เสถียร โพธินันทะ : นายแพทย์ตันม่อเซี้ยง [ดังได้สดับมา]

นอกจากช่วงชิงเวลาส่วนหนึ่งไปเรียนภาษาจีนจากโรงเรียนเผยอิง ความสัมพันธ์ที่สำคัญหนึ่งของ ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ คือความสัมพันธ์กับพุทธสมาคมจีน

ดังคำบอกเล่าของ สุชีพ ปุญญานุภาพ

เพราะเหตุที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนามาแต่อายุน้อยจึงสนใจติดต่อกับชาวจีนที่มีความรู้ดีทางพระพุทธศาสนา และสมาคมพระพุทธศาสนาฝ่ายจีนที่นับว่าเด่นมากในด้านการค้นคว้าและวิชาการทางพระพุทธศาสนาก็คือ

“สมาคมพุทธบริษัทไทยจีนประชา” หรือที่เรียกในภาษาจีนว่า “ไทก้กตกฮั้วหุกฮักเงี่ยงกิ้วเสีย” ชื่อในภาษาจีนนี้ถ้าจะแปลเป็นไทยให้ตรงความหมายก็คือ สมาคมค้นคว้าทางพระพุทธศาสนาไทยจีน กรรมการหลายท่านของสมาคมนี้มีความรู้ทางมหายานอย่างดี ทั้งยังมีการชุมนุมแสดงปาฐกถา สวดมนต์ สนทนาธรรมเป็นประจำด้วย

สมาคมนี้ตั้งอยู่บนตึกชั้นบนของห้างเยาวราช (ตอนนั้นยังมิได้ย้าย) หลังวัดกันมาตุยาราม

ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ ได้ไปติดต่อสนทนาธรรม ซักไซ้ไต่ถามผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้ใหญ่มีความรู้สูง เช่น นายแพทย์ตันม่อเซี้ยง

ดังข้อเขียนของ สมพร เทพสิทธา ที่ว่า

ในสมัยนั้น นายแพทย์ตันม่อเซี้ยง ยังพูดและเขียนภาษาไทยไม่คล่อง เมื่อนายแพทย์ตันม่อเซี้ยงแสดงปาฐกถาเป็นภาษาจีน คุณเสถียรก็ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลเป็นภาษาไทย

และไม่ได้แปลอย่างเดียว ยังอธิบายเพิ่มเติมให้ผู้ฟังเข้าใจซาบซึ้งยิ่งขึ้น

เห็นได้จากบันทึกท้ายปาฐกกถาเรื่อง “ข้อปฏิบัติสำคัญของนิกายฌาน” ของนายแพทย์ตันม่อเซี้ยง คุณเสถียรได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

ที่ว่านิกายฌานเป็นนิกายย่นทางตรัสรู้ให้เร็ว คือไม่ต้องรักษาศีลก่อนแล้วจึงค่อยหัดทำสมาธิ แล้วจึงไปขั้นปัญญานั้นถ้าจะดูตามหลักฐานต่างๆ ในปกรณ์ฝ่ายของเราก็จะพบว่าได้มีพระอรหันต์เป็นจำนวนมากที่ไม่ได้ผ่านการรักษาศีล หรือการทำสมาธิอย่างชนิดสูงๆ

แต่ว่าได้ตรัสรู้กันในขณะฟังธรรมบรรยายของพระศาสดา เช่น พระยศและเหล่ามิตรสหายเป็นต้น

ท่านเหล่านี้มิใช่พวกตรัสรู้อย่างฉับพลันหรือว่าไร

อันพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เล่า ทางพระพุทธศาสนา (ไม่เป็นของนิกายใดนิกายหนึ่ง) ก็ได้วางแนวไว้ 2 ทาง

ทางหนึ่ง ได้แก่พวกที่ตรัสรู้ด้วยการบำเพ็ญเพียรทางศีลแล้วเลื่อนขึ้นมาบำเพ็ญเพียรทางสมาธิหนักในทางจิตจนสามารถบรรลุฌานต่างๆ ทั้งรูปฌาน อรูปฌาน

เมื่อจิตถูกอบรมฝึกฝนจนมีอำนาจแข็งแกร่งแล้วก็ใช้อำนาจแห่งจิตนั้นทำลายอวิชชาเสียได้ เรียกกันว่า “เจโตวิมุตต์” แปลว่าหลุดพ้นด้วยอำนาจจิต พระอริยเจ้าเหล่านี้เพราะเหตุที่บรรลุฌานมาก่อนจึงสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ได้

ทางหนึ่ง ได้แก่ท่านที่ใช้อำนาจปัญญาพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายตามเป็นจริงจนสามารถหลุดพ้นทุกข์ได้

พวกนี้ไม่จำเป็นต้องได้ฌานสมาบัติ เพียงแต่มีสมาธิขั้นต่ำๆ แล้วยกจิตขึ้นสู่ปัญญาเท่านั้น เรียกว่าพวก “ปัญญาวิมุตต์” แปลว่าหลุดพ้นด้วยอำนาจปัญญา แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อะไรไม่ได้

พระอริยเจ้าทั้ง 2 พวกนี้ถ้าเราพิจารณากันดูแล้ว หลักธรรมะในนิกายฌานก็คือการปฏิบัติเอาทางปัญญากันโดยเฉพาะ อันได้แก่พวกหลังนี้เอง คำสอนทางฝ่ายของเราก็มีกล่าวเป็นไปอย่างทำนองนี้หลายแห่ง เช่น พุทธภาษิตในติลักขณาทิคาถาว่า

“เมื่อใดมาเห็นสังขารทั้งหลายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ อันนี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์หมดจด”

พุทธภาษิตนี้ไม่ได้บอกว่าต้องรักษาศีลแล้วทำสมาธิจึงจะเกิดมีปัญญาหลุดพ้นทุกข์ได้ แต่ว่าเมื่อมีปัญญาเห็นแจ้งในพระไตรลักษณ์แล้วก็เป็นเหตุให้หลุดพ้นได้ เป็นการแสดงความสำคัญของปัญญาไปในตัว

เพราะเหตุว่า ขณะใดมีปัญญาขณะนั้นก็มีสมาธิและศีลไปในตัว ขณะใดมีสมาธิขณะนั้นก็มีศีล

จากนี้จึงเห็นได้เป็นลำดับว่า ทิศทางของ ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ คือคบหาและสนทนาธรรมกับเหล่าบัณฑิต

ไม่ว่าบัณฑิตอย่าง สุชีโวภิกขุ ไม่ว่าบัณฑิตอย่างนายแพทย์ตันม่อเซี้ยง

ผลก็คือได้ท่องเข้าไปในความลึกซึ้งของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาอย่างที่เรียกว่าฝ่ายเรา คือฝ่ายบาลี หรือศาสนาอย่างที่เรียกว่าฝ่ายเขา คือฝ่ายสันสกฤต ฝ่ายมหายาน

จากนั้นก็พัฒนาการไปสู่ความคิดในการจัดตั้งองค์กรพุทธของคนหนุ่ม