การทูต Quiet Diplomacy ของไทย สะท้อนอะไร? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

บนเวทีเสวนาเรื่อง “อวสานโลกาภิวัตน์” เมื่อเร็วๆ นี้นั้นเมื่อตั้งประเด็นร้อนอย่างนี้แล้วก็ต้องวิเคราะห์ว่าประเทศไทยพร้อมจะตั้งรับได้มากน้อยเพียงใด

เป็นส่วนหนึ่งของ The Standard Economic Forum 2022 ที่พยายามจะระดมความเห็นจากผู้รู้ทุกวงการเพื่อหาทางออกร่วมกันสำหรับประเทศไทย ที่เราเชื่อกันว่ากำลังยืนอยู่บน “ปากเหว”

หากไม่วิเคราะห์สถานการณ์รอบโลกให้ถ่องแท้และรอบด้าน ไทยอาจจะร่วงลงไปในหุบเหวที่ไม่สามารถจะกอบกู้กลับมาได้

มองภาพรวมของความท้าทายที่กำลังจะเขย่าระเบียบโลกและทำลายความหมายดั้งเดิมของ “โลกาภิวัตน์” แล้วน่ากังวลหลายด้าน

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ บอกบนเวทีว่า ความจริงโลกาภิวัตน์ได้มีการเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว และกำลังจะเปลี่ยนต่อไป

เช่น เศรษฐกิจแบบพหุภาคีนิยมกำลังเปลี่ยนไปสู่ภูมิภาคนิยม เดิมมีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลางก็คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง แต่ปัจจุบันมีการให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคแทน เช่น กลุ่ม RCEP, CPTPP หรือ APEC ที่ไทยเพิ่งเป็นเจ้าภาพ

“เราจะเห็นว่าระเบียบโลกนั้นเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือ การค้าเสรี การลงทุน ซึ่งหดจากพหุภาคีนิยมมาเป็นภูมิภาคนิยม

“เช่น จีนตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอเชียขึ้นมา

“ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีใครเสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา รับรองได้ว่าธนาคารโลกย่อมไม่ยอมแน่

“แต่เมื่อภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยน จีนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากขึ้น เวลาเสนออะไรขึ้นมา ชาติตะวันตกก็อาจจะเห็นด้วย”

สงครามยูเครน-รัสเซียก็มีส่วนท้าทายโลกาภิวัตน์ยังถูกท้าทายอย่างปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน

เพราะมาตรการคว่ำบาตรส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศ การเกิดวิกฤตพลังงาน และปัจจุบันห่วงโซ่อุปทานถูกเขย่า และเกิดอาการเรรวนอย่างแรงที่เรียกว่า “ดิสรัปชั่น”

ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มคิดที่จะพึ่งพาตนเองมากขึ้น เพราะหวังจะมีเครือข่ายระดับโลกอย่างที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว

สหรัฐต้องการแยกเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน ด้วยศัพท์แสง Decoupling แต่เป็น Managed Decoupling หรือการแยกตัวแบบมีการบริหารจัดการ เช่น ต้องการค้าขายลงทุนกับประเทศที่เป็นมิตร (Friendshoring)

ด้วยเหตุนี้ โลกจึงปั่นป่วนไปหมด

ไม่แต่เท่านั้น โลกาภิวัตน์ยังถูกท้าทายจากการแข่งขันของมหาอำนาจในด้านการเมือง

โลกแบ่งเป็นสองขั้ว คือกลุ่มประชาธิปไตยกับกลุ่มเผด็จการ ในทางหนึ่งก็บีบให้ประเทศต่างๆ ต้องเลือกฝ่าย

ซึ่งก็หนีไม่พ้นว่าจะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ

ขณะที่เวทีพหุนิยมที่มีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลางอ่อนแอลง ตัวอย่างเช่น การโหวตมติในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงหรือเวทีสมัชชาใหญ่ไม่มีความเป็นเอกภาพ เมื่อมีมหาอำนาจคัดค้านก็ไม่สามารถทำอะไรต่อได้

คำถามใหญ่คือ “ไทยเราพร้อมแค่ไหน?” พร้อมสำหรับอนาคตหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Future Ready Thailand เพียงใด?

คำตอบก็คือไทยยังขาดการวาดภาพอนาคต

และที่สำคัญคือไทยต้องปฏิรูประบบราชการด้วย

 

ดร.สุรเกียรติ์ชี้ว่า การต่างประเทศไม่ใช่การต่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น

แต่ในบางครั้งกระทรวงการต่างประเทศรับบทเป็นเพียงผู้สนับสนุนหรือช่วยขับเคลื่อน โดยมีหน่วยงานอื่นหรือภาคเอกชนเป็นตัวนำ

คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรที่ภาครัฐทั้งทบวง กระทรวง กรม หรือเอกชน ภาคประชาสังคมจะร่วมกันหาจุดยืนในด้านการต่างประเทศ

ซึ่งจะต้องเป็นการต่างประเทศของประเทศไทยอย่างแท้จริง

นั่นหมายความว่าผู้นำก็ต้องรับฟังมากขึ้น ต้องโน้มตัวลงมารับฟังมากขึ้น

 

ในเวทีระหว่างประเทศ ไทยเราบอกว่าจะ “วางตัวเป็นกลาง” ในทางความจริง เรายังทำตัว “เป็นกลาง” ในโลกปั่นป่วนเช่นนี้ได้จริงหรือ?

ในฐานะอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ดร.สุรเกียรติ์บอกว่า

“ในยุคที่เปลี่ยนแปลงไป เรามักพูดถึงการเป็นกลาง แต่อันที่จริงเรื่องบางเรื่องเราเป็นกลางไม่ได้ แต่เราต้องเลือกข้าง คือเลือกข้างที่ถูกต้อง เราเป็นประเทศเล็กแต่ต้องอยู่ข้างหลักการ อยู่ข้างกฎหมายระหว่างประเทศ เราต้องปรับตัวเพื่อเดินเข้าสู่ระเบียบใหม่ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้ได้

พอมาถึงประเด็นนี้ก็มีคำถามต่อเนื่องว่าไทยจะอ้างว่าวางตัวเป็นกลางและไม่มีหลักคิดชัดเจน เรากำลังเห็นบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศอย่างไร?

ตั้งประเด็นว่า : จากยูเครนถึงไต้หวัน ไทยควรวางหมากอย่างไรในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลก

 

ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย เสนอแนววิเคราะห์ที่น่าสนใจยิ่ง ท่านบอกว่า “ไทยทำตัวเหมือนเราเป็น ‘มนุษย์ล่องหน’ (Invisible Man) คือพยายามล่องหน หายตัว และไม่ปรากฏตัวด้วยเวลาเรามีปัญหา

“วิธีที่เราใช้คือ งดออกเสียง ถ้ามีการลงมติอะไรก็ตาม เราเดาได้เลย รัฐบาลที่กรุงเทพฯ จะใช้วิธีงดออกเสียง นโยบายนี้กำลังสะท้อนว่าเรากำลังหนีหรือเอาตัวเองออกจากเวทีโลก…”

ดร.สุรชาติตั้งประเด็นต่อว่า

ในปี 2023 อะไรจะเป็นสถานการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้น แล้วรัฐบาลที่กรุงเทพฯ จะตัดสินใจอย่างไร หรือเรายังเชื่อว่าชุดความคิดที่พาตัวเองออกจากกระแสโลกเป็นสิ่งที่ดี เชื่อว่าความเป็นกลางต้องไม่อยู่ในกระแสโลก ความเป็นกลางต้องไม่หมุนตามโลก โลกจะโหวตอย่างไร เราจะไม่โหวตอย่างนั้น

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ หลังการรัฐประหารเมียนมา ประเทศไทยแทบไม่มีบทบาทเลย และพยายามจะไม่มีบทบาทด้วย และพยายามที่จะไม่มีบทบาทต่อไป

“พอเอาเข้าจริง ผมไม่แน่ใจว่าเรามีการกระซิบจริงๆ ไหม มีการทูตแบบ Quiet Diplomacy จริงๆ ไหม ยกตัวอย่างง่ายๆ ในอดีตเราพยายามที่จะโน้มน้าวเมียนมาให้ปรับเปลี่ยนการต่างประเทศให้เข้าสู่เส้นทางการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย

“แต่ในระยะหลัง ผมคิดว่าการรัฐประหารในเมียนมารอบนี้ หลายฝ่ายคาดหวังว่าบทบาทของไทยน่าจะดีกว่านี้

“บทบาทของไทยน่าจะมีส่วนช่วยทำให้ผู้นำทหารเมียนมาเห็นโจทย์อีกด้านหนึ่งที่ใช้ความรุนแรงลดน้อยลง หรือบทบาทของไทยในการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งเราสามารถเล่นเป็นพระเอกได้ แต่เราก็ไม่เล่น แปลว่าการทูตไทยในทุกวันนี้เป็นแบบ Quiet Diplomacy ในความหมายที่จะไม่ทำและจะไม่ทำอะไรเลย”

ในฐานะเป็นอาจารย์สอนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ดร.สุรชาติบอกว่า

“เวลาเราสอนเรื่องนโยบายต่างประเทศ เราสอนในช่วงเวลายาวๆ แล้วเรารู้สึกว่าตกลงมันเกิดอะไรขึ้น

“หลังรัฐประหาร 2014 ทำไมชุดความคิดด้านการต่างประเทศไทยหลังปี 2014 มันเหมือนหายไปเลย ไม่ใช่ตกยุคนะ แต่หายไปเลย

“หรือว่าปัญหาอยู่ที่วิสัยทัศน์ของกลุ่มผู้นำที่ไม่มีชุดความคิดด้านการต่างประเทศที่ชัดเจน พอเราจะดำเนินการทูตแบบ Quiet มันก็ยิ่ง Quiet มากขึ้น ทำให้เสน่ห์ไทยไม่มี ถ้าเราบอกว่าเราไม่ต้องการให้โลกจับตามองเรา นั่นอาจเป็นเพราะผลพวงของรัฐประหาร

“แต่พอยิ่งเล่นขึ้น นานขึ้นๆ เราติดนิสัยที่จะเป็นคนไม่พูด ไม่แสดงออก และเชื่อว่าการไม่พูดและไม่แสดงออกบนเวทีโลกจะเป็นสิ่งที่พิทักษ์เรา แต่สำหรับผมว่าไม่ใช่ แต่กลับเป็นการทำลายผลประโยชน์ของตัวเราเอง”

 

ดร.สุรเกียรติ์เสริมว่า Quiet Diplomacy ก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายเสมอไป

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด Quiet Diplomacy ต้องนำมาซึ่งผลที่จับต้องได้

และเล่าประสบการณ์ขณะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยว่า

“ในช่วงนั้นมีการติดต่อกับเมียนมาเยอะมาก ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีประชาธิปไตยและจับออง ซาน ซูจี ขังอยู่ แต่เราก็ใช้วิธีการพูดกันแบบไม่เป็นข่าว เราสามารถไปเล่าให้โลกฟังว่า เราไปคุยกับเขาว่าอะไร สิ่งนี้ทำให้ Quiet Diplomacy ช่วยยกสถานะของเราว่า เราใช้การทูตวิธีนี้ เพื่อโลกจะได้ทำงานร่วมกัน กล่าวคือ เราเป็นหน้าต่างประตูให้ติดต่อกับเมียนมา

“แล้วเรายังสามารถใช้ Quiet Diplomacy โน้มน้าวเขา โดย Quiet Diplomacy ไม่ได้แปลว่าเงียบๆ แล้วไม่ได้ทำอะไรเลย หรือว่าทำไปแล้วไม่บอกอะไรให้ใครรู้เลยแม้แต่นิดเดียว เราโน้มน้าวเขาให้ค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ประชาธิปไตย หลังจากโน้มน้าวอยู่นานก็นำไปสู่การจัดงาน Bangkok Processing ที่เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมามาเล่าให้อีกสิบกว่าประเทศฟังว่า โรดแมปของประชาธิปไตยเมียนมาเป็นอย่างไร”

สิ่งนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า Quiet Diplomacy ควรนำไปสู่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้

(สัปดาห์หน้า : ทางออกประเทศไทย)