดนัก

พรรคการเมืองที่เปิดตัวผู้สมัครอย่างอึกทึกครึกโครมไปแล้ว ก็ต้องเริ่มต้นทำกระบวนการนี้ใหม่ทั้งหมด หากไม่ทำ ไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งในระบบเขตและบัญชีรายชื่อ

 

การป้องกันการใช้อำนาจรัฐ

เพื่อสร้างความได้เปรียบ

จังหวะสุดท้ายก่อนจะถึงการเลือกตั้ง เราจะเห็นนักการเมืองที่มีอำนาจรัฐใช้กลไกที่มีในการช่วงชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เช่น การแต่งตั้งคนของพรรคให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ของทางราชการ การตรวจราชการแบบถี่ยิบในพื้นที่ที่ประสงค์คะแนนเสียง การอนุมัติงบประมาณในพื้นที่เป้าหมาย ตลอดจนการใช้กลไกของรัฐในการประชาสัมพันธ์ผลงานของหน่วยราชการควบคู่ไปกับการหาเสียง

คณะกรรมการการการเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องมีบทบาทหน้าที่หนักในช่วงนี้ ทั้งเตรียมการเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความสุจริต เที่ยงธรรม ให้เกิดขึ้นจริง

เดินหน้าเต็มสูบได้แล้ว ไม่มีข้ออ้างอะไรอีกแล้ว