หอมเพียงไร จึงหาญไล่ไอยรา! น้ำหอม (หึ่ง) ไล่ช้าง ยุทธการขับไล่ศัตรูพืชไซซ์จัมโบ้

ดร. ป๋วย อุ่นใจ
ภาพพลายบุญช่วย (เครดิตภาพ : รัชฎาวรรณ ผึ้งประสบพร)

ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า…!

เพลงนี้อาจจะฟังไม่ระรื่นหูเท่าใดนักสำหรับชาวสวนชาวไร่ เพราะ “ช้าง” ถือเป็นหนึ่งในศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าน้องช้างจะน่ากลัวแค่ไหน ถ้ายังจำกันได้ เมื่อกลางปีก่อน (มิถุนายน 2564) มีโพสต์ในเฟซบุ๊กสาวจากเมืองหัวหิน แปะภาพ “พลายบุญช่วย” น้องช้างผู้หิวโหยที่โผล่ทะลุกำแพงเข้ามาหยิบอาหารในครัวของเธออย่างสบายอารมณ์

กินเสร็จก็กลับหายไป หิวเมื่อไรก็แวะมา แม้จะถูกขับไล่ หรือมีกล้องแอบถ่ายเอามาประจานก็ยังไม่สน

คุณรัชฎาวรรณ ผึ้งประสบพร เจ้าของบ้านเผยว่า น้องมาเรื่อยๆ เล่นเอาเสียหายไปแล้วหลายรอบ ไม่รู้จะทำอย่างไร

ด้วยความน่ารักของพลายบุญช่วย หลังจากที่ออนไลน์ไม่นาน ภาพของน้องก็กลายเป็นไวรัลที่มีคนมากดไลก์กดแชร์กันไปอย่างครึกครื้น ถึงขนาดได้ออกทีวีช่องข่าวไปเกือบทั่วทุกสำนัก กลายเป็นมีมดังในโซเชียลอยู่อีกพักใหญ่

ทว่า เรื่องแบบนี้ ไม่เจอกับตัว ไม่มีทางรู้ น้องไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน

ภาพพลายบุญช่วย (เครดิตภาพ : รัชฎาวรรณ ผึ้งประสบพร)

อย่างที่บอกไป ช้างเป็นศัตรูพืช และศัตรูพืชที่ตัวใหญ่ขนาดนี้ เอาน้ำฉีดไล่ ยังไงก็ไม่ไป แถมอาจจะโดนพ่นกลับ และถ้าน้องหงุดหงิดอาจจะโดนเหยียบแทน

ผมเคยคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านช้างป่าหลายท่าน ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ปัญหาสงครามความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (human-elephant conflict) นี้ เป็นงานช้าง” คาราคาซังมาเนิ่นนาน ไม่รู้ว่าจะแก้ไขได้อย่างไร

เพราะพื้นที่หรือ land use ของประเทศนั้นมีจำกัด การขยายตัวของชุมชนเมืองที่เบียดเสียดเยียดยัด บีบให้พื้นที่ทางการเกษตรต้องถอยร่นขยับออกไปเรื่อยๆ จนบางทีก็รุกล้ำเข้าไปใกล้ (หรือบางที ก็อาจจะเข้าไปใน) พื้นที่ป่า ที่เป็นถิ่นที่อยู่ของโขลงช้าง

อยู่ใกล้กัน ก็เหมือนลิ้นกับฟัน การปะทะกันก็คงเป็นเรื่องธรรมดา

ยิ่งสวนผลไม้ที่ออกกันเต็มต้น หวาน กรอบอร่อยด้วยแล้ว ก็คงเป็นเหมือนบุฟเฟ่ต์ไฮโซสำหรับน้องช้าง พอสุกก็ส่งกลิ่นหอมยั่วยวนรัญจวนใจ จะมากีดกันไม่ให้น้องเข้าไป ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย

ปัญหานี้มีหลายองค์กรทั้งในระดับประเทศ และในระดับนานาชาติให้ความสนใจ พยายามจะเข้ามาช่วยแก้ไข แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร ออกแคมเปญรณรงค์มาดีแค่ไหนก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้อย่างยั่งยืนอยู่ดี

แต่แม้จะมีคนให้ความสนใจช่วยแก้ปัญหาอยู่เยอะ เกษตรกรในท้องที่ที่โดนโขลงช้างถือวิสาสะเข้ามาเหยียบย่ำเด็ดกินกันบ่อยๆ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หายุทธวิธีสารพัดเพื่อขับไล่น้องไปไม่ให้มาก่อความวุ่นวายกับพื้นที่เพาะปลูกของตน เพราะช้างศัตรูพืชนั้นเฉลียวฉลาดเกินกว่าที่หลายคนจะคาดคิด

ภาพเผยแพร่ลงโซเชียลของทีม WildAid และ Save the Elephant

ยุทธการที่ 1 ล้อมรั้วกันช้าง อันนี้ดูจะตรงไปตรงมามากที่สุด แต่เป็นวิธีที่ยั่งยืนน้อยที่สุด เพราะถ้ารั้วไม่แข็งแรงจริง ถีบเบาๆ ทีเดียวก็ถล่ม มีรึที่จะขวางทางเดินเข้าบุฟเฟ่ต์อันโอชะของน้องได้

บางคนเลยบอกรั้วเฉยๆ ไม่พอ ต้องจัด “รั้วไฟฟ้า” เดินเข้ามา ต้องโดนช็อตจนสะดุ้ง วิธีนี้แพงแต่ได้ผล แต่ปัญหาก็คือ มักจะได้ผลแค่ไม่กี่วัน พอปล่อยไปสักระยะ น้องก็จะคิดหาวิธีจัดการรั้วไฟฟ้าได้อยู่ดี ส่วนใหญ่จะล้มต้นไม้ เสา หรืออะไรใหญ่ๆ มาทับให้รั้วพัง พอระบบไฟฟ้าตัด น้องก็จะเชื้อเชิญตัวเองเข้ามาเปิบบุฟเฟ่ต์ได้สบายใจ เหมือนไม่เคยมีรั้วมาก่อน

ยุทธการที่ 2 บีบแตร ตีฆ้อง กลอง เปิดลำโพง ใช้เสียงดังๆ บางทีก็เอาคบเพลิงมาจุดวิ่งไล่ด้วย เอาให้น้องตกใจ เอาให้สะดุ้งโหยง จะได้วิ่งหนีหางจุกเข้าป่าไปเลย ยุทธวิธีนี้จะว่าไป ก็ต้องบอกว่าใช้ได้ แต่ใช้ได้แค่แป๊บเดียว พอน้องเริ่มชินกับเสียง น้องก็จะหายกลัว แล้วถ้าไปบีบแตรไล่ ตอนอารมณ์ไม่ดี หรือตกมัน บางทีน้องอาจจะพุ่งใส่ หรือไล่เหยียบ เล่นเอาวงแตกได้เหมือนกัน

ยุทธการที่ 3 เปลี่ยนแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามแปลงชายขอบ ปลูกพืชที่น้องไม่น่าจะชอบ เน้นพวกกลิ่นแรงๆ พริก ขิง ข่า เผื่อเผลอกินเข้าไปจะเผ็ดๆ แสบๆ ร้อนๆ จะได้เข็ดหลาบ เลิกมาก่อกวน แล้วไปหาของกินที่อื่นแทน ฟังดูดี

แต่ปัญหาคือน้องช้างก็มีรสนิยม แถมยังจมูกไวด้วย แปลงที่ไม่ชอบ ดมๆ แล้วก็ไม่กิน เดินเลี่ยงไปแปลงที่มีของชอบแทน แต่ถ้าแปลงปลูกของไม่ชอบขวางทางน้อง น้องก็จะสมนาคุณด้วยการย่ำให้ราบราวกับปรับหน้าดินต้นฤดู

เจ็บปวด เพราะท้ายสุด มักจะเละทั้งสองแปลง เสียหายหนักกว่าเดิม และถ้าปลูกแต่ของไม่ชอบ น้องหาอะไรกินไม่ได้ หิวมากๆ ก็จะเข้ามาทักทายถึงบ้าน ถึงครัวให้ตกใจเล่น อย่างกรณีพลายบุญช่วย เป็นต้น…

กลุ่มอนุรักษ์หลายกลุ่มก็หาวิธีช่วย ไปปลูกพืชอาหาร ขุดโป่งเทียมสำหรับช้างไว้ให้ในป่า ล่อให้น้องช้างเปลี่ยนทางวกกลับเข้าป่าไป จะได้เลิกมายุ่งกับชุมชน แต่ช้างทั้งโขลง ตัวก็ไม่ใช่เล็กๆ กินไป กินไป ไม่นาน ก็จะร่อยหรอ พอเริ่มขาดแคลน น้องก็นึกถึงบุฟเฟ่ต์สวนผลไม้ ย้อนกลับมาเยี่ยมพี่ๆ เกษตรกรใหม่อีกรอบ

ยุทธการที่ 4 เลี้ยงผึ้งไว้ในสวน วิธีนี้น่าสนใจ และสามารถขับไล่ช้างได้ค่อนข้างชะงัด เพราะพอเข้ามาแล้วเจอผึ้งต่อย เจอบ่อยๆ ช้างก็ต้องยอมถอยเหมือนกัน ต้องยอมรับว่าเวิร์กมากในเชิงทฤษฎี แต่ปัญหาก็คือ “เหล็กในไม่มีตา” ผึ้งมีตา แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าใครคือคนเลี้ยง

สรุปท้ายที่สุด อาจจะโดนต่อยบวมปูดทั้งช้าง ทั้งคน ยิ่งถ้ามีเด็กๆ อยู่ด้วย วิธีนี้ถือว่าอันตราย

ปัญหาสงครามระหว่างช้างกับคนนั้นไม่ได้แค่เกิดขึ้นในไทยเท่านั้น ในต่างประเทศอย่างแอฟริกา ก็เจอปัญหาหนักหน่วงไม่แพ้กัน ในแอฟริกา ปัญหาการฆ่าช้างเพื่อป้องกันพื้นที่เพาะปลูก และการล่าช้างอย่างผิดกฎหมายถือเป็นหนึ่งในประเด็นหลักในวงการนักอนุรักษ์

หลังจากที่ซุ่มทดลองมานานถึง 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2018-2021) องค์กรพิทักษ์ช้าง (Save the Elephants) และ WildAid Africa จึงได้เปิดตัวยุทธการใหม่ ใช้กลิ่นปราบช้าง

อย่างที่บอกไปตอนต้น มีพืชหลายอย่างที่ช้างไม่ชอบ และที่สำคัญ จมูกช้างค่อนข้างไว ทีมวิจัยก็เลยเกิดไอเดีย “น้ำหอมหึ่งไล่ช้าง (smelly elephant repellant)” ขึ้นมา พวกเขาคิดค้นน้ำยาสูตรพิเศษขึ้นมา เป็นน้ำยาที่ส่งกลิ่นฉุยโฉ่ได้ใจ จนถึงขนาดช้างยังทนไม่ไหว ต้องเอางวงอุดปาก อพยพหนีกันไม่เป็นขบวนเลยทีเดียว

ในการปรุงน้ำหอม (หึ่ง) ทีมวิจัยจะใส่องค์ประกอบที่มีกลิ่นเฉพาะตัว อย่างเช่น กระเทียม พริก ขิง และน้ำมันสะเดาลงไปต้มด้วยกันในน้ำ ก่อนที่จะเอาไปผสมกับขี้วัว ไข่เน่า และน้ำมันทำอาหาร แล้วเอาไปหมักต่อสักระยะ ก่อนที่จะเอามาใส่ในขวดพลาสติก แล้วไปห้อยไว้บนรั้วลวดรอบๆ แปลงปลูกก่อนถึงหน้าเก็บเกี่ยว

เป็นเหมือนกับดักให้ตื่นเต้นตกใจ พอช้างเริ่มเข้ารุกรานแปลงเกษตร พวกมันจะโดนรั้วลวดทำให้น้ำหอมหึ่งกระฉอกส่งกลิ่นคละคลุ้ง…

simatwangachi/Save the Elephants

ผลการทดลองจากฟาร์ม 30 แห่งใกล้พรมแดนอุทยานแห่งชาติน้ำตกเมอร์ชิสันในลาโทโร ประเทศยูกันดา (Murchison Falls National Park, Latoro, Uganda) และอีก 10 แห่งใกล้อุทยายแห่งชาติซาโวตะวันออกในประเทศเคนยา (Tsavo East National Park, Kenya) พบว่าน้ำหอมหึ่งใช้ได้ผลดีมาก

ในระหว่างปี 2018-2020 มีโขลงช้างบุกเข้าฟาร์มทดลองในยูกันดาถึง 309 ครั้ง และน้ำหอมหึ่งทำให้ช้างถอยหนีกลับไปได้ถึง 82 เปอร์เซ็นต์ หรือ 254 ครั้ง

และจากการบุก 24 ครั้งในเคนยา น้ำหอมหึ่งทำให้ช้างหนีได้มากถึง 63 เปอร์เซ็นต์ หรือ 15 ครั้งเลยทีเดียว

เป็นไปได้ว่ากลิ่นอันตลบอบอวลของน้ำหอมหึ่ง ตุ่ยมากจนทำให้ช้างหมดอารมณ์กินอาหารไปเลย อะไรก็ตามที่อยู่ในรัศมีใกล้เคียงอาณาบริเวณที่ส่งกลิ่นอันรัญจวนนี้น่าจะเน่าเสียจนกินไม่ได้ไปแล้ว กลิ่นร้ายแรงขนาดนี้ ฝืนตะกละกินเข้าไป ท้องไส้อาจปั่นป่วน และด้วยกลิ่นที่เกินจะทน พวกช้างจะยอมล่าถอย

โดนมาเยอะ พอมียุทธการที่พอจะเอาคืนช้างได้บ้างแบบนี้ เกษตรกรก็ถูกอกถูกใจกันใหญ่ จากการสัมภาษณ์พวกเกษตรกรที่เคยทดลองใช้น้ำหอมหึ่งไล่ช้าง ชัดเจนว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์อยากกลับมาใช้อีกรอบ พวกเขาบอกว่านอกจากไล่ช้างแล้ว น้ำหอมหึ่งยังช่วยขับไล่แมลงศัตรูพืช ควายป่า โค กระบือ และพวกกระรอกได้ด้วย แถมยังเป็นปุ๋ยที่ดีอีกด้วย

แต่ที่เป็นประเด็นคือ ยังไม่รู้ว่าจะไล่ได้ชะงัดแบบนี้ได้อีกนานแค่ไหน ไม่แน่ว่าวันหนึ่งอาจจะมีน้องช้างจมูกตัน ที่กินได้หมดไม่สนกลิ่น หรืออาจจะมีน้องช้างที่มีรสนิยมเปิบพิสดาร หันมาชื่นชมนิยมกลิ่นโชยคลุ้งที่แสนจะรัญจวนของน้ำหอมหึ่งขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ ในตอนที่น้ำหอมหึ่งยังเวิร์กอยู่ ทางทีม Save the Elephant กำลังมองหาวิธีขยายขนาดการผลิตเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำน้ำหอมหึ่งไปใช้ไล่ช้างได้อย่างถ้วนทั่ว และเท่าเทียม

แต่ก็ไม่รู้นะว่าช้างไทยจะมีรสนิยมต่างจากช้างแอฟริกาหรือไม่ บอกได้คำเดียว ไม่ลองไม่รู้…