BARDO : FALSE CHRONICLE OF A HANDFUL OF TRUTHS ‘จริงบ้างไม่จริงบ้าง’

นพมาส แววหงส์

BARDO : FALSE CHRONICLE OF A HANDFUL OF TRUTHS ‘จริงบ้างไม่จริงบ้าง’

 

หนังเรื่องล่าสุดของผู้กำกับฯ ชาวเม็กซิกันผู้โด่งดัง ได้รับการกล่าวขวัญถึงพอดู และเน็ตฟลิกซ์ออกฉายในวันเวลาที่เกือบจะพร้อมๆ ไปกับการฉายในโรงที่อเมริกา

อเลฮานโดร กอนซาเลส อิญาร์ริตู สร้างผลงานที่โด่งดังและน่าจดจำไว้มากมายหลายเรื่อง นับแต่ Babel (แบรด พิตต์ เคต บลานเช็ตต์) จากการได้รับรางวัลใหญ่จากสถาบันภาพยนตร์สองครั้งติดๆ กันสองปี จาก Birdman : The Unexpected Virtue of Ignorance (ไมเคิล คีตัน) และ The Revenant (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ)

จากเครดิตและชื่อเสียงที่แทบไม่เป็นสองรองใคร ใครที่ไม่ยอมดูหนังของอิญาร์ริตูนั้นแปลว่าคงไม่ใช่แฟนหนังพันธุ์แท้

หนังของเขานั้นไม่ได้เล่าเรื่องแบบตักอาหารป้อนใส่ปากคนดูให้เคี้ยวกลืนเข้าไปง่ายๆ ทีละคำๆ แต่คนดูต้องเลือกสรรเอาเองสำหรับแต่ละคำ แล้วก่อนจะกลืน ก็ต้องเคี้ยวต้องย่อย ต้องอาศัยการตีความจากองค์ประกอบของภาพ เรื่องราว ตัวละคร สัญลักษณ์ และอุปมาอุปไมย จึงจะได้ลิ้มรสอร่อยและความเข้าใจกระจ่างเมื่อได้เห็นภาพรวมทั้งหมด

และแม้กระนั้น ต่อให้ทั้งหลายทั้งปวงจนจบสิ้นกระบวนความแล้ว ก็ยังคงมีบางส่วนที่ยังคงเป็นปริศนาให้ตีความกันต่อไป ซึ่งอาจจะผิดแผกแตกต่างกันไปตามทัศนะ วิสัย หรือจริตของคนดู

ที่น่าทึ่งคือ อิญาร์ริตูเป็นผู้กำกับฯ ที่มีจินตนาการกว้างไกลและบรรเจิด เป็นนักสร้างวิมานในอากาศ (visionary) ที่ถ่ายทอดภาพในหัวของเขาออกมาเป็นภาพบนจอภาพยนตร์อย่างชวนติดตรึง

ด้วยความยาวถึงสองชั่วโมงสี่สิบนาที และดูไปเรื่อยๆ แบบยังจับต้นชนปลายไม่ถูก และกว่าจะเข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องราวทั้งหมด ก็ใกล้จะถึงตอนจบอยู่แล้ว

กระนั้น ภาพที่ชวนพิศวงงงงันตะลึงตะไลไปในหลายฉากหลายตอนของหนัง ก็ยังคงติดตราอยู่ไม่รู้วาย

เรื่องราวที่เขาเล่าดูเหมือนจะมีความเป็นส่วนตัวเอามากๆ อาจจะไม่ถึงกับเป็นอัตชีวประวัติ แต่ก็ออกมาจากประสบการณ์ ทัศนคติและมุมมองต่อชีวิตเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านความสำเร็จส่วนตัว ทัศนะด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ของชาติ ความรักชาติ เพื่อนร่วมชาติ และชีวิตครอบครัว

ตัวเอกของเรื่อง เป็นนักหนังสือพิมพ์ (คำนี้อาจจะแคบไปแล้วที่จะใช้กับคำว่า journalist แต่ที่ยังใช้อยู่ก็เพราะความเคยชินค่ะ) และผู้สร้างหนังสารคดี ชื่อ ซิลเวริโอ (ดาเนียล จิมิเนซ คาโช) ตัวละครตัวนี้ปรากฏตัวอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทุกฉากทุกตอน ซึ่งก็น่าจะสื่อความหมายอะไรให้เรารู้บ้างละ

ซิลเวริโอกำลังจะได้รับรางวัลยิ่งใหญ่ด้านสื่อสารมวลชนของอเมริกา และเป็นชาวเม็กซิโกคนแรกที่จะได้รับเกียรติยศนี้ ซึ่งเขาคิดว่าเกียรติยศนี้ได้มาเนื่องจากนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการสานสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้านคือเม็กซิโก ซึ่งมีพรมแดนติดกัน และมีคนเม็กซิกันจำนวนมากอพยพมาอยู่ในอเมริกา ทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และที่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย

ที่ปราสาทเก่าแก่อันเป็นที่พำนักของเอกอัครราชทูตสหรัฐ ซิลเวริโอมองเห็นภาพการสู้รบจากการรุกรานของอเมริกา โดยที่ชาวเม็กซิกันผู้ปกป้องแผ่นดินเป็นเพียงเด็กหนุ่มผู้รักชาติ ที่พร้อมจะพลีชีพเพื่อชาติ เหตุการณ์นี้คือการรบที่ชาปุลเตเป็กใน ค.ศ.1847 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเม็กซิโก

ซิลเวริโอเป็นนักสร้างหนังสารคดี และเขาถูกเพื่อนร่วมชาติวิจารณ์ว่าไม่ได้เล่าเรื่องถูกต้องตรงความเป็นจริงทุกอย่าง แต่ซิลเวริโอก็แก้ต่างว่า ผลงานของเขาเป็น “สารนิยาย” หรือสารคดีกึ่งนิยาย (docufiction) เขาจึงสร้างเหตุการณ์จำลองขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้น

และเราก็เห็นเขาถ่ายทำสารคดีที่จำลองเหตุการณ์แบบนี้อีกครั้งในตอนถ่ายทำเหตุการณ์ในศตวรรษที่ 17 โดยมีบุคคลจริงในประวัติศาสตร์คือ แฮร์นาน คอร์เตส ผู้ที่ทำให้ดินแดนที่จะกลายเป็นประเทศเม็กซิโกนี้ตกเป็นอาณานิคมของสเปน

แต่นี่ก็ไม่ใช่หนังประวัติศาสตร์นะคะ ประวัติศาสตร์ของชาติเป็นเพียงส่วนหนึ่งในจิตสำนึกของซิลเวริโอ รวมทั้งความรู้สึกผิดที่เขาไปประสบความสำเร็จในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา ขณะที่เพื่อนร่วมชาติของเขายังคงกระเสือกกระสนที่จะมีชีวิตอย่างยากลำบาก และพยายามดิ้นรนให้พ้นไปจากบ้านเกิดเมืองนอน

ขณะที่ความรักชาติยังเป็นส่วนลึกที่ซ่อนเร้นอยู่ในสำนึกของชาวเม็กซิกัน

เพราะอย่างไรเสีย ประเทศใหม่ที่เขาไปใช้ชีวิตอยู่และเรียกว่า “บ้าน” ก็ยังไม่ยอมรับเขาอย่างเต็มตัว

เรื่องราวของซิลเวริโอ เป็นเรื่องส่วนตัวจากมุมมองของเขาทั้งนั้น โดยเริ่มด้วยภาพเวิ้งว้างแห้งผากเหมือนในทะเลทราย มีร่างเล็กๆ เป็นเหมือนขีดสองขีดจากขาสองข้าง เดินมุ่งหน้าไป และในบางครั้งก็กระโจนตัวลอยไปข้างหน้าลงสู่พื้น และภาพเวิ้งว้างเดียวกันนี้กลับมาเป็นตอนจบของเรื่อง โดยที่ร่างเล็กๆ นั้นกระโจนทะยานไปข้างหน้าอีกครั้ง และไม่ได้กลับลงสู่พื้นอีกแล้ว…

แล้วแต่จะตีความกันไปละค่ะ แต่ถึงอย่างไรผู้เขียนก็รู้สึกว่าเป็นตอนจบที่ลงตัวเอามากๆ

ประกอบกับในช่วงสุดท้ายนี้ เราก็จะได้เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับซิลเวริโอ ซึ่งไปปรากฏตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ในช่วงต้นและกลางเรื่องด้วย

แรกทีเดียว ผู้เขียนก็ไม่ทราบความหมายของชื่อหนังหรอกค่ะ นึกเอาเองว่า บาร์โด เป็นชื่อเมือง เหมือนอย่างในหนัง “โรมา” ของอัลฟองโซ คูอารอง ที่เป็นชื่อเมืองบ้านเกิดของตัวเอก แต่เผอิญไปเจอความหมายซึ่งทำให้รู้สึกว่าใช่เลย…ไม่ใช่คำในภาษาสเปนหรอกค่ะ และไม่ใช่ชื่อเฉพาะด้วย

แต่เป็นคำที่ใช้ในพุทธศาสนามหายานฝ่ายทิเบต เป็นสภาวะฉับพลันทันทีหลังความตาย แต่ยังไม่ได้ไปเกิดที่ไหน เรียกว่า “อันตรภพ” คล้ายๆ ความเชื่ออีกทางว่า คนตายพวกนั้นกลายเป็น “สัมภเวสี” เร่ร่อนอยู่และยังหาที่เกิดใหม่ไม่ได้

ถ้าจะเปรียบกับแนวคิดทางคริสต์ นี่ก็คือดินแดน “ลิมโบ” ซึ่งคนตายที่ไม่ได้รับศีลล้างบาป ต้องไปรอคำพิพากษาสุดท้ายอยู่น่ะค่ะ

เป็นหนังแปลกที่เสนอเรื่องราวพิสดารนะคะ แต่ถ้าคนชอบดูหนังและอยากดูอะไรแปลกใหม่ไปจากเรื่องราวซ้ำซากจำเจและการเล่าเรื่องตามขนบเก่าๆ ก็อยากแนะนำให้ดูค่ะ

จริงๆ แล้วมีประเด็นให้พูดถึงมากมายจนเรียบเรียงได้ไม่ครบถ้วนกระบวนความเลย

ท้ายที่สุดที่อยากพูดคือ วลีที่เป็นสร้อยต่อท้ายของหนัง (False Chronicle of a Handful of Truths หรือ บันทึกเหตุการณ์หลอกๆ จากเรื่องจริงแค่หยิบมือเดียว) ทำให้นึกไปด้วยว่า ข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันโดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดียนั้น เป็น “สารนิยาย” แบบนี้เหมือนกัน คือ มีความจริงอยู่บ้างประปรายแค่กระหยิบมือ แต่แต่งเติมเสริมให้ดูน่าเชื่อถือ

จนอาจต้องบอกว่ากลายเป็นเรื่องมดเท็จซะละมาก… •

BARDO : FALSE CHRONICLE OF A HANDFUL OF TRUTHS

กำกับการแสดง

Alejandro G. Inarritu

นำแสดง

Daniel Giminez Cacho

Griselda Siciliani

Ximena Lamadrid

 

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์