สร้างกระแสด้วยนโยบาย… ใช้สู้กับกระสุน อยากได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ต้องคิดนโยบายดีๆ

มุกดา สุวรรณชาติ

วิธีการเลือกตั้งปี 2566 ที่จะมาถึงในต้นปี ถูกกำหนดออกมาแล้ว…

เป็นการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน ดังนั้น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คนจะต้องมีคะแนนของพรรคนั้นประมาณ 350,000 คะแนน

บรรดาแกนนำของพรรคที่มีชื่อเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ต้นๆที่ลำดับประมาณ 1-5 ก็ไม่ใช่จะนอนมาสบายๆ ได้ 1 ล้านคะแนน จะได้ ส.ส.แค่ 3 คนเท่านั้น

การที่จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคการเมืองนั้นก็จะต้องเป็นที่นิยมพอสมควรทั้งชื่อเสียงของแกนนำพรรคและนโยบายที่จะใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้

จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการดวลหรือเปรียบเทียบนโยบายของแต่ละพรรคในระดับที่ดุเดือดพอสมควร ซึ่งจะมีการเจาะลึกถึงรายละเอียดของนโยบาย เพื่อจะมีการเปรียบเทียบนโยบายที่คล้ายกัน ว่าของใครเป็นไปได้มากกว่าในทางปฏิบัติ และผลดี ผลเสียที่จะตามมา ถ้ามีการใช้นโยบายนั้นจริง

ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำการเสนอนโยบายในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีหลายด้าน เช่น นโยบายเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจและปากท้อง และนโยบายทางด้านการเมือง เช่นการแก้รัฐธรรมนูญ

นโยบายต้องเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งคนในพรรค คนทั่วไป และฝ่ายตรงข้าม เรื่องที่มีผลกระทบได้เสีย ก็จะมีทั้งคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา สิ่งที่เกิดขึ้นมิใช่การครอบงำ ชี้นำ หรือด้อยค่า

 

1 นโยบายพรรคเพื่อไทยเสนอค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท

ค่าแรงขั้นต่ำนี้ใช้เวลาปรับขึ้นในระยะ 5 ปีโดยคาดว่าจะทำได้สำเร็จภายในปี 2570 แต่พรรคก้าวไกลเสนอปรับเป็น 450 บาท ในปี 2566

ที่จริงถ้ารัฐบาลประยุทธ์ทำตามที่หาเสียงไว้ว่าจะให้ 425 บาท ตั้งแต่ต้นจนถึงสิ้นสมัยรัฐบาลป่านนี้ก็น่าจะถึง 500 แล้ว ดังนั้น ถึงปี 2570 ได้ 600 บาท ก็ไม่ผิดปกติอะไร แต่เนื่องจากไม่ได้ทำตามที่สัญญาไว้พอเห็นตัวเลข 600 จึงรู้สึกว่ามันปรับขึ้นไปเยอะมาก

สำหรับคนที่กินค่าแรงรายวันวันละ 600 ถ้าทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน 4 สัปดาห์จะได้ประมาณ 15,000 บาทเท่านั้น ถ้าต้องเลี้ยงคนในครอบครัว 2 คนก็คงไม่พอแน่

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแม้ไม่มีการปรับค่าแรงขึ้นแต่สังเกตค่าครองชีพก็รู้ว่ามันปรับขึ้นไปเรื่อยๆ แสดงว่าต่อให้ไม่ปรับค่าแรงค่าครองชีพก็ปรับสูงขึ้น

พรรคเพื่อไทยมีคุณสมบัติประจำพรรคอยู่อย่างหนึ่งคือ สิ่งที่หาเสียงไว้แล้วจะต้องทำ ดังนั้น พรรคเพื่อไทยเองจะต้องเตรียมอธิบายให้ดีว่าค่าแรงที่สูงขึ้นนั้นทำให้ประเทศเจริญมั่นคงและดีอย่างไร ค่าแรงที่สูงขึ้นไม่ใช่เงินเฟ้อ คนที่มีรายได้ประมาณ 20,000 บาทขึ้นไป รู้อยู่แล้วว่าค่าแรงของเขานั้นต่อวันเกินกว่า 600 บาท แต่ก็ยังเลี้ยงดูครอบครัวอย่างยากลำบาก

และแน่นอนว่าจะต้องมีนายจ้างบางส่วนบางอาชีพที่ไม่สามารถปรับตัวรับกับค่าแรงที่สูงขึ้นจนเกินวันละ 500 ซึ่งอาจจะต้องลดการจ้างหรือเปลี่ยนเป็นทำกันในครอบครัว

แต่การที่ค่าแรงสูงหมายถึงคนส่วนใหญ่ในสังคมได้เงินมากขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น และกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

2 นโยบายเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารของพรรคก้าวไกล

เรื่องนี้น่าจะมีหลายพรรคการเมืองมีข้อเสนอคล้ายกัน โดยไม่ใช้วิธีบังคับเกณฑ์ทหาร เพราะมีคนจำนวนมากไม่อยากถูกเกณฑ์ทหาร

หลายคนก็ยังอยู่ในวัยทำงานทำเงิน ในขณะที่มีคนบางส่วนอาจต้องการเป็นทหารอาชีพ แต่ใช้วิธีสมัครใจ ให้ค่าตอบแทนสูงขึ้น

การเป็นทหารไม่ใช่ใครๆ ก็เป็นได้ โดยเฉพาะทหารสมัยใหม่ซึ่งมีการใช้อาวุธทันสมัยมากและจะต้องมีความรู้ ทั้งผู้ถืออาวุธเหล่านี้ควรจะมีจิตสำนึกที่มีความรับผิดชอบ มีจิตใจที่ปกติเป็นคนที่รักชาติประชาชนเห็นแก่ส่วนรวม การคัดคนเข้ามาเป็นทหารน่าจะถูกกลั่นกรองอย่างดี และควรจ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม

มีบางพรรคอาจเสนอให้การเข้าเป็นทหารควรจะผ่านการสอบคัดเลือกเมื่อสอบผ่านจึงได้เป็นและมีเงินเดือนมาตรฐาน เมื่อเป็นครบ 1 ปีก็มีทางเลือกให้ คือสอบเพื่อเลื่อนขั้นต่อไปเป็นระดับนายสิบผ่านการฝึกฝนไปเป็นทหารอาชีพเหมือนกับโรงเรียนพลตำรวจ ถ้าใครไม่ผ่านก็ออกไป ทางการก็รับชุดใหม่เข้ามา คนที่สอบผ่านเป็นระดับนายสิบต่อไปก็มีโอกาสสอบยกระดับขึ้นเป็นระดับนายทหาร

ให้มีชีวิตมีอนาคตมีความหวัง

 

3 เบี้ยยังชีพคนชราควรจะเป็นเท่าไร

ปัจจุบันหลายพรรคก็ดันเรื่องนี้เป็นนโยบายหลัก ถ้าจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราเดือนละ 3,000 บาท จะใช้เงินมากน้อยแค่ไหน?

เงินจากค่าแรงได้มาจากการทำงาน ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายเป็นผลตอบแทนเพราะมีผลผลิตและการบริการเกิดขึ้น แต่เบี้ยยังชีพคนชราเป็นการแจกให้เปล่าโดยไม่ต้องทำงาน ในความเป็นจริงสามารถทำได้ทันทีหรือไม่ หรือจะต้องค่อยๆ ยกระดับจาก 600-700 เป็น 1,000 เป็น 1,500 เป็น 2,000 จะมีวิธีเก็บเงินสมทบอย่างไร หรือนำเงินมาเพิ่มจากไหน

โดยปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจัดสรรงบเบี้ยผู้สูงอายุ 79,300.15 ล้านบาท สำหรับผู้สูงอายุ 10.48 ล้านคน ส่วนในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลอนุมัติจัดสรรงบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ วงเงิน 83,999 ล้านบาท สำหรับผู้สูงอายุ 10.58 ล้านคน

ถ้าใครเป็นรัฐบาลและใช้นโยบายจ่ายให้คนละ 3,000 บาทต่อเดือนจะต้องจ่ายเดือนละ 31,800 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2567 จะต้องจ่ายประมาณปีละ 380,000-400,000 ล้านบาท

จะมีวิธีเก็บเงินสมทบอย่างไร จากไหน จากผู้ใด

 

4 นโยบายด้านการเมือง คือเรื่องการกระจายอำนาจ

ที่สำคัญคือการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเลือกถึงระดับผู้ว่าฯ หรือยัง และจะมีวิธีกระจายงบประมาณระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นอย่างไร

เรื่องนี้ถือเป็นการแบ่งอำนาจอย่างแท้จริง

การแก้รัฐธรรมนูญหรือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะทำอย่างไร

และจะมีวิธีดำรงความยุติธรรมหรือกระบวนการยุติธรรมให้อยู่ในสังคมและเป็นที่ยอมรับได้อย่างไร

ทั้ง 3 เรื่องต้องขอยกเอาไว้ในโอกาสต่อไปเมื่อมีการพูดถึงกันมากขึ้น

 

ความเชื่อถือต่อพรรคการเมือง
ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ

การนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปปฏิบัติมีบางเรื่องง่ายบางเรื่องยากแต่ที่สำคัญคือพรรคการเมืองนั้นมีความตั้งใจจริงหรือไม่ที่จะทำตามคำมั่นสัญญาและเป้าหมายที่วางเอาไว้เมื่อมีอำนาจในการบริหาร บางพรรคการเมืองเมื่อนำไปปฏิบัติก็พบว่าไปกระทบกับกลุ่มทุนหรือกลุ่มคนบางกลุ่มก็ไม่กล้าทำ แต่บางพรรคเมื่อสัญญาไว้แล้วก็ต้องทำแม้จะมีผลทางด้านบวกและลบก็ต้องไปหาวิธีแก้ไขเอา

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือนโยบายที่นำเสนอไปเมื่อถึงเวลาเป็นจริงไม่มีงบประมาณหรืองบประมาณไม่พอที่จะทำได้ ดังนั้น นโยบายที่ตั้งไว้จึงอาจจะออกมามีผลสำเร็จเพียงบางส่วน หรือบางทีก็ไม่ได้ทำเลยเนื่องจากตอนที่หาเสียงไว้ก็ไม่รู้ว่าจะไปหางบประมาณมาจากไหน

แต่การจะพาประเทศรอดพ้นวิกฤตต่างๆ จะต้องเรียงลำดับความสำคัญให้ดีว่าจะใช้นโยบายไหนจึงจะเกิดแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่จะมีผลทำให้สร้างรายได้ไปสู่คนกลุ่มต่างๆ เป็นการฟื้นเศรษฐกิจโดยรวม

สรุปว่าการหาเสียงด้วยนโยบายนั้นพรรคการเมืองควรจะคำนึงถึงผลที่จะนำไปปฏิบัติจริงว่าจะช่วยอะไรทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองได้บ้างหรือได้มากที่สุด

การหาคะแนนเสียงจากนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อประชาชนมีความหวังก็จะเกิดเป็นกระแสความนิยมที่จะไปสู้กับกระสุน แต่เมื่อสัญญาแล้วต้องทำ (อย่าให้เหมือนคำสัญญา ปี 2562) เพราะนี่เป็นสัญญาประชาคม