ลัทธิอันตราย ในการปกครองของไทย

ที่จริง บทบาททางการเมืองของ “คสช.” ที่ก่อรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ควรจะจบลงในเวลา 1 ปี อย่างไม่ซ่อนเร้นอำพราง

รุ่นพี่อย่าง พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ กับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เมื่อครั้งทำรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ที่ตั้งชื่อคณะของตัวเองว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” หรือ “รสช.” นั้น ทีแรกก็มีท่วงท่าคล้าย “ประสงค์ดี” ยึดอำนาจเสร็จไปเชื้อเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ต้องไม่ลืมว่า ทุกครั้งที่ทำรัฐประหาร “ผู้นำทหาร” จะคิดหามุขมาอธิบายความ

เป้าหมายหนึ่ง เพื่อใส่ร้ายป้ายสีพรรคการเมืองและนักการเมืองพลเรือน

วาทกรรมอมตะที่นิยมใช้ก็คือ มีการทุจริตคอร์รัปชั่น!

สอง เพื่อบอกกล่าวว่า “คณะคนดี” มีความชอบธรรมในการยึดอำนาจและสืบทอดอำนาจต่อไปให้ยาวนานที่สุด

ภายหลังรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 “สุจินดา” รองหัวหน้า รสช. หรือหัวหน้าตัวจริง ประกาศ “ไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”

ตอนนั้นยังมีคนเชื่อว่าเพราะมียางอาย

แท้จริงเป็นลีลา

ระหว่างที่ “อานันท์” เป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพ “ทหาร” ให้สมัครพรรคพวกเขียนกติกาการเมืองขึ้นมาใหม่ พร้อมกับส่งบริวารตั้งพรรคการเมืองชื่อ “สามัคคีธรรม”

ใครจะกล่าวหาว่าเป็น “พรรคทหาร” ได้อย่างไรเมื่อนายณรงค์ วงศ์วรรณ ที่ถูก คสช.สั่งอายัดทรัพย์เป็นหัวหน้าพรรค

พอกติกาใหม่เสร็จก็จัดให้มีการเลือกตั้ง

ปลดล็อกให้ “ณรงค์ วงศ์วรรณ” จากการถูกอายัดทรัพย์

ในที่สุด ผลการเลือกตั้งก็เป็นไปตามความคาดหมายของ “ท่านผู้นำ”

พรรคการเมืองใหม่ๆ อย่าง “สามัคคีธรรม” มีอิทธิฤทธิ์กลายเป็น “พรรคแกนนำ” รวมตัวกับพรรคชาติไทย กิจสังคม ประชากรไทย และพรรคราษฎร ได้คะแนน 195 เสียง เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล

“ณรงค์ วงศ์วรรณ” หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมที่ทุกคนเชื่อว่าเป็นนอมินี “พรรคทหาร” ประสบอุบัติเหตุทางการเมือง ไม่สามารถเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

แต่ Thailand only!!

อีก 194 เสียงของ ส.ส.ที่เหลือนั้นกลับไม่มีแม้แต่คนเดียวที่กล้ารับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”!

ภาพลักษณ์ของนักการเมืองมีแต่ชวนให้เสื่อม

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งมีสถานะเป็นแค่ “นั่งร้าน” อันมั่นคง

ต่างยินดีประเคนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ตัวจริงเสียงจริงของ “รสช.” ผู้เคยประกาศก่อนนี้ว่า “ไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”

แต่มาคราวนี้ “สุจินดา” กล่าวใหม่ว่า

“ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์”!

นำไปสู่วาทกรรมเชื้อเพลิงที่ว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ”!

ไฟประท้วงถูกจุดและลุกลามยืดเยื้อจน “สุจินดา” ต้องส่งทหารเข้าสลายการชุมนุมระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม 2535 บาดเจ็บเกือบ 2 พันคน ตายนับจำนวนได้หลายสิบ สูญหายหลายร้อย

3ป.เป็น “แกนนำ” รัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ตั้งชื่อคณะว่า “คสช.”

ต่างกันที่ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช.ไม่ได้มีท่วงท่าลีลาเขินอายเหมือน “สุจินดา”

ประยุทธ์ตั้งตนขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี” เสียเองในทันที

แค่ให้คนร้องเพลง “ให้สัญญา” ว่า “ขอเวลาไม่นาน” กล่อมไปพลางๆ

ในระหว่างนั้นก็ให้พรรคพวกเขียนกติกาใหม่ กระชับกับสืบทอดอำนาจ

แต่งตั้ง ส.ว.ใส่สภาเอาไว้ 250 คน ให้มีอำนาจหน้าที่ “เลือกนายกรัฐมนตรี” พร้อมกับส่ง 4 กุมารในคณะรัฐบาลรัฐประหารไปตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พลังประชารัฐ”

พอกติกาใหม่เสร็จก็จัดให้เลือกตั้ง

เลือกตั้งเสร็จก็มีปรากฏการณ์ Thailand Only ให้เห็น

พรรคการเมืองหน้าใหม่ที่ใครๆ ก็เชื่อว่าเป็น “พรรคทหาร” นั้นกลายเป็น “พรรคแกนนำ” จัดตั้งรัฐบาล เสนอชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี “ผู้แทนราษฎร” จำนวนหนึ่งมีสภาพไม่ต่างไปจาก “นั่งร้าน”

รัฐบาลหลังเลือกตั้งแปลงโฉมโดยอาศัยกระบวนการเลือกตั้งกับ “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ที่หัวหน้า คสช.แต่งตั้ง 250 ส.ว.เอาไว้ให้ “ยกมือ” เลือกนายกรัฐมนตรี

3 ป.จึงมาครบ!

ในวันนั้นที่ 3 ป.เป็นปึกแผ่น “พลังประชารัฐ” ก็หมดความจำเป็นที่จะใช้งานโคถึก “อุตตม สาวนายน-สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์-สุวิทย์ เมษินทรีย์-กอบศักดิ์ ภูตระกูล” อดีต 4 รัฐมนตรีผู้ก่อตั้งพรรค และเคยประกาศสนับสนุน “ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อ “ป-ป้อม” หัวหน้าพรรคตัวจริงปรากฏ 4 กุมารก็ต้องยุติบทบาทที่เคยเจ้ากี้เจ้าการ โบกมือลาจากพลังประชารัฐ

“ป-ป้อม” พี่ใหญ่ดุจพี่เลี้ยงและเสาค้ำ

 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

นับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 มาจนถึงบัดนี้ “ประยุทธ์” ครองอำนาจยาวนาน 8 ปีกับ 7 เดือน

“ประยุทธ์” อยู่นานจน “พี่ป้อม” ยังรู้สึกได้ว่า นานเกินไป!

นี่ไม่เรียกว่า “ขอเวลาไม่นาน” แล้ว

ทั้งยังทำท่าว่าจะไปต่อพร้อมกับปรากฏภาพที่คล้ายๆ กับ 4 กุมารออกไปตั้งพรรคพลังประชารัฐ

“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้รับแต่งตั้งเป็น “เลขาธิการนายกรัฐมนตรี”

คนใกล้ตัวอย่าง “พีระพันธุ์” ที่เป็น “หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ” คนนี้ถูกมองว่าจะเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่สนับสนุน “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีอีกวาระหลังเลือกตั้งในปี 2566

ถึงเลือกตั้งครั้งหน้าก็ยังคงมี “มือ” จาก ส.ว.ที่มั่นคงเชื่อถือได้ยิ่งเสียกว่ามือของ ส.ส.จากพรรคการเมือง พร้อมโหวตสนับสนุนอดีตผู้นำจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ต่อไป

ต่างกันแค่ว่า หลังเลือกตั้งครั้งหน้า 250 ส.ว.อาจ “เสียงแตก” แยกวงออกเป็น สายหนึ่ง สนับสนุน “ป-ประวิตร วงษ์สุวรรณ” พี่ใหญ่ใจถึง

อีกสายหนึ่งสนับสนุน “ป-ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้มากับบทเพลง “…เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ที่สามารถหลบเลี่ยงข้อครหา “ตระบัดสัตย์” ได้แนบเนียนกว่า “สุจินดา”

 

ถ้าทบทวนกันอย่างจริงจังจะพบว่า ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาเป็นเวลาเกือบ 100 ปี การเมืองไทยได้วกวนอยู่แต่กับ “ทหาร” และ “รัฐประหาร”

รัฐประหาร-ผิดกฎหมาย

มีโทษทางอาญาร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ไม่เคยมีการชำระความ

“ผู้นำทหาร” ที่ก่อรัฐประหารรอดทุกครั้งยังไม่พอ ยังได้ทำลายระบบกฎหมาย แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ใช้กลไกรัฐเป็นเครื่องมือปราบปรามฝ่ายตรงข้ามชนิดที่ไม่ให้โงหัว เช่น ยุบพรรค ตัดสิทธิความเป็นพลเมืองที่มีสิทธิทางการเมือง

ลัทธิทหารครอบงำการเมืองไทย!?!!!