ภาพสะท้อนผลโพลปี ’65 ‘อุ๊งอิ๊ง’ ตัวตึง-‘บิ๊กตู่’ ตีตื้น จับตาภารกิจ รทสช. ลุ้นเป้าหมาย25ส.ส.

แน่ชัดว่าการเมืองปี 2566 จะเดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มรูปแบบ

ช่วงปลายปี 2565 พรรคการเมืองทุกพรรคทุกขนาดทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างเริ่มโหมโรงเปิดนโยบาย และจัดวางตัวว่าที่ผู้สมัครหวังช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส. ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตั้งแต่หลักสิบ หลักร้อย ไปจนถึงแลนด์สไลด์

การกำหนดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค เริ่มมีความคมชัดมากขึ้น

หลักๆ ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เพิ่งประกาศเป็นแคนดิเดตนายกฯ ให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งพรรคก้าวไกล

ระดับรองลงมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยสร้างไทย เป็นต้น

ในกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ใครมีโอกาสไปถึงฝั่งฝันมากน้อยขนาดไหน พรรคการเมืองใดจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตัวชี้วัดอย่างหนึ่งคือผลสำรวจคะแนนนิยมจากประชาชน ที่สำนักโพลต่างๆ จัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “นิด้าโพล”

 

ที่ผ่านมาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้าโพล สำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส จำนวนทั้งสิ้น 4 ครั้ง ครอบคลุมช่วงระยะเวลาตลอดทั้งปี 2565

ผลที่ออกมาเป็นการขับเคี่ยวกันทั้งตัวบุคคลที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกฯ และพรรคการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนในแต่ละช่วงเวลา ที่สำคัญถือเป็นภาพสะท้อนถึงคะแนนนิยมของแต่ละซีกการเมือง ทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายอำนาจ

ล่าสุด จากการสำรวจรายไตรมาส ครั้งที่ 4/2565 ในเดือนธันวาคม ต่อข้อถามถึง “บุคคล” ที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ในวันนี้

อันดับ 1 ร้อยละ 34 ยังเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ด้วยเหตุผลชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายพรรคสามารถทำได้จริง ต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ และชื่นชอบผลงานตระกูลชินวัตร

แต่ที่น่าสนใจอยู่ตรงผลสำรวจรอบไตรมาส 4 นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 2 ร้อยละ 14.05 ด้วยเหตุผลเป็นคนตรงไปตรงมา พูดจริงทำจริง มีความซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ

อันดับ 3 ร้อยละ 13.25 เป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพราะต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ มีวิสัยทัศน์และแนวคิดแบบคนรุ่นใหม่

ส่วนอันดับ 4 ร้อยละ 8.25 ระบุ ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจรายไตรมาส ครั้งที่ 3 พบทั้ง 3 คนได้รับสัดส่วนเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้น น.ส.แพทองธาร ยังคง “ยืนหนึ่ง” ทำคะแนนทิ้งห่างอันดับ 2 พล.อ.ประยุทธ์ หลายช่วงตัว

 

ส่วนผลสำรวจในส่วน “พรรคการเมือง” ที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พรรคเพื่อไทยยังคงนำ ร้อยละ 42.95, พรรคก้าวไกล อันดับ 2 ร้อยละ 16.60

อันดับ 3 ร้อยละ 8.30 ไม่สนับสนุนพรรคใด, อันดับ 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 6.95, อันดับ 5 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 5.35, อันดับ 6 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 5.25

ขณะที่พลังประชารัฐ พรรคแกนนำตั้งรัฐบาลเมื่อปี 2562 ผลโพลรอบนี้ตกไปอยู่อันดับ 7 เสียงสนับสนุนร้อยละ 4

เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจรายไตรมาส ครั้งที่ 3/2565 พบว่าพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งเป็นพรรคตั้งใหม่ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ มีสัดส่วนเสียงสนับสนุนลดลง

 

เพื่อความชัดเจน ต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่แรกการสำรวจรายไตรมาส ครั้งที่ 1/2565 เดือนมีนาคม ต่อบุคคลที่จะสนับสนุนป็นนายกฯ อันดับ 1 ร้อยละ 27.62 ระบุ ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ 2 ร้อยละ 13.42 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, อันดับ 3 ร้อยละ 12.67 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอันดับ 4 ร้อยละ 12.53 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร

สำหรับพรรคการเมืองที่จะสนับสนุน อันดับ 1 ร้อยละ 28.86 ไม่สนับสนุนพรรคใด, อันดับ 2 ร้อยละ 25.89 พรรคเพื่อไทย และอันดับ 3 ร้อยละ 16.24 พรรคก้าวไกล

 

การสำรวจรายไตรมาส ครั้งที่ 2/2565 เดือนมิถุนายน ประเด็นบุคคลที่จะสนับสนุนป็นนายกฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขยับขึ้นมาอันดับ 1 ด้วยคะแนนร้อยละ 25.28

อันดับ 2 ร้อยละ 18.68 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 3 ร้อยละ 13.24 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และอันดับ 4 ร้อยละ 11.68 เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พรรคการเมืองที่จะสนับสนุน อันดับ 1 ร้อยละ 36.36 พรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 18.68 ไม่สนับสนุนพรรคใด, อันดับ 3 ร้อยละ 17.88 พรรคก้าวไกล และอันดับ 4 ร้อยละ 7 พรรคพลังประชารัฐ

 

ผลสำรวจรายไตรมาส ครั้งที่ 3/2565 เดือนกันยายน คำถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ อันดับ 1 ร้อยละ 24.16 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ 2 ร้อยละ 21.60 ระบุ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, อันดับ 3 ร้อยละ 10.56 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และอันดับ 4 ร้อยละ 10.12 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุน อันดับ 1 ร้อยละ 34.44 ยังเป็นพรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 24 ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย, อันดับ 3 ร้อยละ 13.56 ระบุ พรรคก้าวไกล อันดับ 4 ร้อยละ 7.56 พรรคประชาธิปัตย์ และอันดับ 5 ร้อยละ 5.56 พรรคพลังประชารัฐ

ทั้งนี้ ในการสำรวจรายไตรมาส ครั้งที่ 4/2565 เหตุผลที่คะแนนตัวบุคคลของทั้ง น.ส.แพทองธาร พล.อ.ประยุทธ์ และนายพิธา มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น คาดว่าส่วนหนึ่งมาจากความชัดเจนในเรื่องแคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคเปิดออกมา สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในสังคม

 

ระหว่างนั้นในปี 2565 ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน นิด้าโพลยังสำรวจหัวข้อ “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ” แบบเจาะรายภาคทั้งประเทศ

โดยคนที่ใช่ พรรคที่ชอบของคนภาคกลาง บุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ อันดับ 1 ร้อยละ 24.18 น.ส.แพทองธาร อันดับ 2 ร้อยละ 16.73 นายพิธา

อันดับ 3 ร้อยละ 16.23 พล.อ.ประยุทธ์ และอันดับ 4 ร้อยละ 13.54 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

พรรคที่คนภาคกลางมีแนวโน้มเลือกให้เป็น ส.ส.เขต อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 32.42 อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 19.98 และอันดับ 3 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 13.99

สอดรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่อันดับ 1 ยังเป็นพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 32.57 อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 19.83 และอันดับ 3 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 14.28

 

ถัดมาเป็นคนที่ใช่ พรรคที่ชอบของคน กทม. บุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ อันดับ 1 ร้อยละ 20.40 คือ นายพิธา อันดับ 2 พล.อ.ประยุทธ์ ร้อยละ 15.20 และอันดับ 3 น.ส.แพทองธาร ร้อยละ 14.10

แต่พรรคที่คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.เขต อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 28.50 อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 26.45 อันดับ 3 พรรคพลังประชารัฐ

ส่วนพรรคที่คนกรุงมีแนวโน้มเลือกให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 ยังเป็นพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 28.60 อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 26.10 อันดับ 3 ร้อยละ 10.15 ยังไม่ตัดสินใจ

สำหรับคนที่ใช่ พรรคที่ชอบของคนภาคเหนือ น.ส.แพทองธาร ครองอันดับ 1 ตามคาด ด้วยสัดส่วนเสียงสนับสนุนร้อยละ 31.70 นายพิธา ตามมาอันดับ 2 ร้อยละ 15 อันดับ 3 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ร้อยละ 12.65 และอันดับ 4 พล.อ.ประยุทธ์ ร้อยละ 12.50

เช่นเดียวกับพรรคที่คนเหนือมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ เพื่อไทยยังมาเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 48.70 และ 48.75 ตามลำดับ ภาคเหนือจึงถือเป็นฐานที่มั่นเพื่อไทยอย่างแท้จริง

ภาคใต้ บุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ อันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ เป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 23.94 อันดับ 2 น.ส.แพทองธาร ร้อยละ 13.24 อันดับ 3 ร้อยละ 12.79 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ และอันดับ 4 นายพิธา ร้อยละ 11.24

อย่างไรก็ตาม พรรคที่คนใต้มีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.เขต กลับเป็นประชาธิปัตย์ ที่ขึ้นอันดับ 1 ร้อยละ 27.49, อันดับ 2 เพื่อไทย ร้อยละ 14.94, อันดับ 3 พลังประชารัฐ ร้อยละ 12.09 และอันดับ 4 ก้าวไกล ร้อยละ 11.84

 

ส่วนแนวโน้ม ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 ประชาธิปัตย์ ร้อยละ 27.64, อันดับ 2 เพื่อไทย ร้อยละ 15.54, อันดับ 3 ร้อยละ 12.54 ยังไม่ตัดสินใจ, อันดับ 4 ก้าวไกล ร้อยละ 12.49 และอันดับ 5 พลังประชารัฐ ร้อยละ 11.89

สุดท้ายเป็นภาคอีสาน น.ส.แพทองธาร เป็นบุคคลที่ชาวอีสานจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ อันดับ 1 ร้อยละ 36.45 อันดับ 2 นายพิธา ร้อยละ 12.65 อันดับ 3 คุณหญิงสุดารัตน์ ร้อยละ 10.20 ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ อยู่อันดับ 4 ร้อยละ 9.85

พรรคที่คนอีสานมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.เขต อันดับ 1 ร้อยละ 54.35 เป็นเพื่อไทย ทิ้งห่างอันดับ 2 ก้าวไกล ที่ได้ร้อยละ 13.60 อันดับ 3 ร้อยละ 8.50 ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 4 ภูมิใจไทย ร้อยละ 5.60 และอันดับ 5 พลังประชารัฐ ร้อยละ 5.30

ใกล้เคียงแนวโน้มพรรคที่คนอีสานจะเลือกให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 เพื่อไทย ร้อยละ 51.40 อันดับ 2 ก้าวไกล ร้อยละ 15.10 อันดับ 3 ร้อยละ 9.10 ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 4 ภูมิใจไทย ร้อยละ 5.35 และอันดับ 5 พลังประชารัฐ ร้อยละ 5.25

 

ผลสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองของนิด้าโพลทั้ง 4 ไตรมาสของปี 2565 เป็นภาพสะท้อนทิศทางการเมืองในปีหน้า

แต่ก็มีสิ่งบ่งชี้จากผลสำรวจคือ ไม่ว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แห่งพรรคเพื่อไทย หรือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งพรรคก้าวไกล ล้วนได้รับคะแนนสนับสนุนตัวบุคคลน้อยกว่าคะแนนพรรค มีเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้คะแนนมากกว่าคะแนนของพรรครวมไทยสร้างชาติ

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเป็นแคนดิเดตนายกฯ ให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่เพียงเป็นผลดีต่อพรรค ยังเป็นผลดีต่อประชาชนที่จะได้มีข้อพิจารณาตัดสินว่าจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งอยู่ในอำนาจมา 8 ปี ได้ไปต่อหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์มี “ตัวช่วย” สำคัญคือ “พรรค ส.ว.” ที่มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 272

แต่ก่อนไปถึงขั้นตอนนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ จำเป็นต้องดำเนินการทุกวิธีให้ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.อย่างน้อย 25 คน เพื่อมีสิทธิ์เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ หากทำไม่ได้ ความพยายามทุกอย่างจะเท่ากับศูนย์

ไม่กี่วันก่อนสิ้นปี 2565 หลังความชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ พรรครวมไทยสร้างชาติเปิดตัวนักการเมืองมีชื่อเสียงที่ดึงเข้ามาร่วมสังกัด ทั้งนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายชุมพล กาญจนะ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และนายชัชวาลล์ คงอุดม หรือชัช เตาปูน อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคพลังท้องถิ่นไท

ก็ต้องติดตามว่า “ขุนพล” เหล่านี้จะมีส่วนช่วยปลุกกระแสพรรคที่อยู่กลุ่ม “ท้ายตาราง” ให้ขยับตีตื้นขึ้นมาได้หรือไม่ ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนเลือกตั้ง

ภารกิจนำพา พล.อ.ประยุทธ์กลับสู่อำนาจ จะสำเร็จเป็นจริงได้หรือไม่

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนในวันเลือกตั้ง