ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกวาระ 8 ปี นายกฯ | พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

นอกจากการขยับเขยื้อนเคลื่อนตัวของพรรคการเมืองต่างๆ ในการดึง ส.ส.เข้าสังกัดพรรคของตนเองกันแบบชนิดที่ว่าฝุ่นตลบกันเลยทีเดียวเพื่อรับมือกับศึกการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้แล้ว

สัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นทางด้านการเมืองที่ผู้คนกล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางคงหนีไม่พ้นข้อเสนอของสมาชิกวุฒิสภาบางกลุ่มบางคน ที่จู่ๆ ก็มีไอเดียบรรเจิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี

เพราะการจำกัดระยะเวลาดังกล่าวเป็นการเข้าไปขวาง “คนดี” ส่งผลให้ทำงานเพื่อประเทศชาติไม่ได้

ลำพังประเด็นข้อถกเถียงการเสนอยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่าสมควรแล้วหรือไม่อย่างไรก็เรื่องหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวจะได้ชวนคิดและพูดถึงต่อไป

แต่เหตุผลที่ท่าน ส.ว.ผู้ทรงเกียรติหยิบยกขึ้นนั้นฟังดูก็ออกจะทะแม่งๆ ไปเสียหน่อยว่าสรุปแล้วการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมันอยู่บนเงื่อนไขของความเป็นคนดีคนเลวอย่างนั้นน่ะหรือ?

เออ…แปลกดีนะ

แต่เอาล่ะครับ เรามาพูดถึงเรื่องที่อยากจะชวนคุยในครั้งนี้กันดีกว่า นั่นก็คือ ข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ว่าจริงๆ แล้วแนวคิดนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

มีเหตุผลทางวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและการเมืองที่เกี่ยวข้องอะไรบ้างที่ควรนำมาอธิบายพร้อมคิดวิเคราะห์ร่วมกับข้อเสนอของ ส.ว.ในครั้งนี้

 

เมื่อพูดถึงการจำกัดเวลาให้นายกฯ อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี หลายท่านอาจเข้าใจผิดคิดไปว่าเพิ่งจะมีเงื่อนไขนี้อยู่ใน (มาตรา 158) รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ฉบับปี 2560) ก็เพราะก่อนหน้านี้ (ปีที่แล้ว) มีประเด็นถกเถียงกันเสียยกใหญ่ว่า 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนี่ยครบหรือยัง จะเริ่มต้นนับนิ้วกันอย่างไร

จนกระทั่งพรรคร่วมฝ่ายค้านรวมตัวกันไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย จนกระทั่งกลายเป็น “คดีประวัติศาสตร์” ทางรัฐธรรมนูญและการเมืองไทยคดีหนึ่งไปเลยก็คงไม่ผิด

ความเป็นจริงการจำกัดวาระนายกฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เราอยู่กับมันมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวตั้งแต่ปี 2550 แล้วล่ะครับ!

อธิบายง่ายๆ ก็คือ การห้ามนายกฯ ดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีนี้มีการเขียนบรรจุเอาไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 (มาตรา 171) แล้ว เพียงแต่ไม่มีต้นสายปลายเหตุให้ถกเถียงอภิปรายจนกลายเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” ทางการเมืองและกฎหมายเหมือนกับเคสของลุงตู่ จึงไม่มีคนหยิบรัฐธรรมนูญมานั่งเปิดอ่านบอกกล่าวกันเท่านั้นเอง

สำหรับเหตุผลของการเสนอวาระ 8 ปีเมื่อตอนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้นหลักใหญ่ใจความก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสืบทอดอำนาจจากการอยู่ยาวโดยไปโยงกับเหตุการณ์บ้านเมืองก่อนมีรัฐประหารปี 2549

ซึ่งก็มีเสียงค้านอยู่พอสมควรว่าจริงๆ แล้วควรมีข้อจำกัดเช่นนี้หรือไม่

พูดให้ชัดเจนลงไปตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญก็คือ แนวคิดการจำกัดวาระเช่นนี้ปกติจะใช้กับระบบประธานาธิบดีที่มีวาระการอยู่ทำงานที่ชัดเจนแน่นอนวาระละ 4 ปี ไม่ใช่ระบบรัฐสภาที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

เพราะวันดีคืนร้าย นายกฯ อาจพ้นจากการทำงานก่อนครบวาระ 4 ปี ด้วยการยุบสภา หรือถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ทุกเมื่อ

ดังนั้น การนำเอาการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งมาใช้กับนายกฯ จึงดูราวกับว่าเป็นการใช้แบบ “ผิดฝาผิดตัว” ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างระบบรัฐบาลอย่างที่ควรจะเป็น

และแน่นอนว่า ก็เมื่อเราฝืนธรรมชาตินำมาใช้กันอย่างผิดๆ ก็ย่อมส่งผลให้การนับนิ้วกดเครื่องคิดเลขเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนั้นอลหม่านชวนปวดหัวทำเอาไมเกรนขึ้นอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ก่อนนี้นั่นแหละ

 

มาถึงตรงนี้หลายท่านอาจคิดว่า ก็เมื่อพูดกันเป็นฉากๆ ตาม “หลักวิชาทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ” โดยทั่วไปข้างต้นแล้วละก็ ข้อเสนอของ “ท่าน 250 ส.ว.” บางกลุ่มบางคนที่ให้ยกเลิกบทบัญญัติห้ามนายกฯ อยู่เกิน 8 ปีก็น่าจะถูกต้องแล้วมิใช่หรือ?

ก็ถ้ามันตรงไปตรงมาแบบ “ไม่มีอะไรในกอไผ่” คำตอบตามหลักการก็คือใช่ครับ แต่…สำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารในปี 2557 และประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญฉบับเรือแป๊ะ” เป็นต้นมา “บริบทการเมืองไทย” มันมีอะไรที่สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างที่ควรจะเป็นน่ะซิ

เลยทำให้ต้องมานั่งขบคิดกันอยู่หลายตลบและอธิบายให้ฟังกันมากหน่อย

เราคงปฏิเสธไม่ได้หรอกนะครับว่า ภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสายตาประชาชนที่แกเคยแสดงความเห็นว่าการทำรัฐประหารในปี 2549 ของ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นการทำ “รัฐประหารเสียของ” บ้างล่ะ

การตีฆ้องร้องเพลงที่สุดแสนไพเราะ ให้คำมั่นสัญญาว่าหลังยึดอำนาจแล้วจะ “ขอเวลาอีกไม่นาน” รีบกลับกรมกองพร้อมจัดการเลือกตั้ง ซึ่งมีการประกาศสู่สาธารณะทั้งในประเทศและต่างประเทศบ้างล่ะ

“ปีแล้วปีเล่าเฝ้าแต่รอ” จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ที่มาพร้อมกับสุดยอดนวัตกรรมอย่าง 250 ส.ว.ที่มีอำนาจล้นพ้นร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส.ได้ด้วย) จู่ๆ ก็มีการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นโดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งปี 2562 และ “พรรคน้องใหม่ที่เพิ่งจะเดบิวต์” กลับกลายเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล (ทั้งๆ ที่ได้จำนวน ส.ส.มาเป็นอันดับ 2) พร้อมเสนอชื่อลุงตู่ของเราเป็นแคนดิเดตนายกฯ ซะอย่างนั้น

ตั้งแต่ปี 2557 จนกระทั่งตอนนี้นับเวลารวมได้ทั้งสิ้น 8 ปีเศษเกือบ 9 ปีเข้าให้แล้ว หันกลับมาเราก็ยังคงเห็นหน้าตาที่คุ้นเคยของ พล.อ.ประยุทธ์เดินไปเดินมาในทำเนียบรัฐบาลบริหารประเทศอยู่ ยังไม่กลับ (และก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับ) เข้ากรมกองเสียที จนมีบางท่านออกมาพูดว่า ก็ลุงตู่ “เขาอยากอยู่ยาว” กระมัง

ซึ่งมันก็น่าจะเป็นความจริงนะครับ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเราคงไม่ได้อยู่ร่วมท่องคำขวัญวันเด็กที่ พล.อ.ประยุทธ์แกได้ให้ไว้ถึง 9 ครั้งติดต่อกันจนทุกวันนี้หรอกจริงไหม

และจากข้อเท็จจริงของการเมืองไทยในปัจจุบันภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกมาจากการทำรัฐประหารซึ่งผลิออกออกผลจนนำพาให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้มานั่งเป็นนายกฯ ของประเทศไทย ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง มันจึงอดที่จะตั้งคำถามและขบคิดในหลายเหลี่ยมหลายมุมกับกรณีการเสนอของ ส.ว.ให้ยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีในครั้งนี้ไม่ได้ว่า จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ในการ “อยู่ยาว” ต่อไปอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาตลอดเวลา 8 ปีเศษหรือไม่อย่างไร แม้จะมีการออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้เสนอเพื่อให้ประโยชน์กับใครก็ตาม

แต่เอาเป็นว่าสำหรับผมแล้วมันคงมีอย่างน้อย 2 ประการที่ทำให้สามารถคิดไปได้ และก็ไม่แปลกนะครับที่ประชาชนหลายฝ่ายเขาจะระแวง!

 

ประการแรกก่อนเลย เมื่อประเทศกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งและ พล.อ.ประยุทธ์เองประกาศตัวชัดเจนว่าจะขอเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยว่าลุงแกไม่เหมาะกับการกลับมานั่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลอีก เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็เพิ่งมีคำวินิจฉัยไปเองว่าลุงตู่สามารถเป็นนายกฯ ได้อีกแค่ 2 ปี ว่าง่ายๆ คืออยู่ได้ไม่ครบเทอม (4 ปี) ไปๆ มาๆ เดี๋ยวก็ต้องมานั่งเลือกนายกฯ กันใหม่ให้โกลาหลวุ่นวายอีก น่าจะพอได้แล้ว และให้คนอื่นเป็นท่าจะดีกว่า

แต่วันดีคืนดี 250 ส.ว.บางกลุ่มบางคนที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร (คสช.) ก็ออกมาเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ “ปลดล็อกวาระ 8 ปี” ซะอย่างนั้น

ทำไมจังหวะจะโคนมันช่างเหมาะเหม็งอะไรเช่นนี้หนอ?

ส่วนประการที่สอง ก็เมื่อผู้เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยกเลิกวาระ 8 ปี นายกฯ เป็น 250 ส.ว. ผู้ทรงเกียรติที่มีส่วนเชื่อมโยงกับ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรงอย่างที่ทราบๆ กันอยู่ไม่ว่าจะเป็นที่มาตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงเมื่อเข้ามาแล้วก็ยังโหวตเลือกลุงตู่ให้มาเป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งปี 2562 แบบชนิดที่เรียกว่า “สามัคคีปรองดองไม่แตกแถว” แล้วจะไม่ให้ประชาชนคิดเชื่อมโยงข้อเสนอยกเลิก 8 ปีกับ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ปัจจุบันได้อย่างไร

ต่อให้ท่าน ส.ว.จะให้เหตุผลว่าข้อเสนอดังกล่าวมาจากผลการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ตาม แต่เรื่อง “ผลประโยชน์ขัดกัน” ของท่านมันก็แอบชัดเจนไปนิดนึงรึเปล่า?

ซึ่งเรื่องแบบนี้ในทางกฎหมายเขาซีเรียสกันมาก

นี่ยังไม่พูดถึงนะครับว่า ก็ออกจะน่าสงสัยเสียด้วยซ้ำไปว่า ส.ว.ที่ออกมาเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญบางท่านก็มีรายชื่อร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เห็นดีเห็นงามให้มีการจำกัดวาระนายกฯ 8 ปีด้วยซ้ำไป

ก็ถ้าไม่เห็นด้วยจนต้องมาเสนอกันตอนนี้ แล้วทำไมตั้งแต่ตอนร่างหรือตอนบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับเก่าท่านจึงไม่ออกมาโต้แย้งคัดค้านเสนอให้ยกเลิกไปเสียให้รู้แล้วรู้รอดตั้งแต่คราวนั้นล่ะครับ

พรสันต์แอบงง?

 

เอาล่ะสรุปแล้ว 2 ประการไม่ว่าจะเป็นเหตุผลของช่วงเวลาที่พอเหมาะพอเจาะ (เกินไปหรือไม่) ก็ดี และเหตุผลของความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับตัวนายกฯ แบบมีประเด็นทางกฎหมาย “เรื่องต่างตอบแทน” ให้ต้องนึกถึงก็ดี มันจึงทำให้ผมเองรวมถึงประชาชนหลายภาคส่วนเขาตั้งคำถาม หรือสามารถคิดไปได้ว่าการเสนอให้ปลดล็อกวาระ 8 ปี นายกฯ ของ ส.ว.นี้มีวาระทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่?

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ว่าแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะสำเร็จหรือไม่ หรือมีประเด็นถกเถียงทางข้อกฎหมายจนอาจนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไรก็เรื่องหนึ่ง (ซึ่งผมคงจะมานำเสนอในครั้งถัดๆ ไป)

แต่สำหรับกรณีการยกเลิกวาระ 8 ปี นายกฯ ที่กล่าวอ้างว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นผลมาจากงานวิชาการและเป็นกลางไม่ได้มีผลประโยชน์กับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นการเฉพาะนั้น

หากท่านต้องการแสดงถึงความสุจริตใจตรงไปตรงมาไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง ผมคิดว่า ส.ว.ที่จะร่วมพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับ ส.ส. เพื่อปลดล็อกวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกฯ นี้ ควรจะต้องเป็น “ส.ว.ตัวจริง” ตามบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ “250 ส.ว.” ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

นั่นหมายความว่า การยกเลิกวาระ 8 ปี นายกฯ สามารถดำเนินการได้ แต่ควรทำภายหลังจากที่ 250 ส.ว.ซึ่งเป็นองคาพยพมีความใกล้ชิดกับนายกฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หมดวาระไปเสียก่อน และให้ ส.ว.ชุดใหม่ดำเนินการ

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาเรื่องความโปร่งใสว่า “วุฒิสภา คสช.” กำลังใช้ “สีจิ้นผิงโมเดล” ช่วยเหลือลุงตู่ให้อยู่ยาวแบบที่เขาชอบเรียกๆ กันว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ (เป็นวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำนองเดียวกันกับกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย) ก็น่าจะดีกว่า

ทุกท่านเห็นด้วยไหมครับ