ตำรวจ-เป็นยากขึ้นทุกวัน

เหยี่ยวถลาลม

 

ตำรวจ-เป็นยากขึ้นทุกวัน

 

คนที่รู้จักมักคุ้นกับ “ผู้กำกับโจ้” หรือ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นคนที่ช่างกล้า

“โจ้” ศึกษาเรียนรู้โดยมี “นายตำรวจผู้ใหญ่” ชั้นสูงสุดเป็น “ต้นแบบ” เมื่อบวกเข้ากับอุปนิสัยกล้าได้กล้าเสียแล้ว ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็ทำเงินได้เป็นพันล้าน

แต่ด้วยความเหิมจึงทำให้ “ผู้กำกับโจ้” ต้องสะดุดกรรมตัวเองจากกรณีที่ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหา จนขาดอากาศหายใจเสียชีวิตคาโรงพัก

โจ้ถูกดำเนินคดี ฐานร่วมกันซ้อมทรมาน ติดคุกและถูกตามยึดทรัพย์ 1,358 ล้านบาท

ถ้าไม่บุ่มบ่ามทำพลาดจากเหตุการณ์ในวันนั้น อดีตผู้กำกับโจ้คนนี้หมายมั่นจะแต่งกับลูกสาวนายพล และก็คงเจริญก้าวหน้า มีตำแหน่งใหญ่โตในเส้นทางตำรวจ เช่นเดียวกับ “ต้นแบบ” ทั้งหลายที่สุขสบายไปก่อนหน้า

 

จะว่าไปแล้วหลายสิบปีมานี้ “องค์กรตำรวจ” เสื่อมทรามลงจริงๆ

ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนี้ การทำชั่วอาจจะถูกประจานและประณามด้วยความฉับไว ตำรวจที่ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้จะ “สะดุดกรรม” ตัวเองเพราะปรับตัวไม่ทัน

ตำรวจ สน.ห้วยขวาง ที่ตั้งด่านหน้าสถานทูตจีนนั้นก็เช่นเดียวกัน

ใช่หรือไม่ว่า “ด่านตำรวจ” ควรให้ความรู้สึก “อุ่นใจ” แก่ผู้พบผ่าน

แต่บ่อยครั้ง ด่านตำรวจไทยชวนให้อกสั่นขวัญฝ่อ

“อัน หยู ชิง” ดาราสาวชาวไต้หวัน โพสต์แฉลงในโซเชียลว่า ถูกตำรวจไทยตั้งด่านรีดไถเงินไป 27,000 บาท

ช่วงแรกๆ ตำรวจนครบาลก็พากันดิ้นอยู่พักใหญ่

กว่า “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” จะยอมรับ และ “นครบาล” จำนนก็ฉาวโฉ่อายกันไปทั่วโลก ที่สุดก็จำยอมต้องแก้ผ้าเอาหน้าให้รอดด้วยคำสั่ง “เด้ง” พ.ต.อ.ยิ่งยศ สุวรรณโณ ผกก.สน.ห้วยขวาง ไปประจำศูนย์ปฏิบัติการ นครบาล พร้อมมีคำสั่งให้เอาผิดวินัยร้ายแรงและดำเนินคดีอาญากับตำรวจทุกรายที่เกี่ยวข้องพัวพันกับด่านรีดไถ

 

ที่จริงแล้ว ชีวิตตำรวจชั้นผู้น้อยนั้นน่าสงสาร

ความรับผิดชอบสูงลิ่ว แต่ผลตอบแทนต่ำเตี้ย ห่างชั้นกับสถานะของ “ต้นธาร” แห่งกระบวนการยุติธรรม มีอำนาจและหน้าที่ “บังคับใช้กฎหมาย”!

“ตำรวจชั้นผู้น้อย” มีรายได้น้อยกว่า “ค่าแรงขั้นต่ำ” ของกรรมกร

ส่วน “ตำรวจชั้นผู้ใหญ่” ต่างก็มาแล้วจากไป ความเป็น “นาย” ส่วนมากมักมองแต่ “เบื้องบน” ผู้ซึ่งบันดาลได้ มีน้อยนัก “นาย” ที่เหลียวแล เกื้อกูล โอบอุ้ม “เบื้องล่าง” ภาพรวมความสัมพันธ์ของผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา จึงไม่มีความเคารพศรัทธาเชื่อมร้อยยึดโยง ดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความจำเป็นที่ทุกคนจะต้องรักษาสถานภาพกับระเบียบวินัยบังคับ

หากพลาดท่าขึ้นมาก็ตัวใครตัวมัน!

 

ชีวิตตำรวจนับวันจะยิ่งยุ่งยากลำบากขึ้น

1 ในความยุ่งยากที่จะได้เห็นเพิ่มขึ้นชัดๆ ก็คือ “พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน” ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้

กฎหมายนี้จำเพาะเจาะจงควบคุมและเล่นงานตำรวจ ตั้งแต่ชั้นควบคุมตัวผู้ต้องหาที่ต้องถ่ายทำบันทึกภาพการจับ การควบคุมตัว จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัว

หากมีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถบันทึกภาพก็ต้องแจ้งนายอำเภอท้องที่หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและอัยการท้องที่ในทันที

กฎหมายนี้ยังว่า ถ้าตำรวจปฏิบัติไม่ดี ทุบตี กระทำการโหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย เปิดช่องทางให้ผู้เกี่ยวข้องร้องศาลได้ทันที

ตำรวจที่ทำร้ายผู้ถูกกล่าวหา ไม่บาดเจ็บสาหัส ต้องโทษจำคุก 15 ปี

ถ้าบาดเจ็บสาหัส จำคุก 25 ปี

แม้แต่ “ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดโทษจำคุกถึง 3 ปี

 

อาจมีบางคนตั้งความคาดหวังกับกฎหมายฉบับนี้เอาไว้มากเกินไปว่า ตำรวจจะเลิกรีดไถ ไม่หาเงินส่งให้นาย กระทั่งจะเป็น “ต้นธาร” กระบวนการยุติธรรมที่อิสระ สั่งให้บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือเป่าคดีไม่ได้ – นั่นน่าจะ “ฝันไป”

ประเทศเรามีกฎหมายที่ดี และหลายความผิดมีบทกำหนดโทษรุนแรงถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต และประหารชีวิต คนกล้ายังไม่กลัว

ทหารที่ทำรัฐประหารมีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต แต่เฉลี่ยทุกๆ 6 ปี ประเทศนี้ยังคงมี “รัฐประหาร”

ที่พึ่งสุดท้ายที่หวังพึ่งคือ “ระบบยุติธรรม” ที่คงเส้นคงวา

กรณีตัวอย่าง วันก่อน “คณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม 2553” อดทนข่มกลั้นกับ “ความไม่เป็นธรรม” ที่เกิดจากการใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการปิดล้อม สกัดกั้น สลายการชุมนุมและการใช้อาวุธระหว่างวันที่ 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553 ไม่ไหว จึงพากันไปยื่นหนังสือทวงถาม “ผบ.ตร.” ผู้ซึ่งเป็นใหญ่ที่สุดในกระบวนการ “ชั้นต้น” ของกระบวนการยุติธรรม

ร้องขอให้ ” ผบ.ตร.” ผู้มีอิสระ จงเร่งรัดไปยังพนักงานสอบสวนท้องที่ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ

ขอให้ตำรวจ “ทำหน้าที่” ชันสูตรพลิกศพอีก 62 ชีวิต ที่ตายในระหว่างชุมนุมทางการเมืองเมื่อ 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งกำลังจะครบ 13 ปี

ตำรวจยังไม่ได้นำหลักฐานสำนวนให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อจะได้สั่งให้ไต่สวนว่า อีก 62 คนที่ตายนั้นคือใคร บ้านอยู่ที่ไหน ตายที่ไหนเวลาใด ตายด้วยสาเหตุอันใด ถ้าถูกยิง เป็นกระสุนอะไร จากปืนอะไร

ยังไม่ต้องคิดไกลไปถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่ “ลอยนวล” ซึ่งล่วงเลยมา 13 ปี

ทั้งยังไม่ต้อง “คาดหวัง” ว่ารัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และรัฐบาลที่สืบทอดต่อเนื่องมาจะสนใจ

แต่ประชาชนมีความจำเป็นที่จะต้องตั้ง “คาดหวัง” กับ “กระบวนการยุติธรรม” ซึ่งเริ่มที่ “ชั้นต้น” หรือต้นธาร

แม้ตำรวจจะวางตัวลำบากในระบบการเมืองปัจจุบัน แต่ตำรวจก็เป็นองค์กร “ต้นธาร” ของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถ้าไม่มีแม้แต่ “ความอิสระ” ในการทำหน้าที่ กฎหมายก็จะไม่เป็นกฎหมาย

กฎหมายมีอยู่ก็จริง แต่ถ้าผู้บังคับใช้กฎหมายสมคบคิดกัน “กดหัว” ในอนาคตบ้านเมืองจะระส่ำ!?!!