2566 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร
(Photo by YE AUNG THU / AFP)

ปีใหม่ 2566 เป็นปีที่หลายคนคาดการณ์ว่าการเมืองไทยจะถึงจุดของการเปลี่ยนแปลงใหม่ในเชิงคุณภาพ

แต่จะเป็นจริงหรือจะเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนสลากใหม่ให้ดูสดใสแต่เนื้อในยังเหมือนเดิม คงต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในแต่ละเดือนจากนี้ไป

การคาดการณ์ถึงเหตุการณ์ทางการเมืองจากนี้ไปโดยอาศัยประสบการณ์ที่มี อาจเป็นจริงหรือเป็นเพียงเรื่องอ่านสนุกตามจินตนาการ ให้ถือว่าเป็นบทความรับขวัญปีใหม่ที่เยือนมาถึง

แต่จะขวัญดีหรือขวัญเสียนั้นคงแล้วแต่อุดมคติและจุดยืนทางการเมืองของผู้อ่าน

โดยขอลำดับเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในแต่ละเดือนดังนี้

 

มกราคม 2566 เป็นเดือนแห่งการสร้างผลงาน เทโครงการประชานิยม ลดแลกแจกแถมของหน่วยราชการต่างๆ ตามนโยบายการมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนที่ส่วนราชการทุกหน่วยงานต้องไปคิดสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล มีการทยอยรายงานผลการทำงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเป็นเอกสาร เป็นคลิปวิดีโอเพื่อเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ทั้งในโทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์

ในทางตรงข้าม การนำเสนอข่าวเพื่อลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามจะมีมากขึ้น ทั้งจากบุคคลที่เป็น Influencer และขบวนการ IO (Information Operation) ของแต่ละฝ่าย

การทำโพลเพื่อระบุถึงคะแนนนิยมของพรรคการเมืองและผู้ที่คาดการณ์ว่าจะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจะมีผลการนำเสนอที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ขึ้นอยู่กับการเป็นโพลวิชาการหรือโพลรับจ้าง

ประชาชนจึงจำเป็นต้องคัดกรองข่าวสารที่มาถึง มีเหตุและผลในการวิเคราะห์และแยกแยะช่าวสารที่ถูกต้อง

สภาผู้แทนราษฎรจะมีปัญหาของการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นปกติ สภาจะล่มบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนที่มาจากเขตเลือกตั้งจะพะว้าพะวงถึงการเข้าหาประชาชนในพื้นที่และการเตรียมการเลือกตั้งที่ใกล้มาถึง

การพิจารณากฎหมายต่างๆ จะเป็นไปด้วยความล่าช้า

แต่จะยังไม่มีการยุบสภา

พรรคการเมืองทุกพรรคจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ไม่มีการควบรวมหรือยุบพรรคการเมืองเองให้เห็นอีก เนื่องจากผ่านกระบวนการเจรจาที่ยาวนานมาแล้วและไม่สามารถหาจุดลงตัวได้

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกพรรคต้องเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ยังไม่แน่นอน

ส่วนการร้องเพื่อยุบพรรคการเมืองจะเกิดขึ้นอีกเพื่อสร้างความหวั่นไหวให้แก่ฝ่ายตรงข้าม

ในช่วงปลายเดือนมกราคม จะมีการลาออกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ประสงค์จะเปลี่ยนพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัด เนื่องจากจะเข้าใกล้เขต 90 วันก่อนวันเลือกตั้งตามกติกาในมาตรา 97(3) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า ในกรณีที่สภาอยู่จนครบอายุจะต้องสังกัดพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับจนถึงวันเลือกตั้ง

ดังนั้น หากไม่มีการยุบสภา นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรจะอยู่จนครบอายุ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2566 กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งภายในเวลา 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนฯ สิ้นอายุ (มาตรา 102 รัฐธรรมนูญ 2560) ซึ่ง กกต.ได้มีการเตรียมการว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2566 และหากนับย้อนกลับขึ้นมา 90 วัน คือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 จึงเป็นเส้นตายสุดท้ายของผู้ประสงค์จะสมัครเลือกตั้งที่จะต้องตัดสินใจอยู่กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หลังจากวันนี้ หากสภาผู้แทนราษฎรอยู่จนครบอายุโดยไม่มีการยุบสภา จะไม่สามารถย้ายพรรคได้อีกแล้ว จึงจำเป็นต้องรีบตัดสินใจเพราะไม่สามารถไว้วางใจการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีได้อีก

แม้ข่าววงใน หรือใครจะบอกว่ายุบแน่ๆ แต่เสี่ยงเกินไปที่จะเชื่อ

 

กุมภาพันธ์ 2566 เมื่อเข้าใกล้ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เราอาจเห็นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของบรรดานักการเมืองที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งในการลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อสมัครเข้าพรรคการเมืองใหม่เป็นจังหวะสุดท้ายก่อนเข้าเขต 90 วันก่อนถึงวันเลือกตั้งในกรณีสภาฯ อยู่จนครบอายุ

พรรคการเมืองที่เงินหนา กระแสดี และใช้นโยบายล่าหัวมนุษย์ (Head hunter) อาจใช้ความพยายามอีกครั้งในโอกาสนี้ ดึงเอาผู้สมัครเกรดเอในพื้นที่ หรือผู้สมัครที่มีชื่อเสียงมาไว้ในบัญชีรายชื่อเพื่อหวังสะสมแต้มเพิ่มเติมในการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ยิ่งต้องหาวิธีการสร้างความเชื่อมั่น

ปั่นกระแสให้เห็นว่าจะเป็นพรรคที่มีโอกาสชนะเลือกตั้ง มีโอกาสจัดตั้งเป็นรัฐบาล

การหยิบยกเอาเงื่อนไข 250 ส.ว. มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี (มาตรา 272 รัฐธรรมนูญ 2560) จะเป็นประเด็นที่ใช้ในการชักจูงให้เข้ามาสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีสายสัมพันธ์กับสมาชิกวุฒิสภา

ในขณะที่สังคมจะเริ่มวิพากษ์วิจารณ์เพื่อกดดันการตัดสินใจของสมาชิกวุฒิสภาในอนาคต

พรรคการเมืองในซีกก้าวหน้า อาจหยิบยกเอามาเป็นประเด็นในการหาเสียงว่าจะการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว

หรือไปไกลถึงขั้นการเสนอให้ยกเลิกวุฒิสภาให้มีระบบสภาเดียว (Unicameral Assembly)

ในเดือนกุมภาพันธ์ หากยังไม่มีการยุบสภา สภาผู้แทนราษฎรจะยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างลุ่มๆ ดอนๆ พิจารณากฎหมายที่ยังคงคั่งค้างอยู่สภา การขาดประชุมจนสภาล่มยังเป็นปรากฏการณ์ปกติจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นวันปิดสมัยประชุมของรัฐสภา

ส่วนวุฒิสภา มีอายุ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง (มาตรา 109 รัฐธรรมนูญ 2560) แม้จะยังไม่ครบอายุตามสภาผู้แทนราษฎร แต่หากสภาผู้แทนฯ อยู่ครบอายุ หรือไม่มีสภาผู้แทนราษฎรเนื่องจากถูกยุบสภาหรือเหตุอื่นใด จะมีการประชุมวุฒิสภาไม่ได้ (มาตรา 126 รัฐธรรมนูญ 2560) เว้นแต่เรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หรือเรื่องเกี่ยวกับการประกาศสงครามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

หมายความว่า เมื่อยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรด้วยเหตุอันใดก็ตาม สมาชิกวุฒิสภาไม่ต้องประชุม แต่ก็ยังคงรับเงินเดือนตามปกติแล้วค่อยเปิดมาก็ประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรเลย

เดือนกุมภาพันธ์ 2566 อาจเป็นเดือนที่รัฐมนตรีขยันตรวจราชการเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ตัวเองจำเป็นต้องอาศัยฐานคะแนนเสียงจากประชาชน จึงเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องช่วยจับตาว่า จะมีการใช้ตำแหน่งหน้าที่ หรือทรัพยากรของรัฐเพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการเลือกตั้งหรือไม่

 

มีนาคม 2566 หากจะมีการยุบสภา คาดว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้าย คือระหว่างวันที่ 15-22 มีนาคม พ.ศ.2566 ซึ่งจะมีผลตามมา สองประการ คือ

ประการแรก ต้องมีการเลือกตั้งภายในเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน และไม่เกิน 60 วันนับแต่วันยุบสภา (มาตรา 103 วรรคสาม รัฐธรรมนูญ 2560) ซึ่งหากยุบสภาในช่วงเวลาดังกล่าว คาดว่า กกต.จะเลือกการใช้เวลามากที่สุดคือใกล้ครบ 60 วัน คือวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566

ประการที่สอง ในกรณีมีการยุบสภา ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง อย่างน้อย 30 วันนับถึงวันเลือกตั้ง (มาตรา 97(3) รัฐธรรมนูญ 2560) ดังนั้น หากมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นับย้อนขึ้นมา 30 วัน คือวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2566 และคาดว่า กกต.จะเปิดรับสมัครการเลือกตั้งในวันที่ 10-14 เมษายน พ.ศ.2566 (ไม่หยุดสงกรานต์)

นั่นหมายความว่า ผู้สมัครทุกคนยังสามารถย้ายพรรคได้จนถึงวันสุดท้ายการรับสมัคร ส.ส.

มหกรรมการตกเบ็ด เก็บเกี่ยวปลาตัวโต จึงยังคงทำได้จนถึงวันสุดท้ายของการรับสมัคร

นี่คือการคาดการณ์ประเทศไทยในปีหน้า ถึงเดือนมีนาคม 2566

ปฏิรูปครับ ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปแล้ว ไม่มีอะไรเสียของครับ