เกร็ดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

(Photo by MIKE CLARKE / AFP)

วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี คือ วันรัฐธรรมนูญ เป็นวันระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของประเทศไทย ประกาศและบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 หรือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับแรกของไทย

วันที่ 10 ธันวาคม 2565 นี้ เป็นวันรัฐธรรมนูญที่พิเศษกว่าทุกๆ ปี เพราะครบรอบ 90 ปี ของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในระบอบประชาธิปไตยของไทย

ตลอดระยะเวลา 90 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวหลายยุคหลายสมัย ผ่านเหตุการณ์เชิงประวัติศาสตร์มากมาย

สำหรับบทความนี้อยากชวนท่านผู้อ่านทุกท่านร่วมกันย้อนรอยประวัติศาตร์ผ่านเกร็ดรัฐธรรมนูญกัน

(Photo by MIKE CLARKE / AFP)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มุมหนึ่งคือ กฎหมายสูงสุดของประเทศ

อีกแง่มุมหนึ่งคือ หลักฐานเชิงประจักษ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง สะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ณ ช่วงเวลานั้นได้อย่างดีเยี่ยม ตลอดระยะเวลา 90 ปี สะท้อนผ่านรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 22 ครั้ง

ประเทศไทยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 หน้า 166 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 สามวันภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย

ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก มีเนื้อหาสั้นๆ เพียง 39 มาตราเท่านั้น แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีมาตรามากถึง 279 มาตรา

เกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเรื่องแรกที่ขอหยิบยกขึ้นมาเล่า คือ เรื่องบัญญัติเกี่ยวกับเจ้าของอำนาจอธิปไตย ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรก บัญญัติไว้ที่มาตรา 1 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกมีการเปลี่ยนข้อความเป็น “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม”

หลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายคณะราษฎร แม้ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ยังมีการเจรจากับฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ มิได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในฐานะรัฏฐาธิปัตย์แต่อย่างใด

ซึ่งข้อความนี้ถูกใช้ต่อมาจนกระทั่งภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 จึงมีการเปลี่ยนข้อความเป็น “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” แต่เปลี่ยนได้ไม่นาน ฉบับ พ.ศ.2519 ก็เปลี่ยนกลับดังเดิมอีกครั้ง จนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จึงได้เปลี่ยนข้อความอีกครั้งเป็น “อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย” ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใครกันแน่

ท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 จึงได้บัญญัติตามฉบับ พ.ศ.2517 ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” และยึดถือมาจนถึงปัจจุบัน

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

เกร็ดที่ 2 ที่ขอหยิบยกคือ มาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก ซึ่งมาตรา 39 บัญญัติว่า “ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น จะได้พระราชทานคืนมายังสภาภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีนำทูลเกล้าฯ ถวายก็ดี หรือมิได้พระราชทานคืนมายังสภาภายในหนึ่งเดือนนั้นก็ดี สภาจะต้องปรึกษากันใหม่และออกเสียงลงคะแนนลับโดยวิธีเรียกชื่อ ถ้าและสภาลงมติตามเดิมไซร้ ท่านให้นำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมาภายในสิบห้าวันแล้ว ท่านให้ประกาศพระราชบัญญัตินั้นใช้บังคับเป็นกฎหมายได้” เรียกว่า พระราชอำนาจยับยั้งชั่วคราว หรือ Veto

ในสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงยับยั้งกฎหมายชั่วคราว จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติอากรมรดก และการรับมรดก และครั้งที่ 2 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา

ซึ่งครั้งที่สองนี้เอง รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เชื่อว่าเป็นมูลเหตุก่อให้เกิดความขัดแย้งกับคณะราษฎร เป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ เพราะสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติ ประกาศและบังคับใช้โดยไม่ได้ลงพระปรมาภิไธย

ภายหลังสมัยรัชกาลที่ 7 รัฐสภายังไม่เคยผ่านร่างกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงยับยั้งชั่วคราวสักครั้ง เว้นแต่การที่ทรงยับยั้งเพราะเหตุสะกดข้อความในร่างกฎหมายผิดเท่านั้น รัฐสภายังคงยึดถือประเพณีทางการเมืองเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญข้อนี้สืบมาจนถึงปัจจุบัน

(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

เกร็ดที่ 3 ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการประกาศและบังคับใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ในมาตรา 20 ว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย”

ซึ่งเดิมนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกำหนดให้สภาวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งมรดกของจอมพลสฤษดิ์ชิ้นนี้หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ข้อบัญญัติที่กำหนดให้สภาวินิจฉัยชี้ขาดนั้นตกหล่นสูญหายไปกลางทาง ซึ่งมีเพียงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 เท่านั้นที่ไม่มีบัญญัติเรื่องนี้ แต่ก็กลับมาในฉบับ พ.ศ.2519 และคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยเรียกร้องให้ใช้บทบัญญัติข้อนี้ในการผ่าทางตันทางการเมืองไทย จนได้รับการขนานนามว่า มาร์ค ม.7

ปัจจุบันมีคำถามมากมายว่า ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยคืออะไร

เกร็ดที่ 4 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นการจุดประกายให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกไว้ว่าภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ประกาศลาออกจากตำแหน่ง พรรคร่วมเสียงข้างมากร่วมกันสนับสนุน พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่ก็ต้องอกหักเนื่องจากเหลี่ยมทางการเมือง

เมื่อนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ได้ตัดสินใจเสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นคนนอกไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ขึ้นทูลเกล้าฯ แทน

เรียกได้ว่า งงกันทั้งประเทศ ชุมนุมจนล้มตาย สุดท้ายได้คนนอกเหมือนเดิม

กว่าจะบรรจุในรัฐธรรมนูญได้สำเร็จก็ พ.ศ.2540 และบรรจุแล้วก็มีความพยายามจะหยิบออกอยู่เรื่อย

เกร็ดที่ 5 สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ใช้ระบบแต่งตั้ง (หรือสรรหา) มาอย่างยาวนาน

มีการเลือกตั้งจากประชาชนครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 โดยสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น ไม่มีการแต่งตั้งหรือสรรหา ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

จนกระทั่งการปฏิวัติ พ.ศ.2549 สมาชิกวุฒิสภาจึงถูกแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อีกประเภทหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง (สรรหา)

จนกระทั่งการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง พ.ศ.2557 สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดจึงมาจากการแต่งตั้ง (สรรหา) จนถึงปัจจุบัน ส.ว.เหล่านั้นก็ยังไม่หมดวาระสักที

หากพิจารณาตามเจตนารมณ์แท้จริงของคณะราษฎร สมาชิกสภาไม่ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเพียงช่องทางเดียว ตั้งแต่ พ.ศ.2485 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับแรก พ.ศ.2475 กำหนดให้เมื่อครบ 10 ปีนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น สมาชิกประเภท 2 (แต่งตั้ง) เป็นอันไม่มีอีกต่อไป

จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมา 90 ปี ผ่านเหตุการณ์สำคัญต่างๆ มากมาย ประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของประเทศสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาตามที่คณะราษฎรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้ว

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยจะลบวลี “ชิงสุกก่อนห่าม” ออกไปจากการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และคืนอำนาจอธิปไตยให้กับราษฎรอย่างแท้จริง