สภาสมัยสุดท้าย…เสื่อมทรุดหนัก-รอเวลา ‘ยุบ’ ฝ่ายค้านลับดาบ ฟัน ม.152 ‘ปิดฉาก’

ตามปกติในช่วงปลายสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นักการเมืองแต่ละพรรคบางส่วนจะขวนขวายหาพรรคการเมืองที่ตรงจริตตัวเองอยู่

สภาชุดนี้เองก็เช่นเดียวกัน ที่ฝุ่นตลบตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 เทรนด์ย้ายพรรคจุดติดเมื่อพรรคภูมิใจไทยเปิดปฏิบัติการ ‘ดูด’ ส.ส.จากพรรคอื่น และเปิดตัวยิ่งใหญ่จนน่าอิจฉา และยังทยอยลาออกเป็นระยะ จนยอดสมาชิกผู้แทนราษฎรลดจำนวนลงเรื่อยๆ

ซ้ำร้าย ส.ส.เองยังไม่มีกะจิตกะใจทำงานสภา สนใจลงพื้นที่หาเสียง พบปะประชาชน ทำให้สภาเดินไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ จนมองว่า หากลาออกมาก จะเป็นตัวเร่งให้ยุบสภาก่อนครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ไปเสียก่อน

ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติอย่างนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา 1 ใน 3 เสาหลักของประเทศ ถึงขั้นออกปากแสดงความเป็นห่วงกรณีที่ ส.ส.ทยอยลาออกล็อตใหญ่

และยอมรับว่าจะยังคงยื่นใบลาออกเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสภา ทั้งที่กฎหมายสำคัญหลายฉบับยังค้างการพิจารณาอยู่ ทั้งร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชง หรือร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย

ส่วนประเด็นเรื่องการยุบสภา ที่ลือหนักหนาหูนั้น นายชวนระบุว่า “ไม่สามารถที่จะไปคาดหมายได้เพราะอยู่ที่ฝ่ายบริหาร แต่เคยบอกไปแล้วว่ารัฐบาลน่าจะตัดสินใจในช่วงก่อนวันที่ 23 มีนาคม แต่จะถึงช่วงนั้นเมื่อไหร่ยังไม่แน่ใจ เพราะว่าสภาจะประชุมได้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์”

 

สําหรับบางคนที่ยังไม่ลาออกจาก ส.ส.เพื่อไปอยู่สังกัดใหม่ ก็แสดงตนไปร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่นอย่างออกหน้าออกตา เช่น น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไปร่วมงานเปิดตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา

ถ้ารัฐบาลยังเป็นเสียงข้างมากของสภา และมีมากพอ ก็จะพยุงการทำหน้าที่และการโหวตกฎหมายต่างๆ ให้ผ่านไปได้

แต่เมื่อจุดโฟกัสการเมืองเปลี่ยนไปสู่การเลือกตั้ง ทำให้ ส.ส.คิดแต่เรื่องลงพื้นที่ ไม่สนใจงานในสภา แยกร่างไม่ถูก งานบวช งานแต่ง งานเทศกาลสำคัญก็ต้องไป กฎหมายก็ต้องทำ

นายชวน นายหัวคนขยัน ก็นัดประชุมนัดพิเศษแทบอาทิตย์เว้นอาทิตย์ บอกว่ามีจุดประสงค์ดี ที่จะให้สภาชุดนี้ผลิตผลงานออกมาให้มากที่สุด แต่กลับกลายเป็นการประจานสภาเสียเอง สร้างสถิติประชุมล่มมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นไปด้วยความอืดเอื่อยเฉื่อยช้า คุยกันทั้งวันได้แค่ 7 มาตรา จนสภาล่มรับปีใหม่ สะท้อนภาวะเสื่อมทรุดหนัก

 

ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบและหารด้วย 100 ได้กลายเป็นเงื่อนไขกำหนดว่าแต่ละพรรคการเมืองจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ส.ส.เขตกี่คน มีทั้งพรรคที่ได้เปรียบและเสียเปรียบจากกติกานี้อย่างแน่นอน

อย่างพรรคก้าวไกลเอง เหมือนจะรู้ชะตากรรม จึงพยายามปรับทิศทางหวังชนะเลือกตั้งแบบเขตให้มากขึ้น

แต่จะได้มากหรือน้อยกว่าสมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ก็ยังเดาไม่ออก

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการดิ้นสู้ของพรรคการเมืองต่างๆ เห็นได้ชัดผ่านการดีลควบรวมพรรคของบรรดาพรรคเล็กและพรรคใหม่ เช่น พรรคสร้างอนาคตไทยของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ยังเปิดดีลกับพรรคเล็กด้วย เช่น นายดำรงค์ พิเดช จากพรรคโอกาสไทย

ส่วนการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านหวังผลว่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชนนั้น

นายชวนระบุว่า ทางรัฐบาลยังไม่มีการแจ้งมายังสภา แต่ได้ส่งเรื่องไปแล้ว ซึ่งในการหารือเบื้องต้น ฝ่ายผู้เสนอคาดว่าเป็นช่วงปลายเดือนมกราคม แต่ทางรัฐบาลอยากให้เป็นช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์

พรรคร่วมฝ่ายค้าน แกนหลักอย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลกำลังซุ่มเตรียมทำข้อมูลและคัดขุนพลมือฉมังรับดาบข้อมูลมาจ้วงแทงรัฐบาลให้อาการสาหัส ล่อแล่คางเหลือง ก่อนส่งเข้าลานประหารให้ประชาชนชี้ชะตาในวันเลือกตั้ง

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า “การอภิปรายครั้งนี้แทบจะไม่แตกต่างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีการลงมติ ขาดแค่ไม่ได้มีการยกมือเท่านั้น เพราะมีทั้งประเด็นการทุจริตคอร์รัปชั่น และการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจะต้องรอดูว่าอาจจะมีตั๋วอีกรอบหนึ่งที่ไม่น้อยหน้าไปกว่าตั๋วภาคหนึ่ง และตั๋วภาคสอง”

“นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องปากท้องและการเกษตรที่จะถูกพูดถึงมากขึ้นในรอบนี้ รวมถึงกระบวนการยุติธรรมและเรื่องการเมือง”

 

บรรยากาศการเมืองตอนนี้จึงฝุ่นตลบ ภาพลักษณ์เหลวแหลกทั้งรัฐบาล และสภา

โดยฝั่ง 2 ป.เอง ก็เล่นบทตบจูบ วันนี้รัก พรุ่งนี้เกลียด วันนี้เกลียด พรุ่งนี้รัก สลับกันไป เหมือนคนเป็นไบโพลาร์ แต่เชื่อว่าสายสัมพันธ์ของพี่น้องที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอดชีวิตยังคงมีอยู่ แค่ผลประโยชน์และจุดยืนและในทางการเมืองแปลกแยกแตกต่าง จน ‘บิ๊กตู่’ ต้องหนีออกไปตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติ ‘บิ๊กป้อม’ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่เคยดันตัวเองจนได้กลับมาเป็นนายกฯ

‘บิ๊กตู่’ สมัครเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัว พร้อมกลับมาเป็นนายกฯ รอบ 3 อย่างมั่นใจ ทั้งที่ถูกปรามาสว่าพรรคตัวเองจะได้ ส.ส.เกิน 25 เสียงพอที่จะมีสิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ ต่อให้เสียงเกินจนมีสิทธิเสนอได้ แต่จะมากพออย่างสมศักดิ์ศรีหรือไม่ก็อีกเรื่อง

จากการประเมินถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น หลายฝ่ายมองว่า เงินจะสะพัดสวนทางเศรษฐกิจซบเซาของประเทศ กลายเป็นยุคธนกิจการเมือง ซื้อตัว ส.ส.ด้วยเงินก้อนใหญ่กว่าเมื่อปี 2562 อัพระดับเป็น “สภาเงิน สภาทอง” ค่าตัวแพง เพราะ 1 เสียงสามารถตัดสินอนาคตการเมืองไทยได้

ส.ส.หนีตายเกมการเมือง สลับสับเปลี่ยน ไม่สน ‘ขั้ว’ ไม่สน ‘อุดมการณ์’ ไม่ห่วงภาพลักษณ์ตัวเองหรือสายตาของประชาชนที่มองมา และตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร ว่าสรุปแล้วทำเพื่อตัวเองหรือทำเพื่อประชาชนกันแน่