First They Killed My Father ทหารเด็กเขมรแดงกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit
ภาพ : Netflix

ผ่านเทศกาลปีใหม่ไปไม่ทันได้พักหายใจ เผลอแป๊บเดียวก็เข้าสู่สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคมแล้ว สัปดาห์นี้มีวันเด็กแห่งชาติซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของประเทศอยู่ด้วย

สำหรับปี 2566 นี้ก็นับเป็นงานวันเด็กปีที่ 69 โดยเริ่มต้นจัดงานครั้งแรกในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ปีถัดมา พ.ศ.2499 จึงเริ่มมีคำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งจอมพล ป.ประกาศให้คำว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” เป็นคำขวัญวันเด็กประจำปีนั้น

การให้ความสำคัญกับเด็กเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่เพียงแต่ประเทศไทย เพราะเด็กเป็นประหนึ่งผ้าขาวอันบริสุทธิ์ที่สามารถเปลี่ยนแปรไปตามสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น สภาพแวดล้อมที่ดีย่อมมีผลให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี

ในทางตรงกันข้าม หากเด็กไม่ได้รับการเหลียวแลและตกอยู่ในโลกที่เลวร้าย เด็กก็มีโอกาสเติบใหญ่ไปเป็นคนเลวร้ายได้เช่นกัน

การเอาใจใส่ดูแลและพัฒนาเด็กตั้งแต่เยาว์วัยจึงเป็นสิ่งที่รัฐทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นอนาคตของชาติบ้านเมืองภายภาคหน้า

(Photo credit should read STR/AFP/Getty Images)

รัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อเขมรแดง (Khmer Rouge) ก็เช่นกัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 47 ปีที่แล้วในยุค “ปีศูนย์” (Year Zero) ซึ่งกินเวลา 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2518-2522 ระบอบเขมรแดงภายใต้การนำของ “พี่ชายหมายเลข 1” (Brother No.1) นามว่าพอล พต หรือชื่อเดิมคือซาลอธ ซาร์ ได้ดำเนินการปฏิวัติสังคมอย่างฉับพลัน

ด้วยการสลายสังคมเมืองแล้วอพยพผู้คนออกสู่ชนบท สร้างระบบคอมมูน ใช้ชีวิตร่วมกัน แต่งกายเหมือนกัน ตัดผมคล้ายๆ กัน ทำเกษตรร่วมกันแบบนารวม แล้วปันส่วนแบ่งอาหารให้แต่ละคนพอๆ กัน ยกเลิกเงินตรา ระบบตลาด ทรัพย์สินส่วนบุคคล

รวมทั้งสลายครอบครัว ศาสนา สถานศึกษา ฯลฯ เข้าสู่การเป็นลูกของอังการ์ (Angkar) หรือพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาแต่เพียงอย่างเดียว

ความพยายามสร้างสังคมยูโทเปียหรือสังคมในอุดมคติตามความเชื่อของอังการ์แบบสุดโต่งและทันทีทันใดเช่นนี้ ได้นำหายนะมาสู่ประชาชนชาวกัมพูชาอย่างเหลือคณานับ

เมื่อกองกำลังเขมรแดงได้เกณฑ์ “ประชาชนใหม่” (New People) หลายล้านคนที่เดิมอาศัยอยู่ในเมืองมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในชนบทแบบชั่วข้ามคืน พวกเขาถูกกดขี่ต่างๆ นานาด้วยการทรมานทุบตีด้วยความเกลียดชัง ต้องเผชิญกับการใช้แรงงานเยี่ยงทาสตั้งแต่เช้าจรดค่ำ และมีอาหารประทังชีวิตเพียงเล็กน้อย

ท้ายที่สุดประชาชนก็บาดเจ็บล้มตายมหาศาล ทั้งจากการถูกสังหารโดยตรง การเจ็บป่วยจากสภาพแวดล้อมอันเลวร้าย และความอดอยากแร้นแค้น

ประมาณกันว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปกครองของเขมรแดงในช่วง 4 ปีนี้ราวๆ 2 ล้านคน หรือกว่า 1 ใน 4 ของประชากรกัมพูชาทั้งหมดเลยทีเดียว ทำให้ชาวโลกจดจำเรื่องราวเหล่านี้ว่าคือ “เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัมพูชา” (Cambodian genocide)

ความทรงจำอันโหดร้ายในยุคเขมรแดงได้รับการถ่ายทอดจากผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งที่เป็นบทสัมภาษณ์ สารคดี หนังสือ นวนิยาย ละคร รวมทั้งภาพยนตร์ด้วย

ล่าสุดในปี พ.ศ.2560 ได้มีการสร้างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนี้เรื่อง First They Killed My Father ของผู้กำกับฯ แองเจลินา โจลี (Angelina Jolie) ซึ่งดัดแปลงมาจากหนังสือ First They Killed My Father : A Daughter of Cambodia Remembers ของหลวง อัง (Loung Ung) หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา

ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวในครอบครัวของหลวง อัง ภายใต้ระบอบเขมรแดง โดยพ่อของเธอเป็นข้าราชการทหารในรัฐบาลลอน นอล ทำให้มีความเป็นอยู่สุขสบายตามมาตรฐานชีวิตชนชั้นกลาง

เธอมีพี่น้องหลายคน ทุกคนต่างอิสระเสรีและมีความสุข รวมทั้งได้รับความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่อย่างเต็มที่

แต่เมื่อกองกำลังเขมรแดงบุกเข้ายึดกรุงพนมเปญได้สำเร็จในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2518 ครอบครัวของเธอก็ถูกกวาดต้อนออกจากเมืองหลวง ต้องละทิ้งทรัพย์สินเกือบทั้งหมด

พร้อมทั้งอำพรางตัวตนที่ผ่านมาให้มิดชิดเพื่อความอยู่รอด

หลวง อัง (คนขวา) หนึ่งในผู้ที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในประเทศกัมพูชา นักเขียน และผู้เขียนบทภาพยนตร์ เรื่อง “First They Killed My Father” ร่วมกับแองเจลิน่า โจลี่ (Photo by Daniel LEAL / AFP)

หลังจากเริ่มต้นชีวิตใหม่ในคอมมูนของเขมรแดงได้สักพัก พี่น้องแต่ละคนก็เริ่มถูกแยกออกจากกัน โดยเกณฑ์ไปใช้แรงงานตามที่ต่างๆ

ต่อมาพ่อก็ถูกสังหารเป็นคนแรก แล้วพลัดพรากจากแม่ จนกระทั่งพี่น้องทุกคนต้องแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทางในที่สุด

หลังจากที่เหลือตัวคนเดียว หลวง อัง ได้เข้าไปเป็นทหารเด็กเขมรแดง เธอได้รับการฝึกฝนให้เป็นนักรบ เรียนรู้การวางกับระเบิด ฝึกฝนทักษะการต่อสู้ด้วยมือเปล่า หัดใช้อาวุธปืนประจำกาย และศึกษาวิชาการในห้องเรียนตามหลักสูตรของอังการ์ที่มุ่งล้างสมองให้ทุกคนเป็นหุ่นยนต์ที่คิดแบบเดียวกัน

“พวกเธอทุกคนคือลูกของอังการ์ ดินเหนียวขึ้นรูปได้เมื่อยังอ่อนนุ่ม มีเพียงเด็กๆ อย่างพวกเธอที่ไร้มลทิน ขอให้กัมพูชายุคปฏิวัติของพวกเรารุ่งเรืองสืบไป เชโย เชโย เชโย!” (You are all Angkar’s children. Clay is molded while it is soft. Only you, children, are free from stain. Long live our glorious revolutionary Kampuchea!) เสียงครูสาวของอังการ์ป่าวประกาศกรอกหูทหารเด็กตัวน้อยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เด็กน้อยหลวง อัง ในวัย 7 ขวบ แทนที่จะได้เล่นและเจริญเติบโตสมวัยในแบบปกติ กลับต้องกลายเป็นหุ่นยนต์สังหารที่ทำงานรับใช้อังการ์เป็นบ้าเป็นหลัง ไม่เพียงแต่เธอเท่านั้น เขมรแดงยังสร้างกองทัพทหารเด็กมากมายเนื่องจากเป็นวัยที่ง่ายต่อการหล่อหลอมปลูกฝังให้เป็นไปตามที่ผู้ใหญ่ต้องการได้

ทหารเด็กในวันนี้คือทหารผู้ใหญ่ในวันหน้า ผู้ซึ่งจะนำพาการปฏิวัติกัมพูชาให้รุ่งเรืองสืบไป

โชคยังดีที่แม้จะสูญเสียทั้งพ่อ แม่ และพี่สาวคนหนึ่งไปในเหตุการณ์นี้ แต่ท้ายที่สุดระบอบเขมรแดงก็ถึงกาลอวสาน เมื่อเฮง สำริน อดีตทหารเขมรแดงที่แปรพักตร์ไปจับมือกับเวียดนามบุกเข้ามายึดกัมพูชาคืนจากเขมรแดงได้สำเร็จในปี พ.ศ.2522 หลังจากที่กองทัพเวียดนามยึดครองกัมพูชา ประชาชนที่ถูกเขมรแดงเกณฑ์ไปใช้แรงงานก็ได้รับการปลดปล่อย

แล้วพี่น้องของหลวง อัง ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้หวนกลับมาพบกันอีก

(Photo by SAEED KHAN / AFP)

กรณีของหลวง อัง และเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้จากทั่วทุกมุมโลกตลอดประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ เช่น ทหารเด็กของชนกลุ่มน้อยในพม่า ขบวนการก่อการร้ายแถบตะวันออกกลาง หรือกองกำลังต่างๆ ในแอฟริกาและละตินอเมริกา ฯลฯ

เป็นอุทาหรณ์ให้เวลาต่อมาเกิดเสียงเรียกร้องให้ชาวโลกมีจิตสำนึกและความตระหนักเรื่องสิทธิเด็กมากขึ้น ไม่ให้พวกเขาต้องตกเป็นเครื่องมือของผู้ใหญ่

ส่งผลให้ทุกวันนี้โลกได้ให้ความสำคัญกับสิทธิเด็กเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ตลอดจนการกดขี่ แสวงหาประโยชน์ ครอบงำ และล้างสมองเด็กในกิจกรรมทางสังคม การศึกษา ศาสนา และการเมือง แม้ยังมีพบเห็นอยู่บ้าง แต่ก็น้อยกว่าในอดีตมาก เหตุปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการรณรงค์อย่างจริงจังผ่านอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาติ (United Nations Convention on the Rights of the Child) ภายใต้การดำเนินงานโดยองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในชื่อองค์การยูนิเซฟ (UNICEF)

อนุสัญญาดังกล่าวมุ่งหวังว่าในภายภาคหน้าจะไม่มีการล่วงละเมิดสิทธิของเด็กอีก ให้พวกเขาได้มีโอกาสเติบโตงอกงามตามวัยของตน ได้มีชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ได้รับการปกป้องคุ้มครองให้พ้นไปจากลัทธิของผู้ใหญ่

ให้เขาได้เลือกอุดมการณ์ความเชื่อเมื่อมีวุฒิภาวะแล้ว

รวมทั้งได้เติมเต็มความฝัน ความหวัง และความรักด้วยจิตใจของตัวเองในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน