คุยกับทูต | ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี 43 ปีหลังการปฏิวัติอิสลาม (1)

“สวัสดีครับ ก่อนอื่น ผมขอแสดงความยินดีและส่งความปรารถนาดีมายังประชาชนชาวไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ในโอกาสวันชาติไทยและปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ขอให้ประสบแต่ความสุขและความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป”

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย กล่าวเนื่องในเทศกาลแห่งความสุขอันใกล้นี้

“ปี 2022 นับเป็นปีแห่งความท้าทายที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และในที่สุด โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-19 ก็เริ่มบรรเทาลงและข้อจำกัดส่วนใหญ่ก็ถูกยกเลิก ในขณะที่ผู้คนต่างพยายามหาทางปรับตัวบนวิถีชีวิตใหม่หลังการระบาดของโรคร้ายนี้”

“ในสถานการณ์ทางการเมือง สงครามได้ก่อให้เกิดความไม่มั่นคง ยังคงสั่นคลอนพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อช่วยหยุดยั้งเหตุการณ์ดังกล่าวในทุกพื้นที่ โดยเราหวังในความเป็นเสถียรภาพ การทำให้สันติภาพมีความมั่นคงแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเป็นวันที่ดีขึ้นสำหรับผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศ เช่น เยเมน ซีเรีย อัฟกานิสถาน เมียนมา และยูเครน”

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

“ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เกิดการประท้วงขึ้นในอิหร่าน หลังการเสียชีวิตของ นางสาวมะห์ซอ อามินี (Mahsa Amini) ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่าน รวมทั้งผู้นำและประธานาธิบดีได้ออกมาแสดงความเสียใจ โดยมีคำสั่งให้ถือศีลอด และการสอบสวนที่ครอบคลุมอย่างรวดเร็ว”

“นิติเวชศาสตร์อิหร่านประกอบด้วยแพทย์ 19 คน รายงานว่า นางสาวมะห์ซอ อามินี ป่วยด้วยโรคบางอย่างตั้งแต่เด็กและกินยาเป็นประจำ การรายงานจากนิติเวช การชันสูตร และผลแล็บ ไม่พบสาเหตุของการเสียชีวิตจากศีรษะ ลำตัว หรืออวัยวะสำคัญของร่างกาย ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการเน้นย้ำโดยบิดาของผู้เสียชีวิตด้วยเช่นกัน”

“อย่างไรก็ตาม มีสื่อที่ต่อต้านอิหร่าน, กลุ่มผู้ก่อการร้าย และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนบางกลุ่ม รวมทั้งเครือข่ายดาวเทียมบางเครือข่ายของฝ่ายตรงข้ามอิหร่านได้พยายามทำให้สังคมอิหร่านแตกแยกด้วยการแพร่กระจายข่าวปลอมอย่างกว้างขวางโดยใช้เพจบัญชีปลอมและบอททวิตเตอร์ในโลกไซเบอร์ ชี้นำการประท้วงของประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนในมิติของความรุนแรง จุดชนวนให้เกิดการประท้วง การก่อการจลาจล ทำให้ประชาชนทั่วไปผู้บริสุทธิ์และกองกำลังความมั่นคงหลายสิบนายเสียชีวิตในระหว่างการจลาจล ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศอย่างยิ่ง”

“นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าต้นตอและความต่อเนื่องของการประท้วง คือความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในสังคมอิหร่าน อิหร่านพิจารณาการคว่ำบาตรที่ยืดเยื้อแต่ฝ่ายเดียวของสหรัฐ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตประจำวันของชาวอิหร่านอย่างมาก”

“แม้จะเกิดเหตุการณ์ที่โชคร้ายเหล่านี้ อิหร่านยังคงก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านความรู้และเทคโนโลยี ประเทศอิหร่านติดอันดับ 1 ในการถือครองแหล่งน้ำมันและก๊าซสำรองทั้งหมดของโลก ติดอันดับ 4 ในนาโนเทคโนโลยีและติดอันดับ 6 ในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ”

 

การเข้าร่วมฟุตบอลโลกของอิหร่าน

การรอคอยมายาวนานถึง 4 ปี สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อถนนทุกสายของแฟนบอลจากทั่วทุกมุมโลกมุ่งสู่ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม 2022 นับเป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกที่จัดในโลกอาหรับและเป็นครั้งที่สองที่จัดในทวีปเอเชียต่อจากฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

“ความพยายามของอิหร่านในการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1974 ซึ่งในช่วง 48 ปีที่ผ่านมามีการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดยทีมชาติอิหร่านเข้าร่วม 11 ครั้ง ประสบความสำเร็จในการเข้ารอบ 6 ครั้ง และตกรอบแรก 5 ครั้ง” เอกอัครราชทูตโนบัคตี กล่าวถึงประวัติฟุตบอลทีมชาติอิหร่านในการแข่งขันฟุตบอลโลก

ทีมนักฟุตบอลอิหร่านใน World Cup 1978

“ในปี ค.ศ.1978 ฟุตบอลโลกจัดขึ้นโดยมีทีมชั้นนำของโลกเข้าร่วม 16 ทีม และโควต้าสำหรับ 2 ทวีปของเอเชียและแปซิฟิกมีเพียงทีมเดียวเท่านั้น ประสบการณ์ครั้งแรกของอิหร่านในฟุตบอลโลก อยู่กลุ่มเดียวกับทีมฮอลแลนด์ สกอตแลนด์ และเปรู ในนัดแรก อิหร่านแพ้ฮอลแลนด์ 0-3 ประตู ในนัดที่สองอิหร่านเสมอกับสกอตแลนด์ 1-1 และในนัดที่สามอิหร่านเล่นเกมรุกเพื่อเลื่อนชั้น แต่อิหร่านแพ้ให้กับเปรู 1-4 ประตู”

“เพียง 20 ปีหลังจากการเลื่อนชั้นครั้งแรก ยุคทองหลังการปฏิวัติอิสลาม ค.ศ.1979 ได้ทำลายมนต์สะกดของฟุตบอลโลก อิหร่านอยู่ในกลุ่มเดียวกับเยอรมนี ยูโกสลาเวีย และอเมริกา ซึ่งก่อนเริ่มการแข่งขันฟุตบอลโลกถูกเรียกว่าเป็น ‘เกมแห่งศตวรรษ’ เนื่องจากประเด็นทางการเมืองระหว่างสองประเทศ ในเกมแรกอิหร่านแพ้ยูโกสลาเวียไป 0-1 ประตู จากนั้น ในการแข่งขัน ‘เกมแห่งศตวรรต’ อิหร่านชนะด้วยกับการยิงประตูของฮามิด เอสติลี และเมห์ดี มาห์ดาวิกียอ อิหร่านชนะอเมริกา 2-1 ประตู ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของอิหร่านในประวัติศาสตร์แห่งฟุตบอลโลก ในเกมที่สามอิหร่านแพ้ให้กับเยอรมนี 0-2 ประตู ปิดสถิติฟุตบอลโลกครั้งนี้ด้วยผลงาน ชนะ 1 แพ้ 2”

“ค.ศ.2006 อิหร่านก้าวเข้าสู่ฟุตบอลโลกโดยมีนักเตะรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่มีประสบการณ์การค้าแข้งในต่างประเทศ ในเกมแรกอิหร่านแพ้เม็กซิโก 1-3 ประตู ในเกมที่สองอิหร่านแพ้โปรตุเกส 0-2 ประตู และในเกมที่สามอิหร่านเสมอกับแองโกลา 1-1 ประตู”

ทีมนักฟุตบอลอิหร่าน ใน World Cup 2014

“ค.ศ.2014 อิหร่านเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลโลกปีนี้ด้วยกับความมั่นใจที่เต็มเปี่ยมและอยู่ในกลุ่มเดียวกับอาร์เจนตินา ไนจีเรีย และบอสเนีย ในเกมแรกอิหร่านพบกับอาร์เจนตินา ซึ่งมีลิโอเนล เมสซี นำทัพ แต่ในที่สุดอิหร่านก็ได้รับชัยชนะในนาทีที่ 90 ส่วนการแข่งขันระหว่างอิหร่านและไนจีเรียจบลงด้วยผลเสมอ ในเกมที่สองอิหร่านแพ้ให้กับอาร์เจนตินา 0-1 ประตู และในเกมที่สามอิหร่านแพ้ให้กับผู้เล่นมากประสบการณ์ของบอสเนีย 1-3 ประตู”

ทีมนักฟุตบอลอิหร่าน ใน World Cup 2018

“ค.ศ.2018 ในเกมแรกอิหร่านพบกับโมร็อกโก อิหร่านได้สามแต้มจากการแข่งขันในนาทีที่ 90 คว้าชัยชนะครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกของอิหร่าน ในการแข่งขันนัดที่สองกับสเปน ลูกยิงของ Saeed Ezzatollahi ถูกเช็กล้ำหน้า มิเช่นนั้นแชมป์โลกจะถูกหยุดลงตรงนี้อย่างแน่นอน ในเกมที่สามพบกับโปรตุเกส ผู้รักษาประตูของอิหร่านป้องกันการยิงลูกโทษของคริสเตียโนโรนัลโด ไว้ได้ และคาริม อันซาริฟาร์ด ยิงจุดโทษให้อิหร่านด้วยผลเสมอ 1-1 คว้า 4 แต้มมาได้”

“เป็นการทำลายสถิติการทำประตูตลอดกาลของเขา”

ทีมนักฟุตบอลอิหร่าน ใน World Cup 2022

“ฟุตบอลโลกปี 2022 ที่กาตาร์ อิหร่านกลับมาอยู่ในกลุ่มจ่าฝูงอีกครั้ง ในเกมแรกอิหร่านพบกับอังกฤษ จากปัจจัยต่างๆ รวมถึงอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของผู้รักษาประตูคนแรกของอิหร่าน ทำให้สมาธิของผู้เล่นถูกทำลายลงไป และการแข่งขันจบลงด้วยผลแพ้ 2-6 ประตู”

“ในเกมที่สองกับเวลส์ นักฟุตบอลอิหร่านได้แสดงให้เห็นถึงหนึ่งในเกมที่ดีที่สุดของพวกเขา และในที่สุดพวกเขาสามารถเอาชนะทีมเวลส์ด้วยชัยชนะ 2-0 ประตู มีการฉลองชัยชนะครั้งที่สามในฟุตบอลโลกและชัยชนะครั้งแรกที่มีต่อทีมจากยุโรป”

“ในเกมที่สาม การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบตัดเชือกนี้ แม้เพียงผลเสมอก็จะสามารถผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายได้ ทว่า เกมนี้แพ้ให้กับทีมอเมริกา 0-1 ประตู และนี่เป็นครั้งที่สองในการพบกันระหว่างทีมชาติอิหร่านและอเมริกา”

“แต่ในอดีต การพบกันครั้งแรกระหว่างทีมชาติอิหร่านและอเมริกาในฟุตบอลโลกปี 1998 จบลงด้วยอิหร่านเป็นฝ่ายชนะ 2-1 ประตู” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]