ปฏิรูปศาสนา | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผู้รู้พุทธศาสนาดีบางท่านเชื่อว่า การปฏิบัติของชาวบ้านไทยในสมัยโบราณนั้น แม้ไม่อาจสามารถอ้างได้ว่าตรงกับคำสอนข้อใดของพระพุทธศาสนา แต่กลับสอดคล้องและส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็นชาวพุทธที่ดี เช่น รักสันโดษ, ใฝ่สันติ, เว้นจากการเบียดเบียน ฯลฯ

ข้อนี้จะจริงหรือไม่ ผมไม่ทราบ ถึงจะจริง ก็ให้น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าเป็นการมองธรรมะเหล่านั้นจากแง่มุมของปัจเจกบุคคล เช่นรักสันโดษ ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคน (ในหมู่บ้าน) พอใจในสิ่งที่ตนมี ดังนั้นถึงมีโอกาส (เช่น ทางเศรษฐกิจ) โผล่เข้ามา ก็ไม่มีใครใส่ใจจะฉวยเอาโอกาสนั้น

แต่ปรากฏการณ์จริงดูจะไม่สอดคล้องกับสมมติฐานข้างต้นเลย ทันทีที่ทางรถไฟโผล่เข้ามาในระยะที่สามารถเข้าถึงได้จากหมู่บ้าน ชาวบ้านไทยทั้งในอีสานและภาคเหนือ ต่างตอบสนองต่อการขนส่งแบบใหม่อย่างรวดเร็วด้วยการเลี้ยงหมู ซ้ำเลี้ยงอย่างตั้งใจจะเอาไปขายด้วย เพราะสร้างเล้าและรางอาหารไว้ขุนโดยเฉพาะ แทนที่จะปล่อยให้เดินหากินเองอย่างที่สมัยหนึ่งเคยทำ

หมูที่เลี้ยงไว้ขายเปลี่ยนชีวิตชาวบ้านมากนะครับ นอกจากเล้าแล้ว ยังต้องมีใครไปหาอาหารหมูนับตั้งแต่รำข้าวไปจนถึงผักหญ้ามาคลุกเคล้าเพื่อเทลงราง ต้องมีใครคอยเก็บกวาดเล้าบ้าง และต้องมีใครต้องคอยดูแลให้น้ำในเล้ามีอยู่ไม่ขาด รวมทั้งดูแลตัวหมูด้วย

เรื่องส่วนใหญ่ของหมูกลายเป็นธุระของอีหล้า (หรืออีอื่นๆ ที่เป็นพี่สาว ถ้าอีหล้ายังเล็กนัก) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กระทบต่อบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในครัวเรือน หน้าที่เก่าก็ต้องทำ ซ้ำยังมีหน้าที่ใหม่ซึ่งไม่ใช่งานเล็กๆ แต่ต้องใช้เวลาไปกับงานชิ้นนี้มากเอาการ เป็นงานที่สำคัญด้วย เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งรายได้ที่เป็นตัวเงินซึ่งครอบครัวมีรายได้ประเภทนี้ไม่มากนักแล้ว ยังเป็นเงินเก็บของครอบครัว เผื่อลูกชายบวชหรือลูกสาวออกเรือนหรือทำศพตา

หมูเปลี่ยนบทบาทและสถานะของผู้หญิงในครอบครัวนะครับ จะเป็นด้วยเหตุของหมูหรือไม่ใช่ก็ไม่ทราบ ผู้หญิงจะเป็นตัวหลักในการหาและจัดการทรัพย์ที่เป็นตัวเงินของครอบครัวไทยต่อมาอีกนาน

แล้วดู “โอกาส” ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ทยอยโผล่เข้ามาในชีวิตชาวบ้านเถิด ไม่ว่าจะเป็นคลองชลประทาน, อ่างเก็บน้ำ, ปุ๋ยเคมี, ถนนลาดยาง, เงินผัน, ธกส., กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ ผมก็เห็นชาวบ้านพากันฉวยโอกาสเหล่านี้กันอย่างคึกคักไม่ใช่หรือครับ

 

ในโลกนี้จะมีชาวบ้านในสังคมอื่นที่ไม่ตอบสนองต่อโอกาสทางเศรษฐกิจบ้างไหม? ทีแรกผมก็นึกว่ามีและพร้อมจะยกตัวอย่างประเทศเหล่านั้นขึ้นมาให้ดูด้วย แต่นึกอีกที ผมมีความรู้เกี่ยวกับเขาไม่พอจะพูดได้ เพราะโอกาสทางเศรษฐกิจบางอย่างที่รัฐส่วนกลางหยิบยื่นลงไปสู่ชนบท มักกลายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของคนมีเงินในเมืองไปหยิบฉวย ไม่มีลักษณะที่เอื้อโอกาสแก่คนจน เช่น เปิดพื้นที่เลี้ยงสัตว์เพราะเรือสินค้าข้ามสมุทรมีห้องเย็นที่อาจขนเนื้อสัตว์ข้ามทวีปได้ ดังนั้น รัฐส่วนกลางจึงสนับสนุนการเลี้ยงสัตว์แบบโรงงานปศุสัตว์ คือผลิตกันในไร่ขนาดใหญ่ ต้องล้อมรั้วและใช้กำลังคนมากกว่าที่ชาวบ้านจะทำได้เอง

แน่นอนในเมืองไทย เจ้าของโรงฆ่าสัตว์ หรือแม้แต่พ่อค้าที่เที่ยวรับซื้อหมูส่งโรงฆ่าสัตว์ ก็มีรายได้มากกว่าชาวบ้านที่เลี้ยงหมูอย่างเทียบกันไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะรัฐอุดหนุน เช่นปล่อยให้โรงฆ่าสัตว์ปล่อยน้ำเสียลงทางน้ำหรือพื้นที่สาธารณะ หรือรถไฟที่ขนหมูจากโคราชลงกรุงเทพฯ เป็นเงินลงทุนของภาครัฐล้วนๆ แต่อย่างน้อย ชาวบ้านก็ได้เลี้ยงหมูจนมีรายได้เป็นตัวเงินแหละครับ

นักวิชาการอาจพูดอย่างไม่มีอารมณ์ว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจยังชีพไปสู่เศรษฐกิจเงินตรา ย่อมมีทั้งคนที่ทำได้สำเร็จและคนที่ล้มเหลวเป็นธรรมดา แต่ไม่ว่าจะมองอย่างมีอารมณ์หรือไม่ คงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคมไทย ซึ่งมีผลกระทบไปถึงชาวบ้านในหมู่บ้านด้วย และเป็นผลกระทบในเชิง active ด้วย (บางคนแปลว่ากัมมันตะ ซึ่งก็ต้องแปลอีกนั่นแหละ) คือชาวบ้านมีส่วนร่วมทำให้เศรษฐกิจเงินตรายิ่งขยายตัวมากขึ้น

 

คําอธิบายเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงนี้มีคนพูดถึงมามากแล้ว โดยสรุปก็คือโลกาภิวัตน์ทำให้ผู้นำรัฐไทยต้องตอบสนองด้วยการ เปิดให้โอกาสทางเศรษฐกิจต่างๆ กระจายลงไปสู่ชาวบ้านในชนบทมากบ้างน้อยบ้าง สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ผมไม่มีอะไรจะปฏิเสธข้อสรุปนี้หรอกครับ เพียงแต่คิดว่ามันน่าจะมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ถูกละเลยไป เพราะเรามองความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจากเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว

ที่ผมนึกถึงก็คือ มีความเปลี่ยนแปลงด้านความหมายของศีลธรรมในพุทธศาสนาแบบไทย ช่วยเสริมให้ชาวบ้านไทยตอบสนองต่อโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจได้อย่างฉับไว ผมเข้าใจ (ซึ่งอาจผิด) ว่า หมูตัวแรกที่อีหล้าถูกมอบหมายให้ขุนไว้ขายนั้น ไม่ได้มาจากแรงบีบบังคับของการยังชีพ กล่าวคือ ถึงไม่เลี้ยงหมู ครอบครัวก็ไม่อดตาย

(ผมทราบดีว่านี่เป็นเรื่องไก่กับไข่ คนเลิกเอา “ของ” ไปช่วยงานศพ แต่พกเงินไปแทน เพราะไม่มีเวลาไปหา “ของ” ก่อนอุดมการณ์ชีวิตจะเปลี่ยน หรือที่ไม่มีเวลาไปหาของเพราะอุดมการณ์ชีวิตได้เปลี่ยนแล้ว จึงพากันไปทำอะไรที่ได้เงิน จนไม่มีเวลาหา “ของ” เราคงเถียงกันได้ตลอดแหละครับว่า ระหว่างอุดมการณ์กับวิถีชีวิต อะไรก่อให้เกิดอะไรกันแน่)

ผลสุดท้ายของกระบวนการปฏิรูปศาสนา ก็คือศีลธรรมในพุทธศาสนากลายเป็นหลักปฏิบัติของปัจเจกบุคคล ในขณะที่ศีลธรรมของชาวบ้านไทยแต่ก่อนนี้ มุ่งจะเป็นหลักปฏิบัติของชุมชน ด้วยเหตุดังนั้นจึงรวมกฎหมายประเพณี (หรือที่เรียกในตำราฝรั่งด้วยคำมลายูว่า adat), ความเชื่อเรื่องผีนานาชนิด, บทบาทของบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติ และพิธีกรรม ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนามาไว้ด้วยกันหมด แล้วเรียกว่าพุทธ

 

ผมคิดว่า การเปลี่ยนจุดเน้นทางศีลธรรมนี้มีความสำคัญที่สุดในการปฏิรูปศาสนา ในขณะเดียวกัน ไทยก็ไม่ได้สร้างกลไกทางสังคม อันได้แก่กฎหมาย, ระบอบปกครอง, การศึกษา, คณะสงฆ์และกิจกรรมสงฆ์ ฯลฯ ที่จะสร้างความสามารถในการควบคุมตนเองของปัจเจก ฝึกให้พลเมืองมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมในวงกว้าง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือช่วยประคับประคองให้ศีลธรรมย้ายจุดเน้นจากชุมชนมาสู่ปัจเจกได้ โดยบรรเทาผลกระทบด้านร้ายแก่สังคมลงให้มาก

การปฏิรูปศาสนาของไทยกลับลงเอยที่เพิ่มอำนาจรัฐ แทนที่จะเพิ่มอำนาจปัจเจก ทั้งๆ ที่ศีลธรรมได้เปลี่ยนไปสู่ความรับผิดชอบของปัจเจกแล้ว ไม่ใช่ชุมชนอีกต่อไป รัฐไปหวังว่ากฏหมาย+กระบวนการยุติธรรมจะกำกับปัจเจกได้เหมือนอย่างที่ชุมชนและเครือญาติสมัยก่อนเคยทำได้ ปฏิรูปศาสนาของไทยจึงนำมาสู่สภาวะที่ทั้งชุมชนและปัจเจกต่างอ่อนกำลังเกินกว่าจะรับผิดชอบทางศีลธรรมได้

(เมื่อพูดถึงปฏิรูปศาสนาไทย หลายคนคิดแต่การตั้งธรรมยุติกนิกาย แต่ผมหมายถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ยาวนานกว่านั้นมาก คือเริ่มมาตั้งแต่เสียกรุงจนถึงปัจจุบัน ในรัชกาลที่ 5 รัฐฉวยเอาการปฏิรูปไปเป็นเครื่องมือในการควบคุมคณะสงฆ์โดยตรง จึงน่าจะเปรียบเทียบกับการปฏิรูปพุทธศาสนาในพม่า, ลังกา และกัมพูชา – ซึ่งแม้ได้อิทธิพลจากธรรมยุติไปมาก – การปฏิรูปศาสนาในกรณีเหล่านี้ รัฐแทบไม่มีบทบาทเลย และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่เพิ่มอำนาจควบคุมคณะสงฆ์แก่รัฐ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ คณะสงฆ์กลับมีอำนาจ-บทบาทเหนือรัฐเพิ่มขึ้นในบางวาระโอกาส)

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ไม่ว่าจะบังคับปัจเจกหรือชุมชน ศีลธรรมล้วนมีมิติทั้งสองอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่เป้าหมายอาจต่างกันเท่านั้น ศีลธรรมไม่ได้ปฏิบัติโดยบุคคลเพียงอย่างเดียว ที่ปฏิบัติได้หรือปฏิบัติแพร่หลายก็เพราะมีปัจจัยทางสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง, วัฒนธรรมหนุนช่วยอยู่ด้วย สินบนไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีผู้ให้และผู้รับเท่านั้น แต่มีปัจจัยอื่นที่แวดล้อมอยู่อีกมาก เช่นกระบวนการยุติธรรมที่อ่อนแอ, ระบบตรวจสอบที่ไม่ทำงานหรือไร้ประสิทธิภาพ, สังคมที่ไม่รังเกียจการติดสินบน ฯลฯ

 

มิติทางสังคมดังกล่าวนี้ ทำให้นึกถึงความล้มเหลวในการบังคับ “ศีลธรรม” อีกหลายด้านในเมืองไทย

การระบาดของยาเสพติด ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผู้เสพ, พ่อค้ารายใหญ่, รายย่อย, ข้าราชการทุจริตเท่านั้น มีปัจจัยทางสังคมอื่นๆ ช่วยทำให้ยาเสพติดระบาดมากขึ้น เช่น ชีวิตที่ไร้อนาคต, ชีวิตที่โดดเดี่ยวเกินไป, การไม่เคยถูกฝึก (แม้ในการศึกษาในแบบ) ให้แข็งขืนต่อกลุ่ม (peer group) ความเป็นตัวของตัวเองมีทัณฑ์สูงมากในวัฒนธรรมไทย ฯลฯ ตราบเท่าที่เรายังมองปัญหายาเสพติดจากบุคคลเพียงอย่างเดียว เสียงเรียกร้องซึ่งมีมานานแล้วว่านโยบายยาเสพติดของเราควรหันมาใส่ใจด้าน demand side มากกว่าด้าน supply side ก็คงไม่มีวันบรรลุผลมากไปกว่า โครงการบำบัดผู้เสพเพียงอย่างเดียว

บ่อนการพนัน, การศึกษา, เศรษฐกิจพอเพียง, การข่มขืน, ความรุนแรง ฯลฯ ล้วนมีฐานทางวัฒนธรรม, เศรษฐกิจ, การเมือง และสังคมรองรับอยู่ทั้งนั้น ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับบุคคลก็จริง แต่หลักการว่า “ทุกคนเป็นคนดี” ก็ตาม “คนดีมีอำนาจ” ก็ตาม ฯลฯ ยังไม่พอจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ที่เราเรียกว่า “ระบบ” นั้นสำคัญมากนะครับ “คนดี” ท่ามกลาง “ระบบ” ที่ไม่เอื้อ ก็ทำอะไรไม่ได้มาก หรืออาจกลายเป็นไม่ดีไปเลยก็ได้

 

ทีวีช่องหนึ่งที่ผมชอบดูมากๆ คือ NHK ของญี่ปุ่น หลายรายการเล่าถึงพิธีกรรมต่างๆ ของท้องถิ่นก็มี ระดับชาติก็มี ตลอดจนความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนา (นานาชนิดนับตั้งแต่พุทธหลายนิกายไปจนถึงชินโตและคริสต์ในญี่ปุ่น) ผมพบด้วยความประหลาดใจว่า มีอะไรที่เก่าคร่ำครึของสังคมญี่ปุ่นในสิ่งเหล่านี้อยู่มาก ฝรั่งที่สนใจพุทธศาสนานิกายเซน ไปใช้ชีวิตนักบวชในวัดเป็นเวลาปีๆ ถูกกำกับด้วย “พิธีกรรม” แทบจะทุกนาทีในชีวิต แม้แต่จับตะเกียบก็มีวิธีจับเฉพาะของวัด ซึ่งมีคำอธิบายในเชิงพุทธธรรมแทรกเข้ามาด้วย

บางท้องถิ่น ถึงเทศกาลจุดพรุของวัดบางวัด ก็เป็นเรื่องใหญ่ของชุมชน เตรียมการกันเป็นเดือน ดึงเอาคนจำนวนมากเข้าไปเกี่ยวข้อง พอจุดจริงก็ไม่นานนัก จบลงในเวลาแค่ชั่วโมง

ความรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นของผมมีจำกัด แต่ในความรู้อันจำกัดของผมนั้น ไม่มีการปฏิรูปศาสนาอย่างจริงจังในสมัยเมจิ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเข้าสู่ความทันสมัยของญี่ปุ่นไม่นำมาซึ่งการปฏิรูปศาสนาเหมือนประเทศเถรวาททั่วไป เพียงแต่พุทธศาสนาในญี่ปุ่นพยายามจะโอนอ่อน (หรือบางคนอาจพูดว่าประจบประแจง) ตามรัฐ โดยเฉพาะเมื่อญี่ปุ่นเปลี่ยนไปเป็นรัฐทหารแล้ว พุทธญี่ปุ่นถึงกับออกมารับรองตามปัญญาชนสายทหารว่า ญี่ปุ่นต้องมี “พื้นที่ชีวิต” กว้างกว่าเกาะญี่ปุ่น ดังนั้น จึงสมควรแล้วที่ญี่ปุ่นเที่ยวล่าเมืองขึ้นในเกาะไต้หวัน, เกาหลี และแมนจูเรีย จบสงครามแล้ว วัดพุทธญี่ปุ่นจึงต้องออกมาขอโทษ… ผมไม่ทราบว่าขอโทษใคร แต่อย่างน้อยก็น่าจะขอโทษพระพุทธเจ้านะครับ

(ในเมืองไทยสมัย ร.6 พระผู้ใหญ่ปะพรมน้ำมนต์ให้ทหารอาสาที่จะไปรบในยุโรปเลย เป็นธรรมเนียมต่อมาให้พระไปเจิมรถถังหรือเครื่องบินรบ และจนถึงบัดนี้ก็ไม่มีใครได้ยินการขอโทษจากพระไทยสักที)

 

และเพราะไม่มีการปฏิรูปศาสนาอย่างจริงจังนี่แหละ ทำให้ผมคิดว่าพุทธศาสนาในญี่ปุ่นยังแข็งแรงอยู่มาก ซึ่งขัดกับความเชื่อของคนจำนวนมาก (รวมทั้งคนญี่ปุ่นเอง) ที่เห็นว่า พุทธศาสนาของญี่ปุ่นนั้น อ่อนแอลงทุกที โดยเฉพาะในแง่ศาสนิกซึ่งมีน้อยลงไปเรื่อยๆ

ที่ผมมีความเห็นว่าแข็งแรงนั้น ก็เพราะพุทธศาสนาในญี่ปุ่นยังมีบทบาทอยู่ในชีวิตคนอย่างมาก โดยแทรกอยู่ในชีวิต “ชุมชน” อย่างแยกออกจากกันไม่ได้ ถึงผู้เข้าร่วมกิจกรรมอาจไม่ได้ประกาศตนเป็นชาวพุทธก็ตาม

นอกจากนี้ ชุมชนยังมีชีวิตชีวาเข้มแข็งพอสมควรในญี่ปุ่น แม้แต่ในเมืองใหญ่อย่างโอซากาหรือเกียวโต ชุมชนก็ยังอยู่ เช่น สมัยเมื่อผมใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ ในญี่ปุ่น เกียวโตและโอซากายังมีกฎหมายเทศบาล ที่ให้อำนาจชุมชนในเมืองลงมติว่า จะอนุญาตให้ใครมาเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตในย่านของตัวหรือไม่ ที่เกียวโตไม่มีใครเปิดได้สักแห่ง นอกจากในย่านดาวน์ทาวน์ ซึ่งแฝงอยู่ในห้างสรรพสินค้าอีกที เพราะชุมชนยังอยู่และต่างพอใจที่จะไปซื้อของจากร้านที่เป็นสมาชิกของชุมชน และรู้จักกันมาชั่วโคตร มากกว่าในซูเปอร์มาร์เก็ต แม้จะสะดวกกว่า ดังนั้น ร้านปลา, ร้านเต้าหู้, ร้านเนื้อ, ร้านผัก ฯลฯ ก็ยังขายได้ และกระจายอยู่ทั่วไปในถนนต่างๆ

ตราบเท่าที่ยังมีชุมชนในสังคมญี่ปุ่น ศาสนาซึ่งเป็นส่วนที่แยกไม่ออกจากชีวิตชุมชนก็จะคงยั่งยืนตลอดไป

เพราะญี่ปุ่นไม่ต้องผ่านการปฏิรูปศาสนาโดยชนชั้นนำแบบไทย