จับตาศึกเลือกตั้งตุรเคีย ใครได้ ใครเสีย หากผู้นำยังเป็น ‘แอร์โดอาน’

เรเจพ เทย์ยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีของตุรเคีย ในวัย 68 ปี ประกาศลั่นกลองศึกแล้วว่าจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของตุรเคียขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเร็วกว่าวาระที่กำหนดไว้เดิมถึงหนึ่งเดือนเต็มๆ

ท่ามกลางผลโพลของหลายสำนักที่ทำสำรวจกันมาเมื่อไวๆ นี้ บ่งชี้ว่าสนามเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและการเลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีของตุรเคียที่จะเกิดขึ้นพร้อมเพรียงกันนั้น จะเป็นไปอย่างดุเดือดสูสี

และจะเป็นบททดสอบอำนาจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของ “แอร์โดอาน” ผู้นำทรงอิทธิพลที่กุมอำนาจบริหารปกครองประเทศตุรเคีย ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีมาอย่างเด็ดขาดยาวนานถึง 20 ปี

แม้โพลสำรวจที่ออกมาบ่งบอกว่าศึกเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปอย่างคู่คี่สูสี แต่บรรดานักวิเคราะห์ทางการเมืองยังคงให้อัตราต่อรองที่เหนือชั้นกว่าแก่ แอร์โดอานผู้ที่นำพาตุรเคียเป็นหนึ่งในชาติทรงอิทธิพลทางทหารในภูมิภาค เป็นหนึ่งในสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และทำให้ตุรเคียเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

หากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ของตุรเคียปรากฏออกมาว่า แอร์โดอานยังคงได้ไปต่อในการกุมอำนาจปกครองตุรเคียสู่ทศวรรษที่ 3 สำหรับชาวตุรเคียก็ต้องตกอยู่ภายใต้ในอำนาจเด็ดขาดของแอร์โดอานต่อไป

ประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ของตุรกี (เอเอฟพี)

ขณะที่ในเวทีประชาคมโลก หลายประเทศที่มีผลได้ผลเสียเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ในตุรเคียนั้น ต่างกำลังจับตาดูการเลือกตั้งครั้งนี้ของตุรเคียอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

เพราะตุรเคียภายใต้การกุมบังเหียนของแอร์โดอาน ถือว่ามีบทบาทเกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อยในพื้นที่ความขัดแย้งในหลายภูมิภาคของโลก

รวมถึงสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงร้อนระอุอยู่ในขณะนี้ ที่ยังถือเป็นการเผชิญหน้าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกไปอย่างกลายๆ ที่ถือเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นอีกด้วย

การทำสงครามบุกยูเครนครั้งนี้ของรัสเซีย ได้ทำให้โลกได้เห็นอิทธิพลในเวทีระหว่างประเทศของตุรเคียที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับที่สร้างความระคายเคืองให้กับฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นประโยชน์สำหรับอีกฝ่ายหนึ่ง

โดยด้านหนึ่งแอร์โดอานได้พยายามผสานสัมพันธ์ที่ร้าวฉานและเสริมความแข็งแกร่งให้กับพันธมิตรเก่า

แต่เขายังใช้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกนาโตของตุรเคีย ในการวางสถานะตนเองเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในสงครามยูเครน เพื่อมุ่งบรรลุผลประโยชน์ของชาติและยกระดับบทบาทของตนเองในฐานะผู้นำในภูมิภาคและผู้นำโลก

 

ศึกเลือกตั้งของตุรเคียนี้ สำหรับเวทีระหว่างประเทศ จึงมีทั้งที่อยากเห็นแอร์โดอานอยู่ในอำนาจต่อไป อีกส่วนหนึ่งอาจตัดสินใจร่วมมือทำงานกันได้ และอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้อยากเห็นอะไรมากไปกว่าการได้เห็นแอร์โดอานหลุดจากอำนาจ

สำหรับรัสเซีย ผู้เปิดฉากสงครามครั้งเลวร้ายนี้ขึ้นในยุโรป ย่อมต้องการจะเห็นแอร์โดอานอยู่ในอำนาจต่อไป เพราะตุรเคียภายใต้การนำของแอร์โดอาน เป็นสมาชิกเพียงหนึ่งเดียวของนาโตที่ไม่เดินตามชาติพันธมิตรตะวันตกอื่นๆ ในการคว่ำบาตรตอบโต้รัสเซียที่ทำสงครามบุกโจมตียูเครน และตุรเคียไม่เพียงไม่หันหลังให้ แต่ยังเพิ่มพูนความสัมพันธ์ด้านพลังงานกับรัสเซียในขณะที่ชาติตะวันตกตัดขาด

สงครามยูเครนจึงไม่เพียงเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เห็นอิทธิพลของตุรเคียในเวทีโลกที่ชัดเจนขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นเส้นความสัมพันธ์ระหว่างตุรเคียกับรัสเซียชัดเจนมากขึ้นด้วย

 

ซีแนน อูลเกน อดีตนักการทูตตุรเคีย บอกว่า วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้ให้การสนับสนุนแอร์โดอานในระดับที่มากอยู่แล้วก่อนการเลือกตั้งในแบบที่ไม่มีผู้นำโลกรายอื่นทำมาก่อน และจากความร่วมมือเกื้อกูลกันที่ผ่านมา เป็นที่ชัดเจนว่าปูตินมีตัวเลือกในใจว่าเขาต้องการให้ใครเป็นผู้ชนะในตุรเคีย

ส่วนประเทศรัฐอ่าว หรือประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย แม้จะอึดอัดไม่สบายใจกับบทบาทของตุรเคียในตะวันออกกลาง ที่รวมถึงการเข้าไปแทรกแซงทางทหารในสงครามกลางเมืองซีเรีย แต่ดูเหมือนว่าประเทศในภูมิภาคนี้อย่างซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จะยอมปล่อยวางความแตกต่างลงและตัดสินใจที่จะทำงานกับแอร์โดอาน

โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งบอกว่าไม่เพียงรัฐอ่าวจะสร้างสายสัมพันธ์ใหม่ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าช่วยอุ้มเศรษฐกิจของตุรเคียที่ชะลอตัวเท่านั้น แต่ยังให้การรับรองอำนาจของแอร์โดอานด้วย

การเยือนซาอุดีอาระเบียของแอร์โดอานในปีที่แล้ว เป็นเครื่องการันตีได้อย่างดีว่าเหตุพิพาทบาดหมางใจระหว่างซาอุฯ กับตุรเคียหลังเกิดกรณีการสังหาร จามัล คาช็อกกี คอลัมนิสต์ชาวซาอุฯ อย่างเหี้ยมโหดภายในสถานกงสุลซาอุฯ ประจำนครอิสตันบูลของตุรเคียเมื่อปี 2018 นั้นได้ยุติลงแล้ว

หรือการเดินทางเยือนประเทศยูเออีในปีที่แล้วของแอร์โดอาน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ก็ถือเป็นการกระชับสัมพันธ์ที่ดีขึ้น

ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอย่างโอเมอร์ ทาสปินาร์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยป้องกันแห่งชาติ ในวอชิงตัน ดี.ซี. มองว่าการวกกลับความสัมพันธ์บ่งชี้ว่ารัฐอ่าวอาหรับคาดหมายว่าแอร์โดอานจะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปในอนาคตอันใกล้

 

แต่สำหรับชาติตะวันตก ในความเห็นของนักวิเคราะห์มองว่าต่างยินดีที่จะเห็นตุรเคียในยุคหลังสิ้นอำนาจแอร์โดอาน

เพราะตุรเคียภายใต้การนำของแอร์โดอานมักจะดำเนินนโยบายส่วนใหญ่สวนทางกับชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเสียมากกว่า

อย่างกรณีล่าสุดที่ตุรเคียยังคงขวางทางจนสุดลิ่มทิ่มประตู ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การนาโตของฟินแลนด์และสวีเดนอยู่ในขณะนี้

โดยแอร์โดอานกล่าวอ้างว่าชาตินอร์ดิกอย่างสวีเดน ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการกับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (พีเคเค) กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ตุรเคียถือเป็นกลุ่มก่อการร้าย

โดยตุรเคียกล่าวหาว่าสวีเดนให้ที่หลบภัยแก่กลุ่มพีเคเค

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของตุรเคียกับรัสเซีย ก็เป็นสิ่งที่ชาติตะวันตกไม่อาจยอมรับได้

นับจากนี้ เหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือนเศษ ศึกเลือกตั้งครั้งใหญ่ของตุรเคียก็จะเปิดฉากขึ้น หลังปิดหีบเลือกตั้ง ก็จะได้รู้กันว่า ผู้นำตุรเคียคนต่อไป จะยังเป็นคนที่ชื่อ เรเจพ เทย์ยิพ แอร์โดอาน อยู่อีกหรือไม่!