ดีลแห่งปี กับ มติ กสทช. ที่ควรบันทึกไว้…

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว กับตลอดปีที่กำลังจะผ่านพ้น และคาดว่ากว่าจะมีบทสรุปคงข้ามไปปีหน้าอีกระยะหนึ่ง

ดีลควบรวมกิจการครั้งใหญ่ที่สุดของสังคมธุรกิจไทย กรณี TRUE-DTAC สั่นสะเทือนไปทั่วจากภาคเศรษฐกิจโดยรวม และแวดวงธุรกิจ สู่วงกว้างกว่าที่เคย

ที่สำคัญเรื่องราวนั้นมาโฟกัสที่ TRUE ในฐานะเครือข่ายธุรกิจสื่อสาร ภายใต้อาณาจักรธุรกิจใหญ่-ซีพี กลายเป็นอีกมหากาพย์หนึ่ง เชื่อมโยงไปถึงภาพพจน์เครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทยด้วย

ด้วยมองกันว่าดีลใหญ่ครั้งนี้ จะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมว่าด้วยการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในเชิงอุตสาหกรรม เชื่อมโยงถึงผู้บริโภควงกว้างอย่างมากๆ

จากธุรกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ สู่ธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อยราย ทั้งนี้ ธุรกิจสื่อสารมีความสำคัญในสังคมไทยปัจจุบันมากขึ้นๆ นั้น จะเหลือ “ผู้เล่น” เพียง 2 ราย

โดยกิจการอันเกิดจากการควบรวมใหม่จะเป็นผู้นำ ผู้ครองส่วนแบ่งทางธุรกิจมากที่สุด ซึ่ง TRUE เป็นผู้มี “ส่วนได้ส่วนเสีย” มากที่สุด

 

สําหรับซีพีเอง ถือเป็นความพยายามจะบรรลุอีกจังหวะก้าวสำคัญอย่างแท้จริง TRUE ในฐานะธุรกิจสื่อสารหนึ่งในธุรกิจหลักรายล่าสุด ซึ่งใช้เวลาตามแผนการนานกว่าธุรกิจหลักอื่นๆ

จากเป็นเพียง “ผู้ท้าทาย” ในอุตสาหกรรม ซึ่งมีความพยายามไปข้างหน้าตามยุทธศาสตร์อย่างเข้มข้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ด้วยแผนการอันโลดโผนกว่าธุรกิจหลักอื่นๆ ไม่ว่าการซื้อกิจการคู่แข่งรายเล็ก การแสวงหาพันธมิตรธุรกิจต่างชาติ

หันเหจากเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งโลกตะวันตก สู่โลกตะวันออกเป็นไปตามแผนระดมทุนเพื่อเข้าประมูลคลื่นความถี่จำนวนมากไว้ในมืออย่างทุ่มหน้าตัก

จนมาแผนการใหญ่ใหม่ล่าสุด อันจะเป็นจังหวะก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางธุรกิจอย่างแท้จริงในบัดดล เมื่อดีลครั้งนี้บรรลุ และจะเป็นไปตามแบบแผน ที่มียืนเทียบเคียงธุรกิจหลักอื่นๆ ในเครือซีพีที่ดำเนินมา ใช้เวลาไม่นาน ราวๆ ทศวรรษเดียว ได้มายืนข้างหน้า เป็นผู้นำกุมอำนาจในตลาด

แต่แล้วดีลใหญ่ที่ว่า ดูจะเป็นไปไม่ง่ายอย่างที่คิด มีอุปสรรคขวากหนามมากพอควร

มีเค้าโครง เรื่องราว และเส้นทาง ในทำนองที่ผ่านๆ มา ช่วง 3 ทศวรรษ TRUE ที่เป็นไปตามวาทะของผู้นำแห่งตำนาน

“30 ปีที่ผ่านมา ซีพีต้อง ‘สู้’ สารพัดอุปสรรคกว่าจะสร้างทรูมาได้ เราต้องอดทนต่อคำสบประมาท ต่อสู้กับความไม่เข้าใจของประชาชน การกดจากฝ่ายรัฐ วิกฤตเศรษฐกิจ และอีกมากมาย” ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี กล่าวไว้ (ในหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ปี 2564) และจะยังคงเป็นเช่นนั้น

 

อันที่จริงสาระข้างต้น ตั้งใจสะท้อนบริบท เป็นมหากาพย์ตอนต้นๆ ของ TRUE โดยเฉพาะว่าด้วยการฝ่าวิกฤตทางธุรกิจ ท่ามกลางและคาบเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว ทว่า ครั้งนี้มีความแตกต่างกันอย่างมาก ภายใต้สถานการณ์ซึ่งเอื้ออำนวยเป็นพิเศษ และมองโลกในแง่ดีกว่าที่ผ่านมา แต่กลับมีแรงต้านในวงกว้างอย่างมากมาย

จากจุดเริ่มต้นดีลที่ปรากฏอย่างครึกโครมในปลายปีที่แล้ว “…การศึกษาความเป็นไปได้ในการควบบริษัทกัน… (22 พฤศจิกายน 2564)” ทั้ง TRUE และ DTAC แถลงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

จากนั้นขั้นตอนภายในเร่งเครื่องค่อนข้างรวดเร็ว เมื่อ TRUE และ DTAC (อ้างจากเอกสารแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย-18 กุมภาพันธ์ 2565) “นําส่งรายงานการรวมธุรกิจต่อ กสทช. เมื่อ 25 มกราคม 2565” และที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท TRUE และ DTAC มีมติอนุมัติการควบบริษัท (18 กุมภาพันธ์ 2565)

จังหวะซึ่งสำคัญมากกว่ามาก ได้ใช้เวลานานทีเดียว ด้วยเชื่อกันว่ามีแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นๆ จากทั้งนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ จนถึงแวดวงตัวแทนผู้บริโภค

แต่ในที่สุด (20 ตุลาคม 2565) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลงมติส่งสัญญาณเปิดไฟเขียว โดยใช้คำว่า “รับทราบ” การควบรวมกิจการ ขณะมีเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ “เพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภค การแข่งขัน และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม” เรื่องเล่าบรรยากาศที่ประชุมเป็นไปอย่างยืดเยื้อและตื่นเต้น ถูกจับตาและมีการวิพากษ์วิจารณ์มากเป็นพิเศษ ด้วยมีมิติแท้จริงออกมามีเสียงเท่ากัน จนประธานที่ประชุมต้องใช้สิทธิ์อีกครั้ง ตั้งใจให้ดีลใหญ่เดินหน้า

ขณะบทวิเคราะห์เชิงบวกมาจากฝ่ายนักลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเอาใจช่วย อยากให้ดีลใหญ่บรรลุ แต่ก็นำเสนอว่าด้วยอุปสรรคและขวากหนาม เชื่อว่ายังมีอยู่ ภายใต้เงื่อนไขที่ดูไปแล้วค่อนข้างเคร่งครัด ที่สำคัญ คือการควบคุมราคา และการเว้นระยะการใช้ทรัพยากรที่จำเป็นบางอย่างร่วมกัน

อย่างไรก็ดี เวลานั้น ดัชนีราคาหุ้นของ TRUE และ DTAC มีการขยับสูงขึ้นจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด จะว่าไปแล้วดัชนีราคาหุ้น TRUE-DTAC ในช่วงที่ผ่านๆ กว่าปี สะท้อนความเคลื่อนไหวอันผันผวน สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงในระดับหนึ่ง

ไม่นานจากนั้น ราคาหุ้นมีสะดุดและลดต่ำลงตามกระแส และแรงต้านที่มาจากภายนอกที่นอกเหนือจากตลาดหุ้น และอาจจะเหนือความคาดหมายของนักลงทุนในตลาดหุ้นไปบ้าง

 

เพียง 20 วัน จากวันลงมิติ กสทช. “รับทราบ” สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง (10 พฤศจิกายน 2565) ให้เพิกถอนมติ “รับทราบ” การควบรวมกิจการ TRUE-DTAC พร้อมขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยอ้างว่า “เพื่อลดผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อย และผู้บริโภค”

มีประเด็นสำคัญๆ ที่น่าสนใจ ควรบันทึกไว้

สภาองค์กรผู้บริโภค ระบุว่า ก่อนมีการลงมติ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการ ก่อนกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ ทั้งๆ ที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวมมีจำนวนมากถึงกว่า 118 ล้านเลขหมาย ทั้งนี้ เฉพาะผู้ใช้บริการ TRUE-DTAC มีถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนถึงกว่า 50%

รวมทั้งมีประเด็นข้อกฎหมาย ว่าด้วยบทบาทประธานที่ประชุมได้ออกเสียงชี้ขาด ขัดต่อระเบียบ และมติดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย เกี่ยวเนื่องกับมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม

ภาพสะท้อนความวิตกกังวล เกิดขึ้นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทันที ราคาหุ้นทั้ง TRUE-DTAC ตกต่ำลงพอสมควรในช่วงเวลานั้น แต่ถือว่าเป็นช่วงไม่ยาวนานนัก เพียงไม่ถึง 1 เดือน ศาลปกครองก็มีมิติในเชิงบวกออกมา ราคาหุ้นของ TRUE-DTAC กระเตื้องขึ้นรับช่วงปลายปี สามารถปิดตัวเลขและทำสถิติที่ดีขึ้นได้พอสมควร

คำสั่งศาลปกครองประกาศออกมาอย่างค่อนข้างเงียบ ในช่วงรอยต่อ ต่อเนื่องวันหยุดยาว (9 ธันวาคม 2565) จึงดูจะไม่เป็นสนใจวงกว้างเท่าที่ควร ว่ากันว่ามีความยาวถึง 30 หน้า ด้วยสาระสำคัญ มีคำสั่งยกคำร้องที่ขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา

บทสรุปสาระสำคัญอย่างคร่าวๆ เป็นว่า มติ กสทช. (เมื่อ 20 ตุลาคม 2565) ดำเนินไป “อย่างถูกต้องตามขั้นตอน หลักเกณฑ์ และวิธีการ จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง”

อย่างไรก็ตาม คดีคงมีกระบวนการอีกสักพักใหญ่ๆ กว่าจะมีการตัดสินในท้ายที่สุด คงจะเป็นเส้นทางที่ขรุขระ ต่อเนื่องไปอีกสักระยะสำหรับดีลใหญ่ให้มีความยืดเยื้อมากขึ้นอีก แม้ว่าหลายๆ ฝ่ายเชื่อว่าในที่สุด ดีล TRUE-DTAC คงจะสามารถเดินหน้าอย่างจริงจังไปสู่เป้าหมาย

โดยไม่มีใครคิด ไม่มีใครเชื่อว่า จะมีการถอดใจไปเองเสียก่อน •