โลกหมุนเร็ว / เบื้องหน้า เบื้องหลัง

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

เบื้องหน้า เบื้องหลัง

ในวงการบันเทิง มีบุคคลอยู่สองประเภท

ประเภทแรก คือคนทำงานเบื้องหน้า คือดาราหรือนักแสดง (ที่อาจจะยังไม่ถึงขั้นเป็นดารา) เป็นคนที่คนดูมองเห็น

ส่วนประเภทหลัง คือคนทำงานเบื้องหลัง เช่น ผู้กำกับการแสดง ตากล้อง ผู้ออกแบบฉาก ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย นักแต่งเพลง นักดนตรี ช่างแต่งหน้า ฝ่ายเทคนิค ผู้จัดการธุรกิจ มากมายนับไม่ถ้วน เป็นผู้บันดาลให้มีการแสดงเกิดขึ้น หากทว่า ไม่มีใครเห็นตัวตนของเขาปรากฏออกมา

นานทีปีหน เมื่อมีการให้รางวัลในวงการบันเทิง เขาจึงปรากฏตัวขึ้นมาให้เราเห็น หน้าตาอย่างนี้คือผู้กำกับการแสดง คนนี้เองคนแต่งเพลง นี่เองนะคนออกแบบฉาก

บรรดาผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหลายล้วนทำงานหนัก ทุ่มเทมันสมอง และพรสวรรค์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้เราได้ชม และถ้าไม่มีเขาเหล่านี้ คนที่อยู่เบื้องหน้าก็ไม่มีวันเกิด

คนบางคนชอบอยู่เบื้องหน้า คนบางคนชอบอยู่เบื้องหลัง

แต่คนที่อยู่เบื้องหลังก็จะไม่มีใครเห็น จะว่าปิดทองหลังพระก็ใช่แน่นอน

ผู้เขียนเองรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมเลย เวลาที่ฟังเพลงแล้วรู้จักแต่นักร้อง และไม่รู้จักคนแต่ง ในสังคมไทย คนแต่งเพลงรุ่นเก่าช่างอาภัพ จะกี่คนรู้ว่าเพลงนี้เป็นเพลงของครูแก้ว อัจฉริยะกุล ครูสุรพล โทณวนิก ครูไศล ไกรเลิศ ครูชาลี อินทรวิจิตร รู้แต่ว่าเป็นเพลงรวงทอง สุเทพ ชรินทร์ สวลี

ปัจจุบันนี้ดีขึ้นมาหน่อย นักฟังเพลงรู้ว่านี่เพลงของแอ๊ด คาราบาว เพลงของหงา คาราวาน หรือเพลงของพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ควรจะเป็นอย่างนี้ถูกแล้ว ถ้าไม่มีคนแต่งเพลง นักร้องจะเอาเพลงที่ไหนมาร้อง นักแต่งเพลงน่าจะสำคัญกว่าคนร้องไม่ใช่หรือ

ในช่วงเวลาแห่งความอาลัยในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พสกนิกรต่างพากันทึ่งงานแทงหยวกของช่างฝีมือ มีผู้เล่าให้ฟังว่าเมื่อคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จย่า หาช่างแทงหยวกได้ยาก รุ่นเก่าล้มหายตายจากไป สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงให้โรงเรียนในวังชายรับสมัครประชาชนเข้ามาเรียนวิชาแทงหยวก ทำให้จากวันนั้นถึงวันนี้สร้างช่างฝีมือแทงหยวกได้ถึง 200 คน

และช่างแทงหยวกเหล่านี้คือผู้อยู่เบื้องหลังผลงานแทงหยวกอันวิจิตรตระการตา เป็นที่ชื่นชมของพสกนิกรไทย รวมทั้งคนทั่วโลกที่ได้ชม

เรื่องการฝึกช่างฝีมือแทงหยวกเป็นสิ่งที่ดำเนินไปเงียบๆ ไม่มีใครรู้ แต่เกิดจากวิจารณญาณลึกซึ้งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในคำว่า “ความยั่งยืน” ที่ได้แบบอย่างมาจากสมเด็จพระราชบิดา ในหลวง รัชกาลที่ 9 หากปราศจากการทำงานแบบคน “เบื้องหลัง” ที่ทำอย่างเงียบๆ ก็จะไม่มีช่างแทงหยวกในทุกวันนี้

เห็นผลงานแทงหยวกแล้วอยากกราบแทบพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

การมองเห็นผลงาน “เบื้องหน้า” เป็นเรื่องง่าย แต่การเป็นผู้เสียสละอยู่ “เบื้องหลัง” เพื่อให้เกิด “เบื้องหน้า” เป็นสิ่งน่าสรรเสริญ

งานเบื้องหน้ามักเกิดขึ้นชั่วครู่เดียวไม่ว่าจะเป็นการแสดงหรืองานศิลปะเครื่องสด แต่การฝึกซ้อม ฝึกฝน ย่อมใช้เวลานาน ต้องมีความพากเพียรอุตสาหะ นี่คือสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสอนไว้

พ่อของเรา รัชกาลที่ 9 ตรัสไว้หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่คนจำได้คือพระองค์ท่านตรัสว่า “ปิดทองหลังพระไม่เป็นไร ปิดมากเข้ามันก็ล้นมาข้างหน้าเอง”

ทุกวันนี้สื่อทำหน้าที่บอกเล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลังมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มากพอ

โซเชียลมีเดียก็บอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังมากมาย ผิดบ้าง ถูกบ้าง ต้องช่วยกันกลั่นกรอง

แต่ก็มีเรื่องราวอีกมากมายที่ไม่เคยผ่านสื่อเลย รู้กันจากการบอกเล่าและพูดคุยซักถามกัน

การรู้เรื่องราวเหล่านี้เป็นทั้งแรงบันดาลใจและกำลังใจ

คนไทยทำสิ่งดีๆ ที่ไม่ได้ป่าวประกาศ ไม่ได้บอกให้ใครรู้อีกมากมาย บางทีแม้แต่คนใกล้ชิดก็ยังไม่รู้เลย

ขอคารวะผู้ที่อยู่เบื้องหลังทุกท่าน