คิดใหญ่ ทำ (ให้) เป็น เป้าใหญ่

เพิ่มดีกรีความชัดเจนในการเข้าสู่สนามการเมืองมากขึ้นไปอีก สำหรับแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นำแถลงวิสัยทัศน์ 10 นโยบายเพื่อไทย เตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง ระหว่างการประชุมใหญ่วิสามัญพรรค ประจำปี 2565 เมื่อ 6 ธันวาคม

เริ่มต้นการเปิดตัวนโยบาย ด้วยการเล่าถึงชีวิตตัวเองในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากเปิดตัวทำงานพรรคการเมืองก็ได้ลงพื้นที่ ตั้งคณะทำงานเพื่อวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนโยบาย ศึกษาจากผู้คนจำนวนมากและหลายพื้นที่

ตกผลึกออกมาเป็นภาพใหญ่ทางนโยบายว่าจะต้อง “คิดใหญ่” เพราะตลอดเกือบทศวรรษที่ผ่านมา พบปัญหาสะสมไว้มาก “การคิดเล็กจะรับมือที่มากมายขนาดนี้ไม่อยู่”

นี่คือข้อสรุปที่เป็นกรอบหลัก

มากกว่าเรื่อง “คิดใหญ่” แพทองธารระบุว่า สำคัญไม่แพ้กันคือต้อง “ทำเป็น” แนวนโยบายของเพื่อไทยในปี 2566 ต่อยอดจากนโยบายที่เคยได้รับการพูดถึงและสานต่อมาจนถึงปัจจุบันของไทยรักไทย

1. แนวคิดทางเศรษฐกิจแบบรดน้ำที่ราก เพื่อให้ต้นไม้งอกงามได้ทั้งต้น ตั้งเป้าทำ GDP ประเทศโตอย่างต่ำเฉลี่ยร้อยละ 5% ต่อปี เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ให้เหตุผลชัดๆ ค่าจ้างขั้นต่ำต้องสมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย เงินเดือนผู้จบปริญญาตรีต้องเริ่มที่ 2.5 หมื่นบาท

2. นำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์

3. พัฒนาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ท่องเที่ยวเทศกาล ตั้งเป้ารายได้ 3 ล้านล้านบาทต่อปี

4. สร้างโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ (Blockchain) ของไทยเอง ประชาชนทุกคนต้องมีกระเป๋าเงินดิจิทัล, Wifi ฟรีทุกที่สาธารณะ

5. ยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทั่วประเทศฟรี

6. โรงเรียนสอนภาษาทุกท้องถิ่น เช่น อังกฤษและจีน มีศูนย์การเรียนรู้แบบ TCDC และ TK Park ที่เริ่มต้นสมัยไทยรักไทยครบทุกจังหวัด

7.ยาเสพติดต้องหมดไป

8. แก้ปัญหาน้ำท่วม ทั้งระบบ เลียนแบบอุดรโมเดล น้ำไม่ท่วม 20 ปี

9. ลงทุนในระบบรางครั้งใหญ่ สร้างรถไฟรางคู่ในทุกเส้นทาง ทำให้รถไฟวิ่งได้ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลถูกจัดระเบียบใหม่ เพื่อใช้ระบบตั๋วร่วม 20 บาทตลอดสายได้ก่อนปี 2570

และ 10. รื้อโครงสร้างพลังงานใหม่ในปี 2566 ทุกอย่างต้องถูกลง ลดพึ่งพาน้ำมัน เพิ่มสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์

ในด้านการเมืองนั้น น.ส.แพทองธารกล่าวช่วงท้ายชัดๆ เป้าหมายภายในปี 2570 ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ นายกฯ ต้องถูกเลือกในสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน มุ่งเน้นกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดที่พร้อม ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ขั้นสูงควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณให้โปร่งใส

“4 ปีจากนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการพักฟื้นประเทศ ให้กลับมามีเกียรติและมีศักดิ์ศรี คนไทยไม่ต้องหาทางย้ายประเทศ มาร่วมใจกันเปลี่ยนผู้นำง่ายกว่า” น.ส.แพทองธารกล่าว

หากมองในเชิงนโยบายจะพบความต่อเนื่องของร่องรอยความคิดจากไทยรักไทย ส่วนในเชิงลีลานั้น บางคนบอกว่าถ้าหลับตา ฟังเอาอย่างเดียว นึกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแถลง เพราะน้ำเสียง จังหวะทำนองการพูด คล้ายคลึงกับอดีตนายกรัฐมนตรีไม่เบา

เฉพาะประเด็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ มีการถกเถียงกันอย่างมากเช่นเคย หลังแถลงจบยังไม่ทันข้ามวัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พุ่งมาคนแรก ตั้งคำถามว่า ทำได้จริงไหม เอาเงินมาจากที่ไหน… ตามมาติดๆ ด้วย สุชาติ ชมกลิ่น ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกว่า อย่ามาหาเสียงนึกเอาแต่สนุก คิดถึงหายนะทางเศรษฐกิจบ้าง ต่างประเทศไม่กล้ามาลงทุน

จนทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องออกมาปกป้องเพื่อไทยอย่างรวดเร็วฉับไว ว่า keyword มันอยู่ที่การปั้นเศรษฐกิจให้ดี ทำให้ขึ้นค่าแรงได้

“คนที่ออกมาโวยวายเรื่องขึ้นค่าแรง ผมว่าคุณเข้าใจเศรษฐศาสตร์น้อยไป เข้าใจและเห็นใจเพื่อนมนุษย์น้อยไป คุณเชื่อไหม ถ้าปล่อยให้เพื่อไทยทำโดยไม่มีระบบเฮงซวยมารังควานนะ ค่าแรง 800 บาทก็ยังทำได้เลย”

แต่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ คงไม่จบแค่ พล.อ.ประยุทธ์ หรือสุชาติ ที่ออกมาถล่มเพื่อไทยเท่านั้น คงได้เจอกับเจ้าของกิจการ นายทุน นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ เทคโนแครตสายอุตสาหกรรมและธุรกิจ ที่ลุกขึ้นมาคัดค้านตั้งแต่วันนี้ ไปจนกว่าจะถึงเลือกตั้ง

ทำให้แพทองธาร นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบาย และเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค ต้องออกมาแถลงรอบสอง ยืนยันว่าค่าแรง 600 บาททำได้แน่ถ้าทำให้เศรษฐกิจประเทศเติบโต แล้วทุกฝ่ายก้าวไปด้วยกัน เพื่อสยบกระแสต้าน

ถ้าสำรวจดูความเห็นในโลกออนไลน์ จะพบว่าตัวนโยบายที่แถลงครั้งนี้ สร้างการจดจำ มีชุดข้อมูลที่หนักแน่นระดับหนึ่งรองรับ บางคนอาจจะมองว่าไม่หวือหวาหรือไม่ได้ถึงกับเซอร์ไพรส์ แต่เป็นการพัฒนาจากปัญหาและสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและเป็นไปได้ในอนาคต ผ่านการทำการบ้านและการวิจัย แน่นอน คนจะซื้อหรือไม่นั้น ก็ต้องรอดูวันเลือกตั้ง แต่ก็อย่าลืมในเส้นทางการเมืองไทย นโยบายไม่ใช่ปัจจัยหลักปัจจัยเดียวที่จะตัดสินว่าคนจะเลือกพรรคนั้นหรือไม่

อีกอย่างที่ต้องบอกว่าเพื่อไทยทำสำเร็จระดับหนึ่งในการแถลงนโยบายครั้งนี้ คือการรีแบรนด์ผู้นำตัวจริงเสียงจริงของพรรค

จากสายธารประวัติศาสตร์การเมืองไทยรอบเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา บอกเราอย่างหนึ่งว่า ใครก็ตามที่นามสกุล “ชินวัตร” เริ่มต้นด้วยการผลักดันนโยบายที่จับต้องได้ สุดท้ายล้วนจบด้วยถูกรัฐประหาร

ทักษิณ ชินวัตร เจอกลุ่มพันธมิตรฯ ประท้วง เปิดทางสู่การรัฐประหารปี 2549 เช่นเดียวกับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เจอกลุ่ม กปปส.ประท้วงนำไปสู่การรัฐประหาร ปี 2557 ล้มระบบทั้งหมด และออกแบบใหม่

แม้รัฐบาลทหารชุดหลังจะสืบทอดอำนาจและอยู่ในตำแหน่งมาอย่างยาวนานเกือบทศวรรษ ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำงานมาต่อเนื่องยาวนาน จนคนที่เคยเกลียดและขับไล่ “ตระกูลชินวัตร” เสียงแผ่วลงไปจนถึงเลิกส่งเสียง สะท้อนผ่านผลเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2562 หรือแม้แต่การเลือกตั้งในระดับ กทม.

แต่พลังฝ่ายตรงข้ามตระกูลชินวัตรก็ยังทำงานมาจนถึงปัจจุบัน ขยายเกาะกุมยึดอำนาจรัฐเชิงโครงสร้างด้วยเครื่องมือทางการเมืองเชิงวัฒนธรรม และเครื่องมือทางการเมืองเชิงอำนาจที่ออกแบบโดยรัฐธรรมนูญ ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 เป้าคือ “ชินวัตร”

อะไรที่เป็น “ชินวัตร” และเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงเป็นของแสลงของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน

(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

เมื่อก้าวเข้าสู่ถนนการเมืองเต็มตัว โดยเฉพาะช่วงใกล้จะถึงจุดเปลี่ยนผ่านช่วงชิงอำนาจรัฐ ดีกรีความแรงของการต่อสู้ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เอาแค่สัปดาห์ก่อนเปิดตัวนโยบาย ก็เจอเปิดฉากโจมตีเรื่องกลุ่มทุนจีนสีเทา มีความเกี่ยวข้อง น.ส.แพทองธารอ้างว่าทุนจีนดังกล่าวกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ในโครงการของบริษัทที่ น.ส.แพทองธารเป็นผู้ถือหุ้น

ตอบรับด้วยอาการขยับของนักร้องขาประจำ เริ่มจากเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพลังประชารัฐยื่นร้องสอบผู้แทนพรรคเพื่อไทยคนหนึ่งซึ่งภรรยาลงทุนในบริษัทของนายทุนจีนสีเทา

ถัดมาคือ ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อขอให้ไต่สวนสอบสวน รวมถึงเอาผิดนักการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับนายทุนจีนสีเทา เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

จริงเท็จแค่ไหนเป็นเรื่องขั้นตอนการตรวจสอบ เพื่อไทยทำได้เพียงออกมาแถลงชี้แจงว่าแพทองธารไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง การซื้อของกลุ่มทุนจีนดังกล่าวก็เป็นการซื้อแบบทั่วไป ไม่ใช่ซื้อเป็นการเฉพาะ

แต่ข่าวเช่นนี้ก็มีส่วนลดเครดิตเพราะเป็นห้วงเวลาที่สังคมกำลังจับตาทุนจีนสีเทา

(Photo by Manan VATSYAYANA / AFP)

หลังจากนี้แพทองธารที่กลายเป็น “เป้าใหญ่” จะต้องเจออีกหลายด่านจากฝ่ายอนุรักษนิยมไทย ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ รายวัน ประเด็นคุณสมบัติต่างๆ จะถูกขุดคุ้ยขึ้นมาตีแผ่ ผลิตซ้ำ หนักขึ้นๆ เรื่อยๆ ทั้งของเก่า และของใหม่

ในระดับกลาง อาจจะต้องเจอการร้องเรียน ต่อสู้เชิงกฎหมาย ซึ่งเป็นเกมถนัดของฝ่ายตรงข้าม และใช้งานได้ผลตลอดหลายปีที่ผ่านมา

และหากกระแสความนิยมพุ่งสูงอีก ก็อาจต้องเจอกลไกรัฐอันแยบยล ที่ฝ่ายตรงข้ามวางกำลังไว้ พร้อมใช้งาน (และเคยใช้งานได้ผลมาแล้วเช่นกัน)

สัจธรรมการเมืองไทยที่ผ่านมากับตระกูลชินวัตรคือ ยิ่งคิดใหญ่ ยิ่งเป็นเป้าใหญ่ อุ้งอิ๊งจากนี้จะกลายเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย ยิ่งชัดเจนในทางการเมือง การโจมตียิ่งหนักขึ้น แน่นอน คนตระกูลชินวัตรถูกกระทำมาแล้ว 2 ครั้ง ย่อมมีบทเรียน ไม่มากก็น้อย

ทั้งนี้ การแข่งขันถกเถียงกันเชิงนโยบายเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเถียงกันในระดับไหน เห็นตรงเห็นค้านกันอย่างไร แต่นัยยะทางการเมืองของนโยบายการเมืองชุดนี้ของเพื่อไทย ท้าทายอย่างจังต่อกลุ่มก้อนอำนาจที่เคยเข้ามาล้มรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์เต็มๆ

ค่าแรง 600 บาท จะทำได้จริงหรือไม่ ไม่รู้ แต่ต้องบอกว่าเพื่อไทยเก๋าเกมในการท้าทาย เพราะหากเพื่อไทยมีโอกาสเป็นรัฐบาลจากปีหน้าถึงปี 2570 แล้วเกิดการรัฐประหารซ้ำรอยที่ตระกูลชินวัตรโดน ก็จะเป็นการเพิ่มบาปกรรมอย่างหนักให้กับคณะรัฐประหาร ว่าทำให้ประเทศพินาศ เป็นศัตรูโดยตรงกับผู้ใช้แรงงานโดยตรง

การเปิดตัวแพทองธาร คือการเปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ เบอร์ 1 ของเพื่อไทยแล้ว แน่นอน ถ้าอยากจะเป็นเบอร์ 1 ต้องทำใจให้กว้างยอมรับที่จะต้องเจออุปสรรคอีกมาก ดังที่เห็น แค่เปิดตัววันแรก ก็เจอการวิพากษ์นโยบายอย่างหนักจากทุกฝ่าย

แต่นี่คือธรรมชาติของสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่ต้องเรียนรู้เรื่องความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง อย่างน้อยก็ดีกว่าสังคมรัฐประหารนิยม